ฤกษ์งาม...วันเริ่มต้นก่อสร้าง"มหาวิทยะเจดีย์" ตอน : ขั้นตอนและพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างเจดีย์(3)


ภาพถ่าย : พระราชไพศาลมุนี และผู้เขียน ขณะวางอิฐศิลาฤกษ์ สร้างมหาวิทยะเจดีย์ วัดโมกขธรรมาราม

..

หลังจากที่พระราชไพศาลมุนี และตัวผู้เขียน ได้ทำพิธีวางอิฐศิลาฤกษ์ เป็นที่เรียบร้อย แล้ว ไม่นานนักพระภิกษุสงฆ์พม่า ได้นำบาตร ซึ่งภายในบรรจุสิ่งของมีค่าต่างๆ เช่น สร้อยทอง แหวนทอง กำไลทอง ต่างหูทอง และของมีค่าอื่น รวมถึง ธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ จำนวนหนึ่ง มาวางบนอิฐศิลาฤกษ์ อีกครั้ง

..

ภาพถ่าย : ภายหลังเสร็จพิธีวางอิฐศิลาฤกษ์ ลงในฐานก่อสร้างมหาวิทยะเจดีย์แล้ว ประธานในพิธีเดินกลับยังปะรำพิธี

..

เมื่อประธานในพิธีกลับถึงอาสนะที่จัดเตรียมไว้ภายในปะรำพิธีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พิธีกรรมต่อไปก็เริ่มขึ้น พุทธศาสนิกชนชาวพม่าและชาวมอญ ซึ่งเป็นตัวแทนเทวดาอารักษ์ประจำวันเกิด และตัวแทนมนุษย์ผู้ทำการสร้างเจดีย์ ทั้ง 8 วัน ซึ่งประกอบไปด้วย วันอาทิตย์ วันจันทร์ วันอังคาร วันพุธกลางวัน วันพุธกลางคืน วันพฤหัสบดี วันศุกร์ และวันเสาร์ โดยในแต่ละหลุมประจำวันเกิดมีตัวแทนอยู่หลุมละ 4 คน รวมเป็นตัวแทนของเทวดาอารักษ์ประจำวันเกิดและมนุษย์ผู้สร้างเจดีย์ ทั้ง 8 หลุม รวมทั้งสิ้น 32 คน


เทวดาอารักษ์ประจำวันเกิดส่งมอบอิฐสีประจำวันเกิด ให้ตัวแทนมนุษย์ที่ประจำในหลุมวันเกิดแต่ละวัน เพื่อนำอิฐสีดังกล่าววางลงตรงตำแหน่งสำคัญในแต่ละหลุม และในขณะที่วางอิฐสีประจำวันเกิดนั้น จะมีตัวแทนของเทวดาอารักษ์อีกท่านหนึ่ง คอยปะพรมน้ำมนต์เพื่อเป็นสิริมงคลอยู่อย่างสม่ำเสมอจนกระทั้งวางอิฐสีประจำวันเกิดจนแล้วเสร็จ

..

ภาพถ่าย : การเทปูนผสมเสร็จลงในตำแหน่งสำคัญในแต่ละหลุมประจำวันเกิด และนำอิฐสีประจำวันเกิดทาบลงไปบนตำแหน่งสำคัญนั้น

..

ภาพถ่าย : การปะพรมน้ำมนต์เพื่อเป็นสิริมงคล ระหว่างการวางอิฐสีประจำวันเกิดในแต่ละหลุม

..

หมาตเหตุไว้!! จากการสอบถามพุทธศาสนิกชนชาวพม่า พบว่า ยอดไม้มงคลที่ใช้ปะพรมน้ำมนต์ในครั้งนี้ คือ "ยอดอองตาบี" ซึ่งถือเป็นยอดไม้มงคลที่ชาวพม่า ใช้แทนดอกไม้บูชาพระ และใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาต่าง ๆ ของพม่า ยอดไม้มงคลดังกล่าว สืบค้นจากแหล่งข้อมูล พบว่า เป็นยอดไม้ในตระกูล ไม้ประดับของเมืองไทย ที่นิยมปลูกประดับตามบ้านเรือน คือ ต้นคริสติน่า ซึ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบกันแล้ว สรุปได้ว่าเป็นต้นไม้ในตระกูลเดียวกันนั่นเอง

..

ภาพถ่าย : ยอดไม้มงคลที่ชาวพม่าเรียก "ยอดอองตาบี" จากรูปที่วงกลมไว้ เปรียบเทียบกับ ต้นคริสติน่าทางขวามือของภาพ สรุปว่าเป็นไม้ในตระกูลเดียวกัน

..

หลังจากเสร็จพิธีการวางอิฐสีประจำวันลูกในหลุมประจำวันเกิดทั้ง 8 หลุมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายคือ การปิดหลุมวางศิลาฤกษ์ด้วยแผ่นคอนกรีต และจากการสังเกตุของผู้เขียนพบว่าบริเวณโดยรอบ มีการเฝ้ามองดูด้วยความสนใจทั้งจากกลุ่มคนพม่า กลุ่มคนมอญ รวมถึงคนไทยบางส่วนจากชุมชนแห่งนี้ เพราะนี่คือประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของชุมชนแห่งนี้เช่นกัน ที่มีโอกาสได้เห็นและสัมผัสประเพณีและวัฒนธรรมการสร้างเจดีย์พม่าในผืนแผ่นดินไทย ที่ผู้เขียนคิดว่าคนไทยน้อยคนนักที่จะได้เห็น

..

ภาพถ่าย : การเฝ้ามองด้วยความสนใจของคนไทยและคนพม่า ที่่เข้าร่วมในพิธีวางศิลาฤกษ์สร้างมหาวิทยะเจดีย์ วัดโมกขธรรมาราม

..

ในขณะเดียวกันก็ยังคงมีการรับเงินบริจาคทำบุญสร้างเจดีย์ทั้งจากคนพม่า และคนไทยที่ร่วมในพิธีอย่างไม่ขาดสาย

โดยส่วนตัวของผู้เขียน ซึ่งผู้เขียนทราบว่า อานิสงส์ของการสร้างเจดีย์นั้นเป็นเช่นไร? ด้วยการอ่านหนังสือและการฟังจากคำพูดและความเชื่อของผู้เฒ่าผู้แก่ ที่เล่าสืบต่อกันมาว่า...นี่คือสิ่งที่สร้างมงคลให้กับชีวิตที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ถือเป็นมงคลอันสูงสุด และเมื่อเราละจากโลกนี้ไปแล้ว ย่อมไปสู่สุขคติภพ มีดวงตาที่เห็นธรรมสามารถบรรลุมรรคผลและนิพพานได้โดยง่าย

ผู้เขียนรู้สึกเช่นนั้นจริง ๆ ในฐานะของชาวพุทธคนหนึ่ง ที่มีพระบรมศาสนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจและเป็นที่เคารพสักการะบูชาอันสูงสุด

..

ภาพถ่าย : พระทนดาละ รับเงินบริจาคเพื่อสร้างมหาวิทยะเจดีย์ จากชาวพม่า และชาวไทยที่มีจิตศรัทธาอย่างต่อเนื่องตลอดงานพิธี

..

การดำเนินการปิดหลุมวางศิลาฤกษ์เจดีย์ ที่ผู้เขียนได้เห็น พบว่า เหล่าบรรดาพุทธศาสนิกชนชาวพม่า และชาวมอญ(ซึ่งผู้เขียนสังเกตุจากโสร่งสีแดงที่พวกเขาเหล่านั้นนุ่ง ทำให้ผู้เขียนรู้ว่ามีชาวมอญมาร่วมในพิธีกรรมครั้งนี้ มากพอสมควร )ต่างคนต่างช่วยกันขนย้ายแผ่นปูนที่ใช้เป็นสิ่งปิดหลุมศิลาฤกษ์ ที่ภายในหลุมนั้นบรรจุของมีค่า แก้วแหวน เงินทอง และสิ่งมีค่าอื่น ๆ

ผู้เขียนเห็นความตั้งใจจากพลังศรัทธาอันแรงกล้าของพุทธศาสนิกชนชาวพม่าและชาวมอญเหล่านั้น

..

ภาพถ่าย : พระป๊อบปาลามมะและพระทนดาละ ตรวจสอบความเรียบร้อยภายในหลุมวางศิลาฤกษ์ ก่อนที่จะดำเนินการก่ออิฐถือปูนปิดอย่างถาวร


ภาพถ่าย : ภาพบรรยากาศ แสดงความร่วมมือร่วมใจกันของพุทธศาสนิกชนชาวพม่าและชาวมอญ ในการขนย้ายแผ่นคอนกรีต การขนย้ายอิฐ และเคลื่อนย้ายปูนผสมเสร็จ เพื่อปิดหลุมศิลาฤกษ์ สร้างมหาวิทยะเจดีย์ วัดโมกขธรรมาราม

..

ภาพถ่าย : ปูนผสมเสร็จที่เทปิดหลุมวางศิลาฤกษ์ สำหรับสร้างมหาวิทยะเจดีย์ วัดโมกขธรรมาราม

..

หลังจากเสร็จสิ้นภาระกิจปิดหลุมศิลาฤกษ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว พระเดชพระคุณเจ้า พระราชไพศาลมุนี ท่านได้มีเมตตามอบเหรียญที่ระลึกฉลองอายุ 72 ปี เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556 ให้แก่พุทธศาสนิกชน ทั้งชาวไทย ชาวพม่า และชาวมอญ ที่มาร่วมงานในพิธีดังกล่าว เมื่อมอบเหรียญที่ระลึกฉลองอายุ 72 ปีของท่านแล้ว ท่านได้โปรยทานให้กับเหล่าพุทธศาสนิกชนที่อยู่ในบริเวณงานพิธี

ก่อนที่พระเดชพระคุณเจ้าฯท่านจะเดินกลับไปยังกุฏิของท่าน ท่านยังได้มอบเหรียญที่ระลึกฉลองอายุ 72 ปีของท่านจำนวนหนึ่งแก่พระทนดาละ เพื่อใช้ในกิจกรรมงานบุญงานกุศลเพื่อสร้างมหาวิทยะเจดีย์ต่อไป

..

ภาพถ่าย : พระราชไพศาลมุนี มอบเหรียญที่ระลึกฉลองอายุ 72 ปี ของท่านให้แก่พุทธศาสนิกชนที่มาร่วมงานในพิธี


ภาพถ่าย : พระราชไพศาลมุนี มอบเหรียญที่ระลึกฉลองอายุ 72 ปีแก่พระทนดาละ และเมตตาให้ผู้เขียน และนายวิ้น ทุน อู ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการหลักผู้สร้างมหาวิทยะเจดีย์ ถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก





ความเห็น (3)

ฤกษ์งาม...วันเริ่มต้นก่อสร้าง"มหาวิทยะเจดีย์" ตอน : ขั้นตอนและพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างเจดีย์(3).....

ตอนที่3 ได้เขียนเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ถือเป็นประวัติศาสตร์การสร้างเจดีย์เลยครับ

สาธุๆๆครับ

ขอบคุณมากครับอาจารย์

งานเขียนประเภทนี้ใช้เวลานานนะครับกว่าจะออกมาสักตอนหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้กระมังครับอาจารย์


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท