สานฝันคนสร้างป่า : บวชป่า-ปลูกต้นไม้-ฝายชะลอน้ำภารกิจเรียนรู้คู่บริการและการสานสัมพันธ์น้องพี่ชมรม


ผมชื่นชอบกิจกรรมในทุกๆ กิจกรรมที่เชื่อมโยงชุมชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งอย่างหลากหลาย ทั้งชาวบ้าน ครู นักเรียน เยาวชน พระสงฆ์ ส่วนราชการ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คือความงดงามของการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม

ภายใต้ห้วงเวลาอันจำกัดเพียง ๓ วันและ ๒ คืน โครงการ "สานฝันสานสัมพันธ์น้องพี่สามัคคีคืนป่า ครั้งที่ ๔" ของชมรมสานฝันคนสร้างป่า เป็นค่ายอาสาพัฒนาในมิติ "เรียนรู้คู่บริการ" อีกค่ายหนึ่งที่ผมอดที่จะหยิบยกมาพูดถึงไม่ได้

โครงการ "สานฝันสานสัมพันธ์น้องพี่สามัคคีคืนป่า ครั้งที่ ๔" จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๓-๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๗ ณ ชุมชนบ้านใหม่ไทยเจริญ ต.ท่ามะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมหลักๆ คือ การบวชป่า ปลูกต้นไม้ ทำฝายชะลอน้ำ ขุดลอกคลองคู ควบคู่ไปกับกิจกรรมเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีของสมาชิกชมรมผ่านกิจกรรมหลากรูปแบบตามขนบ "บันเทิงเริงปัญญา"




โบกรถสำรวจค่าย

ค่ายครั้งนี้เกิดขึ้นในระหว่างที่นิสิตชมรมฯ เดินทางโบกรถสำรวจค่ายไปในที่ต่างๆ ระหว่างอาศัยรถที่สัญจรเส้นทาง มีโอกาสได้บอกเล่าเจตนารมณ์การสำรวจพื้นที่การออกค่ายกับพลขับที่มากน้ำใจ ซึ่งเจ้าของรถได้บอกเล่าให้นิสิตได้รับรู้ว่าชุมชนบ้านใหม่ไทยเจริญ เป็นพื้นที่ที่มีคุณลักษณะของการออกค่ายตามเจตนารมณ์ของนิสิต มีทั้งผืนป่า สายน้ำ โรงเรียน และสถานที่ปฏิบัติธรรมที่ยึดโยงอยู่กับวิถีแห่งการอนุรักษ์ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม



ภายหลังคืนกลับเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยมหาสารคาม นิสิตชมรมสานฝันฯ เปิดเวทีสะท้อนผลการสำรวจค่ายร่วมกัน แต่ก็ยังไม่สามารถคัดกรองพื้นที่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงนำคำบอกเล่าที่มีผู้แนะนำในระหว่างทางมาเสนอต่อที่ประชุม เกิดเป็นมติให้แกนนำชมรมฯ มุ่งหน้าไปสำรวจค่าย ณ บ้านใหม่ไทยเจริญฯ อย่างจริงจัง

เวทีการพัฒนาโจทย์การทำงานในแบบการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม (Active Learning) ผ่านโครงการ (Project-based Learning) โดยมีชุมชนเป็นห้องเรียน (Community-based Learning) นิสิตมีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับแกนนำชุมชน ซึ่งชุมชนได้สื่อสารถึงบริบท-สถานการณ์โดยสังเขปเกี่ยวกับสิ่งที่เผชิญอยู่ ทั้งที่เป็นจุดอ่อนและจุดแข็งที่นิสิตสามารถ "เรียนรู้คู่บริการ" ได้อย่างไม่เปล่าเปลืองผ่านกิจกรรมหลักๆ ที่ชุมชนเองก็ดำเนินการอยู่บ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นวิถีแห่งการอนุรักษ์ป่า การสร้างฝายชะลอน้ำ ฯลฯ โดยยึดโยงเป็นหนึ่งเดียวในมิติ "บวร" คือ บ้าน –วัด-โรงเรียน (ราชการ)




เรียนรู้การบวชป่าจากต้นตำรับ

กิจกรรมการบวชป่า ถือเป็นกิจกรรม หรือวัตถุประสงค์หลักในการจัดค่ายครั้งนี้ โดยพื้นที่ของการบวชป่า คือ วัดป่าสุคะโต ซึ่งเป็นวัดที่มีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องของการเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม-กรรมฐานท่ามกลางอ้อมอกของธรรมะและธรรมชาติ รวมถึงเป็นที่รู้จักแพร่หลายในมิติของการเรียนรู้และการอนุรักษ์ "ดิน น้ำป่า อากาศ"



การเลือกพื้นที่เช่นนี้ถือเป็นการเลือกพื้นที่บนฐานคิดของการเข้าไปเรียนรู้ "ศักยภาพชุมชน" เพราะวัดสุคะโต ถือเป็นสถานที่ที่โดดเด่นในเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว การที่นิสิตเข้าไปเรียนรู้วิธีและพิธีการบวชป่ากับพระสงฆ์และชาวบ้าน จึงเป็นเสมือนการเข้าไปเรียนรู้ "ต้นน้ำ" หรือ "ต้นตำรับ" ของการอนุรักษ์ต้นน้ำของดิน-น้ำ-ป่า-อากาศ ยิ่งนิสิตที่เข้าร่วมค่ายส่วนใหญ่เป็นนิสิตใหม่ (สมาชิกใหม่) ที่ไม่เคยสัมผัสกับกระบวนการบวชป่า พอได้มาเรียนรู้จริง-สัมผัสจริงจากสถานที่ที่เต็มไปด้วยจุดเด่นของเรื่องการบวชป่าเช่นนี้ ยิ่งน่าจะทำให้นิสิตเกิดความเข้าใจและมีแรงบันดาลใจในการที่จะขับเคลื่อนอุดมการณ์ของตนเองและชมรมได้อย่างมีพลัง



ปลูกต้นไม้...ปลูกไว้ในใจเยาวชน

กิจกรรมการปลูกต้นไม้ เป็นกิจกรรมหลักอีกกิจกรรมที่ถูกออกแบบไว้อย่างหนักแน่น ชุมชนเป็นผู้กำหนดประเภทของต้นไม้ (สะเดา แคป่า กระถินณรงค์) และพื้นที่เป้าหมายในการปลูก (สนามกีฬาหมู่บ้าน) โดยได้รับความอนุเคราะห์กล้าไม้จากส่วนราชการในจังหวัดฯ ครั้นพอถึงวันที่ต้องปลูกต้นไม้ก็ขับเคลื่อนด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม มีทั้งครู นักเรียน ชาวบ้าน อบต. และเยาวชนมาร่วมด้วยช่วยกัน

ซึ่งกิจกรรมเล็กๆ ง่ายเช่นนี้ อาจหมายถึงกระบวนการเริ่มต้นของการบ่มเพาะจิตอาสา หรือความเป็นเยาวชนจิตอาสาได้เป็นอย่างดีก็เป็นได้



กิจกรรมดังกล่าว มีจุดม่งหมายชัดเจนคือการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้เล็กๆ ในชุมชน โดยยึดเอา "สนามกีฬา" อันเป็นพื้นที่สาธารณะของหมู่บ้านเป็นพื้นที่ของการปฏิบัติการ เสมือน "ยกป่าเข้ามาในหมู่บ้าน" โดยการมอบหมายให้เยาวชนเป็นกลุ่มหลักในการดูแลรักษา -ในห้วงเวลาที่มาเล่นกีฬาก็จะได้มองเห็นผลงานและภารกิจของตนเองอย่างเลี่ยงไม่ได้ นี่จึงอาจเป็นกุศโลบายหนึ่งของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ง่ายงาม แต่มีพลัง และ "เป็นจริง" ได้ เพราะอยู่ใกล้ตัว ง่ายต่อการดูแลรักษา ปกป้อง




เรียนรู้การทำฝายชะลอน้ำจากต้นตำรับ

ถึงแม้กิจกรรมทำฝายชะลอน้ำ (ฝายแม้ว) ในค่ายนี้จะไม่ใช่กิจกรรมหลัก แต่นิสิตชาวค่าย "จริงจัง-จริงใจ" มุ่งมั่นจัดทำอย่างไม่อิดออด ซึ่งในชุมชนดังกล่าวมีลำห้วยไหลเลียบมาจากเทือกเขาไกลโพ้นและมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่กั้นขวาง เพื่อกักเก็บและปล่อยน้ำลงสู่ชุมชนและโรงเรียนให้ได้ใช้ประโยชน์



หลายต่อหลายครั้งการไหลของน้ำในฤดูน้ำหลากจะไหลเชี่ยวแรง ส่งผลให้เกิดการกัดเซาะตลิ่งจนทรุดพัง ชาวบ้านแต่ละคุ้มในหมู่บ้านจะร่วมแรงใจกันทำฝายชะลอน้ำไว้เป็นระยะๆ ครั้นพอได้พูดคุยกับนิสิต จึงเห็นชอบที่จะทำฝายชะลอน้ำขึ้นในโค้งคุ้งของโรงเรียน เพื่อให้โรงเรียนได้ใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด

การทำฝายชะลอน้ำในครั้งนี้ มีทั้งชาวบ้าน นักเรียน ครู และเจ้าหน้าที่มาลงแรงช่วยกัน อุปกรณ์บางส่วนก็ได้รับความอนุเคราะห์จากชุมชน และที่สำคัญคือชุมชนเป็นแกนนำพานิสิตตะลุยทำฝาย นิสิตเองจากที่เคยคิดว่าตนเองมีความรู้และประสบการณ์มาก่อน ทั้งทำกันเองในค่ายประจำปีของชมรมฯ หรือการผ่านการอบรมจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม แต่พอมาถึงหน้างานตรงนี้กลับทำได้ยากยิ่ง เพราะขาดประสบการณ์ของการประยุกต์ใช้ แต่ก็โชคดีที่ได้เรียนรู้จากชาวบ้านผู้ชำนาญการในเรื่องเหล่านี้ กลายเป็นการเรียนรู้จากต้นตำรับการทำฝายชะลอน้ำอย่างมหัศจรรย์




รื้อถอนวัชพืช...กิจกรรมเสริมเพื่อเติมเต็มการเรียนรู้

กิจกรรมการรื้อถอนวัชพืชในแหล่งน้ำของหมู่บ้าน กลายเป็นอีกกิจกรรมที่นิสิตและชาวบ้านออกแบบเพิ่มเติมขึ้นมาในค่ายครั้งนี้ เป็นการงานที่ระดมแรงกายและแรงใจหลายภาคส่วน ทั้งชาวบ้าน นักเรียน ครู และนิสิต โดยหมายใจว่าการรื้อถอนวัชพืชครั้งนี้จะช่วยให้แหล่งน้ำไม่ตื้นเขิน ไม่รกร้าง ไม่เน่าเสีย และสร้างความตระหนักให้ชุมชนได้หันกลับมาดูแลรักษาและใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำแหล่งนี้อีกครั้ง ดีกว่าปล่อยปละละเลยให้คงอยู่และเสื่อมสภาพไปตามวิถี –




พ่อฮักแม่ฮัก ...สู่การเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน

กิจกรรมพ่อฮักแม่ฮัก เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ถูกออกแบบไว้ให้นิสิตได้เข้าไปฝากตัวเป็นลูกฮักของชาวบ้าน เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน และให้ถือกิจกรรมนี้เป็นกลยุทธของการเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมคนผู้คนในหมู่บ้าน เรียนรู้เรื่องการกินอยู่ ความเชื่อ อาชีพ หรือกระทั่งมุมมองความคิดเกี่ยวกับ "คนและป่า" อันเป็นพื้นที่ของการออกค่ายในครั้งนี้



กิจกรรมพ่อฮักแม่ฮัก ยังคงหนุนเสริมค่ายครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี เนื่องเพราะพ่อฮักแม่ฮักหลายๆ คนยังคงออกมาช่วยลูกฮักทำงานในค่ายเป็นระยะๆ บ้างก็เอาข้าวปลาอาหารและผลไม้มาฝาก รวมถึงการเข้ามาดูแลสวัสดิการและความปลอดภัยต่างๆ อย่างเสร็จสรรพด้วยเช่นกัน




บูรณาการกิจกรรมสานสัมพันธ์น้อง-พี่ชมรมฯ

ค่ายครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการสานสร้างความสัมพันธ์พี่น้องในชมรมอย่างเด่นชัด โดยใช้ชุมชนเป็นฐานหลักของการจัดกิจกรรม แต่เป็นกิจกรรมในทำนอง "เรียนรู้คู่บริการ" ที่หมายถึงนิสิตและชุมชนต่างได้ประโยชน์ร่วมกัน



ค่ายครั้งนี้แกนนำชมรมฯ ได้ออกแบบฐานการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างสัมพันธภาพที่ดีของสมาชิกไว้ ๕ ฐาน เริ่มต้นจากการแบ่งสมาชิกค่ายออกเป็นกลุ่มๆ แต่ละกลุ่มให้บริหารจัดการองค์กร/ทีมกันเอง โดยฐานการเรียนรู้แต่ละฐานจะเน้น "บันเทิงเริงปัญญา" เน้นการทำงานเป็นกลุ่ม เน้นการแก้ปัญหาร่วมกัน มีระบบการประเมินให้คะแนนแบบเป็นกันเองๆ ประกอบด้วย (๑) ฐานกวางน้อย (๒) ฐานทอดสะพานกางเต็นท์ถ่ายรูป (๓) ฐานใบ้คำ (๔) ฐานตักน้ำใส่ขวด (๕) ฐานลูกโป่งน้ำสานสัมพันธ์



การจัดกิจกรรมผูกสัมพันธ์ในค่าย ถูกออกแบบให้จัดขึ้นในช่วงหลังจากที่นิสิตได้ขับเคลื่อนกิจกรรมหลักของค่ายอาสาฯ กับชุมชนได้เสร็จสิ้นลง เป็นทั้งการปลุกเร้ากำลังใจ ผ่อนคลายความเครียด และสรุปงานการทำงานไปในตัว (AAR : After Action Review) ซึ่งในระยะต้นของการแบ่งกลุ่มนั้น มีการมอบหมายให้แต่ละกลุ่มได้สำรวจความคาดหวัง (BAR : Before Action Review) การเรียนรู้ของสมาชิกร่วมกัน จากนั้นก็นำมาสะท้อนให้ฟังร่วมกันในทุกกลุ่ม – เป็นเสมือนการปรับความคาดหวังร่วมกันในอีกช่องทางหนึ่ง



เช่นเดียวกับกิจกรรมอื่นๆ ก็ถูกออกแบบมาเป็นเครื่องมือการเรียนรู้และสานใจร่วมกันอีกหลายกิจกรรม เช่น การเขียน "สมุดกระจก" หรือสมุดบันทึกประจำตัวของแต่ละคน เป็นสมุดบันทึกการเรียนรู้ง่ายๆ ในวิถีค่าย ให้นิสิตแต่ละคนเขียนเรื่องราวการเรียนรู้ หรือกระทั่งอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง รวมถึงการเปิดโอกาสให้เพื่อนๆ ชาวค่ายได้เขียนอะไรๆ ลงในสมุดของตนเอง ...

ด้วยเหตุเช่นนี้ สมุดเล่มที่ว่าจึงมีสถานะเป็นเหมือน "กระจก" ที่ส่องสะท้อนให้เจ้าของสมุดได้มองเห็นตัวเอง ผ่านการทบทวนเรื่องราวที่ตนเองบันทึกไว้ และผ่านเส้นสายลายมือของเพื่อนๆ ที่จารึกไว้ให้-




เหนือสิ่งอื่นใด

โดยส่วนตัวแล้ว ผมชื่นชมค่ายอาสาค่ายนี้ไม่แพ้ค่ายอื่นๆ อย่างน้อยก็เป็นค่ายที่ชัดเจนในวิถีปรัชญาชมรมที่มุ่งสู่การเรียนรู้คู่บริการในเรื่องของการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งชมรมสานฝันคนสร้างป่าได้หยัดยืนแน่วแน่มาหลายชั่วปีรวมถึงการจัดกิจกรรมก็ไม่ได้จัดกิจกรรมเชิงเดี่ยว ทว่าบูรณาการอย่างหลากหลาย ซึ่งนอกจากที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่นๆ หนุนเสริมเข้ามาเช่น บริจาคเสื้อผ้าข้าวของเครื่องใช้ให้กับน้องๆ นักเรียน อีกทั้งยังมีการ "จุดเทียนเปิดใจ" เพื่อสรุปงานและสานความสัมพันธ์ไปพร้อมๆ กัน



ผมชื่นชอบกิจกรรมในทุกๆ กิจกรรมที่เชื่อมโยงชุมชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งอย่างหลากหลาย ทั้งชาวบ้าน ครู นักเรียน เยาวชน พระสงฆ์ ส่วนราชการ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คือความงดงามของการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม

ผมชื่นชอบการเลือกพื้นที่อันเป็นจุดแข็งเพื่อให้สมาชิกค่ายได้เข้าไปเรียนรู้ของจริง (ต้นตำรับ) เพราะการเรียนรู้จากต้นตำรับที่ประสบความสำเร็จแล้ว เป็นการเรียนทางลัดและน่าจะก่อเกิดเป็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ในตัวตนของนิสิตอย่างไม่ยากเย็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนรู้วิถีของการอนุรักษ์ป่าผ่านการบวชป่าที่มี "พระสงฆ์" (พระนักพัฒนา) เป็นพระวิทยากรนำสู่กระบวนการและขั้นตอนอย่างละเอียด พร้อมๆ กับการบอกเล่าเชิงเปรียบความอย่างน่าสนใจว่า

  • "เอาผ้าเหลืองผูกต้นไม้ ก็เหมือนบวชพระบวชเณร ใครตัดต้นไม้ก็เหมือนฆ่าพระ ฆ่าเณร...มันบาป"



ส่วนนิสิตจะทะลุสู่การเรียนรู้บริบทของป่าผืนนั้นแค่ไหน จะรู้หรือไม่ว่าผืนป่าขนาดเท่าไหร่ มีพืชพันธุ์ไม้อะไรบ้าง ชาวบ้านใช้ประโยชน์อย่างไร มีข้อปฏิบัติร่วมกันอย่างไร หรือกระทั่งจะรู้ลึกถึงขั้นว่าพื้นที่ป่าตรงนั้นคือ "ป่าช้า" อันเป็นพื้นที่แห่งธรรม หรือพื้นที่แห่งวัฒนธรรมชุมชน– ผมคิดว่านิสิตต้องตั้งคำถามกับการเรียนรู้ในครั้งนี้ให้ได้ว่า ประเด็นเหล่านี้นิสิตเรียนรู้ (คู่บริการ) ได้แจ่มชัดแค่ไหน

หรือนิสิตจะทำความเข้าใจได้ลึกซึ้งแค่ไหนว่า วัดป่าสุคะโตนั้น สำคัญและมีบทบาทอย่างไรต่อการพัฒนาคน -ชุมชน ... สิ่งเหล่านี้ นิสิตต้องตั้งคำถามและทบทวนผลการเรียนรู้คู่บริการครั้งนี้ด้วยตนเองอีกครั้ง เพื่อให้จังหวะการเดินครั้งใหม่ มีปมุดหมายและเต็มไปด้วยพลังการเรียนรู้




เช่นเดียวกับการเรียนรู้ระบบวิธีคิดการทำฝายชะลอน้ำของชาวบ้านนั้นก็สำคัญมาก ซึ่งผมเชื่อว่านิสิตคงได้เรียนรู้อย่างยิ่งใหญ่ถึงการนำความรู้และประสบการณ์ของตนเองไป "ประยุกต์ใช้" กับ "ชุมชน" โดยยึดเอาชุมชน หรือ "หน้างาน" เป็นโจทย์ เพราะพื้นที่แต่ละแห่ง โจทย์แต่ละโจทย์ คงไม่สามารถใช้ชุดความรู้ใดอย่างเสร็จสรรพได้ และกรณีที่เกิดขึ้นในค่ายคงย่อมสื่อให้นิสิตได้เห็นถึงมิติความเป็น "ปราชญ์ชาวบ้าน" หรือ "การจัดการความรู้" ของชาวบ้านในเรื่องฝายชะลอน้ำได้เป็นอย่างดี

หรือในทำนองเดียวกัน นิสิตเองคงต้องถอดรหัสความรู้ให้ชัดเจนว่าฝายชะลอน้ำที่จัดทำขึ้นเพื่อหนุนเสริมโรงเรียนนั้น แท้จริงแล้วโรงเรียนจะใช้ประโยชน์กี่มากน้อย ทั้งต่อวิถีการเรียนรู้ในสาระความรู้ หรือกระทั่งในวิถีอุปโภค-บริโภค

และนี่แหละคือสาระของวาทกรรม "เรียนรู้คู่บริการ" หรือ "ค่ายเรียนรู้คู่บริการ"ที่นิสิตต้องทำความเข้าใจให้แม่นมั่น

ชื่นชม และให้กำลังใจ ครับ



หมายเหตุ : ภาพโดย ชมรมสานฝันคนสร้างป่า มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

หมายเลขบันทึก: 590202เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2015 08:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 สิงหาคม 2017 01:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

มาร่วมชื่นชมกิจกรรมปลูกฝังจิตสำนึกรักษ์ป่า รักธรรมชาติ เช่นนี้ค่ะ

สวัสดีค่ะ อาจารย์แผ่นดิน มาชื่นชมกิจกรรมดีๆ ค่ะ

มาใกล้ๆ บ้านผมนะครับอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท