มหาวิทยาลัยสงฆ์ : มหาวิทยาลัยความหลากหลายทางวัฒนธรรมพื้นเมือง


ในประเทศไทย มีมหาวิทยาลัยที่จัดการศึกษาโดยนักบวชในพุทธศาสนา ๒ แห่งคือ มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (ชื่อเดิม มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์) และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เดิมทีเป็นการจัดการศึกษาให้เฉพาะพระภิกษุในพุทธศาสนา ต่อมาได้เปิดกว้างขึ้น โดยชาวบ้านทั่วไปสามารถเข้าไปเรียนได้ กระดูกสันหลังของความรู้คือพระพุทธศาสนา

มหาวิทยาลัย ๒ แห่งนี้ มีประวัติศาสตร์มายาวนานพอสมควร หลายคนที่จบมารุ่นแรกๆ ไม่ได้รับการยอมรับและรับรอง หลังจากจบ ป.ตรีจึงต้องดั้นด้นไปศึกษาต่อต่างประเทศ ส่วนคนที่จบ ป.ตรีแล้วออกไปสมัครงาน มักถูกตั้งคำถามว่า "ไม่เคยได้ยินมหาวิทยาลัยชื่อนี้มาก่อนเลย" ทุกวันนี้ มหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งน่าจะได้รับการโฆษณาจนเป็นที่รู้จักในวงกว้างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่ได้รับการยอมรับจากสังคมในระดับหนึ่ง จากความเก่งของอธิการ

วันนี้ มีงานประสาทปริญญาให้กับผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยจัดขึ้นที่อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นสถานที่ใหม่ที่ย้ายออกมาจากวัดมหาธาตุ สถานที่ใหม่แห่งนี้ ก่อนนั้นมีนาล้อมรอบ ปัจจุบันสิ่งก่อสร้างรอบๆเริ่มผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดแล้ว

การไปงานในวันนี้ เพียงต้องการไปเก็บบรรยากาศของงานเท่านั้น แล้วสิ่งที่พบก็คือ มหาวิทยาลัยความหลากหลายทางวัฒนธรรมพื้นบ้าน การใช้ข้อความดังกล่าวนี้ อาจดูเกินเลยไป เพราะถ้าตีความว่าวัฒนธรรมคือทุกอย่างที่มนุษย์สร้างขึ้น สิ่งที่พบในวันนี้เป็นเพียงจุดเล็กๆเท่านั้น ถึงอย่างนั้น ก็ไม่เป็นไร เพราะในโลกนี้มีความเกินเลยอยู่มากทีเดียว

การที่ใช้ข้อความว่า "ความหลากหลายทางวัฒนธรรมพื้นบ้าน" เพราะเห็นว่า ผู้คนที่มาร่วมแสดงความยินดีนั้น เป็นชาวบ้านท้องถิ่น นุ่งผ้าซิ่น ใส่ผ้าไทย มากมายหลากหลาย ภาษาที่ใช้สนทนากัน มีทั้งภาษาไทยใหญ่ ปากะยอ พม่า เขมร ส่วย ใต้ เหนือ อิสาน ฯลฯ ซุ้มที่จัดเพื่อให้บัณฑิตถ่ายภาพก็เป็นความหลากหลายของพื้นที่เช่นกัน ซุ้มจันทบุรี ประดับประดาด้วยผลไม้หลากชนิด กล่าวได้ว่า จังหวัดใดมีของดีอะไร ก็จะมีการนำมาแสดงตามซุ้ม



มีการออกร้านขายช่อดอกไม้ อาหาร เครื่องใช้ ฯลฯ ที่หลากหลายทีเดียว แต่ที่เป็นจุดเด่นคือ จะมีถนนเส้นหนึ่งในมหาวิทยาลัย ถนนเส้นนี้กินฟรี เราเรียกว่า "โรงทาน" ผมลองไปใช้บริการ อันที่จริงภายในมหาวิทยาลัยจะมีโซนขายอาหาร ซึ่งผมก็ลองเดินๆ ดู แต่ไม่อยากนั่งกิน เพราะร้อนมาก ไม่เหมือนปีก่อนมีฝนโปรยพอซับความร้อนได้ จึงซื้อบะจ่างไปกินใต้อาคาร แต่โชคร้าย บะจ่างทำท่าจะบูด จึงทิ้ง แล้วไปใช้บริการโรงทานที่ว่านี้ สิ่งที่น่าประทับใจคือ "เชิญค่ะ เชิญรับด้วยนะคะ ไม่ต้องเกรงใจ" คำพูดอีกหลากหลายที่ออกมาจากผู้ให้บริการ พร้อมกับสีหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส และไม่คิดว่าเป็นตกแต่ง หากแต่ออกมาจากแววตาแห่งไมตรีจริงๆ แต่ละคนได้รับอาหารฟรีกันทั่วหน้า การบริการนี้เป็นการบริการฟรี แตกต่างจากการบริการของหลายองค์กร ที่มาจากพนักงานมีเงินเดือน

ทราบจากพระภิกษุรูปหนึ่งว่า คืนนี้จะมีการแสดงดนตรีของชาวไทยใหญ่ ผมบอกกับท่านว่า ถ้ามีโอกาสจะเข้ามาชมดู ปีนี้ ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาเอกมีมากถึง ๒๑๖ คน หลายคนตกใจกับตัวเลขนี้ แม้แต่ตัวผมเองก็เหมือนกัน มีการคาดการณ์ว่า อันตรายจะเข้ามาเยือนมหาวิทยาลัยแห่งนี้อีกไม่นาน หากไม่มีการควบคุมคุณภาพให้ดี อย่างไรก็ดี ใน ๒๑๖ คนนั้น มีคนจบสาขาปรัชญาเพียง ๓ คน เป็นพระภิกษุ ๑ รูป ฆราวาส ๒ คน สำหรับระดับปริญญาโท มีผู้เข้ารับปริญญา ๑๐๗๙ คน สถานภาพพระภิกษุ ๗๔๑ รูป ที่เหลือเป็นฆราวาส มีสาขาหนึ่ง ที่อาจารย์สายช่างของราชภัฏแห่งหนึ่งเคยตั้งคำถามพร้อมกับหัวเราะชอบใจ สาขานั้นคือ วิปัสสนาภาวนา คำถามที่ว่านั้นคือ "เขาสอบกันอย่างไร" และ "ทำวิทยานิพนธ์ได้ด้วยหรือ" ปีนี้ มีผู้เข้ารับปริญญาสาขาวิปัสสนาภาวนา ระดับปริญญาโท จำนวน ๓๘ ชีวิต สถานภาพพระสงฆ์ ๓๔ รูป ฆราวาส ๔ คน สาขานี้ เท่าที่ผมทราบ เป็นการเรียนด้วยการปฏิบัติ (Learning by doing) หลักสูตรที่หลายคนได้ยินแล้วร้อง "เฮย มีด้วยหรือ" น่าจะหลักสูตร "ชีวิตและความตาย" มีผู้เข้ารับปริญญา ๒๗ คน หลักสูตรนี้แปลก ตรงที่ มีพระเข้ารับเพียง ๓ รูป ที่เหลือเป็นฆราวาส เชื่อว่าหลักสูตรแบบนี้ ถ้ามาเปิดในมหาวิทยาลัยของรัฐ จะถูกตั้งคำถามว่า "จะมีคนเรียนหรือ" "เรียนจบแล้วไปทำอะไร" และอย่าเปิดเลย เสียเวลาและงบประมาณ

ย้อนกลับไปขณะเข้าไปภายในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ แดดเปรี้ยง มอง เห็นรองอธิการ (ฆราวาส) สวมหมวกปีก เดินโบกรถ จัดรถให้เป็นระเบียบ ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ จะถูกตั้งคำถามว่า คนงานไปไหนกันหมด ก็คงมีฮาเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ระหว่างเดินเก็บภาพนั้น มีความคิดผุดขึ้นในสมองพอควร ว่าจะรีบกลับมาเขียนบันทึกไว้ แต่พอเขียนบันทึกจริง ความคิดดังกล่าวหายไปหมด โดยสรุป งานประสาทปริญญาของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ มีอัตลักษณ์ที่หลายมหาวิทยาลัยของไทยทำไม่ได้ ถึงอย่างนั้น ถ้ามีการจัดการของนักจัดการที่ดี (ที่ดีน่าจะหมายถึง มุ่งสร้างงานให้สอดคล้องกับความต้องการของคน และโฆษณาชวนให้เชื่อว่ามีดีอย่างไรบ้าง) งานนี้น่าจะพัฒนาขึ้นสู่ระดับประเทศและนานาชาติได้ อันเป็นการพัฒนาวัฒนธรรมพื้นเมืองขึ้นสู่ระดับชาติและนานาชาติผ่านพิธีประสาทปริญญาบัตร แต่ผมว่า เฉพาะที่จัดกันนั้น ก็หนักพอแล้วกระมัง สำหรับบุคลากรของมหาวิทยาลัยเอง


ขอจบลงด้วย ภาพสุดท้าย เป็นรูปสามเณรกางร่ม เดิมทีผมเดินสวนทางไปแล้ว แต่ต้องเหลียวกลับ แล้วรีบเดินไปข้างหน้าสามเณรรูปนี้ ท่าทางลูกเณรดูจะเป็นคนเรียบร้อย การเดินสงบเสงี่ยม เหมาะสมกับสมณะสารูป จึงเก็บภาพมาเป็นที่ระลึก หวังว่า สักวันหนึ่ง เด็กตัวน้อยจะเติบโตขึ้นเป็น พุทธทาส ปัญญานันทะ พระธรรมปิฎก ฯลฯ อีกสักหน่อเนื้อหนึ่ง



หมายเลขบันทึก: 589948เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2015 15:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2015 15:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ในความคิดเห็นของผมที่ไปช่วยสอนที่นี่

ผมคิดว่ามีเรื่องความหลากหลายของวัฒนธรรมนานาชาติด้วยครับ

เพราะมีพระจีน พระพม่า อินเดีย ฮ่องกง สิงคโปร์ จีน พระฝรั่งและอีกหลายสัญชาติครับ

ขอบคุณอาจารย์มากๆที่สะท้อนภาพดีๆให้อ่าน

ใช่ครับ อ.ขจิต มีหลากหลายชาติที่มาเรียน ผมทราบมาว่า ที่ปัตตานีและนครศรีฯไม่ได้มีเฉพาะชาวพุทธที่เรียนครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท