พระล้าง คืออะไร


พระล้าง คืออะไร ล้างทำไม ล้างอย่างไร

**********************************************

พระเครื่องส่วนใหญ่ มักจะเป็นของเก่า ที่ผ่านการเก็บ และใช้มาในสภาพต่างๆ มากมาย กว่าจะมาถึงมือเราในปัจจุบัน

การผ่านแต่ละมือ แต่ละคนก็จะถือวิสาสะ "ความเป็นเจ้าของ" ในขณะนั้น กระทำตามความคิด ความชอบของตนเอง

คนที่รักสะอาด ก็มักจะทำความสะอาดตามความคิดของตนเอง เช่นการล้างด้วยน้ำ น้ำร้อน ผงซักฟอก ด้วยกรด ด้วยทินเนอร์ (ตัวทำละลาย) ชนิดต่างๆ แม้กระทั่งน้ำยาล้างห้องน้ำ ตามความรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อ และความสงสัย โดยไม่ค่อยใช้ความรู้จริง ในการล้างมากนัก

ดังนั้น เท่าที่ประเมินออกมา ก็มีระบบคิดและล้างกันหลายแบบมากๆ

เช่น......

ก. ล้าง เพื่อชำระสิ่ง "ปนเปื้อน" ทั้งจากกระบวนการสร้าง จากธรรมชาติ จากพัฒนาการ และจากสภาพการใช้ที่ผ่านมา

ข. ล้างเพื่อให้เห็นเนื้อชัดๆ เนื่องจากการดูผิวนอกไม่เป็น หรือ ดูไม่ออก

ค. ล้างเพื่อตรวจสอบความแท้ของพระ โดยอาจจะตั้งสมมติฐานว่า "ถ้าล้างไม่ออกคือของแท้" ทั้งๆที่ส่วนใหญ่ ไม่เข้าใจเลยว่า อะไรต้องล้างด้วยอะไร และอะไรคือความแท้ หรือความไม่แท้ ทั้งหมดมักคิดไปเองล้วนๆ

ง. ล้างเป็นกิจวัตร ตามหน้าที่ ว่าพอใช้อะไรมานานๆ ก็ควรจะล้างและทำความสะอาดบ้าง เท่านั้นเอง

ฯลฯ

ดังนั้นพระส่วนใหญ่ในระบบตลาดปัจจุบัน มักจะผ่านการ "ล้าง" ทำความสะอาด ตามระบบคิดของผู้ครอบครองในขณะนั้น อย่างหลากหลาย ดังกล่าวแล้ว มาหลายยุค หลายสมัย ทั้งล้างเป็น และล้างไม่เป็น ที่จะกลายเป็นประวัติของพระ อีกรูปแบบหนึ่ง ทั้งของเนื้อและของผิวพระ ที่ส่วนใหญ่ไม่พึงประสงค์มากนัก

เพราะ การล้างส่วนใหญ่ จะเป็นการทำลายประวัติขององค์พระ ตั้งแต่กระบวนการสร้าง สภาพอยู่ในกรุ หรือการเก็บ สภาพการใช้ ของเจ้าของรายต่างๆ หรือในยุคต่างๆที่ผ่านมา

โดยเฉพาะการล้างที่ทำด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์นั้น นอกจากจะทำลายประวัติแล้ว ยังอาจจะทำลายผิวพระ และเนื้อพระได้อีกด้วย

และถ้ายิ่งเป็นทั้งพระล้างแบบผิดวิธี และ/หรือ ใช้มาแบบไม่ดูแล แทบจะเสียสภาพ เสียราคาไปเลย

ดังนั้น พระล้างจึงมักเสียราคา และเสี่ยงต่อการโดนตีเก๊ได้โดยง่าย

ที่ทำให้เราต้องมาศึกษา เนื้อพระ มวลสาร และพัฒนาการด้านใน มากกว่าพัฒนาการของผิวพระด้านนอก

นี่คือ ศาสตร์ แห่งการและวิธีการเรียนและศึกษา อีกระดับหนึ่งของการ "ดูพระแท้"

เพราะพระในตลาดล่าง ส่วนใหญ่ จะเป็นพระล้าง และพระที่ถูกกระทำมาสารพัด ทั้งการทำให้พระเก๊ มองดูเหมือนพระแท้ และการแต่งผิวพระแท้เสียใหม่ ให้ดูสวยงามตามความคิดของเจ้าของพระ หรือการแต่งผิวพระเพื่อการประกวด ก็ยังมี

จึงเป็นหน้าที่ของ "นักเรียน" ที่จะต้องเรียน และเข้าใจสัจธรรมในเรื่องนี้ และแยกแยะพระเก๊ ออกจากพระแท้ ให้ได้

เพราะพระล้าง ก็มีการล้างหลายยุค หลายแบบ หลายสมัย ต้องอ่านให้ออก จึงจะก้าวข้ามปัญหานี้ครับ

หมายเลขบันทึก: 593397เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2015 10:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 สิงหาคม 2015 10:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ถ้าจะล้างพระเนื้อผง (พระสมเด็จ) แค่แช่น้ำอุ่นเพียงประเดี๋ยวประด๋าวให้คราบฝุ่น คราบสกปรกหลุดออก แล้วนำมาผึ่งลมให้แห้งก็พอ ครับ แต่ถ้าพระเนื้อผงของเกจิท่านอื่นอย่างเช่น ของวัดปากน้ำรุ่นแรก ไม่ว่าจะเคลือบหรือไม่เคลือบอย่าไปลองทีเดียวนะครับ เป็นเรื่องแน่ ละลายหมด บางครั้งการล้างพระของเซียนรุ่นเก่า (บางท่าน) ก็เพื่อต้องการจะทราบว่าพระองค์ที่ล้างนั้นมีรอยซ่อมมาหรือไม่ เท่านั้นเพื่อจะได้ไม่ผิดราคาเช่าหา อ่ะ..ครับ อิ..อิ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท