สร้าง "คลังปัญญา" เปลี่ยนการเรียนการสอน



บ่ายวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ในการประชุม Retreat ระหว่างกรรมการสภามหาวิทยาลัย และผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งจัดที่โรงแรม เลอ เมอริเดียน จังหวัดเชียงราย ผมถูกจัดให้เป็นประธาน การประชุมห้องย่อยที่ ๓ เรื่อง New Paradigm in Learning and Teaching มีคนเข้าร่วมประชุม ๒๓ คน

ฟังอยู่ ๓ ชั่วโมง ผมสรุปกับตัวเองว่า ผู้บริหารระดับคณบดีเหล่านี้เปลี่ยน paradigm แล้ว ในเรื่องการเรียนการสอน ว่าผู้เรียนต้องได้ Learning Outcome ครบด้าน และเรียนแบบลงมือทำ (action) และคิด (reflection) แต่ท่านต้องการ "ตัวช่วย" สำหรับให้คณาจารย์เปลี่ยน paradigm จากความเคยชินเดิมๆ และช่วยให้คณาจารย์ทำหน้าที่สอนแบบใหม่ได้

ท่านจึงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องการให้มี Center for Teaching and Learning Innovation ซึ่งตอนสรุปการประชุมในวันรุ่งขึ้น ท่านนายกสภาฯ ศ. นพ. เกษม วัฒนชัย ตั้งชื่อว่า TLIC (Teaching and Learning Innovation Center)

ในช่วงเวลาดังกล่าวผมจด "Knowledge Assets" ที่เป็น "คลังความรู้ปฏิบัติ" ว่าด้วยการจัดการเรียน การสอนแนวใหม่ได้มากมาย ที่ TLIC เอาไปใช้ทำงานต่อได้ โดยน่าจะบันทึกไว้เป็นเรื่องราว ที่มีตัวละคร มีกิจกรรมหรือพฤติกรรมและความรู้สึกนึกคิด คือเป็น "เรื่องเล่าเร้าพลัง" (storytelling) ไม่ใช่บันทึกหลักการ แห้งๆ ไร้ชีวิต

คลังเรื่องเล่านี้ ควรจำแนกกลุ่ม ตามการใช้งาน เช่น

  • เรื่องเล่าการจัดการเรียนการสอนที่ได้ผลงานทั้งด้านการเรียนการสอนแบบใหม่ ได้ผลงานบริการวิชาการ และได้ผลงานวิจัย ไปในคราวเดียวกัน
  • เรื่องเล่าการจัดการเรียนการสอนที่ได้ผลลัพธ์การเรียนรู้ครบทั้ง ๕ domain และเด่นด้านการสร้างจิตอาสา/จิตสาธารณะ
  • เรื่องเล่าการจัดการเรียนการสอนที่นักศึกษาบอกว่าสนุก ได้ใช้ความริเริ่มสร้างสรรค์เต็มที่ และได้เรียนรู้ครบถ้วนตามเป้าหมายผลลัพธ์การเรียนรู้
  • เรื่องเล่าการจัดการเรียนการสอนที่อาจารย์ภูมิใจ ที่ได้คิดวิธีสอนแบบใหม่ ที่นักศึกษาได้เรียนโดยไม่เบื่อ นักศึกษาเข้าเรียนครบและตื่นตัว ร่วมกิจกรรมตลอดเวลา ได้ learning outcome ครบด้าน และอาจารย์ไม่เหนื่อยเพิ่มขึ้นกว่าเดิม
  • เรื่องเล่าการจัดการเรียนการสอนชั้นใหญ่ (นักศึกษาเกิน ๑๐๐) ที่เป็น active learning ที่ใช้เทคนิค flipped classroom อย่างได้ผลดี
  • เรื่องเล่าการจัดการเรียนการสอนผสมผสานระหว่าง classroom, community action, และ e-Learning ได้ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ดี และยังได้ผลงาน university – social engagement
  • เรื่องเล่าการจัดการเรียนการสอนแบบ IPE (Inter-Professional Education) นักศึกษาหลายวิชาชีพเรียนร่วมกัน ฝึกทำกิจกรรม/โครงงาน เป็นทีม เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ข้ามสาขาวิชาชีพ
  • เรื่องเล่าของนักศึกษา ว่าการจัดการเรียนการสอนของอาจารย์ท่านใด วิชาใด ที่เปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรมของเขาโดยสิ้นเชิง (เกิด transformative learning)
  • เป็นต้น

คลังปัญญานี้ ต้อง "มีชีวิต" คือ มีการนำเอาไปใช้ แล้วปรับปรุงใหม่ เกิดเป็นเรื่องเล่าใหม่ ต่อเนื่องจากเรื่องเล่าเดิม และนอกจากเล่าเป็นข้อเขียนแล้ว ที่ดีกว่าคือเล่าเป็น multimedia หรือเป็นวีดิทัศน์


วิจารณ์ พานิช

๒๒ ก.พ. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 588220เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2015 17:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มีนาคม 2015 17:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท