สศพ. _ ๐๒ : รูปแบบการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา โรงเรียนเชียงขวัญพิทยาคม (๒)


บันทึกที่ ๑

หลักการดำเนินงานขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา ของ ผอ.ระวี และ อ.ฉลาด คือ การทำให้การน้อมนำฯคืองานประจำที่ทำเป็นหลัก โดยสร้างความตระหนัก ว่า การขับเคลื่อนฯ นั้นไม่ใช่งานเพิ่มเติมเสริมหลักสูตรแต่อย่างใด แต่หากแต่เป็น สิ่งที่ต้องน้อมนำไปใช้เป็น "หลักคิด" ในการภารกิจทุกอย่าง ตั้งแต่งานแผน วิชาการและการเรียนการสอน กิจกรรมเสริมหลักสูตร และการปลูกฝังในกิจวัตรปฏิบัติประจำวันของนักเรียน

ผมจะเล่าถึงหลักการให้ฟังทีละประเด็นเพื่อให้ท่านเห็นความเชื่อมโยงทั้งหมด ตั้งแต่ขั้นเริ่มวางแผน "เคลียร์คอนเซ็ป" ลงมือปฏิบัติ และสะท้อนกลับเพื่อประเมินผลตนเอง กลับไป-กลับมา ก่อนจะขยายผลจากตนเอง (ครูและนักเรียนแกนนำ) ไปสู่คนใกล้กัน แล้วแบ่งปันไปยังผู้สนใจเป็นเครือข่ายต่างๆ ทั้งในชุมชน สังคม หรือ โรงเรียนอื่นๆ โดยเน้นความยั่งยืน "ระเบิดจากภายใน"

วางแผน -> หลักสูตรสถานศึกษา

เบื้องลึกที่ทำให้โรงเรียนเชียงขวัญฯ ขับเคลื่อนได้อย่างเข้าใจ คือ น้อมนำมาใช้ได้อย่างถูกต้องตั้งแต่ขั้นวางแผนของโรงเรียนทั้งหมด การสร้างหลักสูตรสถานศึกษา และการพัฒนาการจัดการเรียนการสอน ตามลำดับ ดังแผนภาพ



โดยมีลำดับขั้นตอนการทำตามลำดับ "หลักคิด" ต่อไปนี้

  • หลักสูตรแกนกลาง ๒๕๕๑ เรียกได้ว่า เป็น "หลักสูตรพอเพียง" เพราะนอกจากจะน้อมนำมาใช้ในการพัฒนาหลักสูตรอย่างรอบคอบแล้ว ยังได้กำหนดเป็น ๑ ใน ๕ ของเป้าหมายของหลักสูตร กล่าวคือ การพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์ มีวินัย และปฏิบัติตนตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา หรือศาสนาที่ตนเองนับถือ ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ๘ ประการ
  • หลักสูตรแกนกลาง ปี ๒๕๕๑ กำหนดเป้าหมายการจัดการเรียนรู้ไว้แล้ว ทั้งด้านความรู้ (Knowledge) ด้านทักษะ(กระบวนการ: Process) และด้านเจตคติ (Attude) คุณลักษณะที่พึงประสงค์ ๘ ประการ และสมรรถนะตามหลักสูตร ๘ ประการ
  • หลักสูตรแกนกลางถูกกำหนดให้เป็นสัดส่วน ๗๐ เปอร์เซ็นต์ และเปิดโอกาสให้สถานศึกษา พัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น (ของจังหวัด) อีก ๓๐ เปอร์เซ็นต์ รวมเป็นหลักสูตรสถานศึกษาแต่ละแห่ง อาจเรียกว่า หลักสูตรของโรงเรียน ปี ๒๕๕๑
  • น้อมนำเอาเป้าหมายและแนวทางตามหลักสูตรของโรงเรียน มาทำเป็นแผนพัฒนาโรงเรียนทั้งระยะ ๕ ปี -> ๓ ปี -> และแผนปฏิบัติประจำปี
  • โดยอาจารย์ผู้สอนในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ น้อมนำเอาหลักปรัชญาฯ มาเป็นหลักคิดในการทำแผนการจัดการเรียนรู้ แผนการสอน คำอธิบายรายวิชา ให้เป็นแผนการจัดการเรียนรู้บูรณาการเศรษฐกิจพอเพียง หรือเรียกว่า นำมาเป็น "หลักคิด"ในการปฏิบัติเพื่อสร้างแผนปฏิบัติในการพัฒนาการคิด
  • สร้างระบบประเมินผลความก้าวหน้าของผู้เรียน และความสมดุล ยั่งยืน
  • รายงานคุณภาพการจัดการเรียนการสอนต่อผู้บริหารและผู้ปกครอง

ขั้นทำความเข้าใจให้ตรงกัน "เคลียร์คอนเซ็ป"

การทำให้เข้าใจ "คอนเซ็ป" หรือเข้าใจในหลักปรัชญาฯ นั้น ไม่สามารถทำได้ด้วยการบอก "คอนเซ็ป" แต่ต้องให้นักเรียนได้ทดลองทำแล้วนำมาวิเคราะห์พิจารณา "ตีความ" ดังนั้น กระบวนการ "ถอดบทเรียน" ที่เขียนไว้ใน บันทึกที่ ๑ จึงต้องเน้นการ "ตีความจากประสบการณ์จริงๆ ของตน"

ใน "เกณฑ์ก้าวหน้า" หรือเกณฑ์ที่กำหนดแนวทางพัฒนาโรงเรียนสถานศึกษาพอเพียง กำหนดองค์ประกอบที่จะประเมินไว้ ๓ ด้าน ๔ กลุ่มคน โดยพิจารณาพัฒนาการไว้ ๕ ระดับ สำคัญคือต้องเริ่มจาก รู้และเข้าใจ -> แล้วนำไปฏิบัติ -> ชัดเจนถ่ายทอดได้ ->ขยายผลสู่คนอื่น -> ยั่งยืนระเบิดจากภายใน รูปแบบการขับเคลื่อนฯ ของโรงเรียนเชียงขวัญฯ มีจุดเด่นคือทำให้ "รู้และเข้าใจ" จึงทำให้ขั้นต่อไป ทำได้ไม่ยาก

การประเมินผลตาม "เกณฑ์ก้าวหน้า" กำหนดกลายๆ ว่าการขับเคลื่อนฯ นั้นทุกโรงเรียนต้องค้นหาและพัฒนาคนที่เป็น ครูแกนนำ -> ครูแกนนำไปสร้างนักเรียนแกนนำ -> ขยายผลสู่คนอื่นๆ ทั้งครูและนักเรียน -> ซึ่งจะส่งผลต่อครอบครัว ชุมชน โดยประเมินผลจากความเข้าใจและความพึงพอใจของคณะกรรมการบริหารสถานศึกษาและผู้ปกครอง ดังนั้น หากโรงเรียนใด "ครูแกนนำ" ไม่เข้าใจ ก็ยากที่จะก้าวไปในขั้นถัดไปสู่ความสำเร็จ


โดยเฉพาะขั้นตอนที่จะฝึกให้นักเรียนเข้าใจการน้อมนำไปใช้เชื่อมโยง ๔ มิติ จะไม่สามารถสำเร็จได้เลย ถ้าโรงเรียนและครูยังมีการจัดการเรียนการสอนแบบ "่ถ่ายทอด" อย่างเดียว .... การ "ถอดบทเรียน" ของโรงเรียนเชียงขวัญพิทยาคม เป็นการ "สอนคิด" ที่ใช้การตั้งคำถาม ครู-นักเรียน จึงเกิดความเข้าใจ เพราะได้ "ฝึกคิด" นั่นเอง

การ "ถอดบทเรียน" ของโรงเรียนเชียงขวัญฯ ไม่ได้หมายถึง การถอดบทเรียนที่นักวิชาการหมายถึงทั่วไป (อ่านเพิ่มเติมได้ ที่นี่) แต่ครูและผู้อำนวยการใช้คำว่า "ถอดบทเรียน" กับ ทั้งการสนทนา การตั้งคำถาม การระดมสมอง การสรุปปัญหา ฯลฯ คือหมายถึงทุกๆ กิจกรรมที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน

อย่างไรก็ดี ปัจจัยของความสำเร็จของโรงเรียนเชียงขวัญฯ ไม่ใช่เพียงเท่านี้ แต่หากอยู่ที่กระบวนการเตรียมนักเรียนให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงต่างหาก


จะมาว่าให้ฟังในบันทึกต่อไปครับ ....

หมายเลขบันทึก: 588217เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2015 16:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มีนาคม 2015 22:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท