เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง : ๑๐. เรียนโดยสานเสวนา



บันทึกชุด "เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง" ๒๖ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Transformative Learning in Practice : Insight from Community, Workplace, and Higher Education เขียนโดย Jack Mezirow, Edward W. Taylor and Associates ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 2009

ตอนที่ ๑๐ นี้ ได้จากการตีความบทที่ 9 Promoting Dialogic Teaching Among Higher Education Faculty in South Africa เขียนโดย Sarah Gravett (ศาสตราจารย์สาขาอุดมศึกษาและการศึกษาผู้ใหญ่ และคณบดี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยโจฮันเนสเบิร์ก อัฟริกาใต้) และ Nadine Peterson (Senior Lecturer, คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยโจฮันเนสเบิร์ก อัฟริกาใต้)

สรุปได้ว่า การสอนที่ถูกต้องไม่ใช่โดยการถ่ายทอดความรู้สำเร็จรูป แต่เป็นการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ ให้ผู้เรียนร่วมกันสร้างความรู้ขึ้นเอง โดยการทำความเข้าใจทฤษฎี ฝึกปฏิบัติ แล้วนำมาใคร่ครวญไตร่ตรอง ร่วมกัน

บทนี้เป็นเรื่องราวของรายวิชา กระบวนการสอน แก่นักศึกษาผู้ใหญ่ ๒ กลุ่ม กลุ่มแรก ๑๕ คน เป็นครู/บุคลากรทางการศึกษา กลุ่มที่สอง ๒๕๐ คน เป็นพยาบาล ทั้งสองกลุ่มมีเป้าหมาย จบออกไปเป็น ครู/ผู้สอน ทั้งสองกลุ่มมีทั้งคนขาว และคนผิวสี ซึ่งเป็นลักษณะของประชากรในประเทศอัฟริกาใต้

เป้าหมายของรายวิชา ก็เพื่อเปลี่ยนความเชื่อและพฤติกรรมของคนเป็นครู จากเน้นสอนแบบถ่ายทอด ความรู้ ไปสู่การสอนแบบ "เน้นการเรียน" (learning-centred) คือให้นักศึกษาเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ เน้นที่กระบวนการสานเสวนา (dialogue) ในกลุ่มผู้เรียน และร่วมกับครู

เขาต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ลึกและถาวร (transformation) ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่ตื้น และชั่วคราว

เขานิยาม "การสอนแบบสานเสวนา" (dialogic teaching) ว่าหมายถึง กระบวนการที่ผู้เรียนและผู้สอน มีปฏิสัมพันธ์เชิงสื่อสารซึ่งกันและกัน เพื่อการเรียนรู้ ผ่านการค้นหา การคิด การตั้งคำถาม และการให้เหตุผล ร่วมกัน ภายใต้บรรยากาศที่เคารพต่อกัน ตอบแทนกัน เน้นที่การเรียนรู้ โดยไม่มีฝ่ายใดกุมอำนาจเหนือ

แต่กระบวนการสานเสวนาในรายวิชาไม่ได้เป็นไปตามอิสระ มีการกำหหนดขั้นตอน เป็น "การทำงานเพื่อเรียนรู้" (learning task) รวม ๔ ขั้นตอน ที่ต่อเนื่องกัน ผมจึงเรียกวิธีการเรียนรู้ที่เขาใช้ว่า Task-Based Learning

กิจกรรมในแต่ละ "ชิ้นงานเพื่อการเรียนรู้" ประกอบด้วย การตั้งคำถาม การให้คำตอบ การวิจารณ์ การไตร่ตรองสะท้อนคิด และการสร้างแนวความคิด เพื่อนำไปสู่การสร้างความรู้ใหม่ร่วมกันโดยผู้เรียน และผู้สอน

ผู้สอนอำนวยการรายวิชา อย่างเป็นประชาธิปไตย ร่วมกับผู้เรียน ดำเนินการเรียนการสอนอย่าง มีโครงสร้าง และในขณะเดียวกันก็เปิดกว้างต่อการมีบทบาทของผู้เรียน ทำให้กระบวนการเรียนรู้ เป็นกระบวนการที่เปิดเผยต่อกันภายในกลุ่มของผู้เรียนและผู้สอน ไม่เป็นความลับเฉพาะบุคคล สภาพเช่นนี้ ทำให้การเรียนรู้ทรงพลัง และผ่านการตรวจสอบโดยเพื่อนและผู้สอน ก่อนที่จะซึมซับเข้าไปในตน

กระบวนการของรายวิชา เน้นให้ผู้เรียนผ่านประสบการณ์เพื่อการเปลี่ยนแปลง ๗ ขั้นตอน คือ

  • กิจกรรมกระชากใจ เพื่อให้ตั้งข้อสงสัยต่อความเหมาะสม ถูกต้อง ของแนวคิดเดิม วิธีปฏิบัติเดิม
  • ทำความเข้าใจแนวคิดเดิม วิธีการเดิม ที่เชื่อหรือใช้กันอยู่
  • ตั้งคำถาม เพื่อตรวจสอบแนวคิดเดิม วิธีการเดิม ว่ามีที่มาอย่างไร ก่อผลอย่างไร
  • สานเสวนา หาทางเลือกใหม่
  • สร้างแนวทางใหม่
  • ปฏิบัติตามแนวทางใหม่
  • สร้างสมรรถนะ และความมั่นใจในการปฏิบัติตามแนวทางใหม่

นั่นคือรายวิชามุ่งสร้าง "พื้นที่เพื่อการเปลี่ยนแปลง" (transformative space) ของผู้เรียน ในฐานะนักการศึกษา เป็นพื้นที่ที่เกิดความไม่สมดุล และนำไปสู่มิติใหม่ของสิ่งที่เรียกว่า การทำหน้าที่ครู/ผู้สอน


สู่การสอนแบบสานเสวนา

เป้าหมายของรายวิชานี้มีสองชั้น คือเรียนรู้หลักวิชาว่าด้วยการจัดการเรียนรู้ (content) และเรียนรู้วิธีจัดการเรียนรู้ (pedagogy)


ใช้ชิ้นงานเป็นเครื่องมือของการเรียนการสอน

เครื่องมือของการเรียนการสอนในรายวิชานี้คือ "ชิ้นงานเพื่อการเรียนรู้" (learning task) เป็นเอกสารชุดคำถาม เพื่อให้ผู้เรียนทำเป็นรายคนหรือเป็นทีมเล็กๆ งานที่ให้ทำเริ่มจากง่ายไปยาก และมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น


รายวิชา กระบวนการสอน

รายวิชากระบวนการสอน (teaching methodology) ประกอบด้วย ๔ ขั้นตอน

ขั้นตอนที่ ๑

เป็นขั้นตอนช่วยให้ผู้เรียนทบทวน และอธิบายความรู้เดิมของตนเกี่ยวกับ การสอน ความรู้ และการเรียนรู้ รวมทั้งที่มาของความรู้เดิมนี้ เริ่มจากการให้ชิ้นงาน ๓ ชิ้นคือ (๑) ความเชื่อส่วนตัว เรื่องการเรียนรู้ (๒) ความเชื่อส่วนตัวเรื่องความรู้ (๓) ความเชื่อส่วนตัวเรื่องการสอน

ตัวอย่างชิ้นงาน ความเชื่อส่วนตัวเรื่องการเรียนรู้ : ใช้เวลา ๑๐ นาที และเปลี่ยนกับคู่เรียนรู้ในเรื่อง (๑) ความเข้าใจของคุณในด้านหลักการของ "การเรียนรู้" และรู้ได้อย่างไรว่าคุณได้เรียนรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่ง (๒) คุณได้ความเข้าใจนี้มาอย่างไร (๓) บอกกระบวนการที่คุณใช้ในการเรียนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

หลัง ๑๐ นาที ให้บางกลุ่มนำเสนอ "ผลงาน" ของตน ตั้งคำถาม ชี้ความแตกต่าง และตั้งสมมติฐาน ทั้งหมดนี้ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนวิเคราะห์ชิ้นงานของตน เป็น "กิจกรรมกระชากใจ" ให้ผู้เรียนฉุกคิด ว่าที่ตนปฏิบัติมานั้นอาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด


ขั้นตอนที่ ๒

เป็นขั้นตอนทำความรู้จัก และเข้าใจ "การสอนแบบสานเสวนา" โดยการทำ "ชิ้นงาน" จำนวนหนึ่ง

ตัวอย่างของชิ้นงาน ใช้ "มุมมองแบบสร้างความรู้เพื่อการเรียนรู้" ในการสอน : (๑) ฟังการนำเสนอเรื่อง การเรียนรู้โดยการสร้างความรู้ (constructivist) (๒) หลังจากฟัง แต่ละคนเขียนหัวใจของหลักการนี้ และแลกเปลี่ยนกันในทีมเรียนรู้ จะให้บางกลุ่มนำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนในชั้นเรียนใหญ่ (๓) คุยกันในกลุ่มทีมงาน ว่าการนำเสนอในข้อ ๑ กระตุกความคิดเกี่ยวกับการสอนของตนอย่างไรบ้าง จะมีการนำเสนอของบางกลุ่มต่อชั้นเรียน


ขั้นตอนที่ ๓

เป็นการเรียนรู้แง่มุมต่างๆ ของ "การสอนแบบสานเสวนา" สำหรับให้นำไปปฏิบัติได้ โดยการทำชิ้นงานจำนวนหนึ่ง รวมทั้งชิ้นงานฝึกปฏิบัติ


ขั้นตอนที่ ๔

ผู้เรียนออกแบบ และประยุกต์ การสอนแบบสานเสวนา ทั้งในชั้นเรียน และในพื้นที่การเรียนรู้แบบอื่น โดยการทำชิ้นงาน เป้าหมายเพื่อพัฒนาสมรรถนะใหม่ และเพื่อให้เกิดความมั่นใจ หลังจากปฏิบัติการมีการไตร่ตรองสะท้อนคิดร่วมกัน


ไตร่ตรองสะท้อนคิด

ผู้เรียนจะใช้วิธีเรียนรู้ใหม่ ต่อเมื่อเขาอยู่ที่ชายขอบของพื้นที่สบายใจ (the edge of comfort zone) คือถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องเปลี่ยน ในรายวิชา อาจารย์ผู้สอนจึงใช้ยุทธวิธีให้นักศึกษาเข้าไปอยู่ที่ชายขอบนั้น โดยต้องระมัดระวังให้มีความพอดี อย่างสร้างแรงกดดันมากเกินไป จนผู้เรียนก่อแรงต้าน เพื่อปกป้องตนเอง

เป้าหมายที่แท้จริงคือ เพื่อสร้างปฏิบัติการใหม่ คือให้ผู้เรียนเปลี่ยนจากสอนแบบถ่ายทอดความรู้ มาเป็นสอนแบบ active learning โดยใช้การสานเสวนา เครื่องมือสร้างการเปลี่ยนแปลงคือการเรียนรู้ ทฤษฎี - ปฏิบัติ - ไตร่ตรองสะท้อนคิด

การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง ในบางครั้งทำให้ผู้เรียนรู้สึกว่าถูกขู่ หรือทำให้กลัว อาจารย์จึงต้อง สร้างบรรยากาศ หรือพื้นที่แห่งความปลอดภัย ให้แก่นักศึกษา

แฟ้มบันทึกการเรียนรู้ (learning portfolio) ช่วยให้นักศึกษามีวินัยต่อการเรียนรู้ ทำงานสม่ำเสมอ อาจารย์จึงควรขอมาดูเป็นระยะๆ เพื่อเป็นตัวกระตุ้น

ชิ้นงานเพื่อการเรียนรู้ เป็นเครื่องมือสำคัญของการเรียนรู้แบบสานเสวนา เพราะเป็นตัวเชื่อมระหว่า ทฤษฎี - ปฏิบัติ - ไตร่ตรองสะท้อนคิด


วิจารณ์ พานิช

๒ ม.ค. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 590393เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2015 08:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2015 08:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท