การเรียนรู้ในพื้นที่สร้างสรรค์



มูลนิธิสยามกัมมาจล มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และสถาบันเรียนรู้เพื่อชุมชน เป็นสุข (สรส.) ร่วมกันจัดเวทีนักถักทอชุมชนเพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว ของโครงการพัฒนา เยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (๔ ภาค) ระยะที่ ๒ ในวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๘ ที่โรงแรมสุรินทร์ มาเจสติก จังหวัดสุรินทร์

ผมติดใจการนำเสนอของท่านปลัดฯ สุรศักดิ์ สิงห์หาร ปลัดเทศบาลตำบลเมืองแก อ. ท่าตูม จ. สุรินทร์ ที่เล่าเรื่อง "เส้นทางการพัฒนาเด็กและเยาวชนตำบลเมืองแก" ว่าเป็นความร่วมมือกันของเทศบาล ผู้อำนวยการ โรงเรียน และผู้ปกครอง ในการเอื้ออำนวยพื้นที่สร้างสรรค์ ให้เด็กและเยาวชน ได้ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ ต่อสังคม/ พื้นที่ และตนเองได้เรียนรู้ฝึกฝนความเป็นคนดี รวมทั้งเรียนรู้ด้านวิชาการจากการปฏิบัติ

ขอย้ำคำว่า "พื้นที่สร้างสรรค์" ที่เด็ก/เยาวชน ได้มีโอกาสคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ทำประโยชน์ให้แก่ชุมชน เป็นการทำกิจกรรมที่มีภาคีเครือข่าย มีปฏิทินหรือแผนกิจกรรม รวมทั้งมีการวางแผนส่งต่อรุ่นต่อรุ่น รุ่นพี่ช่วยฝึกทักษะการทำงานและเรียนรู้แก่รุ่นน้อง

ตอนบ่ายได้ฟังเรื่องราวคล้ายๆ กัน ของ อบต. หนองอียอ อำเภอสนม, อบต. หนองสนิท, และ อบต. เมืองลีง

ในวันรุ่งขึ้น (๖ เมษายน ๒๕๕๘) เราไปเยี่ยมชมกิจการผลงานของเทศบาลตำบลเมืองแก ที่จัดเป็นนิทรรศการกลางแจ้งที่บริเวณ ศาลาประชาคมบ้านหนองม่วง จัดนิทรรศการเป็นเต๊นท์ เต๊นท์ละ ๑ โรงเรียน ซึ่งตอนแรกผมเข้าใจผิดว่าเป็นผลงาน ของแต่ละโรงเรียน แปลกใจที่ทุกโรงเรียนชื่อขึ้นต้นด้วย "โรงเรียนชุมชน" เมื่อไต่ถามจึงทราบว่า เขาหมายถึง "โรงเรียน" ที่ชุมชนดำเนินการ แต่ละ "โรงเรียน" ดำเนินโครงการหนึ่งโครงการโดยเยาวชน

เยี่ยมชมซักถามกิจกรรมของเยาวชน ใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง ตามด้วยการเสวนาของเยาวชน ผู้ปกครอง พนักงานราชการของเทศบาล และผู้ใหญ่บ้าน โดยปลัดเทศบาลสุรศักดิ์เป็นผู้ซัก

ตอนบ่าย เราไปเยี่ยมชมกิจกรรมของ อบต. หนองอียอ ที่นี่มีความร่วมมือกับโรงเรียนอย่างใกล้ชิด และเยาวชนที่เป็นแกนนำก็เป็นนักเรียนของโรงเรียนหนองอียอวิทยา (โรงเรียนมัธยม นักเรียน ๑๙๐ คน) หรือโรงเรียนใกล้เคียง ทางโรงเรียนถึงกับจัดที่ดินให้เยาวชน ซึ่งก็คือนักเรียนของโรงเรียนนั่นเอง ทำโครงการ "วิมานดิน" ซึ่งก็คือโครงการเกษตร ปลูกข้าวโพด มะเขือ มะนาว และตัวเอกคือทานตะวัน ที่ปลูกเพื่อเอาเมล็ดไปเพาะขายทานตะวันงอก ที่เยาวชนได้ทดลองเพาะขายแล้ว ในเวลา ๓ เดือนได้กำไร ๒ หมื่นบาท เป็นผลงานของเยาวชนในกลุ่ม ๒๐ คน โดยซื้อเมล็ดทานตะวันมาเพาะ เขาคิดกันว่า จะต้องปลูกต้นทานตะวันเอง เพื่อเอาเมล็ดมาเพาะ เป็นการลดการลงทุน

โรงเรียนหนองอียอวิทยา ให้ "พื้นที่สร้างสรรค์" ทั้งที่เป็นพื้นที่จริง และพื้นที่ทางสังคม แก่เยาวชน ซึ่งก็คือนักเรียนของโรงเรียนนั่นเอง ที่นี่มีครูทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงอาสา คอยให้คำปรึกษา ทั้งโดยการพูดคุย โดยตรง และที่ผ่าน โซเชี่ยล มีเดีย เพราะเยาวชนเป็นวัยรุ่น มีการแสดงออกทางโซเชี่ยล มีเดีย ทั้งที่เหมาะสม และที่ไม่เหมาะสม ผมประทับใจที่ครูกิตติพงศ์ มงคุณ หรือ "พี่ครูต่อ" อาสาเข้ามาทำหน้าที่นี้ โปรดอ่านแผ่น นิทรรศการของครูกิตติพงศ์นะครับ พี่ครูต่อเล่าให้ที่ประชุมฟังว่า ตนได้ค่อยๆ เข้าไปเป็น "เพื่อน" กับกลุ่มเยาวชน ใน Facebook และใน Line และค่อยๆ ให้คำแนะนำด้านภาษาที่ใช้ และด้านความคิด อารมณ์ จนเป็นที่รักและไว้วางใจของกลุ่มเยาวชน

ผมคิดว่า การทำหน้าที่ "พี่ครูต่อ" คือตัวอย่างของ "ครูสอนแบบไม่สอน" ที่สอนวิชาชีวิต ทำหน้าที่ EFA (Embedded Formative Assessment) ต่อการเรียนรู้ของเยาวชนผ่านพื้นที่ โซเชี่ยล มีเดีย แล้วให้ CFB (Constructive Feedback) แก่เยาวชน ให้เยาวชนได้งอกงามความรู้ส่วนที่เรียกว่า Non-cognitive Development ที่เป็นส่วนหนึ่งของ 21st Century Skills

พื้นที่ใน โซเชี่ยล มีเดีย อาจเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ก็ได้ หรือเป็นพื้นที่ทำลายก็ได้ ต่อการงอกงามความเป็น คนดีของเยาวชน "พี่ครูต่อ" ได้เข้าไปทำหน้าที่โค้ช ให้พื้นที่ใน โซเชี่ยล มีเดีย ของเยาวชนในพื้นที่ตำบล หนองอียอ เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ ผมขอคารวะจิตอาสาเพื่อเยาวชนของ พี่ครูต่อ กิตติพงศ์ มงคุณ

คณะผู้ไปเยี่ยมชื่นชมผลงานของนักถักทอชุมชน ได้แสดงความชื่นชมในผลงาน ที่ใช้ยุทธศาสตร์การ "เปิดพื้นที่สร้างสรรค์" ให้เยาวชนรวมกลุ่มกันคิด ทำกิจกรรมเพื่อบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่น และแก่ชุมชน โดยนักถักทอชุมชน และผู้ใหญ่ในพื้นที่คอยช่วยเป็นพี่เลี้ยง ทำให้เยาวชนเกิดการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงตนเอง ทั้งนี้โดยมีกลไกตัวช่วยสำคัญ คือ ค่ายเยาวชน ๒๑ วัน ของสถาบันยุวโพธิชน มูลนิธิสัมมาชีพ รวมทั้งค่าย บ้านดิน ที่จังหวัดขอนแก่น ที่มีกระบวนการทำกิจกรรม เพื่อช่วยให้ผู้เข้าร่วมเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของตนเอง

เราได้แนะนำครู และผู้อำนวยการโรงเรียน ให้หาทางเชื่อมโยงกิจกรรมสร้างสรรค์ ที่เยาวชนออกแบบ วางแผน และทำกิจกรรมกันเอง เข้าสู่สาระวิชา ๘ หน่วยสาระที่กำหนดในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ โดยยึดหลัก การเรียนรู้ = Action + Reflection เพื่อบูรณาการ วิชาชีวิต วิชาอาชีพ และวิชาชุมชน เข้ากับวิชาการ เป็นเนื้อเดียวกัน ทั้งหมดนั้นเรียนโดยใช้ Action + Reflection

ท่านที่สนใจโครงการนี้ ติดตามข่าวสารใน Facebook ของโครงการได้ ที่นี่



บรรยากาศในห้องประชุมนำเสนอผลงานของนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเยาวชน ที่โรงแรมสุรินทร์มาเจสติก


ปลัดเทศบาลตำบลเมืองแก นายสุรศักดิ์ สิงห์หาร นักถักทอชุมชน


นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลเมืองแก นายจักรกฤษณ์ พาณิชย์กิจเจริญ แสดงความมุ่งมั่นพัฒนาเยาวชน


บริเวณนิทรรศการ หน้าศาลาประชาคมบ้านหนองม่วง


กลุ่มเยาวชนกับผลิตภัณฑ์จากโครงการ


สมาชิกกลุ่มต้องบันทึกข้อมูล


เวทีเล่าเรื่องที่ศาลาประชาคมบ้านหนองม่วง


สถานที่ประกอบพิธีเปิดพื้นที่เรียนรู้ วิมานดิน ที่โรงเรียนบ้านหนองอียอ


เมล็ดทานตะวันงอก


พี่ครูต่อ



เวทีเล่าเรื่องที่ รร. หนองอียอ



พ่อของเยาวชน มาเล่าว่ากิจกรรมพัฒนาเยาวชนของ อบต. ทำให้ลูกชายของตนเป็นคนดีขึ้นอย่างไร

วิจารณ์ พานิช

๗ เม.ย. ๕๘



หมายเลขบันทึก: 590338เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2015 16:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2015 16:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท