​เปลี่ยนมุมมองต่อนักศึกษา



ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยมหิดล ครั้งที่ ๔๙๖ เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๘ มีวาระเพื่อพิจารณาเชิงนโยบาย เรื่อง “กิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์” ที่เมื่อรองอธิการบดี ฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ (รศ. นพ. ปรีชา สุนทรานันท์) นำเสนอจบ กรรมการสภาฯ ก็ให้ความเห็นที่ประเทืองปัญญามาก และมีประโยชน์มากในการเปลี่ยนแปลงเรื่องกิจการนักศึกษาอย่างถึงแก่น

หัวใจคือ ต้องไม่มอง “กิจการนักศึกษา” แบบเดิมๆ ต้องมองเป็น “การพัฒนานักศึกษา” ในภาพรวม (holistic student development) เชื่อมโยงกับการเรียนรู้ในหลักสูตร การพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ การพัฒนาทักษะชีวิต การพัฒนาจิตอาสา และการพัฒนาทักษะผู้ประกอบการ (entrepreneurship)

ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ต้องดำเนินการแบบ ให้โอกาส และหนุนเสริม ให้นักศึกษาคิดเอง ทำเอง เพื่อการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ไม่ใช่อาจารย์เข้าไปคิดให้ทำให้

สำคัญสูงสุดคือหลักการ หรือมุมมองต่อนักศึกษา ต้องมองนักศึกษาเป็น ผู้สร้างหรือผู้สร้างสรรค์ เพื่อฝึกฝนและพัฒนาตนเอง เน้นที่การเรียนรู้เพื่องอกงามทักษะและสำนึกต่างๆ ภายในตนเอง ผ่านการลงมือ ปฏิบัติ และใคร่ครวญไตร่ตรองสะท้อนคิด ไม่ใช่เรียนแบบรับถ่ายทอดความรู้สำเร็จรูปจากภายนอก

นักศึกษาไม่ใช่ “ผู้รับ” แต่เป็น “ผู้ให้” หรือกล่าวให้พอดีไม่สุดโต่ง นักศึกษามีสภาพเป็นผู้ให้ มากกว่าเป็นผู้รับ โดยที่กระบวนการลงมือปฏิบัติเพื่อ “ให้” นั้น เกิดการฝึกฝนทักษะและเรียนรู้ทฤษฎี แบบงอกงามจากภายใน ที่เป็นการเรียนรู้เชิงซ้อนหลายมิติ เกิดการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง

มหาวิทยาลัยจัดโครงสร้างต่างๆ เพื่อให้เกิดบรรยากาศของการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงผ่านการปฏิบัติ บรรยากาศนั้นเรียกว่า “ชีวิตมหาวิทยาลัย” (campus life) มหาวิทยาลัยคุณภาพสูงต้องจัด campus life ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ตามที่กล่าวแล้ว



วิจารณ์ พานิช

๒๐ พ.ค. ๕๘

ระหว่างนั่งรถกลับบ้าน


หมายเลขบันทึก: 591783เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2015 13:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มิถุนายน 2015 13:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท