ข่าวความเคลื่อนไหวของท้องถิ่น : ช่วงหนึ่งของการปฏิรูปท้องถิ่น


ข่าวความเคลื่อนไหวของท้องถิ่น : ช่วงหนึ่งของการปฏิรูปท้องถิ่น

สรณะ เทพเนาว์, สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ. 3 มีนาคม 2558

จับกระแสข่าวความเคลื่อนไหวขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเวลานี้ คงไม่พ้นข่าวเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น

ตามกรอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีความคิดแนวทางเกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายประการ อาทิ การเปลี่ยนคำเรียกจาก "องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" หรือ ที่เรียกกันติดปากว่า "อปท." เป็นคำใหม่ว่า "องค์กรบริหารท้องถิ่น" [1] หรือ "อบท." มีความคิดในการจัดตั้ง "สภาพลเมือง" [2] เพื่อการตรวจสอบการทำงานของ อปท. ซึ่งรวมถึงความคาดหวังในการควบคุมตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันในพื้นที่ด้วย [3]

นอกจากนี้ในเรื่องประสิทธิภาพและความคาดหวังในการปฏิบัติหน้าที่ของ อปท. หลายฝ่ายเห็นด้วยในแนวคิดที่จะต้องมีการ "ยกเครื่อง" หรือปรับปรุงเปลี่ยนแปลงภารกิจอำนาจหน้าที่ รวมถึงโครงสร้างต่าง ๆ ของ อปท. ด้วยความคาดหวังให้เป็นหน่วยหลักในการทำหน้าที่ "จัดบริการสาธารณะ" (Public Service) แทนรัฐบาลกลาง

ท่ามกลางความคาดหวังต่าง ๆ ที่มีต่อ อปท. ดังกล่าว บรรดาผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย รวมทั้งสื่อมวลชน ได้พยายามนำเสนอข่าวสารความเคลื่อนไหวต่าง ๆ กันอย่างขนานใหญ่ ด้วยหวังว่าจะช่วยกันแก้ไขภาพพจน์ต่าง ๆ ของ อปท. ให้ดีขึ้น สอดคล้องกับการปฏิรูปประเทศที่กำลังดำเนินการอย่างเข้มข้นอยู่ในขณะนี้

ต้องยอมรับว่าข่าวสารความเคลื่อนไหวของท้องถิ่นนั้นมีพลัง มีปริมาณที่มากพอที่จะสร้างกระแสข่าวให้แก่สังคมได้ ด้วยจำนวนหน่วย อปท. 7,853 หน่วย จำนวน ข้าราชการท้องถิ่นและลูกจ้าง กว่าสามแสนคน [4] และจำนวนบุคลากรสายการเมืองท้องถิ่นอีก หลายแสน รวมเบ็ดเสร็จบุคลากรของท้องถิ่นมีจำนวนทั่วประเทศสามแสนคน ซึ่งถือว่ามีปริมาณที่ค่อนข้างมากฉะนั้น ข่าวสารความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของบรรดากลุ่มต่าง ๆ ของท้องถิ่นที่มีการเคลื่อนไหว จึงดูมีพลังมากพอที่จะโน้มน้าวสังคมได้ ไม่ว่า จะเป็นการเคลื่อนไหวของบรรดานักการเมืองท้องถิ่นข้าราชการท้องถิ่น ลูกจ้างท้องถิ่น ในกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การประชุมสัมมนา การเรียกร้องสิทธิการเสนอข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงฯต่าง ๆ หรือแม้กระทั่ง การกระทำการใดอันเป็นจุดสนใจของสังคมก็จะถูกเฝ้ามองจากสังคมอยู่เสมอ โดยเฉพาะประสบการณ์จากอดีตที่ผ่านมาของ อปท. มักมีข้อมูลข่าวสารในเชิงลบปรากฏต่อสังคมเสมอ ทั้งโดยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจในการนำเสนอข่าวสารของสื่อก็ตาม ก็มักปรากฏว่าเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในในมุมมองที่มีอคติภาพลบมาตลอด

ในรอบปีที่ผ่านมามีข่าวการทุจริตการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็น "พนักงานส่วนท้องถิ่น" [5] มาตลอด แม้ส่วนกลาง โดยคณะกรรมการกลางพนักงานส่วนท้องถิ่น จะมีมาตรการต่าง ๆ ในการบรรเทาแก้ไขปัญหา เยียวยา แต่ดูเหมือนว่าเป็นการล่าช้า ที่ไม่ทันต่อการแก้ปัญหา หรือ ไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาต่าง ๆ ของท้องถิ่นที่มีแต่จะรุมเร้าและมีมากขึ้น

การปลดล็อคผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่นโดยการประกาศ คสช. ไม่ให้มีการเลือกตั้ง [6]แต่ให้มีการสรรหาบุคคลเพื่อเข้ารับหน้าที่สมาชิกสภาท้องถิ่น และ ให้ปลัด อปท. ปฏิบัติหน้าที่นายก อปท. ได้รับกระแสการเรียกร้องต่อต้านจากสังคม และ จากนักเมืองท้องถิ่น จนกระทั่งให้มีการประกาศยกเลิกการสรรหา และให้สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นเดิมที่หมดวาระกลับมาดำรงตำแหน่งใหม่เป็นการชั่วคราว [7] ดูเหมือนว่าการบริหารราชการ อปท. คงจะไม่มีปัญหาอุปสรรคใด แต่ในท่ามกลางสถานการณ์ที่ต้องมีการปฏิรูปท้องถิ่นในปัจจุบันกลับกลายเป็นว่า พนักงานส่วนท้องถิ่นฝ่ายประจำต่างมีความเคลื่อนไหวในเรื่องสิทธิ และรูปแบบของการปกครองท้องถิ่นรูปแบบใหม่ที่หลากหลาย รวมทั้งฝ่ายการเมืองท้องถิ่นต่างก็มีความเคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกันด้วย ปัญหาความสมดุล สอดคล้อง ตรงกันระหว่างฝ่ายประจำและฝ่ายการเมืองยังขาดการประสานงานกันในรูปธรรม ด้วยเหตุที่ไม่มีหน่วยงานใดที่เข้ามาเป็นตัวเชื่อมประสานความเห็นร่วมและความเห็นต่าง ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผลข้ออ้างอิงสนับสนุน ซึ่งจะสะท้อนออกมาในรูปแบบของการจัดการประชุมสัมมนาต่าง ๆ อาทิ การรวมกลุ่มของปลัด อบจ. การจัดการสัมมนาของข้าราชการส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ในนามของสมาคม หรือชมรมต่าง ๆ ไม่ว่า พนักงานส่วนตำบล หรือ พนักงานเทศบาล ต่างจัดการสัมมนาเรียกร้องระดมความคิดในเนื้อหาของการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ หากพิจารณาในทางเนื้อหาแล้ว เป็นสิ่งที่ดี ด้วยเป็นแนวทางหนึ่งในการระดมรับฟังความคิดเห็นเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิรูปท้องถิ่นให้หลากหลาย หากมองมุมกลับเห็นว่าอาจขาดการประสานงานที่ดี ซึ่งอาจส่งผลให้การจัดการสัมมนาระดมความคิดเห็นดังกล่าวขาดประสิทธิภาพก็ได้

บรรดากระแสข่าวสารต่าง ๆ อาทิ ข่าวการเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ของท้องถิ่น เรื่องลูกจ้าง เรื่องโบนัส เรื่องเงินเดือน เรื่องการเข้าแท่ง สิทธิสวัสดิการต่าง ๆ การปฏิรูป การบริหารงานบุคคลแนวใหม่ ก.พ.ถ. เงินประจำตำแหน่งบริหาร ข่าวการต่อต้านการเปลี่ยนแปลง การยุบ อปท. [8] ของ อบจ. ยุบ ภูมิภาค ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ปลัดอำเภอ ฯ เหล่านี้ ต่างประดังเข้ามาเป็นระยะ ๆ ตามจังหวะของการเคลื่อนไหวในกลุ่มต่าง ๆ

ในเรื่องกระแสของการทุจริตคอรัปชันท้องถิ่นในช่วงการปฏิรูปประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นี้ ปรากฏว่า หน่วยงานตรวจสอบทั้ง ป.ป.ช. ป.ป.ท. และ ส.ต.ง. รวมทั้งหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ดี.เอส.ไอ. ป.ป.ง. ตำรวจกองปราบปราม ฯ ต่างเร่งสร้างผลงานในช่วงรอยต่อของการปฏิรูป เพื่อให้มีผลเชิงประจักษ์ เป็นรูปธรรม ที่จะเอาผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ฉะนั้นผลงานการตรวจสอบของเหล่าบรรดาหน่วยตรวจสอบต่าง ๆ จึงเป็นการสรุป เร่งรัด ชี้มูลการทุจริต เรื่องเดิมที่คั่งค้างอยู่มาตรวจสอบติดตาม บางคดีเป็นเรื่องเก่าที่คั่งค้างล่าช้ามาหลายปี เช่น ปี 2552 2553 2554 ซึ่งรวมทั้งการตรวจสอบการทำงานของราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคก็มีลักษณะที่ไม่เว้นเช่นเดียวกัน

ปัญหาการทุจริตการสอบแข่งขันข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่มีมาช้านาน กลับเป็นข่าวใหญ่ขึ้นมาอีก ซึ่งไม่สอดสอดคล้องกับข่าวการพยายามป้องกันและปราบปรามการทุจริตในทุกรูปแบบของ คสช.นอกจากนี้ยังมีข่าวอาชญากรรม อันเป็นภาพลบสอดแทรกเข้ามาเป็นกระสาย

ข่าวสารความเคลื่อนไหวดังกล่าว ไม่ได้ทำให้ภาพลักษณ์ของท้องถิ่นดีขึ้นนัก ผู้เขียนเห็นว่า ในท่ามกลางของกระแสการปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะกระแสการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพเป็นที่ปรารถนาของสังคมและประชาชนส่วนรวม ขอเรียกร้องให้ทุกคนต้องมุ่งหวังไปที่ประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเป็นที่ตั้ง ภายใต้พระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมของพระองค์ท่านเพื่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่าได้อยู่ดีกินดีเสมอกัน เป็นหน้าเป็นตาแก่เหล่าบรรดานานาอารยะประเทศต่อไป


[1] "มอนิเตอร์ รธน. ประจำสัปดาห์ที่ 2-6 ก.พ. 2558", 7 กุมภาพันธ์ 2558, http://www.prachatai.com/journal/2015/02/57818 , หมวด 7 ร่างเสร็จแล้ว ประเด็นการกระจายอำนาจ เปลี่ยนชื่อ 'องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น'-'องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น', ให้มีคณะกรรมการแต่งตั้ง ขรก. ส่วนท้องถิ่น โดยระบบคุณธรรม และส่งเสริมให้มีสภาพลเมืองตรวจสอบการทำงาน & "อบต.หนุนแก้'อปท.'ในรัฐธรรมนูญ", มติชน, 11 กุมภาพันธ์ 2558

[2] มีสมัชชาพลเมือง มีสภาตรวจสอบภาคพลเมือง และสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและสมาชิกสภา ปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าว ดูใน "เวทีฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นฯ หนุนกระจายอำนาจ-ท้องถิ่นบริหารงาน", เมื่อ 3 มีนาคม 2558, http://m.naewna.com/view/breakingnews/147469

[3] รศ.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวในเวทีฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย ครั้งที่ 5 "พลังชุมชนท้องถิ่น ปฏิรูปสังคม" โดยสรุปในเรื่อง การเปลี่ยนชื่อจาก "องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" เป็น "องค์กรบริหารท้องถิ่น", การจัดบริการสาธารณะโดยยึดหลักการแข่งขันเพื่อการพัฒนา, การกำหนดขนาดของ อปท.ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับภารกิจ, สมัชชาพลเมือง ดูใน "เวทีฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นฯ หนุนกระจายอำนาจ-ท้องถิ่นบริหารงาน", อ้างแล้ว

[4] ข้อมูลกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กุมภาพันธ์ 2558 จำนวนบุคลากรของ อปท. ดังนี้

ผู้บริหาร และสมาชิกสภา 153,601 คน

ข้าราชการ 173,547 คน

ลูกจ้างประจำ 19,687 คน

พนักงานจ้าง 211,279 คน

รวมบุคลากรฝ่ายประจำ 404,513 คน (ข้อมูล ดร.จรัส สุวรรณมาลา, 2557, ข้าราชการท้องถิ่น จำนวน 392,945 คน)

รวมบุคลากรทั้งหมด 558,114 คน

(ข้อมูลตามเวบไซต์ของสำนักงาน ก.ถ., สืบค้นเมื่อ 3 มีนาคม 2558(ไม่ปัจจุบัน), จำนวนบุคลากรส่วนท้องถิ่นฝ่ายประจำ อปท. มีข้าราชการท้องถิ่น 73,108 คน ข้าราชการครูท้องถิ่น 27,100 คน ลูกจ้าง พนักงานจ้าง 62,108 คน รวม 162,316 คน, http://www.local.moi.go.th/local_sub5.htm )

[5] ปัญหาการส่อทุจริตในการสอบแข่งขันข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่โด่งดังในช่วงเวลาที่ผ่านมาและช่วงเวลานี้ก็คือ การสอบที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดอุดรธานี จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดอุบลราชธานี

ดูข่าว

"รอง ผวจ.พระนครศรีอยุธยา ลงนาม ยกเลิกคำสั่งบรรจุฯ อปท.ในจังหวัดแล้ว - ผลคือ คนบรรจุ จะต้องออกจากราชการ", 13 สิงหาคม 2557, http://www.kruwandee.com/news-id10914.html#sthash.96aQEozo.dpuf

& "เผยสอบท้องถิ่นอยุธยา ซี3 จ่ายร่วม 6 แสน หอบเงินสดให้ "อ" ที่ชั้น 3",

16 มิถุนายน 2557, http://www.kruwandee.com/news-id10382.html#sthash.nDLvIWbu.dpuf

& "คุณคิดอย่างไรที่มีข่าวว่าอยุธยาโกงการสอบท้องถิ่นครั้งล่าสุดอีกแล้ว...", 4 มิถุนายน 2557, http://www.thailocalmeet.com/index.php?topic=55039.0

& หนังสือจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ด่วนที่สุด ที่ อย 0023.2/ว158 ลงวันที่ 21 เมษายน 2557 เรื่อง การป้องกันการทุจริตการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น, http://ayutthayalocal.go.th/order_general/detail/903

& "คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง "การสอบแข่งขันของ อปท. จังหวัดอุดรธานี" 33 แห่ง", 1 มีนาคม 2558, http://www.thailocalmeet.com/index.php/topic,57866.0 & "ผู้ว่าอุดรฯสั่งชะลอ 9 อบต.จัดสอบบรรจุเอง", 28 ตุลาคม 2557, http://breakingnews.nationtv.tv/home/read.php?newsid=739740 & "เปิดสอบท้องถิ่น 96 อัตรา! ล่าสุด(27ต.ค.57) ผู้ว่าอุดร สั่งให้ชะลอการดำเนินการสอบทั้งหมด", 27 ตุลาคม 2557, http://www.sobkorpor.com/news-id241.html & "ร้องทุจริตสอบท้องถิ่น อบต.ทับกุง อุดรฯ เงินหมุน 17 ล้าน โยงที่ปรึกษาผู้บริหาร", 18 กรกฎาคม 2557, http://pantip.com/topic/32340328 & http://www.thailocalmeet.com/index.php/topic,55520.0.html

& "มติ ก.ท.จ.บุรีรัมย์ ชะลอการสอบ อปท.ทุกแห่ง(24 กันยายน 2557)," 11 ตุลาคม 2557, http://iqepi.com/?p=15943

& "ศูนย์ดำรงธรรมสารคามฯปัดฝุ่นบี้สอบ 19 อบต.ฉาวปมบรรจุพนักงาน", isranews, 18 มกราคม 2558, http://www.isranews.org/isranews-news/item/35896-kokkoh_904.html#.VPPVYrE2qYA.facebook & "เปิดหมด! เอกสารประชุม ก.อบต.สารคามสั่งยุติหาข้อเท็จจริงปมสอบฉาว", isranews, 15 ธันวาคม 2557, http://www.isranews.org/component/content/article/58-isranews/isranews-scoop/35105-kokkoh_901_01.html#.VPPVs-M-lLo.facebook

& "ผลการตรวจสอบ เหตุร้องเรียนทุจริตการสอบบรรจุข้าราชการ อบต. 13 แห่งในจังหวัดอุบลราชธานี" , 22 ธันวาคม 2557, http://www.thailocalmeet.com/index.php?topic=57285.0 (สรุป !!! คณะกรรมการฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อร้องเรียนโดยการสอบข้อเท็จจริงจากผู้ที่จัดการสอบ และผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว ไม่ปรากฎหลักฐานการทุจริต หรือเรียกรับเงินในการสอบแข่งขัน และชี้ชัดได้ว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นของ อบต. 13 แห่ง แต่อย่างใด)

[6] ประกาศ คสช.ที่ 85/2557 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 ประกาศราชกิจจานุเบกษาเล่ม 131 ตอนพิเศษ 134 ง วันที่ 21 กรกฎาคม 2557 โดยให้งดการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นที่ครบวาระหรือพ้นจากตำแหน่ง และกำหนดให้สรรหาบุคคลที่มีความรู้และความสามารถเข้ามาทำหน้าที่สมาชิกสภาท้องถิ่นไปพลางก่อน

[7] พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจ มาตรา 44 รัฐธรรมนูญชั่วคราว ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2557 ให้ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นที่หมดวาระหลัง 1 มกราคม 2558 ดำรงตำแหน่งต่อไป ระบุสถานการณ์คลี่คลาย ประชาชนร่วมมือแก้ปัญหาประเทศ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 6 มกราคม 2558 เรื่องการได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว

[8] รวมทัศนะความคิดเห็นเรื่อง การยุบเลิก อปท. , 15 กุมภาพันธ์ 2558, https://www.gotoknow.org/posts/586151

หมายเลขบันทึก: 587027เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2015 01:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มีนาคม 2018 20:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท