เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง : ๑. อารัมภบท



บันทึกชุด "เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง" ๒๖ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Transformative Learning in Practice : Insight from Community, Workplace, and Higher Education เขียนโดย Jack Mezirow, Edward W. Taylor and Associates ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 2009

ตอนที่ ๑ นี้ เป็นอารัมภบท ในลักษณะตีความเสนอความเห็นว่าข้อความที่หนังสือเล่มนี้สื่อ มีความหมายหรือมีคุณค่าอย่างไรต่อการศึกษาไทย มีประโยชน์อย่างไรต่อครูอาจารย์ไทย ในการกอบกู้คุณภาพการศึกษาของชาติกลับคืนมา

Jack Mezirow ให้นิยาม Transformative Learning ว่าหมายถึง "กระบวนการเรียนรู้ ผ่านการสะท้อนคิดอย่างจริงจัง (critical reflection) นำไปสู่การก่อเกิดการให้ความหมายใหม่ ที่ครอบคลุมมากขึ้น แยกความแตกต่างชัดขึ้น และบูรณาการความเข้าใจจากประสบการณ์ของตน การเรียนรู้นี้รวมทั้งการนำเอาความเข้าใจดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติ"

ผมมีความเชื่อว่า การเรียนรู้ที่แท้ในทุกอายุ ทุกระดับการศึกษา ต้องเป็น transformative learning คือ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในตน ในลักษณะของการให้ความหมายใหม่ของสิ่งต่างๆ เรื่องราวต่างๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ ความมุ่งมั่น และพฤติกรรม หรือกล่าวง่ายๆ ว่า เป็นการเรียนรู้ที่นำไปสู่ การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (mindset change) หรือเปลี่ยนโลกทัศน์

ผมเชื่อว่า ใครที่ได้เรียนรู้ เกิดผลลัพธ์ในระดับดังกล่าว จะมีชีวิตที่ดี และเชื่อว่าคนทุกคนสามารถ บรรลุการเรียนรู้เช่นนี้ได้ ไม่ใช่บรรลุได้เฉพาะคนสมองดีเท่านั้น และการเรียนรู้ตามแนว "การเรียนรู้ ในศตวรรษที่ ๒๑" ที่ผู้เรียนบรรลุ "ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑" ขั้นสูง ย่อมบรรลุ transformative learning ไปในตัว

ผมมีความเห็นว่า การเรียนรู้มี ๘ ระดับ คือ (๑) รู้ (๒) เข้าใจ (๓) นำไปใช้เป็น (๔) วิเคราะห์ได้ (๕) สังเคราะห์ได้ (๖) ประเมิน หรือเปรียบเทียบได้ (๗) เปลี่ยนวิธีเรียนรู้ของตนเป็น และ (๘) นำไปสู่การเปลี่ยนใจ หรือเปลี่ยนกระบวนทัศน์ คือบรรลุ transformative learning นั่นเอง

ผมจึงอ่านและตีความหนังสือเล่มนี้ทีละบท นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ใน บล็อก เพื่อให้ "ครูเพื่อศิษย์" ได้ร่วมเรียนรู้ด้วย และนำเอาทฤษฎีเหล่านี้ ไปเปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในการทำงานจัดการเรียนรู้เพื่อศิษย์ ในศตวรรษที่ ๒๑ เพื่อหาทางยกระดับ การเรียนรู้ของศิษย์ ให้บรรลุการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (transformative learning) ให้จงได้



วิจารณ์ พานิช

๖ ธ.ค. ๕๗


หมายเลขบันทึก: 587548เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2015 16:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มีนาคม 2015 16:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • จะเข้ามาเรียนรู้ และติดตามอ่านจนจบครับ..
  • ผู้เข้าใจว่า ผมบรรลุถึงขั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบ Transformative learning ใน "ศิษย์" ของผมได้แล้วครับ ตัวเลขน่าจะอยู่ราว ๔๐-๕๐ เปอร์เซนต์ของชั้นเรียน..ครับ
  • ได้คำใหม่มาจากชั้นเรียนครับ "ไม่มีวิธีการสอนใดดีที่สุด มีแต่วิธีการสอนที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้เรียน" นั้นๆ
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท