ธนาคารข้าว : กระบวนการบริหารจัดการและการลดต้นทุนผลิตข้าวในชุมชนบ้านหินปูน


การขับเคลื่อนกิจกรรมการลดต้นทุนการผลิตข้าวนั้น มีกระบวนการที่หลากหลายและน่าสนใจ เพราะแทนที่จะมุ่งเน้นไปสู่การนำปลาไปแลกข้าว หรือการนำเงินในธนาคารข้าวไปซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าว จากภายนอกชุมชน แต่กลับมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวบ้านได้เรียนรู้ที่จะปลูกข้าว เพื่อคัดเมล็ดพันธุ์และบริโภคกันเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรือเกษตรอินทรีย์ ซึ่งหลักๆ คือการมุ่งสู่การลดต้นทุนในการผลิต โดยประสานเครือข่ายที่เกี่ยวข้องมาช่วยพัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง นับตั้งแต่ทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติจริง

การร่วมคิดร่วมทำแบบพันธมิตรและหุ้นส่วน


1.ภาพรวมการขับเคลื่อน

โครงการวิจัย “กระบวนการสร้างเสริมการบริหารจัดการธนาคารข้าวและการลดต้นทุนในการผลิตข้าว กรณีศึกษา: บ้านหินปูน ตำบลเขวาใหญ่ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม” เป็นงานวิจัยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กับ สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่ดำเนินการเมื่อปีงบประมาณ พ.ศ.2557 ด้วยการต่อยอดจากโครงการ “หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน” (งานบริการวิชาการแก่สังคม) ที่สาขาการจัดการ คณะการบัญชีและการจัดการ ได้ดำเนินการเมื่อปี พ.ศ. 2555-2556 ในชื่อโครงการ “การบริหารจัดการธนาคารข้าวเพื่อชุมชนบ้านหินปูน” และปี 2557 ในชื่อโครงการพัฒนาศักยภาพแกนนำและเครือข่ายเกษตรพอเพียง จังหวัดมหาสารคาม



โครงการวิจัยดังกล่าว เกิดขึ้นจากสภาพการณ์อันเป็นปัญหาที่ชุมชนประสบปัญหามายาวนาน นั่นก็คือ ปัญหาน้ำท่วม (อุทกภัย) เนื่องจากชุมชนตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำชี เมื่อถึงฤดูฝนจึงประสบปัญหาเรื่องน้ำท่วม ส่งผลให้เพาะปลูกข้าวไม่ได้ จนต้องนำปลาไปแลกข้าวกับชุมชนอื่นๆ ตามครรลอง “ปลาแลกข้าว” โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชุมชนวังแสง ตำบลวังแสง อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งทั้งสองชุมชนเดินทางไปมาหาสู่กันมายาวนานด้วยวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยน ทั้ง “ปลาแลกข้าว” และ “ข้าวแลกปลา”

โครงการวิจัยดังกล่าว ประกอบด้วยวัตถุประสงค์การวิจัย 3 ประเด็น คือ (1) ศึกษาสภาพบริบทชุมชน/สถานการณ์ ปัญหา และผลกระทบที่เกิดขึ้นในชุมชนบ้านหินปูน (2) ศึกษาความเป็นมา และระบบการบริหารจัดการธนาคารข้าวที่ชุมชนบ้านหินปูน (3) ศึกษากระบวนการลดต้นทุนในการผลิตข้าวที่เหมาะสมของชุมชนบ้านหินปูน



ทั้งนี้แบ่งห้วงการดำเนินการวิจัยออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ช่วงเตรียมการ การพัฒนาศักยภาพทีมวิจัยและศึกษาข้อมูล ระยะที่ 2 ช่วงปฏิบัติการ และระยะที่ 3 สรุปและประเมินโครงการ โดยใช้เครื่องมือเป็นแบบสัมภาษณ์ และการสนทนา โดยมีผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล ชาวบ้าน นักวิชาการ และชุมชนบ้านหินปูน โดยมีบ้านหินปูน ตำบลเขวาใหญ่ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคามเป็นทีมวิจัย



2.ภาพรวมของกิจกรรม

จากการเรียนรู้คู่บริการผ่านโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน ทำให้ค้นพบการก่อเกิดและสภาพปัญหาของการจัดตั้งธนาคารข้าวชุมชนหินปูน หลายประการนับตั้งแต่การนำปลาร้าจำนวน 900 กิโลกรัมไปแลกข้าวเปลือกจากชุมชนวังแสงในจำนวนประมาณ 2.2 ตัน รวมถึงธนาคารการเกษตรและสหกรณ์ได้มอบข้าวสมทบอีกจำนวน 2 ตัน (รวมเป็นจำนวน 4.2 ตัน) เพื่อเป็นทุนตั้งต้นในการตั้งธนาคารข้าวขึ้นในชุมชน เพื่อให้สมาชิกได้ยืมไปเพาะปลูกและบริโภค เมื่อครบกำหนดจึงนำเมล็ดพันธุ์ข้าวกลับมาคืนให้กับธนาคารข้าว กระนั้นก็พบว่าเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ได้คืนกลับมานั้นมีคุณภาพต่างกันออกไป ยังผลให้การบริหารธนาคารข้าวประสบปัญหาต่างๆ เช่น การบริหารจัดการองค์กร คุณภาพของเมล็ดพันธุ์ ต้นทุนการผลิตที่สูง จำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการของสมาชิก



ด้วยเหตุนี้โครงการวิจัยดังกล่าว จึงมีการพัฒนาโจทย์ร่วมระหว่างนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยมหาสารคามกับชุมชน ตลอดจนนักวิชาการจาก สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น (โหนดมหาสารคาม) และภาคีเครือข่ายในชุมชน ก่อเกิดเป็นกิจกรรมต่างๆ บนฐานคิดหลักของการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (เรียนรู้คู่บริการ) การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ ที่สำคัญๆ ดังนี้

  • การศึกษาบริบทชุมชน
  • การจั้งตั้งคณะกรรมการธนาคารข้าว
  • การออกระเบียบข้อบังคับว่าด้วยธนาคารข้าว (การยืม-คืน-อัตราการยืม-คืน-การฝาก)
  • การจัดหาข้าวเพิ่มเติมเพื่อการเริ่มต้นธนาคารข้าว
  • การฟื้นฟูประเพณีและวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับข้าว
  • การลดต้นทุนการผลิตข้าว เพื่อการบริโภคและการเพาะปลูก



โดยเฉพาะการขับเคลื่อนกิจกรรมการลดต้นทุนการผลิตข้าวนั้น มีกระบวนการที่หลากหลายและน่าสนใจ เพราะแทนที่จะมุ่งเน้นไปสู่การนำปลาไปแลกข้าว หรือการนำเงินในธนาคารข้าวไปซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าว จากภายนอกชุมชน แต่กลับมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวบ้านได้เรียนรู้ที่จะปลูกข้าว เพื่อคัดเมล็ดพันธุ์และบริโภคกันเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรือเกษตรอินทรีย์ ซึ่งหลักๆ คือการมุ่งสู่การลดต้นทุนในการผลิต โดยประสานเครือข่ายที่เกี่ยวข้องมาช่วยพัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง นับตั้งแต่ทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติจริง เป็นต้นว่า

  • ศูนย์วิจัยข้าวขอนแก่น : ให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับข้าว เช่น ประเภทเมล็ดพันธุ์ การผลิตเมล็ดพันธุ์ การรับรองพันธุ์การตรวจสอบมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ การตรวจสอบคุณภาพข้าว
  • ศูนย์เรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติเพื่อขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จ.พิจิตร : ให้ความรู้เรื่องการการทำปุ๋ยชีวภาพจากจาวปลวก การทำสารกำจัดศัตรูพืชจากสมุนไพร
  • คณะการบัญชีและการจัดการ : ให้ความรู้เรื่องแนวคิดทางการตลาด วิทยากรชุมชน
  • ธนาคารการเกษตรและสหกรณ์ : เมล็ดพันธุ์ต้นทุนเพื่อการจัดตั้งธนาคารข้าว
  • ชุมชนวังแสง ต.วังแสง อ.แกดำ จ.มหาสารคาม : แลกเปลี่ยนเรียนรู้และแบ่งปันความรักและความรู้ (ข้าวแลกปลา ปลาแลกข้าว)



การเกิดประโยชน์ร่วมกัน

1.ระดับมหาวิทยาลัย

1.1 เกิดการบูรณาการงานวิจัยกับการเรียนการสอนในรายวิชาต่างๆ เช่น การจัดการและพฤติกรรมองค์กร หลักการตลาด การสัมมนา

1.2 เกิดปฏิรูปการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นให้เกิดจิตสำนึกของการรับใช้สังคม (เรียนรู้คู่บริการ) แบบมีส่วนร่วมทั้งอาจารย์และนิสิต

1.3 เกิดกระบวนการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่มุ่งเน้นผู้เรียนและชุมชนเป็นศูนย์กลาง และเรียนรู้ผ่านกิจกรรมอย่างเป็นกลุ่ม/ทีม

1.4 เกิดสถานีฝึกประสบการณ์วิชาชีพและวิชาชีพแก่นิสิต โดยมีชาวบ้าน หรือปราชญ์ชุมชนเป็นผู้ร่วมสอน หรือจัดการเรียนรู้ทั้งต่อนิสิตและอาจารย์



2.ระดับชุมชน

2.1 ชุมชนเกิดองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับการบริหารจัดการธนาคารข้าวอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

2.2 ชุมชนเกิดองค์ความรู้ใหม่และทักษะเกี่ยวกับกระบวนการลดต้นทุนการผลิตผ่านระบบและกลไกของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรอินทรีย์ (ปลอดสาร)

2.3 ชุมชนเกิดองค์ความรู้ใหม่และทักษะเกี่ยวกับการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว การคัดเมล็ดพันธุ์ข้าว การตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์

2.4 ชุมชนมีเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพเพื่อการบริโภคและเพาะปลูก

2.5 เกิดแหล่งเรียนรู้ให้บริการต่อสมาชิกในชุมชนและต่างชุมชน

2.6 เกิดวิทยากรในระดับชุมชนเพื่อการถ่ายทอดองค์ความรู้ในเรื่องธนาคารข้าว และอื่นๆ

2.7 เกิดเสถียรภาพของธนาคารข้าวที่สามารถให้บริการการยืมต่อสมาชิกในชุมชนและต่างชุมชน บนหลักคิดของการพึ่งพาอาศัยและการแบ่งปัน

2.8 สมาชิกในชุมชนมีรายได้เสริมจากการจำหน่ายปุ๋ยหมัก/น้ำหมักชีวภาพจากจาวปลวก ผักปลอดสารพิษ

2.9 เกิดคู่มือการบริหารจัดการธนาคารข้าวที่เป็นรูปธรรมและใช้ได้จริงในชุมชน รวมถึงเป็นชุดความรู้ หรือกรณีศึกษาต่อผู้สนใจ

2.10 เกิดสมุดบัญชีธนาคารข้าวและสมุดยืม-คืนข้าวที่มีมาตรฐานครอบครัวละ 1 เล่ม

2.11 ชุมชนเกิดการรวมกลุ่มที่เข้มแข็งและมีกระบวนการจัดการความรู้ด้วยตนเองอย่างเข้มแข็ง



3.ระดับภาคีเครือข่าย

เกิดการผนึกกำลังเพื่อการพัฒนาชุมชนร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนและส่วนราชการ หรือภาคส่วนอื่นๆ เช่น ศูนย์วิจัยข้าวขอนแก่น ศูนย์เรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติเพื่อขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดพิจิตร กลุ่มฮักแพงเบิ่งแญงคนสารคาม



การเรียนรู้ร่วมกันและเกิดผลงานวิชาการ

1.เกิดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างสมาชิกในธนาคารข้าวกับกลุ่มอาสาสมัครทดลองปฏิบัติการนำร่องเรื่องการลดต้นทุนการผลิตข้าวที่นำโดยบุคคลสำคัญ 3 คน คือ ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และประธานธนาคารข้าว

2.เกิดชุดความรู้ในรูปของ “คู่มือการบริหารจัดการธนาคารข้าว”

3.เกิดสมุดยืม-คืนธนาคารข้าวครัวเรือนละ 1 เล่ม

4.เกิดการต่อยอดปุ๋ยชีวภาพ/น้ำหมักชีวภาพจากจาวปลวกจากชุมชนหินปูน

5.เกิดการบูรณาการศาสตร์การเรียนรู้คู่บริการร่วมกับหลักสูตรอื่นๆ ในคณะการบัญชีและการจัดการ เช่น สาขาการตลาด สาขาการประกอบการ สาขาธุรกิจระหว่างประเทศ ในชื่อโครงการศึกษาบริบทชุมชนเพื่อวางแผนการตลาดและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจเลี้ยงปลาน้ำจืดในกระชังของชุมชนบ้านหินปูน โครงการการจัดการการประกอบธุรกิจเลี้ยงปลาและพัฒนาการสร้างมูลค่าเพิ่มของการเลี้ยงปลาน้ำจืดในกระชังเพื่อเสริมสร้างหมู่บ้านเศรษฐกิจเข้มแข็ง

6.เกิดชุดความรู้ในมุมของนิสิตผ่านเรื่องเล่าเร้าพลัง (storytelling)



การเกิดผลกระทบกับสังคมที่ประเมินได้

1.ปัจจุบันชุมชนบ้านหินปูน ตำบลเขวาใหญ่ จังหวัดมหาสารคาม กลายเป็นหมู่บ้านต้นแบบของจังหวัดมหาสารคามในหลายๆ มิติ ทั้งชุมชนแห่งการจัดการความรู้ ชุมชนต้นแบบปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีกลุ่มคน หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ตลอดจนสถานศึกษาทุกระดับเดินทางเข้ามาศึกษาดูงาน และร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

2.เกิดพลังเครือข่ายต้นแบบการเรียนรู้บนฐานวัฒนธรรมการพึ่งพาและแบ่งปันอย่างเข้มแข็งระหว่างชุมชนสองชุมชน (บ้านหินปูน ต.เขวาใหญ่ อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม : บ้านวังแสง ต.วังแสง อ.แกดำ
จ.มหาสารคาม) ผ่านวิถีวัฒนธรรม “ปลาแลกข้าว-ข้าวแลกปลา”

3.เกิดตราสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์ชุมชน “หนึ่งในผลิตภัณฑ์ชั้นดี จากความสามัคคีของคนบ้านหินปูน”

4.เป็นชุมชนต้นแบบแหล่งเรียนรู้เครือข่ายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นอันเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหาสารคามกับ สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น


หมายเหตุ :

ต้นเรื่อง : ดร.นวลละออง อรรถรังสรรค์ และชุมชนบ้านหินปูน
เรียบเรียง : พนัส ปรีวาสนา

หมายเลขบันทึก: 592676เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2015 23:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กรกฎาคม 2015 23:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นงานบริการที่บูรณาการได้หลากหลายมากครับ

ขอบคุณมากๆครับ

ครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

การบูรณาการเป็นนโยบายหลักของมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่มีต่อการรับใช้สังคม บูรณาการทั้งศาสตร์ภายใน และข้ามศาสตร์ บูรณาการทำงานกับภาคีภายนอก เน้นการมีส่วนร่วม

โชคดีมากที่ชุมชนนี้เข้มแข็งและจัดการความรู้ได้ด้วยนเองอยู่แล้ว แค่เติมเต็มจุดอ่อนร่วมกัน และเปิดใจเรียนรู้และผนึกกำลังร่วมกันอย่างจริงจัง ซึ่งก็ทำได้สำเร็จ...

ปีนี้--ขยายไปทำเรื่องการจัดการขยะในชุชนแล้วครับ....







พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท