ชีวิตที่พอเพียง : ๒๔๖๖. ทำความเข้าใจ chaos ด้วย action ตามด้วย reflection



ในการสัมมนาเรื่อง ยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล สู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลก ครั้งที่ ๒ ที่แหลมผักเบี้ย เพชรบุรี ระหว่างวันที่ ๑๙ - ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๘ ผู้บริหารส่วนงานและผู้อำนวยการกองไปร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง มีกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิไปร่วม ๕ คน

ทีมงานจัดประชุมจัดการประชุมดีมาก เตรียมมาอย่างมืออาชีพ โดยสังเคราะห์ประเด็นมาจากการประชุมครั้งที่ ๑ ที่อยุธยา ที่ผมบันทึกไว้ ที่นี่

การประชุมคราวนี้ เริ่มด้วยรองอธิการบดีฝ่ายการเงินเสนอข้อมูลภาพใหญ่ด้านการเงิน ในช่วง ๔ ปีที่ผ่านมา คือปี ๒๕๕๔ - ๒๕๕๗ ชี้ให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยในภาพรวมมีรายรับสูงกว่ารายจ่ายในสัดส่วนที่น้อยลง และส่วนงานต่างๆ เคลื่อนเข้าสู่สภาพรายจ่ายมากกว่ารายรับ เวลานี้ส่วนงานประมาณสามในสี่มีรายจ่ายมากกว่ารายรับ เป็นข้อท้าทายด้านการเงิน

ตามด้วยการนำเสนอข้อสังเคราะห์ แผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. ๒๕๕๙ - ๒๕๖๒ โดยเสนอเป็น ๔ ยุทธศาสตร์ คือ (๑) วิจัย (๒) การศึกษา (๓) Social Engagement และ (๔) Management แต่ละยุทธศาสตร์ เสนอเป้าหมาย กิจกรรมเชิงยุทธศาสตร์ และตัวชี้วัดหลัก แล้วแบ่งกลุ่มย่อย ๔ กลุ่ม ให้ช่วยกันยุบหัวข้อกิจกรรมเชิงยุทธศาสตร์ และตัวชี้วัดหลัก

รุ่งขึ้นเช้าวันที่ ๒๐ รองอธิการบดีประจำแต่ละกลุ่ม นำเสนอผลการประชุมกลุ่ม ต่อที่ประชุมใหญ่ และรับฟังความเห็น จากที่ประชุมใหญ่ ซึ่งก็ได้รับความเห็นแบบไฟแลบทีเดียว และเมื่อถึงยุทธศาสตร์ที่ ๔ เรื่องยุทธศาสตร์การจัดการ เสนอโดยรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนฯ รศ. ดร. ภก. สมภพ ประธานธุรารักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพ การอภิปรายก็ร้อนฉ่า

ดร. โชค บูลกุล กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของทีมยุทธศาสตร์ด้วย ตั้งข้อสังเกตว่า ในการบริหารงานต้องขึ้นโครงร่างกายทั้งร่าง (skeleton) เสียก่อน แต่ที่เราพูดกันอยู่นี้อยู่ที่ระดับอวัยวะ และเสนอให้ลงมือ ปฏิบัติตาามแผนยุทธศาสตร์ใน ๑ ส่วนงาน เป็นกรณีศึกษา สำหรับเรียนรู้และปรับแผนยุทธศาสตร์ ที่จะนำไปใช้ทั่วทั้งมหาวิทยาลัย

ผมกระซิบกับท่านว่า นักวิชาการก็อย่างนี้แหละ เราถนัดคุยกันในระดับ อวัยวะ เท่านั้น หรือมิฉนั้นก็ซอยย่อยลงไปอีก

ตอนกล่าวปิดการประชุม ผมชี้ให้ที่ประชุมเห็นว่า การประชุมวันครึ่งครั้งนี้มีประโยชน์มาก และการประชุมก็มีความ เอาจริงเอาจังน่าชื่นชมผู้มาร่วม ประโยชน์และบรรยากาศของการประชุมขึ้นสูงสุดในช่วงการนำเสนอและอภิปรายยุทธศาสตร์ที่ ๔ ด้านการจัดการนี่เอง คือทุกคนมึนงงกันถ้วนหน้า

ซึ่งเป็นธรรมชาติของการประชุมชนิดนี้ ที่เรากำลังทำความเข้าใจ Chaos (ซึ่งมีความซับซ้อน มีหลายมิติ) โดยเอา Order มาจับ ย่อมเกิด mismatch เกิดการมองต่างมุม และความมึนงง เป็นธรรมดา

ผมเสนอว่า การทำความเข้าใจ Chaos จึงต้องทำผ่าน Action เมื่อลงมือปฏิบัติ ก็จะค่อยๆ เข้าใจธรรมชาติที่ซับซ้อนในการ ดำเนินการสถาบันอุดมศึกษา เพื่อการเป็น World Class Research University ไม่ใช่ทำความเข้าใจผ่านการอภิปราย

ผมจึงเสนอให้ดำเนินการ case study (อย่างที่ ดร. โชค เสนอ) สัก ๒ - ๓ ส่วนงาน เป็นข้อเสนอประการแรก

ข้อเสนอประการที่ ๒ ให้ทีมจัดการการเปลี่ยนแปลงกลาง ดำเนินการ SSS – Success Story Sharing โดยเสาะหา ความสำเร็จเล็กๆ ตามเป้าหมายที่กำหนด จากส่วนงานต่างๆ เอามาตั้งวงเรื่องเล่าเร้าพลัง (storytellimg) เพื่อหาทางขยายผลสู่เป้าหมายตามยุทธศาสตร์ต่อไป

ข้อเสนอประการที่ ๓ เสนอให้ทุกส่วนงานกลับไปร่วมกันตีความแผนยุทธศาสตร์ภายในส่วนงาน และลงมือดำเนินการ ตามความเหมาะสมต่อบริบทของตน และนำผลมา ลปรร. กันต่อไป

จะให้เข้าใจเรื่องต่างๆ ที่มีธรรมชาติซับซ้อนและเลื่อนไหล (Complex – Adaptive) ต้องทำความเข้าใจผ่านการลงมือปฏิบัติ (Action) ตามด้วยการไตร่ตรองสะท้อนคิด (Reflection)

บรรยากาศการประชุมกลุ่ม วันที่ ๑๙

บรรยากาศในห้องประชุม วันที่ ๒๐

ถ่ายรูปหมู่เพื่อเป็นพันธะสัญญาว่าจะร่วมกันเดินหน้าต่อไป



วิจารณ์ พานิช

๒๐ มิ.ย. ๕๘

บนรถยนต์จากเพชรบุรีกลับบ้านปากเกร็ด


หมายเลขบันทึก: 593096เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2015 18:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 สิงหาคม 2015 18:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท