STOU Core Value: Lesson Learned ถอดบทเรียนที่ได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมการสร้างค่านิยมหลัก มสธ. @ศูนย์พัฒนาและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี 27-29 พค 58


มสธ. โดยกองการเจ้าหน้าที่ จัดให้มีโครงการรณรงค์สร้างค่านิยมองค์กร ต่อเนื่องมาหลายรุ่นโดยจำแนกตามกลุ่มเป้าหมาย ในปีงบประมาณ 2558 กลุ่มเป้าหมายเป็นบุคลากรตำแหน่งระดับหัวหน้าศูนย์/ฝ่าย ผู้อำนวยการกอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง สามารถขับเคลื่อนค่านิยมองค์กรให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เกิดวัฒนธรรมองค์กรที่ดี ในฐานะเป็นกลุ่มเป้าหมายคนหนึ่งของสำนักบรรณสารสนเทศ ได้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 27- 29 พฤษภาคม 2558 รวม 3 วัน ณ ศูนย์พัฒนาและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี หรือ ที่หลายๆ คนรู้จักในชื่อ วิมานดิน ตั้งอยู่ อ. ไทรโยค ออกจากตัวเมืองกาญจนบุรีประมาณ 50 กิโลเมตร

ก่อนที่จะบอกเล่าสิ่งที่ได้เรียนรู้จากกิจกรรมดังกล่าว ขอสรุปกิจกรรมที่จัดขึ้น ใน 3 วันที่ผ่านมา ดังนี้

วันแรก ก่อนเริ่มกิจกรรม วิทยากรที่เรียกตนเองว่ากระบวนกร หรือ ผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) จะให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรม เช็คอิน (check in) ความรู้สึกของตนเอง โดยการบอกเล่าความคาดหวัง ความรู้สึก ของการมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมกายใจสู่การสร้างพื้นที่การเรียนรู้บนฐานกิจกรรมต่อไป จากนั้นให้ทุกคนเรียนรู้กิจกรรม โดยทุกกิจกรรมนำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ คนสำราญ งานสำเร็จ : การทำงานด้วยพลังกลุ่ม สู่ความสุขและความสำเร็จขององค์กร

กิจกรรมที่ 1 ชื่อ เป็ดเจ้าปัญญา เป้าหมายของกิจกรรมทำอย่างไรให้รังที่ครอบครองอยู่และรังที่ว่างของกลุ่มไม่ถูกครอบครองโดยเป็ดนอกกลุ่ม

กิจกรรมที่ 2 ชื่อ แม่น้ำมรณะ เป้าหมายของกิจกรรมทำอย่างไรสมาชิกทั้งหมด 42 คนจะข้ามแม่น้ำสายมรณะที่น้ำมีพิษและมีจระเข้ลอยคอได้อย่างปลอดภัย ในเวลา 30 นาทีและมีทุ่นที่จะยึดไว้ได้เพียง 17 ทุ่นเท่านั้นและสมาชิกทุกคนต้องมีที่ยืนบนทุ่น ซึ่งเป็นแผ่นพลาสติดขนาดเล็กพอยืนได้เพียง1 คนหากยืน 2 เท้า

กิจกรรมที่ 3 การภาวนา เจริญสติ เป้าหมายทำอย่างไรให้ทุกคนพัฒนากาย จิต ศีล ปัญญา เพื่อเป็นปัญญาชน กิจกรรมย่อยมีการฝึกการสนทนาอย่างสร้างสรรค์ ในแบบที่เรียกว่า สุนทรียสนทนา หรือ Dialogue หรือ ไดอะล็อก (ดอกอะไร) ซึ่งหลักการมี 4 ข้อ คือ ฟังอย่างลึกซึ้ง (deep listening) เคารพ /ยอมรับผู้พูด ไม่ด่วนตัดสินใจ หรือ หาแต่คำตอบ (suspending) และการเปิดเผย ด้วยเสียงที่มาจากใจ (voicing) เป็นการรับฟังด้วยหัวใจเพื่อที่จะเข้าใจตนเองและผู้อื่น

กิจกรรมที่ 4 ตัวต่อมหาสนุก เป้าหมายทำอย่างไรสมาชิกในกลุ่ม 5 คนจะประกอบหุ่นยนต์ได้สำเร็จ จาก lego ที่จัดให้แต่ละกลุ่ม โดยที่สมาชิกคนที่ 1 เป็นผู้เห็นหุ่นยนต์ที่ประกอบเสร็จแล้วแต่ไม่สามารถมาบอกเล่าหรือช่วยสมาชิกที่เหลือได้นอกจากบอกเล่าให้สมาชิกคนที่สองถึงสิ่งที่ตนเองได้เห็นเพื่อให้สมาชิกคนที่สองนำกลับไปถ่ายทอดให้สมาชิกคนที่ 4 และ5 ซึ่งเป็นผู้ประกอบหุ่นยนต์ ส่วนสมาชิกคนที่ 3 แม้จะเห็นหุ่นยนต์ที่สำเร็จแล้วเหมือนคนที่ 1แต่ก็ไม่สามารถใช้ภาษาสื่สารได้ นอกจากอวัจนภาษา คือ การพยักหน้ารับหรือ ปฏิเสธ หากสมาชิกคนที่ 4-5 ถาม

กิจกรรม ที่ 5 ฉันคือใคร who am I เป้าหมายเพื่อให้ทุกคนรู้จักตนเอง โดยให้จับคู่กันและทำกิจกรรมย่อยด้วยการนอนและผลัดกันวาดรูปตนเองบนกระดาษ จากนั้นให้เขียนถึงสิ่งที่ตนเองมักคิดถึง หรือ ทำแต่เรื่องนั้นๆ และสิ่งนั้นมีคุณค่าต่อชีวิตอย่างไร ต่อด้วยกิจกรรมการ finger dance เป็นการเดินหรือเต้นตามจังหวะเสียงเพลงไปรอบๆ ห้อง โดยให้คู่เต้นเป็นผู้นำ ผู้เดินตามหลับตาโดยนิ้วชี้จับกันไว้

กิจกรรมที่ 6 กงล้อ 4 ทิศ เป้าหมายให้สมาชิกรู้จักตนเองและยอมรับผู้อื่นโดยเลือกบุคลิกลักษณะของตนเองตามคุณลักษณะของสัตว์ 4 ประเภท ตามทิศต่างๆ ทิศเหนือ กระทิง ทิศใต้ หนู ทิศตะวันออก เหยี่ยว และทิศตะวันตก หมี และเมื่อเลือกได้แล้วให้จับกลุ่มเพื่อระบุกรณีศึกษาหรือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมบอกจุดเด่น จุดด้อยของคุณลักษณะของเพื่อนสมาชิกอีก 3 ทิศ และให้แนะนำการปฏิบัติตน

กิจกรรมที่ 7 สามเหลี่ยมด้านเท่า เป้าหมายเพื่อสมดุล ชีวิตส่วนตัว การงาน และคุณภาพชีวิต โดยให้สมาชิกในกลุ่มมองหาและเดินไปทำมุม 3 เหลี่ยมกับผู้ที่ตนเองประทับใจและอยากรู้จักโดยไม่ให้

ทุกๆกิจกรรมที่ดำเนินการดังกล่าว กระบวนกรจะให้ทุกคนสังเกต 3 อย่างไปพร้อมๆ กัน คือ ความคิด (thinking) ที่เกี่ยวข้องกับการคิดวิเคราะห์ ความรู้สึก (feeling) ที่เกี่ยวข้องกับสัมพันธภาพ/อารมณ์ และ ร่างกาย (sensing)ที่เกี่บวข้องกับการลงมือทำ สัญชาตญาณ/ปฏิกิริยาโต้ตอบทางกาย โดยกระบวนกร ใช้คำว่า ปัญญา 3 ฐาน สมอง 3 ชั้น หลักสิ้นสุดกิจกรรมให้สมาชิก เช็คเอ้าท์ (check out) ด้วยการพูด แสดงความคิดเห็นจากสิ่งที่ได้เรียนรู้ จุดด้อย การนำไปปรับใช้ในการทำงานเป็นต้น รวมทั้ง ก่อนกิจกรรมภาคบ่ายจะมีทำกิจกรรมในลักษณะที่เรียกว่า” ผ่อนพัก ตระหนักรู้ “ ที่ให้พักผ่อน นอน นั่งสมาธิ ผลัดกันนวด เป็นการฝึกสติ สมาธิ เพื่อชาร์ตพลังชีวิตอีกครั้ง

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมกิจกรรมการสร้างค่านิยม

หากการเรียนรู้ หมายถึง การได้รับความรู้ พฤติกรรม ทักษะ คุณค่า หรือ ความพึงพอใจ การไปร่วมกิจกรรมครั้งนี้ก็ถือว่าได้เกิดผลแห่งการเรียนรู้นั้นแล้ว อาทิ

การได้รับความพึงพอใจ จากความตั้งใจก่อนไปว่าจะไปทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ในมสธ.และสร้าง ความสนิทสนมกับเพื่อนที่เคยรู้จักมาแล้ว เพื่อเป้าหมายการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกัน สิ่งนี้ถือว่าบรรลุเป้าหมาย เพราะได้เครือข่ายเพื่อนจาก 15 องค์กรที่ไปร่วมกิจกรรมในครั้งนี้

การได้เรียนรู้ถึงการทำงานในสถานการณ์ที่มีปัญหา ยุ่งยาก ซับซ้อน ผ่านกิจกรรมเป็ดเจ้าปัญญา ทำให้ได้เรียนรู้ถึงวิธีการแก้ปัญหาและพฤติกรรมที่ควรปฏิบัติในสถานกาณ์การทำงานในลักษณะนี้ เช่น การมีเป้าหมายร่วมกัน การวางแผนที่ดี ความร่วมแรงร่วมใจ การแก้ปัญหาร่วมกัน การมีสติหรือความระลึกได้

การได้เรียนรู้ถึงการทำงานในสถานการณ์ที่ยากยิ่ง และภายใต้เงื่อนไข ข้อจำกัดผ่านกิจกรรมแม่น้ำมรณะ การแก้ปัญหาและพฤติกรรมต่างๆ ที่ควรประพฤติหรือปฏิบัติเพื่อให้งานบรรลุผล เช่น การวางแผนที่ดี การทำงานเป็นทีม การแก้ปัญหา เป็นต้น

การเป็นผู้ฟังที่รับฟังด้วยหัวใจเพื่อให้เกิดการเข้าใจตนเองและผู้อื่น ผ่านกิจกรรมสุนทรียสนทนา ไม่ด่วนสรุป ตัดสินใจระหว่างฟัง สิ่งนี้สามารถนำไปปรับใช้ในการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี

การเป็นผู้เข้าใจตนเองและผู้อื่น ผ่านกิจกรรมกงล้อ 4 ทิศ โดยกลุ่มเป้าหมายที่มาในครั้งนี้เป็นกลุ่มผู้บริหาร กงล้อ 4 ทิศ ก็เปรียบเหมือนผู้นำ 4 แบบ กระทิงมีจุดเด่น มุ่งมั่นทำอะไรเร็วเด็ดขาด กระตือรือร้น กล้าแสดงออก กล้าตัดสินใจ แต่มีจุดด้อย อารมณ์ร้อน ควบคุมตนเองไม่อยู่ หมี จุดเด่น ยึดหลักการ เหตุและผล แต่มีจุดอ่อน ไม่ยืดหยุ่น ตัดสินใจช้า หนู มีจุดเด่นปราณีประนอม ผ่อนปรน แต่จุดอ่อน ไม่กล้าตัดสินใจ ขณะที่เหยี่ยว มีจุดเด่น มองการณ์ไกล มีไหวพริบ ยืดหยุ่นสูง แต่มีจุดด้อย คิดแต่ไม่ค่อยทำ ขาดความอดทนรอบคอบ ไม่ลงรายละเอียด ให้ความสำคัญกับการคิดมากกว่าข้อมูล โดยคุณลักษณะเหล่านี้ มีอยู่ในตัวคนแล้วแต่ผู้ใดจะมีมากน้อย ซึ่งหากทำความเข้าใจและยอมรับได้จะทำให้ทำงานและใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุข แบบคนสำราญ งานสำเร็จ

ความสมดุลของการใช้ชีวิตผ่านกิจกรรมสามเหลี่ยมด้านเท่า การใช้ชีวิตที่ต้องมีความสมดุลกันระหว่างชีวิตส่วนตัว ครอบครัว อาชีพการงาน การรักษา ใจกาย และสมองให้เป็นปกติ หรือ งานกับชีวิตต้องไปด้วยกัน

บทเรียนส่งท้าย หากการเรียนรู้ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงของบุคคลอันมีผลเนื่องมาจากการได้รับประสบการณ์หรือการแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลง การไปร่วมกิจกรรมครั้งนี้ เป็นการเรียรู้ผ่านประสบการณ์ตรงจากการฝึกปฏิบัติ และร่วมเรียนรู้ผ่านฐานกิจกรรมด้วยการฝึกปฏิบัติ อันเป็นการเรียนรู้ด้วยตนเอง ผ่านการสังเกต ความคิด (thinking) ความรู้สึก (feeling) และร่างกาย (sensing) ไปพร้อมๆ กัน ก็อาจถือได้ว่าการกระทำ พฤติกรรมที่ดีที่พวกเราได้ปฏิบัติร่วมกัน ได้รู้สึกในสิ่งที่ดีมีคุณค่าร่วมกัน ใน 3 วันที่ผ่านมาก็เป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันไปสู่ค่านิยมที่ดีที่เป็นค่านิยมหลักที่ชาวมสธ. ปรารถนาร่วมกันก็เป็นได้

คำสำคัญ (Tags): #ค่านิยมองค์กร
หมายเลขบันทึก: 591248เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2015 15:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2015 15:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อาจารย์ครับ

ใครเป้นวิทยากรกระบวนการครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท