ระบบการคิด...หนึ่งในปัจจัยแห่งความสำเร็จ


ข้อจำกัดหนึ่งของความสำเร็จของคน คือระบบการคิด ใครก็ตามหากมีระบบการคิดที่ดี หรือที่เราเรียกง่ายๆ ว่า "คิดเป็น" และมีความแตกฉานในระบบการคิดดีมากแค่ไหน ก็จะมีความเข้าใจ มีความลึกในทุกๆ เรื่องของชีวิตดีมากเท่านั้น และระบบการคิดอีกนี่แหละ ที่ทำให้เราสามารถผ่านปัญหาทุกๆ อย่างที่เข้ามาในชีวิตไปได้ และที่สำคัญที่สุด ระบบการคิดของเราจะทำให้เราสามารถบริหารจัดการ นำพาชีวิต วางแผนอนาคต ไม่ว่าจะเป็นชีวิตส่วนตัว ชีวิตครอบครัว และชีวิตการทำงาน ไปได้อย่างราบรื่น และประสบความสำเร็จ

ระบบการคิด คือสิ่งที่ทุกคนต้องตระหนัก และต้องศึกษาและพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต พระเจ้าให้สติปัญญากับเรามาพอๆ กับคนอื่นๆ แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ การขวนขวาย และใฝ่รู้ของแต่ละคน

ระบบการคิดของเรา จะใช้ได้กับทุกเรื่องในชีวิต ตั้งแต่การใช้ชีวิตประจำวัน จนกระทั่งถึงการประยุกต์ใช้เรื่องการเรียนหนังสือ การทำงาน การใช้ชีวิตกับครอบครัว การใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคม ทำไมถึงเรียกว่าระบบการคิด ไม่ใช้ว่า ความคิด เพราะคำว่า "ระบบ" นั่นหมายถึงจะต้องมีหลายๆ องค์ประกอบ หลายๆ ส่วน หลายๆ วงจร มาประกอบกันจึงเป็นระบบ ในเมื่อโดยธรรมชาติแล้ว ทุกๆ เหตุการณ์ ทุกๆ สิ่ง ทุกๆ อย่าง แม้กระทั่งปัญหาต่างๆ ล้วนเกิดจากความซับซ้อน หรือเกิดมาจากหลายๆ องค์ประกอบ หลายๆ วงจรรวมกันเป็นระบบทั้งสิ้น แล้วหากเราไม่ฝึกใช้ความคิดของเราอย่างเป็นระบบ แล้วเราจะมีความสมบูรณ์ในการดำเนินชีวิตได้อย่างไร

หากระบบการคิดเราดี และถูกฝึกฝนระบบคิดอยู่เสมอ เมื่อเราเผชิญกับปัญหา ต้องรู้ว่าต้องจัดการกับปัญหานั้นอย่างไร ต้องประเมินตวามสำคัญ ประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้น ระยะสั้นระยะยาวอย่างไร ความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน และต้องดำเนินการต่อไปอย่างไร เหล่านี้เป็นต้น

การคิดอย่างเป็นระบบ หมายถึง การคิดที่ต้องมองภาพรวมที่เป็นระบบ คิดโดยอาศัยรูปแบบโดยตรง และโดยอ้อม เป็นการคิดที่มีความเข้าใจ สามารถเชื่อมโยงความคิดในแต่ละส่วนประกอบให้เข้ากันได้ การคิดในรูปแบบโดยตรงเป็นการคิดที่มุ่งเป้าหมายเพียงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่การคิดรูปแบบโดยอ้อม เป็นการรวมความคิดวิเคราะห์ การคิดเชิงเปรียบเทียบ การคิดสังเคราะห์ การคิดสร้างสรรค์ การคิดเชิงประมาณค่า การคิดวิจารณญาน ฯลฯ และสามารถนำสิ่งต่างๆ เหล่านั้นมาเชื่อมโยงกันอย่างเป็นเหตุและผลได้

การคิดอย่างเป็นระบบนี้ ช่วยเราได้เห็นสิ่งต่างๆ มากมาย ทำให้เราสามารถมองเห็นโลกอย่างองค์รวม เห็นความสัมพันธ์ของแต่ละองค์ประกอบ มีการเชื่อมโยงและเกี่ยวข้องกันเสมอ เห็นการเปลี่ยนแปลงของชีวิต และโลกตลอดเวลา มองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวเรานั้นว่าเราจะมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเสมอ หรือพูดง่ายๆ ว่าช่วยให้เรารู้จักตัวเอง เข้าใจคนอื่นในสิ่งที่เค้าเป็น เข้าใจความเป็นไปของโลกได้มากขึ้น ความขัดแย้งก็จะน้อยลง และสามารถที่จะเผชิญกับปัญหาต่างๆ ได้ดีขึ้นอีกด้วย

บันทึกที่เกี่ยวข้อง สนใจอ่านต่อ วิธีคิดและกระบวนการคิด

หมายเลขบันทึก: 590603เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2015 09:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2015 09:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

แค่ "เปลี่ยนทัศนคติ" ก็คิดอย่างเป็นระบบได้แล้ว
ปกติมนุษย์จะมองทุกอย่างในมุมของตนเองตัดสินในมุมมองและประสบการณ์ของตนเอง
เราก็แค่
๑. ลองคิดในมุมของผู้อื่น
๒. ถอยออกมามองภาพรวม
ตัวอย่าง เรากำลังคุยทะเลาะกับคนๆหนึ่งอยู่ เวลาเราทะเลาะกับใครแต่ละคนก็จะเสนอแต่แนวคิดของตนเอง
๑. ลองคิดในมุมของคนที่เราทะเลาะด้วยดูสิว่าเขามีเหตุผลอย่างไร ถ้าเราเป็นเขาเราจะทำอย่างไร
๒. ถอยความคิดออกมา มองดูคนสองคนทะเลาะกัน
แค่นี้ครับ ปัญหาก็ไม่เกิด การทะเลาะก็จะจบลงด้วยความเข้าใจ และได้แนวคิดเพิ่มมาปรับใช้ได้อีก

ขอบคุณคะ ใช่แล้วคะ การยึดมั่นถือมั่น และอคติ จะปิดกั้นการรับรู้ของสมอง และสติปัญญาของเราคะ ทำให้ยากต่อการพัฒนาคะ โดยเฉพาะวิธีคิดและกระบวนการคิดคะ


อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท