"ช้า นิ่ง จริง แจ้ง"


รถด่วน ยังสวนใจ

"ทะเลสังคม"

สังคมปัจจุบัน มีกระแสเหมือนน้ำไหลเชี่ยว ที่ลงจากเขา ที่พัดมาตะกอน สิ่งปลูกสร้าง ต้นไม้ หน้าดินให้ทลายไหลลงไปสู่ปลายทางคือ "ทะเล" น้ำบนผิวโลกอื่นๆ ที่มีเส้นทางไหลไปตามซอกที่ต่ำเสมอ ทำให้เกิดเป็นสายน้ำ แม่น้ำที่มีพลังดึงดูดหยดน้ำ คู คลอง หนอง ห้วย ต่างๆ จนกลายเป็นกระแสน้อย ใหญ่ที่ไหลไปตามกระแส ของแรงโน้มถ่วงของโลก กระแสนี้เองที่ดำเนินอยู่บนโลกอย่างไม่รู้จักจบสิ้น เมื่อฝนหลาก มากล้น ย่อมจะเห็นกระแสน้ำเอ่อล้น จนสัตว์โลกลำบาก


กระแสน้ำในโลก เป็นไปตามกรอบนี้ฉันใด กระแสสังคมโลกของมนุษย์เป็นเช่นนั้น ความเชื่ยวแรงของสังคมโลก ที่เกิดจากการแข่งขัน แย่งชิง ต่อสู้กัน เหมือนแรงโน้มถ่วงที่กระตุ้นให้มนุษย์ในสังคมเกิดกระแสไหลไปตามกัน แย่งกัน จนกลายเป็นภาพของคลื่นกิจกรรมของสัตว์โลก ที่มุ่งหน้าหางาน หาเงิน หาสิ่งอำนวยความสุข เป็นการเอาตัวรอดในกระแสสังคมยุคใหม่ กระแสความต้องการของผู้คน คือ กระแสที่เร่งรีบ บีบคั้นให้แต่ละคนต้องขยัน ขันแข็ง แย่งโอกาสเพื่อตนเอง


ความแรง ความเร็ว ความอยาก ความฝัน คือ คุณสมบัติยุคใหม่ของคนเมืองที่ต้องมี จนกลายเป็นคุณภาพที่ต่ำลง ที่สุดก็เป็นคุณสมบัติที่แคบเรียกว่า เห็นแก่ได้ เห็นแก่ตัว เมื่อน้ำอยากแต่ละหยดในแต่ละคน มันกระตุ้นให้เกิดกระแส จนกลายเป็นกระแสความอยากร่วมกันเป็นเอกภาพ "เอกราคะ" คือ ความอยากที่เป็นกระแสเดียว เช่น บริโภคนิยม ฯ กระแสนี้ทำให้ชาวโลกต้องดิ้นรน แสวงหา อย่างรีบด่วน เหมือนว่า ตนกำลังจะตายวัน ตายพรุ่ง ทำนองนั้น


ผลกระทบที่สะเทือนไปถึงกิจกรรมอื่นๆ ของมนุษย์ด้วย เหมือนทฤษฎีผีเสื้อกระพือปีกฉันนั้น กล่าวคือ การออกจากบ้าน จึงมีบริการแท็กซี่ มอเตอร์ไซด์รับจ้าง มีร้านอาหารรองรับ มีรถเมล์บริการ มีตำรวจทำงานกับจราจร มีปั้มน้ำมันให้รถวิ่ง มีเงินหมุนเวียน (มิติได้) ตลอดจนถึงภัยอันตรายก็เกิดด้วย อากาศเป็นพิษ คนแย่งกันขึ้นรถ เกิดอุบัติเหตุ เกิดเสียเงิน (มิติเสีย) ยังมีผลกระทบอื่นๆอีก เพียงแค่มนุษย์ขยับ สรรพสิ่งก็สะเทือนเลื่อนลั่น


กระนั้น ความเร่งด่วน รีบร้อน ว่องไว ก็ยังไม่ทันใจผู้คนอยู่ดี อยากจะได้อะไรที่ด่วนเร็วกว่านี้อีก "พฤติกรรมด่วน" จึงปรากฏออกมาเป็นรูปธรรมตามกระแสต้องการของมนุษย์เช่น เครื่องบินเจ็ต โบอิ้งด่วน เรือด่วน รถด่วน ทางด่วน บริการด่วน ส่งด่วน ถ่ายภาพด่วน อาหารจานด่วน เน็ตไวด่วน ส่งของด่วน (EMS) ฯ ทำให้ต้องสร้างเครื่องใช้ เครื่องมือด่วน เร่งไว ตามไปด้วย จนกลายเป็นคนในร้อน ในด่วน ใจเร็ว ถ้าไม่ได้แบบด่วน มักจะเกิดอารมณ์หงุดหงิด จนกลายเป็นคนบุ่มบ่าม ทำอะไรขาดความรอบคอบ คิดเร็ว พูดเร็ว ทำเร็ว ความผิดพลาดจึงเกิดขึ้นตามถนนนั่นแล

รถติด ได้พิษใจ

เมื่อมนุษย์ถูกกระตุ้นให้อยู่ในรูปแบบด่วนเสมอ จึงไม่เห็นผลส่งตรงข้ามคือ "ความช้า" และกลับมองว่า คนช้า ไม่ทันกิน ไม่ทันคน เสียเวลา เสียโอกาส ในสังคมทุกวันนี้ เรามีเวลา ๑ วันคือ ๒๔ ชั่วโมงเท่ากัน แต่คนทำงาน คนรีบร้อน คนมีภาระ มักจะมองว่า เวลาน้อยไป ไม่มีเวลาพอ เราจึงเร่งรีบต้องใช้เวลาให้คุ้ม ทุกวินาที หลายคนที่ทำงานทั้งกลางวัน กลางคืน จนเสียสุขภาพ ราวกับว่า เขาจะจากโลกนี้พรุ่งนี้ซะงั้น เขาจึงกลัวไม่มีกิน กลัวไม่รวย กลัวไม่ทันคน จึงรีบๆ หาเงิน หางาน หาสมบัติไว้มากๆ หากเป็นเช่นนั้นจริง เขาคงลรรลุธรรมไปแล้ว แต่ทว่าเขาเห็นไม่จริง


หากทวนกิจกรรมตัวเองได้ว่า สังคมยุคนนี้มุ่งเร่งรีบ เพื่อให้ตนตามกระแสนั้น เราก็คงไม่มีความสุขได้ เพราะเราจะถูกกระตุก กระตุ้นให้หมุนไปตามกระแสสังคมร่ำไป ไม่สิ้นสุด เมื่อเราทำงานหรือไหลไปตามกระแสนานเข้า เราจะรู้สึกเหนื่อย เมื่อยล้า ไม่เป็นตัวของตนเอง จึงแทบจะหาเวลาทบทวนตัวตนแท้ไม่ได้เลย เหมือนกับว่า กาย ใจ กิจกรรมมันเร่งรีบ เร่งด่วนไปซะหมด จนขาดความใกล้ชิดใจ หรือพฤติใจของตนเองไป จนมองไม่เห็นจิตแท้ของตนเอง


"รู้ตัวนิ่ง"

อย่างไรก็ตามเราก็ยังมีที่พึ่งที่พักใจคือ พระพุทธศาสนา ที่สอนให้เราหยุดด่วน สอนให้เราช้า สอนให้เรามองตน ให้เห็นสภาวะการเคลื่อนไหวของกองกายหรือองคาพยพทั้งหมดได้ โดยเฉพาะกระบวนการทำงานทางจิต ที่เราเหินห่างและขาดการเรียนรู้มัน พระพุทธศาสนาได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาชีวิตแบบค่อยเดิน ค่อยก้าว เหมือนท่านพุทธทาสเตือนชาวพุทธว่า "เดินละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีอย่าง" เราจึงจะเห็นก้าวเท้าของตนละเอียดขึ้น


หลักการของพระพุทธศาสนาที่สอนให้มนูษย์ให้เห็นจิตตน กายตน อารมณ์ตน และธรรมที่ปรากฎในตน นั้นคือ "วิปัสสนา" (รู้คลื่นข้างใน) โดยการหยุดกิจกรรม แล้วทำทีละอย่าง ให้ช้าๆๆ ดังที่หลวงพ่อเทียนสอนศิษย์ว่า ยก ย้าย เคลื่อน รู้ การเพ่งพิจกิจกรรมทางกายอย่างละเอียดช้าๆ นั่นคือ ทางเข้าสู่ฐานตน กิจกรรมของกายเป็นอย่างไร เราจะเริ่มตระหนักรู้เช่น ท้องพอง-ยุบ เท้า มือ ใจ อารมณ์ ความนึกจิต ต้องถูกสังเกตและรับรู้โดย "สติและสัมปชัญญะ" เพื่อให้เห็นความเชื่องช้าในกิจกรรมทางกาย ใจ ตน หากเร่งรีบ ไปทางด่วน ก็ยากที่เห็นปรากฏการณ์จริงของชีวิตโดยรวม


เมื่อเราฝึกหัดดัดใจให้เชื่องช้าได้ เราก็จะเห็นความนิ่ง ความจริง ปรากฏขึ้นในตัวเอง จะมองเห็นพฤติกรรมที่เร่งรีบในตัวเองได้ เห็นร่องรอยการเดินทางของกระแสจิต และอาจเห็นกระแสสังคมโลกที่เดินทางด่วนเป็นช้าก็ได้ เมื่อนั้น จิตที่เคยด่วนก็จะรีบเตือนกาย ใจ ให้รู้ด่วนจนน้อมไปสู่ความสงบ สุขุม เยือกเย็น คัมภีรภาพหรือดุษฎียภาพได้อย่างแปลกประหลาด ความสงบนิ่ง จะกลายเป็นฐานให้เกิดความมั่นคงทางกายภาพ จิตภาพ ทัศนภาพ และความมั่นคงในเอกภาพของชีวิตได้

"รู้จริงแจ้ง"

ในพระพุทธศาสนาจึงมีหลักเบื้องต้นที่สอนให้ชาวพุทธนั่งทำสมาธิ ทำภาวนา เพื่อเป็นการหยุดเดิน หยุดกระแสด่วน หยุดให้กายหยุด หยุดให้จิตหยุด หยุดให้ดูความนิ่ง ความมั่นคงทางอารมณ์ตน โดยอาศัยกุศโลบายเป็นเครื่องน้อมนำให้จิตเดินช้าๆ เช่น รับรู้ สังเกตดูลมหายใจเข้าออก เพื่อให้เห็นความหยุด ไม่เดิน ไม่ฟุ้ง ไม่ปรุงแต่ง ไม่รีบร้อนใจ หลวงพ่อสดวัดปากน้ำก็สอนเรื่อง "หยุด" ที่ฐานของกลางกาย เพราะนี่คือ ฐานการเกิด การดับของสัตว์โลก เมื่อเราหยุดคิด หยุดปรุงแต่งจิต อย่างค่อยเป็นค่อยไปช้าๆ ย่อมจะสร้างความพิศดารแก่ตนเองได้ โลกนั้นต้องอาศัยยานด่วนนำพา แต่ในจิตต้องอาศัยยานหยุดนำไป


เมื่อเราฝึกฝนทนดูจิต ด้วยอาการนั่งนิ่ง ให้ความจริงมันปรากฏเอง เช่น เจ็บปวด จิตดิ้นรน อยากหนี อยากเลิก อยากไป อยากจนฟุ้งซ่าน ร่างกายเราจะต่อต้าน จิตเราจะเบื่อหน่าย ปรากฏการณ์เช่นนี้ จะเกิดขึ้นกับผู้ฝึกฝนใหม่ๆ แน่นอน หลักการจุดนี้ ท่านบอกว่า ให้รู้ ให้เห็นสิ่งที่เป็นกับสิ่งที่ถูกเป็น รู้เหตุและผลมัน ว่ามีเป้าหมายปลายทางอย่างไร โดยมองให้เห็นกายภาพก่อนว่า กายรู้สึกอย่างไร จากนั้นก็ให้รู้สภาวะอารมณ์ว่า มีคุณสมบัติอย่างไร


หากดำเนินไปตามกระแสนี้ ท่านจะรู้รูปร่างจิตของตนว่า สวยหล่อ และน่ารักอย่างไร แต่ถ้าไม่ ท่านจะไม่มีวันเห็นตนจริงแท้แน่นอน เพราะเรามักจะเอาเวลา สังคม ครอบครัว กิจการ หรือยังไม่พร้อม มาเป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ตนเอง ท่านพุทธทาสกล่าวว่า ทำงานคือ งานธรรม หมายความว่า ธรรมสามารถปรากฏได้ทุกอิริยาบถ แต่เราไม่รู้ที่จะบริหารจิตอย่างไร เพราะความจริงไม่ได้อยู่ที่ธรรม ธรรมชาติป่าเขา หรือยู่ในคัมภีร์ หากแต่มันอยู่ที่กาย ใจนั่นเอง อยู่ที่ว่า เราจะหากุญแจคือ สติ สัมปชัญญะ ไขเข้าห้องตนเองได้อย่างไร


ดังนั้น โลกใบใหญ่ ชีวิตสั้น เวลาน้อย เราห่างตัวตน เรายิ่งห่างความจริงของโลก ของชีวิตไป พระพุทธศาสนาจึงเน้นที่การ รู้ เข้าใจ เข้าถึง ตนเองให้ได้ ให้เป็น ให้ที่สุด แต่เรามักอ้างว่ามีเวลาน้อย (ที่จริงเรากล่าวถูกว่า ชีวิตนี้มีเวลาน้อยจริง) หลวงปู่มั่นบอกว่า รู้ตน คือ ถึงพุทโธ เมื่อจิตรู้ หมายถึง จิตเข้าถึงพุทธภาวะ (Buddhahood) ตามทัศนะของเซ็นที่มองว่า ทุกสรรพสิ่งมีพุทธภาวะแอบแฝงอยู่ทั้งสิ้น การรู้จริง จึงรู้มาจากการหยุดให้นิ่ง อย่างแน่นหนักในตัวเอง เพราะตนคือ สรณะที่พึ่งที่ถาวร ก่อนวายชนม์ รู้แจ้งใจ คือ รู้ข้างในอย่างเยือกเย็น ไม่ใช่รู้แบบรู้ด่วน แล้วหายไป เหมือนที่อ.กำพล ทองบุญนุ่ม กล่าวว่า รู้กาย รู้ใจ คือ รู้ทุกข์แท้

-----------------------๒๕/๖/๕๘------------------------

หมายเลขบันทึก: 591648เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2015 23:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มิถุนายน 2015 23:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เมื่อสองสามวันก่อนเห็น ในหนังสารคดี..ฝรั่งสามารถสร้างหุ่นยนต์..บินได้เหมือน นกในธรรมชาติแล้ว..เจ้าค่ะ...วิทยาการก้าวไกล..ไปพร้อมๆกับ..นกที่หายไป..จากต้นไม้..ที่ถูกตัด..นะเจ้าคะ..

I am reminded of a story of the Buddha's encounter with Anguli-mala a robber and killer. Anguli-mala chased after the Buddha and called out to Him to stop. The Buddha replied He had stopped but Anguki-mala had not.

That is the speed of life. More rushing, less catching up ;-)

โลกใบใหญ่ ชีวิตสั้น เวลาน้อย เราห่างตัวตน เรายิ่งห่างความจริงของโลก ของชีวิตไป....เป็นความจริงค่ะ ....

ในปัจจุบัน... คนทำอะไรๆ ก็จะรีบเร่งเกินไป....จนปัจจุบันเกิดความเครียด .... และเป็น "โรคกรดไหลย้อน" กันมากขึ้นค่ะ

อ่านบันทึกนี้แล้วดิฉันจะต้องหมั่นทบทวนตัวเองแล้วละค่ะ

ทำชีวิตให้ช้าลง มีสติมากขึ้ิน

แวะมาเยี่ยมเยือนเพื่อกล่าวคำขอบคุณสำหรับดอกไม้ที่ได้ไปทิ้งไว้ให้เป็นกำลังใจค่ะ ชีวิตที่ช้าลง รู้จักเรียนเพื่อรู้ระหว่างการเดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่างนั้นนำไปสู่ความรู้แจ้ง และทำให้รู้จริงเกี่ยวกับชีวิตจริงๆค่ะ เพียงแต่รู้จักให้เวลากับการช้าลง มีสติกับการรำลึกรู้ว่าเร็วอีกแล้ว แค่นี้ก็ให้คุณมากแล้วกับการนำตนสู่การเข้าถึงจิตที่เป็นพุทธะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท