มาตรวจสุขภาพด้านการเงินกันเถอะ 2 (2-161)


"รู้หา รู้ใช้ รู้เก็บ รู้ลงทุน รู้เผื่อแผ่แบ่งปัน"

จากบันทึกที่แล้ว มาตรวจสุขภาพด้านการเงินกันเถอะ 1 ผู้เขียนเล่าถึงความตระหนกและตระหนักในสุขภาพด้านการเงินของตัวเอง เข้าใจว่าหลายท่านน่าจะมีความรู้ในเรื่องการวางแผนการเงินดีกว่าผู้เขียนมาก แต่อย่างไรก็ตามผู้เขียนคิดว่าน่าจะยังมีอีกหลายท่านที่ไม่ได้ใส่ใจและไม่มีความรู้เช่นเดียวกับผู้เขียน ดังนั้นจึงบันทึกเรื่องนี้ต่อ จากบันทึกที่แล้วได้เล่าถึงบัญชี 4 ประเภทของตัวเอง ได้แก่ 1.บัญชีค่าใช้จ่ายประจำ 2.บัญชีความสุข 3.บัญชีทำบุญ 4.บัญชีเงินสะสม แต่จากการเข้าฟังการให้ความรู้ด้านการเงินจาก อาจารย์สุวรรณี อัศวหฤทัยRFC ผู้อำนวยการสถาบัน10gardenconsult ทำให้รู้ว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่เข้าใจผิด

1. ในการวางแผนการเงิน อันดับแรกเราต้องสำรวจ "ความมั่งคั่งสุทธิ" (Wealth Criteria) ซึ่งถือเป็นค่ากลางของความมั่งคั่งของคนส่วนใหญ่ที่ควรจะเป็น ใช้สูตร

ความมั่งคั่ง/ทรัพย์สินสุทธิ (Net Worth) = 10% x อายุปัจจุบัน x รายได้ต่อปี เรียกว่า ค่า X

สมมุติขณะนี้รายได้ต่อปี 500,000 บาท อายุ 40 ปี เมื่อคำนวณโดยสูตรนี้จึงเป็น

ความมั่งคั่งสุทธิ (ค่าX) = 10% x 40 x 500,000 = 2,000,000 บาท

นั่นคือคนอายุ 40 ปี มีรายได้ 500,000 บาท/ปี ควรมีทรัพย์สิน (เงินสด เงินฝาก บ้าน ที่ดิน รถ) รวมแล้วมีมูลค่า = 2,000,000 บาท

ขั้นต่อมาหลังจากรู้ความมั่งคั่งสุทธิที่ควรมีแล้ว ก็สำรวจทรัพย์สินส่วนตัวที่มีทั้งเงินสด บ้าน คอนโด ที่ดิน เครื่องประดับ เงินฝาก หุ้น กองทุน ฯลฯ รวมทั้งหมด สมมุติเรียกว่า ค่า Y

ดังนั้นเราก็จะพอรู้ได้แล้วว่าในอายุเท่านี้ เงินเดือนเท่านี้ เรามีทรัพย์สินมากหรือน้อยกว่าเกณฑ์ทั่วๆ ไป หากค่า Y มากกว่า ค่า X ก็สบายใจได้ว่าเรามีความมั่นคั่งในระดับเหมือนคนทั่วๆ ไป แต่ถ้าค่า Y น้อยกว่าค่า X เราต้องสำรวจตัวเอง ว่าเพราะอะไร มีทางแก้ไขปรับปรุงการใช้เงินอย่างไร

2. รายได้/รายจ่าย เป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง แบ่งได้ง่ายๆ เป็น

- Active income รายได้จากแรงงาน เงินเดือน โบนัส คอมมิชชั่น ค่าจ้าง เบี้ยประชุม

- Passive income รายได้จากสินทรัพย์ ค่าเช่า ดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าลิขสิทธิ์ เงินมรดก

รายจ่าย แบ่งเป็น

- รายจ่ายประจำ หมายถึง ค่ากินอยู่ ค่าเดินทาง รายจ่ายที่ต้องจ่ายประจำตามกำหนดเวลาแน่นอน

- รายจ่ายผันแปร หมายถึง รายจ่ายที่ไม่ประจำ ค่าใช้จ่ายเพื่อความสุขส่วนตัว การท่องเที่ยว การทำบุญ การช่วยเหลือคน

- รายจ่ายเพื่อการลงทุน หมายถึง เงินที่นำไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามที่ตั้งใจไว้

แต่ละคนอาจมีการแยกแยะรายรับ รายจ่ายที่แตกต่างออกไปจากนี้ แต่หลักการง่ายๆ คือ เราควรบริหารจัดการเงิน ให้มีรายได้/รายรับ>รายจ่าย ด้วยหลักการจำง่ายๆ คือ "รักษาActive income เพิ่ม Passive income คงรายจ่ายประจำ ระวังรายจ่ายผันแปร" จึงจะสามารถวางแผนการเงินที่มีปลายทาง ที่เกษียณอายุราชการได้อย่างมั่นคง


3. บัญชี 5 ประเภท วิทยากรแนะนำให้จำแนกบัญชีเป็น 5 บัญชี คือ

1.บัญชีกินอยู่ ใช้จ่ายประจำ

2.บัญชีฉุกเฉิน – ควรมีเงินสำรองไว้ 3-6 เท่าของเงินเดือนในกรณีฉุกเฉิน ไม่มีงานทำ หรือต้องใช้เงินโดยไม่ได้ตั้งตัว

3.บัญชีสุขภาพ – สำรองไว้ 5-10% ของเงินเดือน สำหรับการซื้อประกันความเจ็บป่วย อุบัติเหตุ ประกันภัยรถ-บ้าน

4.บัญชีลงทุน – 10-20% ของเงินเดือน สำหรับการลงทุน

5.บัญชีความสุข – 5-10% ของเงินเดือน สำหรับการท่องเที่ยว การรับประทานอาหารนอกบ้าน ทำบุญ ช่วยเหลือคนอื่น

การแบ่งบัญชีเป็น 5 บัญชีเช่นนี้ ทำให้เห็นว่าที่ผ่านมาผู้เขียนไม่ให้ความสำคัญกับ "เงินสำรองเพื่อสุขภาพและเรื่องการลงทุน" เลย การแบ่งบัญชีแบบนี้จึงทำให้เห็นนิสัยการใช้เงินและสร้างความตระหนักให้รู้จักวางแผนการใช้เงินเพื่ออนาคตได้

4. การลงทุน ยุครุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายจะพูดติดปากว่า "ให้รู้จักกินรู้จักใช้รู้อดออม" "หาเก่งไม่เท่าเก็บเก่ง" แต่ในยุคนี้ เงินเก็บไว้มีแต่ลดค่าลงทุกวัน จากหลายๆ สาเหตุ เช่น เงินเฟ้อ (ปัจจุบันปีละ 3%) ในขณะที่ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ ปีละ 0.25 - 0.75% ส่วนเงินฝากประจำที่ว่าดอกเบี้ยสูงมีการติดป้ายโฆษณาของหลายธนาคารจะไม่เกิน 4% แม้เงินปันผลของสหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆ ก็เฉลี่ย 5.5% ดังนั้นหากต้องการบริหารเงินให้เพียงพอที่จะใช้ในวัยหลังเกษียณอายุ 60 ปี ซึ่งเมื่อถึงวันนั้น คาดเดาได้ยากว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มเป็นเท่าไร ค่าครองชีพจะสูงขึ้นไปถึงไหน ค่าเงินจะลดลงเหลือเท่าไร ดังนั้น การเอาเงินฝากไว้ธนาคารอย่างเดียวไม่พอแน่ๆ ต้องรู้จัก "ลงทุน" เพื่อให้เงินงอกเงยทันกับค่าเงินที่ลดลงและเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นด้วย

ที่น่าสนใจคือ ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตั้งแต่ปี 2546-2555 ระบุว่าผลตอบแทนเฉลี่ยจากการลงทุนเมื่อหักอัตราเงินเฟ้อแล้ว หุ้นไทยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี 17.1% ทองคำ 10% พันธบัตรรัฐบาล 1% และเงินฝากประจำ 1 ปี -1.1% (ติดลบ) ข้อมูลนี้แสดงว่า "หุ้น" ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยในระยะยาวดีกว่าผลิตภัณฑ์การเงินอื่นๆ

คนส่วนใหญ่ในห้องสัมมนาฯ มองหน้ากันแล้วพึมพำคล้ายๆ กันคือ "แล้วต้องลงทุนอะไร ลงทุนยังไงล่ะ..." ซื้อล็อตเตอรี่ก็ไม่ถูก เล่นหวยก็ถูกกิน แชร์ลูกโซ่ก็เยอะ เล่นหุ้นก็มีเงินนิดเดียว ไม่รู้จะเล่นตัวไหน ไม่มีเวลา ไม่มีความรู้ ฯลฯ การเล่นหุ้นได้ผลตอบแทนสูงแต่มีความเสี่ยงสูงด้วย (High risk, High return) ต้องมีความรู้ คอยติดตามสถานการณ์ต่างๆ ที่จะส่งผลต่อหุ้นที่ซื้อว่าจะหุ้นขึ้น หุ้นตก ฯลฯ ความจริงแล้วผลิตภัณฑ์ทางการเงินมีหลายประเภท ระดับความเสี่ยงมากน้อยต่างกันไป หากมีเงินที่กันไว้ส่วนหนึ่ง แต่ไม่มีเวลาหาความรู้ ไม่มีความชำนาญ ก็มีอีกหนึ่งทางเลือกที่วิทยากรแนะนำคือ "กองทุนรวม" ซึ่งมีการจัดการลงทุนอย่างเป็นระบบด้วยมืออาชีพที่มีความชำนาญ มีการกระจายความเสี่ยง มีทางเลือกในการลงทุน แต่ละกองทุนมีนโยบายเฉพาะตัว และมีกลไกป้องกันความเสียหายผู้ลงทุนโดยสำนักงานคณะกรรมการการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) ผู้เขียนรู้สึกว่า "กองทุนรวม" เป็นคำตอบเรื่องการลงทุนที่เหมาะสมกับลักษณะนิสัยและความรู้ด้านการลงทุนที่จำกัดของตัวเอง ซึ่งกองทุนรวมมีมากมาย ผู้สนใจสามารถขอคำแนะนำได้จากเจ้าหน้าที่ธนาคาร ซึ่งมีหน้าที่ในการให้ความรู้และขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินเหล่านี้อยู่แล้ว นอกจากนี้สำหรับผู้เป็นข้าราชการ กองทุน กบข. ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เป็นหน่วยงานที่บริหารจนได้ปันผลเฉลี่ยแล้ว ปีละ 5.6-7% (มีเพียงปี พ.ศ.2551 ที่ติดลบ)

บันทึกนี้เราได้รู้จัก "ความมั่งคั่งสุทธิ" (Wealth Criteria) ความมั่งคั่งส่วนตัว รายรับ รายจ่าย และบัญชี 5 ประเภท และเรื่องการลงทุนแล้ว ผู้เขียนสรุปเองง่ายๆ ว่า ในการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันโดยมีเป้าหมายที่จะเกษียณอย่างสง่างาม (Smart Retired) ควรใช้ หลัก 5 รู้เพื่อให้เราพึ่งตนเองได้อย่างพอเพียงและยั่งยืน คือ "รู้หา รู้ใช้ รู้เก็บ รู้ลงทุน รู้เผื่อแผ่แบ่งปัน" ค่ะ

หมายเลขบันทึก: 588976เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2015 13:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2015 14:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ตัวเลขที่ให้มา..คงทำได้..ในหมู่ข้าราชการชั้น..หนึ่ง..ไม่รวมราชการผู้น้อยหรือเจ้าหน้าที่ประจำ...ใช่ไหมคะ..กรรมกรและชาวนา..คงเป็นไปไม่ได้..อิอิ..

(คงเป็น..ความฝันของคนชั้นล่างสุดๆๆ...แหงนดูพระจันทร์..และฝันแบบกระต่าย..อิอิ)

สวัสดีค่ะคุณยายธี

อ่านคอมเม้นท์คุณยายธีแล้ว จริงด้วยๆๆๆๆ ด้วยความที่เป็นข้าราชการและไม่มีหนี้สิน ภาระต้องดูแลใคร จึงเขียนในแง่มุมแบบนี้

แต่ความจริงหนูมาคิดดู ในชนบทหรือชาวบ้านร้านถิ่นในวิถีเดิมๆ ก็มีต้นทุนที่ไม่ใช่ตัวเงินอีกมาก เช่น ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน การปลูกพืชผักผลไม้กินเอง แถมยังแบ่งปันได้ ลูกหลานญาติพี่น้องที่พร้อมช่วยกันสนับสนุน ฯลฯ

ขอบคุณข้อคิดเห็นดีๆ ค่ะ :)

แวะมาทักทายจ้ะพี่หยังราก ฝากใบ ขอบคุณบันทึกดี ๆ ที่นำมาฝากกันจ้ะ

ขอบคุณคุณ คุณมะเดื่อ

ดอกลำเพยใช่ไหมคะ :)

ทุกบัญชี..น่าสนใจจริง ๆ ครับ

..

ชอบบัญชีสุดท้ายมากที่สุด ไม่รู้เป้นเพราะอะไรครับ

..ขอบคุณมากนะครับ

สวัสดีค่ะคุณแสงแห่งความดี

ส่วนตัวก็ชอบบัญชีสุดท้ายที่สุดเหมือนกันเลยค่ะ แต่อาจารย์สอนว่าเรามีเป้าหมายอะไร ให้จดจ่อความสำคัญตรงนั้นก่อน บัญชีทุกบัญชีมีความสำคัญมากน้อยต่างกันไปนะคะ

ขอบคุณค่ะ :)

เก็บมาตั้งนานแล้วครับ สมัยเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย ไม่มีเงินเหลือเลย แต่ตอนนี้เริ่มสบาย เมื่อหกปีที่แล้ว จ่ายค่าเล่าเรียนให้ลูกๆ ปีละประมาณสามล้านบาท หกปี ตอนนี้ลูกจบกันหมดแล้ว

ตอนนี้ถ้าเกษียณได้เงินสวัสดิการสังคมของอเมริกาเดือนละประมาณหกหมื่นบาท ทางการให้ใช้ไปจนตาย เงินนี้เราต้องใส่ไปสามล้านบาท บริษัทต้องออกให้อีกสามล้านบาท (ของผมประมาณสามสิบห้าปี)

แต่ไม่พอใช้หรอกครับถ้าอยู่ที่นี้ แต่กลับไปเมืองไทย เคยถามเพื่อนไปบล๊อคนี้ บอกว่าสบายมาก พออยู่ได้ครับ

สวัสดีค่ะพี่คนบ้านไกล

กราบขอโทษด้วยนะคะ เพิ่งมาเห็นและตอบคอมเม้นท์

เงินหกหมื่นบาท/เดือน มาอยู่เมืองไทย อยู่ได้ค่ะ แต่ก็อย่างที่ว่าล่ะค่ะ แต่ละคนไม่เหมือนกัน และเรื่องเงิน ไม่ใช่ตัวที่จะบอกว่าพอหรือไม่ จนรวยไม่ใช่อยู่ที่หาได้เท่าไร แต่ "เหลือเก็บ" เท่าไรต่างหากนะคะ

พี่กลับมาอยู่เมืองไทยสิคะ...อบอุ่นนะคะ :)

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท