สอนอย่างมือชั้นครู : ๓๓. การประเมินและบันทึกประสิทธิผลของการสอน



บันทึกชุด "สอนอย่างมือชั้นครู" ๓๕ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Teaching at Its Best : A Research-Based Resource for College Instructors เขียนโดย Linda B. Nilson ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ปรับปรุงครั้งที่ ๓ ผมขอเสนอให้อาจารย์ในสถาบันการศึกษาไทยทุกคน หาหนังสือเล่มนี้อ่านเอง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เพราะหากติดตามอ่านจากบันทึกใน บล็อก ของผม ซึ่งลงสัปดาห์ละตอน จะใช้เวลากว่าครึ่งปี และการอ่านบันทึกของผมจะแตกต่างจากการอ่านฉบับแปล หรืออ่านจากต้นฉบับโดยตรง เพราะบันทึกของผมเขียนแบบตีความ ไม่ได้ครอบคลุมสาระทั้งหมดในหนังสือ

ตอนที่ ๓๓ นี้ ตีความจาก Part Six : Assessing Learning Outcomes มี ๕ บท ตอนที่ ๓๓ ตีความจากบทที่ 32. Evaluating and Documenting Teaching Effectiveness

สรุปได้ว่า อาจารย์ต้องรวบรวมหลักฐานผลงานด้านการสอนของตนไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เอกสารสะท้อนการให้คุณค่าต่อการสอนของตน ความเชื่อด้านทฤษฎีการเรียนรู้ และการประยุกต์ใช้ทฤษฎีนั้น รวมทั้งการวัดผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น นำเอาข้อมูลทั้งหมดนั้นมาทบทรวนไตร่ตรองสะท้อนคิด ด้วยตนเอง และ/หรือร่วมกับผู้อื่น สำหรับนำมาใช้ปรับปรุงตนเอง และสำหรับใช้เป็นเอกสารยืนยัน ผลงานของตน

มีวิธีการประเมินผลงานของอาจารย์อย่างครบถ้วนทุกหน้าที่ แนะนำไว้ในตอนท้ายๆ ของบันทึกนี้

การประเมินภารกิจของอาจารย์เป็นเรื่องซับซ้อน ต้องประเมินประสิทธิผล และคุณภาพ ทั้งด้านการวิจัย บริการ และการจัดการเรียนการสอน


ประสิทธิผลของการสอน : นิยามและวิธีวัด

ประสิทธิผลของการสอนหมายถึงระดับความสำเร็จของอาจารย์ ในการอำนวยความสะดวก ให้นักศึกษาเรียนรู้ วัดได้จากระดับการบรรลุผลลัพธ์ของการเรียนรู้ที่กำหนดของนักศึกษา และจากสัดส่วน ของนักศึกษาที่บรรลุผลลัพธ์นั้น

การให้นิยามง่ายกว่าการวัด เพราะการเรียนรู้เป็นกระบวนการที่ซับซ้อน และผลลัพธ์ ของการเรียนรู้ก็ต้องดูทุกมิติ ไม่ใช่เฉพาะด้านวิชา คือมิติด้านทักษะด้านวิชาความรู้ ด้านอารมณ์ ด้านจริยธรรม ด้านสังคม และด้านร่างกาย หรือจะมองเป็น พัฒนาการ ๘ ด้าน ตามหลักการพหุปัญญาของ โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ หรือตามหลักการ พัฒนาการ ๗ ทิศทางของ ชิกเกอริ่ง ก็ได้

ระบบการวัดประสิทธิผลของการสอนของอาจารย์ ต้องเอาชนะแรงต้าน ๓ ข้อ คือ (๑) ความเชื่อว่า การสอนเป็นเสรีภาพทางวิชาการของอาจารย์แต่ละคน (๒) มีผลให้เกิด "การสอนเพื่อสอบ" และ (๓) ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักศึกษาเป็นผลของปัจจัยที่หลากหลายซับซ้อน ไม่ใช่เฉพาะผลของการจัดการเรียน การสอนของอาจารย์


การประเมินโดยนักศึกษา ต่อประสิทธิผลของการสอนของอาจารย์

การประเมินโดยนักศึกษามีข้อพึงระวังคือ มีทั้งส่วนประเมินผลการเรียนรู้ กับประเมินความพึงพอใจ หากไม่ระวัง อาจหลงไปประเมินเฉพาะส่วนหลัง ซึ่งสำคัญน้อยกว่าส่วนแรก

ข้อพึงระวังประการที่สองคือ การประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักศึกษา กับการประเมินประสิทธิผล การสอนของอาาจารย์โดยศึกษา มีความสอดคล้องกันหรือไม่ ในสภาพปัจจุบัน หนังสือบอกว่า การวิจัย ในประเด็นนี้ทำในช่วง(คริสต) ทศวรรษ ที่ 1970 และ 1980 แต่นักศึกษาในปัจจุบันแตกต่างจากนักศึกษาเมื่อ ๓๐ - ๔๐ ปีก่อนมากมาย นี่คือความจริง ของสหรัฐอเมริกานะครับ เมื่อโยงมาถึงความจริงในระบบอุดมศึกษาไทย เข้าใจว่าเราไม่เคยมีผลการวิจัยเรื่องนี้


ความแม่นตรง (validity) ของการประเมินโดยนักศึกษา

รายงานผลการสังเคราะห์ผลการวิจัย (meta-analysis) ศึกษาสหสัมพันธ์ (correlation) ระหว่างผลลัพธ์การเรียนรู้ กับผลการประเมินโดยนักศึกษา พบว่ามีสหสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในระดับความสัมพันธ์ที่ไม่สูง และผู้เขียนหนังสือเล่มนี้สรุปว่า เชื่อถือไม่ได้ว่า ผลการประเมิน โดยนักศึกษามีความแม่นตรง

และผลการวิจัยใหม่ๆ ชี้ให้เห็นว่า ผลการประเมินโดยนักศึกษามีความลำเอียงจากการที่นักศึกษา ไม่ชอบการเรียนแบบ active learning ที่ถือนักศึกษาเป็นศูนย์กลาง และเน้นการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ทำให้อาจารย์ที่สอนอย่างถูกหลักการ ได้รับคะแนนผลการประเมินของนักศึกษาต่ำ อ่านส่วนย่อหน้านี้แล้ว ผมเห็นสัจธรรมว่าด้วยการเข็นครกขึ้นภูเขา ในการประยุกต์ใช้ "การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑" และสะท้อนว่า นักศึกษาส่วนใหญ่ยังไม่มีความเข้าใจอย่างถูกต้อง เกี่ยวกับการเรียนรู้แบบที่มีคุณค่าแท้จริงต่อชีวิตของตน

แต่ก็มีส่วนที่นักศึกษาประเมินไม่พลาด คือส่วนบุคลิกของอาจารย์ ได้แก่ ความกระตือรือร้น ความมั่นใจในตนเอง ความเป็นกันเอง บุคลิก และ ไมตรีจิต ซึ่งก็มีส่วนช่วยให้การเรียนรู้ของนักศึกษา มีประสิทธิผลสูงขึ้นด้วย


การประเมินโดยนักศึกษามีความน่าเชื่อถือ (reliability) เพียงไร

ปัจจัยของความน่าเชื่อถือ (reliability) ในการประเมิน มี ๓ ประการคือ ความคงเส้นคงวา (consistency), ความมั่นคง (stability), และใช้ได้ในต่างสถานการณ์ (generalizability)

ความคงเส้นคงวา หมายถึง ความเห็นตรงกันในนักศึกษาต่างคน

ความมั่นคง หมายถึง ผลการประเมินตรงกัน ในการประเมินต่างกาละ

ใช้ได้ในต่างสถานการณ์ หมายถึง ผลการประเมินอาจารย์คนเดียวกันให้ผลสอดคล้องกัน ในการสอนต่างวิชา

ผลการวิจัยบอกว่า ผลการประเมินโดยนักศึกษามีความน่าเชื่อถือทั้งสามปัจจัย


เพิ่มระดับผลการประเมินของนักศึกษาได้อย่างไร

นี่คือการใช้ผลการประเมินของนักศึกษาเป็น "การประเมินเพื่อพัฒนา" (formative assessment) ของอาจารย์ ซึ่งเข้าใจว่าในบริบทไทยมีการใช้กันน้อยมาก เพราะเราตกหลุมการประเมินแบบตัดสินได้-ตก ดี-ไม่ดี มีเป้าหมายเพียงให้ได้ผลการประเมิน แล้วก็จบ ไปไม่ถึงการนำผลการประเมินมาไตร่ตรองต่อ ว่าจะปรับปรุง หรือพัฒนาให้ได้ผลดียิ่งขึ้นอย่างไร ตามที่กล่าวในย่อหน้าต่อไป น่าเสียดายที่เราไม่มีวัฒนธรรมการประเมิน เพื่อพัฒนา

เริ่มโดยเอาผลการประเมินโดยนักศึกษามาทบทวน จะยิ่งดีหากนำไปทบทวนร่วมกับหัวหน้าภาควิชา หรือกับอาจารย์อาวุโส หรือกับเพื่อนอาจารย์ที่เรานับถือไว้วางใจ หาประเด็นที่มีข้อวิพากษ์ซ้ำๆ กัน อย่าสนใจคำวิจารณ์ที่มีคนเอ่ยถึงเพียงคนเดียว และพยายามวิเคราะห์หารูปแบบ (pattern) และแนวโน้ม (trend) รวมทั้งตระหนักว่า ผลการประเมินโดยแบบสอบถามนี้ เป็นการถามความรู้สึก และคำตอบขึ้นอยู่กับอารมณ์ ไม่ใช่ความจริงแท้ คือตระหนักในคุณประโยชน์และข้อจำกัดของผลการประเมินนี้ ประโยชน์ที่สำคัญคือช่วยเป็นกระจกส่องให้เราเห็นตัวเราเองในส่วนที่เราไม่รู้ตัว หรือมองตนเองไม่เห็น และหาทางปรับปรุง

ขั้นตอนที่สอง รวมรวมประเด็นที่มีผลต่อการประเมิน แยกออกเป็นประเด็นที่แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้ กับประเด็นที่แก้ไขไม่ได้ เช่นไม่สามารถเปลี่ยนวิชาสอนได้ ไม่สามารถเลือกได้ว่ารับลงทะเบียนเรียนเฉพาะ นักศึกษาที่สนใจจริงๆ และตั้งใจเรียน เท่านั้น แต่เราสามารถปรับปรุงวิธีสอนให้ใช้ถ้อยคำชัดเจนขึ้น ใช้เวลาของชั้นเรียนให้เกิดคุณค่ายิ่งขึ้น เตรียมตัวดียิ่งขึ้น ปรับปรุงการจัดระบบชั้นเรียน พัฒนาทักษะการพูด และพัฒนาบุคลิก หลากหลายด้าน ทั้งด้านความเอาจริงเอาจัง เป็นมิตร เห็นอกเห็นใจ ยืนหยัดต่อความถูกต้อง ฯลฯ

ประเด็นสุดท้าย ควรจัดให้นักศึกษาประเมินการสอนของอาจารย์แต่เนิ่นๆ อย่ารอการประเมิน อย่างเป็นทางการของมหาวิทยาลัย เพราะมักมาช้าเกินไป เอาผลไปปรับปรุงเพื่อประโยชน์ของนักศึกษาได้น้อย และนักศึกษามักเอาใจใส่การประเมินโดยทางการน้อยกว่าที่อาจารย์จัดการประเมินเอง เพราะนักศึกษารู้ว่า ตนจะได้ประโยชน์จริงๆ จากการประเมินของอาจารย์

อาจารย์อาจขอให้หน่วยพัฒนาการเรียนการสอน ช่วยประเมิน ที่เรียกว่าการวินิจฉัยชั้นเรียน สำหรับนำผลมาปรับปรุงชั้นเรียน ซึ่งจะช่วยให้ข้อมูลป้อนกลับเพื่อการปรับปรุงตนเอง ทั้งแก่อาจารย์ และแก่นักศึกษา


การประเมินโดยเพื่อนอาจารย์ โดยฝ่ายบริหาร และโดยตนเอง

ผลการวิจัยการประเมินโดยการเข้าไปสังเกตชั้นเรียน โดยเพื่อนอาจารย์ โดยกลไกที่จัดโดยฝ่ายบริหาร และโดยอาจารย์ประเมินตนเอง ในสหรัฐอเมริกา ช่วง (คริสต) ทศวรรษที่ 1970 -1980 สรุปได้ ๕ ข้อต่อไปนี้

  • การประเมินตนเองมีสหสัมพันธ์ต่ำ กับผลการประเมินแบบอื่น
  • การประเมินตนเอง และการประเมินโดยเพื่อนอาจารย์ โดยการเข้าไปสังเกตชั้นเรียน ให้คะแนนสูงกว่าการประเมินโดยนักศึกษา
  • คะแนนที่ให้โดยเพื่อนอาจารย์ที่เข้าไปสังเกตชั้นเรียน มีความสอดคล้องกัน (interrater reliability) น้อย
  • ผลการประเมินโดยเพื่อนอาจารย์ และที่จัดโดยฝ่ายบริหาร ให้ผลตรงกันจนกล่าวได้ว่าเป็น การทำงานซ้ำที่ไม่จำเป็น
  • ผลการประเมินทั้งสามแบบ มีความสัมพันธ์น้อยกับผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักศึกษา และมีสหสัมพันธ์ต่ำกับผลการประเมินของนักศึกษา

ทุกรายงานการวิจัยแนะนำว่า ไม่ควรใช้ผลการประเมินทั้งสามนี้เป็นเกณฑ์ประเมินผลการสอน โดยไม่คำนึงถึงผลการประเมินแบบอื่น ควรคงการประเมินโดยนักศึกษาไว้ แลหากจะใช้ผลการประเมินโดย เพื่อนอาจารย์และโดยกลไกที่จัดโดยฝ่ายบริหารเป็นเกณฑ์ให้คุณให้โทษแก่อาจารย์ ต้องคำนึงถึงประเด็นต่อไปนี้

  • ผู้ประเมินต้องได้รับการฝึกทักษะการประเมิน และเข้าใจแบบฟอร์มประเมินเป็นอย่างดี
  • ผู้ประเมินต้องไปพบอาจารย์ล่วงหน้า เพื่อทำความเข้าใจ ปรัชญาการสอน วิธีการที่ใช้ คุณลักษณะของรายวิชา และของนักศึกษา ผลลัพธ์การเรียนรู้ของรายวิชา และของ ชั้นเรียนนั้นๆ
  • ผู้ประเมินต้องไปสังเกตการณ์ในชั้นเรียนไม่ต่ำกว่า ๗ - ๘ ครั้งต่อเทอม
  • ผู้ประเมินกำหนดวันไปสังเกตการณ์ร่วมกับอาจารย์ผู้สอนล่วงหน้า

อย่างไรก็ตาม หนังสือแนะนำว่า การไปเยี่ยมสังเกตชั้นเรียนแบบไม่เป็นทางการโดยเพื่อนอาจารย์ หรือฝ่ายบริหาร นอกจากจะไม่มีข้อเสียใดๆ แล้ว ยังมีคุณต่อการได้รับคำแนะนำป้อนกลับเพื่อการปรับปรุง การจัดการเรียนการสอน

ผู้ตัดสินที่สำคัญที่สุด ต่อผลงานของอาจารย์ด้านการออกแบบการเรียนรู้ (instructional design) และด้าน การจัดการเรียนรู้ และต่อความรู้สึกว่าตนได้เรียนรู้เพียงใด คือนักศึกษา


เขียนรายงานประสิทธิผลของตนเอง

นอกจากใช้ผลการประเมินของนักศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินประสิทธิผลของการสอนแล้ว ต้องใช้หลักฐานอื่นประกอบด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านที่นักศึกษาไม่มีทางประเมินได้ คือ เนื้อหาของรายวิชา ด้านการออกแบบการเรียนรู้ และด้านการจัดการเรียนรู้ มิติที่นักศึกษาประเมินไม่ได้ รวมทั้งในเรื่องผลกระทบ ระยะยาวต่อนักศึกษา

การมีรายงานการทำงานด้านการเรียนการสอนที่จัดทำโดยตัวอาจารย์เอง จึงมีประโยชน์หลายด้าน แม้ในบางสถาบันอุดมศึกษาจะไม่นำไปสู่การได้รับผลประโยชน์ด้านการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง แต่โดยทั่วไปแล้ว บันทึกนี้จะนำไปสู่การพูดคุยในหมู่อาจารย์ และผู้บริหาร นำไปสู่ การไตร่ตรองใคร่ครวญ ร่วมกัน การปรับปรุง และอาจนำไปสู่นวัตกรรม


ปรัชญาการสอน

ผมคิดว่าการบันทึกปรัชญาการสอนของตนเองความยาว ๒ - ๓ หน้ากระดาษตามที่แนะนำ ในหนังสือเล่มนี้ เป็นสุดยอดของแนวทางสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ตนเอง ของอาจารย์ เป็นสิ่งที่แม้สถาบันจะไม่กำหนดให้ทำ ก็ควรจัดทำขึ้นเอง เขียนของทุกรายวิชาที่สอน และปรับปรุงทุกเทอมที่มีการสอน ผมอยากให้มหาวิทยาลัยไทยกำหนดให้อาจารย์ทุกคนต้องเขียน และเอาข้อเขียนนั้น มาทำกระบวนการใคร่ครวญไตร่ตรอง (reflection) ร่วมกันภายในภาควิชา หรือในสาขาวิชาย่อย ก่อนเปิดเทอม ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นการทำ BAR (Before Action Review) ตามหลักวิชาการจัดการความรู้ (Knowledge Management) มีเป้าหมายเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีปฏิบัติที่ดี

และเมื่อจบปลายภาค หลังนักศึกษาสอบเสร็จ จบรายวิชา ก็เอาข้อเขียนนั้นมาใคร่ครวญไตร่ตรอง เพื่อหาทางปรับปรุง ร่วมกันอีกในอาจารย์กลุ่มเดิม ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นการทำ AAR (After Action Review) ภายใต้บรรยากาศของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และใช้วิธีประชุมแบบ สุนทรียสนทนา (dialogue) เพื่อรับฟัง และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ไม่ใช่แบบอภิปราย (discussion) หาถูก-ผิด ผมเชื่อว่า กระบวนการง่ายๆ แบบนี้ จะนำไปสู่การปรับปรุงกระบวนการเรียนรู้ของนักศึกษาได้มากมาย

หนังสือเอาคำแนะนำจากรายงานผลการวิจัยจำนวนมาก มาสรุปบอกว่าประเด็นที่ควรเขียนใน บันทึกปรัชญาการสอน ได้แก่

  • ทฤษฎีที่ตนเชื่อเกี่ยวกับการเรียนรู้ว่าเกิดขึ้นอย่างไร และการสอนจะช่วยเอื้อต่อการเรียนรู้ ได้อย่างไร
  • คุณค่า เป้าหมาย และแรงบันดาลใจ ต่อการทำหน้าที่สอนของตนคืออะไร
  • เทคนิควิธีสอน แบบจำเพาะ ที่ตนใช้คืออะไร เชื่อมโยงกับสอง bullet point ข้างบนอย่างไร

เขาแนะนำเว็บไซต์สำหรับหาคำมาเขียนเอกสารปรัชญาการสอน ที่ http://fin.iowa.uniowa.edu/fmi/xsl/tgi/_data&-lay=layout01&-view, http://longleaf.net/teachingstyle.html, และ www.teachingperspectives.com

ในเอกสารปรัชญาการสอน อาจเพิ่มอีกสองประเด็น คือ

  • ระบุผลงานวิจัยด้านการเรียนการสอนที่ตนได้ทำ รวมทั้งผลงานที่ไม่ได้ตีพิมพ์ หากได้ตีพิมพ์ ก็ระบุลิ้งค์ไปยัง reference ใน CV
  • ระบุปัญหาของการสอนของตนที่ได้รับจากการประเมินโดยนักศึกษาใน 1-2 ปีที่ผ่านมา หากมีสาเหตุจากการที่ตนสอนแบบ active learning, student-centered, และเน้น critical thinking ให้ระบุว่าตนยังดำเนินตามปรัชญานี้ ด้วยเหตุผลอะไร

ในหนังสือ มีตารางที่ 32.1 บอกวิธีทบทวนและปรับปรุงเอกสารปรัชญาการสอน ว่าเขียนอย่างไรจึงจะ "ดีเลิศ" เขาแนะนำให้ทบทวนและปรับปรุงจนเข้าเกณฑ์ดีเลิศ คือมีความชัดเจน ใช้คำธรรมดาๆ และมีพลังของความทุ่มเทเอาจริงเอาจัง (conviction)

ผมคิดต่อว่า วิธีการนี้น่าจะใช้ในการคัดเลือกอาจารย์ใหม่ได้ด้วย


แฟ้มบันทึกการสอน

แฟ้มบันทึกการสอน เป็นทั้งเครื่องมือพัฒนาตนเอง และเป็นพยานหลักฐานสะท้อนความเข้มแข็ง และการหมั่นปรับปรุง ด้านการสอน สำหรับให้ฝ่ายบริหาร นำไปพิจารณาต่อสัญญาจ้าง เลื่อนเงินเดือน เลื่อนตำแหน่ง และความดีความชอบอื่นๆ เพราะมันสะท้อนภาพ ความเอาใจใส่ และหมั่นปรับปรุง การเรียนการสอนอยู่ตลอดเวลา

ในแฟ้มควรมีสองส่วน คือส่วนข้อเขียนสรุป ๕ - ๑๐ หน้า กับส่วนเอกสารผนวก ที่ใช้จริง

ส่วนข้อเขียน ประกอบด้วยข้อมูลความรับผิดชอบด้านการสอนของตน ตามด้วยข้อเขียนเชิงวิเคราะห์ อย่างลึกซึ้งจริงจัง ต่อเนื้อหาและวิธีการที่ตนใช้ เน้นเขียนให้เห็นภาพของการปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอ โดยมีเอกสารหลักฐานอยู่ในส่วนเอกสารผนวก

ในส่วนเอกสารผนวก มีเอกสารสำคัญๆ ที่ใช้ในการเรียนการสอน การมีบทบาทต่อภาควิชา คณะวิชา มหาวิทยาลัย อุดมศึกษา และอื่นๆ ในด้านการพัฒนาวิชาชีพอาจารย์ หรือพัฒนาการเรียนการสอน ข้อมูลเกี่ยวกับ การประเมินโดยนักศึกษา และโดยเพื่อนอาจารย์ เอกสารปรัชญาการสอน เป้าหมายการสอนของตนใน ๕ ปีข้างหน้า เอกสารประเมินตนเองในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาการสอนของตนและผลที่เกิดขึ้น เอกสารบอกการปรับปรุงเอกสารต่างๆ ที่ใช้ในการสอน เช่น เอกสารมอบหมายชิ้นงาน เอกสารวางแผนกิจกรรม เอกสารอ่าน/ดู ก่อนชั้นเรียน เป็นต้น รายการกิจกรรมและผลงานที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน เช่น การตีพิมพ์ผลงานวิจัยการเรียนการสอน โครงการวิจัยการเรียนการสอน การได้รับทุนวิจัย การเป็น reviewer ของวารสารวิชาการด้านการเรียนการสอน ควรแนบบทคัดย่อหรือสำเนาผลงานตีพิมพ์ไว้ด้วย เอกสารระบุ รายละเอียดของรายวิชา อาจมี ดีวีดี ถ่ายเหตุการณ์ในชั้นเรียนแนบไว้ รายชื่อนักศึกษาที่ได้ทำหน้าที่เป็นอาจารย์ ที่ปรึกษาในโครงการวิจัย รางวัลและการยกย่องต่างๆ ที่ได้รับ ด้านการเรียนการสอน และด้านที่เกี่ยวข้อง

เอกสารอื่นๆ ในส่วนเอกสารผนวก ตามที่กำหนดโดยสถาบันต้นสังกัด อาจรวมทั้งเอกสารต่อไปนี้ : เอกสารข้อสังเกตจากเพื่อนอาาจารย์ และฝ่ายบริการ จากการเข้าสังเกตการณ์ห้องสอนของตน เอกสารข้อสังเกต ของเพื่อนอาจารย์ จากการทบทวนเอกสารประกอบการสอนของตน เอกสารจากเพื่อนอาจารย์ที่บอกว่า ตนได้เตรียมพื้นความรู้ของนักศึกษา สำหรับรายวิชาต่อๆ ไปอย่างไร เอกสารจากหัวหน้าภาควิชา หรือผู้ บังคับบัญชา บอกว่าตนได้มีส่วนทำงานให้แก่หน่วยงานอย่างไรบ้าง เอกสารจากผู้ว่าจ้าง ว่าบัณฑิตที่เคยเรียน กับตน กล่าวถึงตนอย่างไรบ้าง เอกสารจากหน่วยงานที่ร่วมมือกับโครงการเรียนรู้แบบ service learning ว่าโครงการก่อผลกระทบอย่างไรบ้าง เอกสารจากผู้เคยเป็นนักศึกษาในความดูแล (advisee) หรือในคำแนะนำ ด้านการวิจัย (research mentee) ว่าตนได้รับผลดีอย่างไรบ้าง เอกสารจากอดีตนักศึกษาที่บอกว่าตนได้รับผล ระยะยาว จากผลงานของตน อย่างไรบ้าง คำว่า "ตน" ในที่นี้ หมายถึงตัวอาจารย์เจ้าของประวัติ

เอกสารต่อไปนี้ ยิ่งให้รายละเอียดผลงานด้านการเรียนการสอน : เอกสารข้อมูลป้อนกลับจากนักศึกษา ในรายวิชา ที่แสดงว่ามีการปรับปรุงรายวิชาอย่างไรบ้าง ตัวอย่างผลงานของนักศึกษา ในระดับเกรด/คุณภาพ ต่างๆ กัน ผลการประเมินความรู้ของนักศึกษาในตอนต้นและในตอนจบของรายวิชา การเปลี่ยนแปลงทัศนคติ และการเติบโตภายใน ของนักศึกษาต่อวิชาที่เรียน ที่สะท้อนจากการทำกระบวนการใคร่ครวญสะท้อนคิด ของนักศึกษา เอกสารความเห็นของนักศึกษาต่อความสำเร็จของตนในการเรียนวิชา รายชื่อของ memtee ที่ประสบความสำเร็จในวิชานั้น เอกสารแสดงว่าตนได้มีส่วนสร้างผลกระทบต่อการเลือกอาชีพของศิษย์ อย่างไรบ้าง คะแนนของนักศึกษาในการทดสอบระดับชาติ

หนังสือให้ เว็บไซต์ ตัวอย่างของแฟ้มบันทึกการสอนที่ดี ที่ www.ilr.cornell.edu/TAC/toolbox/portfolio/examples.html

อ่านตอนนี้แล้ว ผมรู้สึกว่า อาจารย์อเมริกันต้องเก็บเอกสารผลงานเพื่อเอาไว้ยืนยันผลงาน และความรับผิดชอบของตน สะท้อนสังคมข้อมูลหลักฐาน


แฟ้มบันทึกรายวิชา

ที่จริงเอกสารนี้ก็คล้ายเอกสารแฟ้มบันทึกการสอน เพียงแต่แตกต่างกันที่เป้าหมาย คือแฟ้มบันทึกการสอนเน้นผลงานด้านการสอนของตัวอาจารย์ แต่แฟ้มบันทึกการสอนเน้นผลงานของรายวิชา ส่วนที่ต่างกันมากคือ ในแฟ้มบันทึกรายวิชามีเอกสารแสดงเป้าหมาย วิธีจัดการเรียนการสอน และผล รวมทั้งผลการวิเคราะห์ผลการประเมินผลลัพธ์ของรายวิชา


วิธีประเมินอาจารย์อย่างครบด้าน

จุดอ่อนของสถาบันอุดมศึกษาในปัจจุบันคือ ให้น้ำหนักเฉพาะผลงานด้านการวิจัย ต่อความก้าวหน้าในวิชาชีพอาจารย์ เพื่อแก้จุดอ่อนดังกล่าว Glassick, Huber & Maeroff (1997) จึงเสนอวิธีประเมินผลงานของอาจารย์ที่เอาใจใส่วิชาการ (scholarship) ทุกด้าน ได้แก่ วิชการด้านการค้นคว้า (discovery) การเชื่อมโยง (integration) ด้านประยุกต์ (application) และด้านการสอน (teaching) โดยอาจารย์ต้องเสนอผลงาน ๖ ด้านต่อไปนี้

  • เป้าหมายที่ทรงคุณค่า (purpose), วัตถุประสงค์ (objectives), และเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม (goals) ของงานที่ทำ
  • การตระเตรียมความพร้อมในการทำงานเหล่านั้น ได้แก่ ฝึกฝนทักษะ เตรียมทรัพยากรสนับสนุน และความรู้พื้นฐาน
  • วิธีการที่เหมาะสมเพื่อบรรลุเป้าหมาย
  • ผลลัพธ์และผลกระทบที่ชัดเจน ว่ามีการบรรลุเป้าหมายนั้น
  • การนำเสนอ และสื่อสารผลงาน ไปยังเป้าหมายที่เหมาะสม
  • การใคร่ครวญไตร่ตรองสะท้อนคิดต่อผลงาน เพื่อหาทางปรับปรุงพัฒนา

โดยประยุกต์ใช้มาตรฐานทั้ง ๖ ข้อข้างบน ในการประเมินผลงานด้านการสอนได้ดังต่อไปนี้

  • ประเมินเป้าหมาย : เพื่อนอาจารย์ประเมินข้อเขียนผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักศึกษาที่เขียนไว้ ในเอกสารรายละเอียดรายวิชา เอกสารปรัชญาการสอน และแฟ้มบันทึกการสอน และแฟ้มบันทึกอื่นๆ
  • ประเมินการเตรียมตัว : เพื่อนอาจารย์ประเมินเนื้อหา และเอกสารที่นักศึกษาจะต้องอ่าน ที่ระบุไว้ในเอกสารรายวิชา
  • ประเมินวิธีการ : เพื่อนอาจารย์ประเมินความเหมาะสมของวิธีการสอน และวิธีการประเมินตามที่ระบุในเอกสารรายวิชา
  • ประเมินผลลัพธ์ : เพื่อนอาจารย์ประเมินผลการเรียนรู้ของนักศึกษา จากผลการทดสอบ และจากหลักฐานอื่นๆ รวมทั้งผลการประเมินโดยนักศึกษา ว่าตนได้รับประโยชน์ จากการสอนในรายวิชาของอาจารย์ท่านนั้นอย่างไรบ้าง
  • ประเมินวิธีนำเสนอ : เพื่อนอาจารย์ประเมินจากผลการประเมินของนักศึกษาในด้าน ทักษะการสื่อสารของอาจารย์
  • ประเมินการไตร่ตรองสะท้อนคิดเพื่อปรับปรุง : เพื่อนอาจารย์ประเมินเอกสารปรัชญาการสอน และเอกสารอื่นๆ ที่สะท้อนการประเมินตนเอง

ระบบการประเมินอาจารย์ที่เสนอโดย Arreola (2007) ใช้กันแพร่หลายในอเมริกา มี ๘ ขั้นตอนดังนี้

  • ๑.ทำรายการตัวงานหรือกิจกรรมที่ควรประเมิน สำหรับสถาบันนั้นๆ เช่น วิจัย สอน ให้คำแนะนำปรึกษา รับใช้ชุมชน รับใช้วิชาชีพ รับใช้มหาวิทยาลัย และอื่นๆ
  • ๒.ให้น้ำหนักเป็นร้อยละของแต่ละหน้าที่ ให้ได้ผลรวม ๑๐๐
  • ๓.กำหนดรายละเอียดของแต่ละกิจกรรม แยกแยะเป็นกิจกรรมหรือด้านย่อยๆ ให้ได้ผลงานที่เขียนออกมาได้ และวัดผลงานออกมาเป็นคุณภาพ และผลกระทบ เป็นด้านๆ ได้
  • ๔.ในแต่ละกิจกรรม ให้น้ำหนักเป็นร้อยละ ต่อกิจกรรมย่อย ให้ได้น้ำหนักรวม ๑๐๐
  • ๕.กำหนดตัวผู้ประเมิน หรือแหล่งข้อมูลเพื่อการประเมิน เช่น นักศึกษา เพื่อนอาจารย์ในภาควิชาเดียวกัน เพื่อนอาจารย์ในต่างสถาบันที่ทำงานในสาขาเดียวกัน หัวหน้าภาควิชา เป็นต้น
  • ๖.กำหนดน้ำหนักแก่ข้อมูลจากแต่ละแหล่ง
  • ๗.กำหนดวิธีได้ข้อมูลจากแต่ละแหล่ง เช่นใช้แบบสอบถาม
  • ๘.กำหนดรูปแบบวิธีการในภาพรวม สำหรับนำมาใช้ และปรับปรุงให้แม่นยำเหมาะสมยิ่งขึ้น

การประเมินแต่ละงานหรือกิจกรรม จะได้คะแนนออกมาเป็นสเกล ๑ - ๕ แล้วจึงรวมผลงาน ทุกกิจกรรมตามน้ำหนักออกมาเป็นคะแนนรวม (OCR – Overall Composite Rating) คะแนน ๑ หมายถึงไม่น่าพอใจอย่างยิ่ง ต้องปรับปรุงอย่างจริงจัง คะแนน ๒ หมายถึงต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด คะแนน ๓ หมายถึงปานกลาง ได้พอดีกับมาตรฐาน คะแนน ๔ หมายถึงดี และ ๕ (หรือใกล้ ๕) ดีเลิศ


ซับซ้อนเกินการวัด

การประเมินคุณค่าของการสอน (เน้นสอนแบบไม่สอน) เป็นเรื่องซับซ้อน และท้าทาย เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับมนุษย์ ๑ คน (คืออาจารย์) กับศิษย์จำนวนมาก ที่มีจริตแตกต่างกัน หน้าที่ของอาจารย์คือ สร้างแรงบันดาลใจ ชักจูง อธิบาย และสร้างการเรียนรู้ให้แก่ศิษย์จำนวนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากทำได้ดีในระดับหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นชีวิตที่มีความหมายยิ่ง



วิจารณ์ พานิช

๒๖ ธ.ค. ๕๗


หมายเลขบันทึก: 586723เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2015 11:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2015 11:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอขอบพระคุณค่ะ

ถึงแม้ว่าจะมีการสอนน้อยลงตามภาระงานอื่น แต่ตระหนักเสมอค่ะ. ว่าวิธีการสอนนั้นยิ่งใหญ่มากสำหรับคนเป็นครูอาจารย์

จะนำวิธีการประเมินนี้ไปหารือกันเพื่อวางวิธีการประเมินการสอนอย่างถูกต้องและเหมาะสมต่อการสอนแบบเรียนรู้จริงค่ะ

จากข้อความนี้ค่ะ

วิธีประเมินผลงานของอาจารย์ที่เอาใจใส่วิชาการ (scholarship) ทุกด้าน ได้แก่

วิชการด้านการค้นคว้า (discovery)

การเชื่อมโยง (integration)

ด้านประยุกต์ (application)

และด้านการสอน (teaching)

กราบขอบพระคุณ มา ณ ที่นี้ค่ะ


อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท