การติดตั้งปั๊มน้ำ 12 โวลท์ พลังโซลาร์เซลล์ แบบพอเพียงในบ้านเราเอง จากประสบการณ์ที่ได้ทดลองทำ


จากที่ได้เคยทำงานบนเขาทางภาคเหนือ หลายปีมาแล้ว ได้ไปอาศัยพักค้าง ที่ศูนย์การเรียนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" สำนักงานการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ก็ได้พบว่าทีวีดาวเทียม ที่ใช้สอนนักเรียน ใช้แบตเตอรี่ รถสิบล้อลูกยาว ๆ กับแผงโซลาร์เซลล์ วันที่ไปพักค้าง คุณครู กศน. ท่านก็ใจดี บอกผมว่า จะดูทีวีก็เปิดดูได้ เลย ผมไม่กล้าดูหรอกครับ เพราะไว้ใช้สอนนักเรียน เป็นอุปกรณ์การเรียนการสอนที่สำคัญ ถ่ายทอดจากโทรทัศน์ทางไกลผ่านดาวเทียมวังไกลกังวล เกิดทีวีเค้าเสียไปล่ะก็ไม่ได้เรียนกัน

เก็บเอาไว้ในใจ ว่าเมื่อลงจากดอยไป จะศึกษาหาความรู้เรื่องโซลาร์เซลล์ ให้รู้ว่าเป็นอย่างไร จะเอาไว้ใช้งานจริง และค้นหาสาเหตุว่าทำไม การไฟฟ้าจึงต้องใช้ไฟฟ้าแรงสูงในการส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้า ก็พบว่าเพื่อลดกำลังไฟฟ้าสูญเสีย เนื่องจากความต้านทานในสายตัวนำส่งจ่าย การเลือกระดับแรงดันจะพิจารณาจาก ขึ้นอยู่กับระยะทางและขนาดกำลังไฟฟ้าที่ส่งจ่าย หากแหล่งกำเนิดไฟฟ้าอยู่ไกล ต้องใช้ระดับแรงดันสูง ปัจจุบันจ่ายด้วยระบบแรงดันไฟฟ้าขนาดตั้งแต่ 12,000 โวลต์ ถึง 115,000 โวลต์ เป็นส่วนใหญ่ และมีการจ่ายด้วยระบบ 230,000 โวลต์อยู่บ้าง
แต่การทำโซลาร์เซลล์ แบบพอเพียง แบบบ้าน ๆ ใช้ในบ้านเราเอง เรามีแหล่งกำเนิดไฟฟ้าอยู่บนหลังคาบ้าน ดังนั้นจึงใช้แรงเคลื่อน 12 โวลต์ได้อย่างสบาย ประหยัดและปลอดภัย

จากนั้นได้มาอ่าน เฟสบุ๊ค ของ อาจารย์ Kasem Solarcell ผู้ใจดี แบ่งปัน ให้ได้รับ ได้รู้เรื่อง โซลาเซลล์แบบบ้าน ๆ เป็นจุดเริ่มต้นในการทดลองทำ จากการใช้แบตเตอรี่รถยนต์ของตัวเอง เก่า ๆ ที่ใช้สตาร์ทเครื่องยนต์ไม่ได้แล้ว เอามาทำไฟแสงสว่าง กับหลอด LED 3 วัตต์ ในตอนกลางคืน โดยหาซื้อ คอนโทรลชาร์ต 10 แอมป์ มา 1 ตัว
หลังจากที่ทำไฟแสงสว่าง จาก 1 ดวง เป็น 6 ดวง โดย จัดหาแบตเตอรรี่ ดีฟไซเคิล 135 แอมป์/ชั่วโมง มาไว้สำรองไฟ ตอนกลางคืน จากแผงโซลาร์เซลล์ 40 วัตต์ซื้อเพิ่มมาอีก 80 วัตต์ รวมเป็น 120 วัตต์ปรากฏว่า คอนโทรลชาร์ต 10 แอมป์ ที่ซื้อมาในครั้งแรก มดเข้าไปทำรังทำให้เสียใช้งานไม่ได้ ไฟกระพริบตลอด

ซื้อคอนโทรลชาร์ตใหม่เป็น 20 แอมป์ (คอนโทรลชาร์ต ตัว 10 แอมป์ เอามาแกะเป่ามดออกกลับใช้ได้ เลยทายาหม่องไปตามขอบแผงวงจร เพื่อกันไม่ให้มดเข้าอีก ) ลองตัววัดไฟจากคอนโทรลชาร์ตแล้ว ไฟวัดแบตเตอรี่ ขึ้นเขียวตลอดจนเช้า แสดงว่า ไฟยังเหลือ จึงมีความคิดที่จะนำไฟ แบตเตอรรี่ที่เหลือมาใช้ กับ ปั๊มน้ำ 12 โวลต์

ได้เห็นอาจารย์ Kasem solarcell ทำปั๊มน้ำในบ้าน แทนปั๊ม 220 โวลต์จึงได้ไปจัดซื้อปั๊ม 1.3 เมกะปาสคาล หรือ เท่ากับ 13 บาร์ ตามรูปมาประกอบใช้ ที่บ้านมี รีเลย์รถยนต์ซื้อมาผิด รีเลย์ใช้กับรถยนต์ติดแก๊ส จะมีขา 87 a หนึ่งขา และขา 87 เฉย ๆ อีกหนึ่งขา ซื้อมาผิดเป็นรีเลย์ไฟหน้ารถยนต์ มีขา 87 สองขา ไม่มีขา 87 a ใช้ไม่ได้เก็บไว้ เลยนำมาใช้ประกอบ เพื่อรักษาหน้าสัมผัส pressure switch ให้ใช้ได้นาน ๆ อ่านวิธีต่อจากในอินเตอร์เน็ตล่ะครับ(รีเลย์ไม่ต้องใส่ก็ได้ที่ใส่เพราะมีเหลืออยู่) ทำสวิทซ์ตัดไฟประกอบด้วยกล่องอาหารที่มีเหลือมากมายในห้องครัว (เลือกกล่องที่เจ้าของเค้าลืม ๆ ไปแล้วว่ามีเอามาใช้ซะ )

ได้โอกาสต่อสายดินเลย การทำโซลาร์เซลล์ ต้องต่อสายดินด้วย จึงไปซื้อแท่งทองแดง ยาว ๆ สำหรับทำสายดิน มาจัดการต่อสายดินชุดโซลาร์เซลล์

ตอนตัดท่อใช้กรรไกรตัดท่อ ลองประกอบดูก่อน โดยใช้เมจิกมาร์กท่อไว้ก่อน จากนั้นถอดออกทากาว ตอนทากาวประกอบท่อก็ใช้แปรงสีฟันเก่า ๆ ทาด้านในก่อน แล้วจึงทาด้านนอก จากนั้นประกอบ รอให้แห้งสักพักนะครับ อย่างพึ่งทดสอบ หากใจร้อนอาจเจอท่อระเบิดแบบผม น้ำกระจายเปียกไปหมด เพราะปั๊มน้ำแรงดันสูงจริง ครับ

อย่าลืมใส่เช็ควาล์ว (กันน้ำไหลกลับ) ด้วย ผมใส่สองด้านทั้งก่อนเข้าปั๊มและหลังปั๊มเลยครับ ก่อนเข้าปั๊มใช้เช็ควาล์วแบบสวิงเช็ควาล์ว เพราะไม่ต้องการให้แรงดันน้ำสูญเสีย หลังปั๊มใช้ สปริงเช็ควาล์วเพราะหลังปั๊มแรงดันสูง ปิดน้ำได้ดี ครับ

หากจะทำแอร์แวะ เข้าไว้ในระบบน้ำประปาในบ้านก็ จะลด ฆ้อนน้ำได้เป็นอย่างดี เพราะปั๊ม12 โวลต์ ที่เราติดตั้งขึ้นนี้ไม่มีหม้อลมเหมือน ปั๊ม 220 โวลต์ ใช้ แอร์แวะช่วยหน่อยก็จะดีขึ้นเรียบขึ้น https://www.facebook.com/haii.most/posts/655902171137860

เมื่อประกอบท่อน้ำเสร็จแล้ว จึงประกอบระบบไฟ 12 โวลต์ จากโซลลาร์เซลล์เข้าไปครับ ข้อสำคัญ ไฟออกจากแบตเตอรี่ โดยตรง ใส่ฟิวส์ หรือ ติดเบรกเกอร์ 12 โวลต์ ด้วยนะครับ เพราะหากมีการช๊อต จะได้ปลอดภัย โดนมาแล้วครับ ไฟ 12 โวลต์ช๊อต ฉนวนหุ้มสายดำแดง ละลายเลยครับ

ประกอบแล้วทั้งน้ำและไฟ เสร็จ แล้วก็ทดสอบมีรั่วตรงจุดไหน หรือไม่ pressure switch ตัดเมื่อความดันถึงหรือไม่ ของผมตามภาพ ใช้ pressure switch ของรุ่น 220 โวลต์ ต่ออนุกรม กับ pressure switch ที่ติดมากับปั๊มน้ำ เพื่อเป็นตัวสำรอง อันไหนตัดก่อนก็ใช้อันนั้นทำงาน หากอันหนึ่งอันใดเสียก็ใช้อีกอันสำรอง ครับ

ปิดปั๊มน้ำ 220 โวลต์ ที่เคยใช้ แล้วใช้ ปั๊มน้ำ 12 โวลต์ ที่ประกอบขึ้น ทดสอบดูว่าใช้ได้ตามที่ได้ตั้งใจไว้หรือไม่ จากนั้นลองเปิดทั้งสองระบบ หากเราเลือก pressure switch ได้อย่างเหมาะสม ปั๊ม 12 โวลต์ ทำงาน จากเริ่มปั๊มจนปั๊มหยุดทำงานเมื่อความดันได้ระดับ และปั๊ม 220 โวลต์ เดิม จะทำงานช่วยปั๊ม 12 โวลต์ ตอนที่แรงดันน้ำตก ไปอย่างมาก ตอนปั๊ม 12 โวลต์ ทำงานไม่ทัน
จะเปิดแบบบูรณาการ ทั้งปั๊ม 12 โวลต์ และ 220 โวลต์ พร้อมกัน ปั๊มก็จะทำงานเสริมกัน หรือเปิด 12 โวลต์ อย่างเดียวเพื่อประหยัดไฟสูงสุด ก็แล้วแต่ท่านจะเลือกล่ะครับ ขอให้มีความสุขกับการประหยัดไฟนะครับ


สุดท้ายตายทุกคน แบ่งปัน
พีระพงศ์ (Bobbie) วาระเสน
12 เมษายน 2558

หมายเลขบันทึก: 588823เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2015 20:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 ตุลาคม 2015 08:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท