จิตประชาธิปไตย


สร้างจิตประชาธิปไตยในโรงเรียน

ฐิติวรดา พลเยี่ยม

นิสิตปริญญาเอก สาขาหลักสูตรและการสอน

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม


บทคัดย่อ

ประชาธิปไตยหมายถึงระบอบการปกครองประเทศระบอบหนึ่งโดยอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นการปกครองของประชาชนโดยประชาชนเพื่อประชาชน ซึ่งประชาชนภายในประเทศ ต้องยึดถือปฏิบัติตามหน้าที่พลเมืองดีวิถีประชาธิปไตย 3 ประการ คือ คารวธรรม สามัคคีธรรม และปัญญาธรรม ซึ่ง คารวธรรม คือ เคารพตนเองและผู้อื่น รับรู้การแสดงออกในหน้าที่ของตน มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ เคารพสิทธิของผู้อื่น สามัคคีธรรม คือ การมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ เสียสละ เต็มใจทำงานกับผู้อื่น และปัญญาธรรม คือ การใช้เหตุผลในการตัดสินใจแก้ปัญหา หาแนวทาง ในการตัดสินปัญหาอย่างมีเหตุผลและใช้ปัญญา

สถานศึกษาหรือโรงเรียนเป็นแหล่งพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริงเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติ พร้อมทั้งส่งเสริมให้ผู้เรียน มีโอกาสพัฒนาทางด้านสังคม อารมณ์ สติปัญญา พร้อมทั้งฝึกให้ผู้เรียนรู้จักปกครองตนเองแบบระบอบประชาธิปไตย และการเตรียมตัวสำหรับการเป็นพลเมืองดีของสังคม

คำสำคัญ : จิตประชาธิปไตย พฤติกรรมประชาธิปไตยวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตย

บทนำ

กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดประชาธิปไตยในโรงเรียนโดยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ระบบการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ลักษณะ และความสำคัญ การเป็นพลเมืองดี ความแตกต่างและหลากหลายทางวัฒนธรรม ค่านิยม ความเชื่อ ปลูกฝังค่านิยม ด้านประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สิทธิ หน้าที่ เสรีภาพ การดำเนินชีวิตอย่างสันติสุขในสังคมไทยและสังคมโลกเพื่อให้ผู้เรียนสามารถประพฤติปฏิบัติตามหน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม และได้กำหนกนโยบายให้สถานสถานศึกษาเป็นสถานศึกษา 3 D ซึ่งหนึ่ง ในนโยบาย 3 D คือ การยึดมั่นประชาธิปไตย มีความตระหนักเห็นความสำคัญศรัทธาและเชื่อมั่น การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขรังเกียจการทุจริตและต่อต้าน การซื้อสิทธิ์ขายเสียง

การพัฒนาจิตประชาธิปไตยในผู้เรียนนั้น ต้องมีการปลูกฝังแนวคิด เจตคติ และการประพฤติ ที่ถูกต้องเหมาะสมแก่ผู้เรียนในสังคมประชาธิปไตย จะต้องเริ่มในระดับประถมศึกษา เพราะนักเรียน วัยนี้สามารถเรียนรู้ประชาธิปไตยได้ง่ายและรวดเร็วเพื่อเป็นพื้นฐานที่ดีในวัยต่อไป ซึ่งทั้งโรงเรียน ชุมชน และผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกันอย่างเต็มที่ ทั้งด้านการให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องประชาธิปไตย และการกระทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีเพื่อให้นักเรียนเกิดความเคยชินกับตัวแบบที่ดี จะได้เกิดความซึมซับและการลอกเลียนจนเกิดเป็นพฤติกรรมประจำตัวตามแบบอย่างนั้นในที่สุด การสร้างผู้เรียน ให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องประชาธิปไตยสอนให้มีสำนึกในตัวเอง (Self Realizations) คือไม่ว่าจะคิดอย่างไรเชื่ออย่างไร แต่เขาจะต้องปฏิบัติหรือมีพฤติกรรมตามกฎระเบียบหรือมติของคนส่วยใหญ่ในสังคม โดนสถาบันการศึกษา หรือโรงเรียน แลครอบครัวต้องสอนให้คนในสังคมมีพฤติกรรมประชาธิปไตยตามแนวสังคมประชาธิปไตย โดยมุ่งปลูกฝังจิตประชาธิปไตยให้กับเด็กตั้งแต่เยาว์วัย หรือตั้งแต่ประถมเพราะผู้เรียนในวัยนี้สามารถเรียนรู้ประชาธิปไตยได้ง่ายและรวดเร็ว เพื่อเป็นพื้นฐานที่ดีในวัยต่อไป

โรงเรียนเป็นส่วนสำคัญหนึ่งที่จะมีต้องการส่งเสริมประชาธิปไตยให้กับผู้เรียน โดยการสร้างอุดมการณ์ประชาธิปไตย ปลูกฝังค่านิยมแบบประชาธิปไตย รวมทั้งส่งเสริมพัฒนาพฤติกรรมประชาธิปไตยให้กับผู้เรียน โดยส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เกิดพฤติกรรมประชาธิปไตย ซึ่งได้แก่ พฤติกรรมด้านคารวธรรม พฤติกรรมด้านสามัคคีธรรม และพฤติกรรมด้านปัญญาธรรม ซึ่งบุคคลในสังคมประชาธิปไตยจะต้องประพฤติปฏิบัติตนให้อยู่ในพฤติกรรมทั้ง 3 ประการ สำหรับระบอบประชาธิปไตยในโรงเรียนนั้น ผู้เรียนต้องยึดหลักธรรม 3 ข้อ ในการดำรงชีวิตเช่นกัน เพราะการอยู่ร่วมกันในโรงเรียนถือว่าเป็นพื้นฐานของการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย เช่น การมีคารวธรรม พี่และน้องมีการเคารพซึ่งกันและกัน รู้จักให้เกียรติผู้อื่น มีการแสดงออกที่งดงามทั้งกาย วาจา และใจ อยู่ในโรงเรียนต้องรู้จักสามัคคีธรรม

พฤติกรรมทั้ง 3 ข้อ ที่ทางโรงเรียนต้องส่งเสริมให้เกิดกับผู้เรียนโดยผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ในโรงเรียนหรือนอกโรงเรียน ถ้าผู้เรียนได้รับหารปลูกฝังให้แสดงออกอยู่บ่อย ๆ จนเกิดเป็นความเคยชินที่จะแสดงพฤติกรรมเหล่านั้นออกมาถือได้ว่าผู้เรียนเป็นผู้ที่มีวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตย ซึงวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตย คือลักษณะที่แสดงออกถึงความเป็นประชาธิปไตยของบุคคล ซึ่งแบ่งออกเป็นด้านจิตใจหรืออุดมการณ์ประชาธิปไตย ด้านสติปัญญาหรือความรู้ความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตย และด้านพฤติกรรมการแสดงออก ซึ่งพฤติกรรมการแสดงออกถือเป็นวิถีประชาธิปไตย กล่าวคือผู้เรียนสามารถดำเนินชีวิตที่นำเอาหลักการประชาธิปไตยมาใช้จนเป็นนิสัย และวิถีทางการดำเนินชีวิตอย่างเป็นประชาธิปไตยมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้อง จนเกิดเป็นจิตประชาธิปไตย คือ มีความศรัทธา มีค่านิยม และมีความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย สิ่งเหล่านี้เกิดจากการที่ผู้เรียนได้รับ การส่งเสริม การปลูกฝังอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นผู้ที่มีบุคลิกภาพประชาธิปไตย

การปลูกฝังพฤติกรรมประชาธิปไตยให้เกิดกับผู้เรียนเพื่อที่จะใช้เป็นวิถีชีวิตในโรงเรียนแล้ว ยังสามารถแพร่ไปยังผู้ปกครองหรือชุมชนนั้น ๆ ได้อีกด้วย โดยเห็นแบบอย่างพฤติกรรมที่ถูกต้อง จากบุตรหลาน เมื่อผู้ปกครองหรือชุมชนได้แสดงพฤติกรรมเหล่านั้นอยู่บ่อย ๆ จนเกิดความเคยชินในการแสดงออกเหล่านั้นก็จะกลายเป็นคนที่มีจิตประชาธิปไตยไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะส่งผลในทางที่ดี ต่อสังคม

การเสริมสร้างประชาธิปไตยในโรงเรียนเพื่อให้ผู้เรียนได้ประพฤติหรือแสดงพฤติกรรมเหล่านั้นออกมาจนเกิดเป็นจิตประชาธิปไตยและสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ทางโรงเรียนจะต้อง จัดกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนมีวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยนั้นควรให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และฝึกฝนจากโรงเรียนจนมีพฤติกรรมที่เด่นชัด เมื่อผู้เรียนเกิดความเคยชินก็จะแสดงพฤติกรรมเหล่านั้นออกมา ซึ่งการที่ผู้เรียนแสดงพฤติกรรมออกมานั่นย่อมมาจากจิตสำนึกภายในตัวของผู้เรียนเอง ซึ่งก็คือจิตประชาธิปไตยของผู้เรียนนั่นเอง และพฤติกรรมที่แสดงออกมาถือว่าเป็นคุณลักษณะ ของประชาธิปไตยที่รวมไปถึงด้านจิตใจ สติปัญญา และพฤติกรรม สิ่งที่สำคัญที่จะต้องให้เกิด กับผู้เรียนก็คือจิตประชาธิปไตย ถ้าหาผู้เรียนมีจิตประชาธิปไตยแล้วจะเป็นผู้จะมีอุดมการณ์ประชาธิปไตย คือมีความเชื่อมั่นในความมีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ ศรัทธาในอำนาจของปวงชน เคารพมติของเสียงข้างมาก ยอมรับบทบาทหน้าที่ของตนเองและผู้อื่น มีสติปัญญาประชาธิปไตย หรือมีความรู้ความเข้าใจในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย คือ ผู้รู้จักรับผิดชอบสิทธิและหน้าที่ของตนรู้จักหลักการปกครองด้วยเสียงข้างมากและกติกาของประชาธิปไตย รู้จักหลักของความเสมอภาค และรู้จักรูปและกระบวนการของประชาธิปไตย และมีทักษะในการใช้กระบวนการปกครองแบบประชาธิปไตย คือ มีส่วนร่วมในการปกครองในสังคม มีส่วนร่วมในกิจกรรมกลุ่ม โดยคำนึง ถึงผลประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นสำคัญ มีวินัยในตนเอง มีความซื่อสัตย์ มีความรับผิดชอบ ที่กล่าวมาทั้งหมดเกิดจากผู้เรียนมีจิตประชาธิปไตย

การจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยในโรงเรียนเพื่อให้ผู้เรียนได้แสดงออกถึงพฤติกรรมประชาธิปไตยจนเกิดจิตประชาธิปไตยนั้น ควรดำเนินการจัดกิจกรรมดังนี้

  • 1.จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ

หลักการของประชาธิปไตย คุณลักษณะของสมาชิกที่ดีในสังคมประชาธิปไตย การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งอาจจะใช้วิธีการจัดกิจกรรมในรูปแบบ ที่หลากหลาย เช่นการบรรยาย การอภิปราย การค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งความรู้ต่าง ๆ การฝึกปฏิบัติ/ การทดลอง/ การแสดงบทบาทสมมติ และการสัมภาษณ์บุคคลผู้มีความรู้และประสบการณ์ เป็นต้น

  • 2.จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนิน

ชีวิตตามวิถีประชาธิปไตย ซึ่งอาจจะใช้วิธีการจัดกิจกรรมในรูปแบบที่เน้นให้ผู้เรียนได้ฝึกการคิด

วิเคราะห์จากสื่อและแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาพ ห้องสมุด วีดิทัศน ์/สไลด์ สถานการณ์

จำลอง และเหตุการณ์ปัจจุบันเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง

  • 3.การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติจริง ในการมีส่วนร่วมในวิถี

ประชาธิปไตย ได้แก่ การทางานร่วมกันเป็นกลุ่ม การมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์

ต่อส่วนรวม และการปฏิบัติตนตามกฎ กติกา ระเบียบวินัยของกลุ่ม/ โรงเรียน และการมีส่วนร่วม

ในกิจกรรมการเลือกตั้ง ตั้งแต่ระดับห้องเรียน ระดับโรงเรียน ระดับท้องถิ่น และระดับประเทศ

  • 4.การฝึกให้ผู้เรียนได้รู้จักประเมินผลการปฏิบัติและการพัฒนาตนตามแนวทางของ

วิถีประชาธิปไตย และให้ผู้เรียนได้รู้จักเสนอแนะและแสดงออกถึงวิถีการพัฒนาตนเองและผู้อื่น ตามหลักการอย่างมีเหตุผลและมีความยุติธรรม (กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง และมูลนิธิคอนอราาเดนาวร์2548: 3 – 4)

สรุป

การสร้างจิตประชาธิปไตยในโรงเรียน เป็นการสร้างพฤติกรรมประชาธิปไตยในโรงเรียน ซึ่งพฤติกรรมที่ผู้เรียนจะแสดงออก คือ พฤติกรรมด้านคารวธรรม พฤติกรรมด้านสามัคคีธรรม และพฤติกรรมด้านปัญญาธรรม ซึ่งจิตประชาธิปไตยจะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมประชาธิปไตย เมื่อผู้เรียนแสดงพฤติกรรมเหล่านี้เป็นประจำและได้รับการปลูกฝังมาโดยตลอดจะทำให้เกิดความเคยชินในการแสดงพฤติกรรมออกมาและนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันจนกลายเป็นการดำเนินชีวิตแบบวิถีประชาธิปไตยจนเป็นนิสัยจนกระทั่งมีจิตประชาธิปไตย กล่าวคือพฤติกรรมมีความสัมพันธ์กันกับ จิตประชาธิปไตย เพราะการที่คนเราจะแสดงพฤติกรรมอะไรออกมาย่อมขึ้นอยู่กับจิตใจข้างใน คือความรู้สึกนึกคิด ความมีสติ เมื่อมีความชอบย่อมแสดงพฤติกรรมที่ดีออกมา เมื่อผู้เรียนได้รับการปลูกฝังพฤติกรรมประชาธิปไตยอยู่เสมอจนเกิดความเชื่อ ความศรัทธา ค่านิยมที่ดีต่อระบอบประชาธิปไตย ย่อมส่งผลให้ผู้เรียนเกิดจิตประชาธิปไตยตามมา การที่จะเกิดจิตประชาธิปไตยจะต้องได้รับการสร้างความเคยชิน การปลูกฝัง การปฏิบัติ และกลายเป็นนิสัยและประชาธิปไตยมีพื้นฐานมาจากวัยแรกของชีวิตที่มีการฝึกอบรมเลี้ยงดู มีกระบวนการเรียนรู้จากการเลียนแบบและการฝึกฝนจากพ่อแม่ผู้ปกครองและสังคมที่แวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน จนเกิดการซึมซับ และรับรู้เป็นคุณธรรมเกิดขึ้นภายในของจิตใจและปฏิบัติต่อมาอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นนิสัยของแต่ละบุคคลและเกิดจิตประชาธิปไตยในตัวของบุคคลนั้น

เมื่อโรงเรียนสามารถพัฒนาผู้เรียน ให้เข้าใจ เข้าถึง และรักในความเป็นประชาธิปไตยเป็นอย่างดียิ่งแล้ว ในอนาคตภาพแห่งความขัดแย้งที่ปรากฏอยู่ในสังคมไทย ก็จะค่อยลบเลือนไป กระทั่งไม่ปรากฏขึ้นอีก จึงเป็นหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องทางการศึกษาทุกท่าน ที่จะสร้างแนวทางในการแก้ปัญหาของสังคม เพื่อให้สังคมไทยปราศจากความขัดแย้งที่รุนแรงตลอดไป

เอกสารอ้างอิง

กระทรงศึกษาธิการ. หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 251. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว,2551.

______. หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 251 กลุ่มสาระการเรียนรู้ สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม.กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว,2551.

ทวีวัฒน์ บุญชิต. ความสัมพันธ์ระหว่างประสบการณ์ประชาธิปไตยกับจิตลักษณะและ พฤติกรรมประชาธิปไตยของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา. วิทยานิพนธ์ กศ.ด. สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2546.

ดวงเดือน ศาสตรภัทร และคณะ. การพัฒนาจิตสำนึกประชาธิปไตยในเยาวชนไทย.

กรุงเทพฯ : วิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร, 2548.

อารีย์ โพธิ์บางหวาย. การพัฒนารูปแบบการบริหารเพื่อพัฒนาจิตสำนึกประชาธิปไตย ของนักเรียนประถมศึกษาในเขตภาคเหนือตอนล่าง. วิทยานิพนธ์ กศ.ด. พิษณุโลก :

มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2550.

Donald Arnstine . Ethics, Learning, and the Democratic Community. Studies in Philosophy and Education 19: Studies in Philosophy and Education 19, 2000.

I.W. Charny . Fascism and Democracy in the Human Mind. University of Nebraska PressLincoln and London, 2006.

James Arthur and auther. The SAGE Handbook Education for Citizenship and Democracy. SAGE Publications Ltd, 2008.

Thai Civic Education. Conceptual framework for Thai Democratic Citizenship Education Curriculum. Friedrich-Ebert-Stiftung:FES, 2013.

คำสำคัญ (Tags): #จิตประชาธิปไตย
หมายเลขบันทึก: 587897เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2015 10:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มีนาคม 2015 10:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท