หลวงโยนะการพิจิตร...พ่อค้าไม้ชาวพม่าผู้อุปถัมภ์พระเจดีย์ สร้างพระ และอุปถัมภ์วัด(ตามรอย 8 ..วัดแสนฝาง)


วัดแสนฝาง เชียงใหม่ เป็นอีกวัดหนึ่งที่หลวงโยนะการพิจิตรได้สร้างหรือบูรณะ เป็นวัดที่มีความสำคัญและสวยงามอลังการอย่างยิ่ง เป็นวัดที่พระเจ้าอินทวิชยานนท์และพระราชชายาเจ้าดารารัศมีให้ความอุปถัมภ์และเจ้านายฝ่ายเหนือซึ่งเป็นพระญาติมาปฏิบัติธรรมหรือประกอบกิจกรรมทางศาสนาอยู่เป็นประจำ

รูปจากอินเตอร์เน็ต https://www.google.co.th/search?q=%E0%B8%A3%E0%B8%...

มีคำบอกเล่าในครอบครัวว่าหลวงโยนะการพิจิตรสร้าง/บูรณะทั้งวัด ซึ่งในช่วงเวลานั้นท่านยังไม่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น รองอำมาตย์เอกหลวงโยนะการพิจิตร ผู้คนเรียกขานท่านว่าพระยาตะก่าปันโหย่ แต่โบราณวัตถุบางอย่างก็ไม่ปรากฏชื่อของท่าน เช่น วิหารลายคำ เนื่องจากท่านอยู่เบื้องหลังการสร้างถวายเจ้าหลวงอินทวิชยานนท์ ซึ่งตามประวัติศาสตร์ที่บอกเล่ากันต่อๆมากล่าวว่าเจ้าหลวงอินทวิชยานนท์ได้รื้อตำหนักเดิมของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์และนำมาสร้างวิหารลายคำเมื่อ ปี พ.ศ. 2420

หลวงโย ฯได้สร้างพระอุโบสถ ขณะนั้น พระราชชายาเจ้าดารารัศมีทรงต้องการสร้างพระอุโบสถเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแก่พระราชบิดาและพระราชมารดา จึงได้จ่ายเงินคืนให้แก่หลวงโย ฯ 1000 รูปีและถวายพระอุโบสถเป็นพระราชกุศลตามพระประสงค์ เมื่อพ.ศ. 2453

หลวงโยฯสร้างกุฏิและระฆังถวายวัดแสนฝาง คำจารึกที่ระฆังและแผ่นไม้จารึกการถวายกุฏิได้กลายเป็นหลักฐานการใช้สมญานามว่าพระยาตะก่า ปันโหย่

หลังจากมีการทุบทิ้งวัดอุปคุตพม่า ซึ่งเป็นวัดที่หลวงโยฯสร้างโดยซื้อที่ดินเพิ่มเติม 3 ไร่เศษและสร้างถาวรวัตถุเองทั้งวัด เมื่อวัดถูกทุบทิ้งเพื่อสร้างพุทธสถาน เชียงใหม่แทนที่ ลูกหลานของหลวงโยฯส่วนมากจะถือว่าวัดแสนฝางเป็นวัดประจำตระกูลและเป็นศรัทธาของวัดนี้กระทั่งปัจจุบันด้วยเหตุผลสองประการคือ หลวงโยฯได้สร้าง/บูรณะถาวรวัตถุจำนวนมากให้แก่วัด และหลวงโยฯมีความเลื่อมใสศรัทธาอย่างมากในครูบาโสภาโณเถระ(ครูบาเถิ้ม)อดีตเจ้าอาวาสวัดแสนฝางและรักษาการเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพ (ดูภาพที 1 ที่หน้าสุดท้าย)

นางซิ้วเฮียง โจลานันท์ ผู้สูงอายุได้เล่าให้ พตท.อนุ เนินหาด (ผู้ที่เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับเชียงใหม่ในอดีตไว้มากมาย) ว่าหลวงโยฯมีศรัทธาในครูบาเถิ้มเจ้าอาวาสวัดแสนฝางขณะนั้นจึงเป็นศรัทธาหลักของวัดแสนฝางและเมื่อครูบาเถิ้มต้องไปดูแลวัดพระธาตุดอยสุเทพ หลวงโย ฯก็ยังตามไปเป็นศรัทธาหลักที่วัดพระธาตุดอยสุเทพด้วย ความจริงครูบาเถิ้มและครอบครัวของหลวงโย ฯ มีความเกี่ยวดองกัน โดยครูบาเถิ้ม เป็นน้องชายแท้ ๆของพญาณรงค์ บิดาของนางสม และ นางมูล ซึ่งทั้งสองนางเป็นสะใภ้ของหลวงโย ฯ นั่นเอง ลูกหลานของหลวงโย ฯจึงมีความผูกพันกับวัดแสนฝางและความสัมพันธ์อันแนบแน่นยังคงมีสืบมาจนกระทั่งปัจจุบัน พระครูประจักษ์พัฒนคุณเจ้าอาวาสวัดแสนฝางองค์ปัจจุบันให้ความเมตตาต่อลูกหลานหลวงโยฯเป็นอย่างดี

เกี่ยวกับวัดแสนฝางนี้ ผู้เขียนมีหลักฐานหลายอย่างทั้งที่เป็นเอกสารของทางราชการ ดอกสัญลักษณ์ของหลวงโยที่ช่างของหลวงโยฯทำแทรกไว้เป็นส่วนหนึ่งของชิ้นงานศิลปะประดับศาสนวัตถุต่าง ๆ นอกจากนั้นยังมีแผ่นจารึก หรือคำจารึกบนโบราณวัตถุที่หลวงโย ฯสร้างถวายวัด ซึ่งนักวิชาการได้ค้นพบ นอกเหนือจากคำบอกเล่าในครอบครัว และผู้อาวุโสที่รู้เห็นเหตุการณ์สมัยนั้นและมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง

ประมวลภาพและเอกสารที่เกี่ยวกับวัดแสนฝางไว้เพื่อการศึกษา

เอกสารที่เกี่ยวข้องกับพระราชชายา เจ้าดารารัศมี

ภาพ 2.พระราชชายาเจ้าดารารัศมีในรัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี

มีเอกสารเป็นหลักฐานจากรายงานของพระยาอนุชิตชาญไชยและท้าวโสภานิเวศร์ซึ่งตามเสด็จพระราชชายาเจ้าดารารัศมีมาเชียงใหม่เมื่อเดือนพฤษภาคมร.ศ.๑๒๘ โดยทรงฉลองเจดีย์ในวัดเจดีย์หลวงที่ทรงบูรณะและทรงย้ายกู่ของเจ้าหลวงและเจ้านายฝ่ายเหนือไปประดิษฐานที่วัดสวนดอก(โดยหลวงโยฯมีส่วนช่วยเหลือโดยเสด็จพระราชกุศล )

พระยาอนุชิตชาญไชย มีตำแหน่งเป็นจางวาง ข้าราชการฝ่ายหน้า กรมพระตำรวจที่ได้ตามเสด็จพระราชชายาเจ้าดารารัศมีขึ้นไปนครเชียงใหม่ ได้รายงานถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับพระกรณียกิจของพระราชชายาฯ ดังนี้

"๒๔ พ.ค ร.ศ.๑๒๘(พ.ศ.๒๔๕๒) ซ้อมละครครั้นเวลาบ่าย ๓โมงเศษ หลวงโยนการพิจิตร แห่พระธาตุจอมทอง มาทางหน้าที่ประทับซึ่งเสด็จมาทำบุญที่วัดแสนฝาง แล้วเข้าไปให้พระราชชายาฯนมัสการ ณ ที่ประทับ แล้วแห่กลับไป"

ในวันถัดมาหลวงโยฯทูลเชิญเสด็จพระราชชายาเจ้าดารารัศมีมางานฉลองเจดีย์วัดแสนฝาง (ย่อมเป็นหลักฐานว่าหลวงโยฯเป็นผู้บูรณะพระเจดีย์วัดแสนฝาง)

ท้าวโสภานิเวศร์กราบบังคมทูลถวายรายงานว่า

" ๑ มิ.ย.ร.ศ.๑๒๘ เวลาบ่ายสี่โมง๑๕นาที พระราชชายาเจ้าดารารัศมีเสด็จโดยกระบวนรถม้าไปที่วัดแสนขวาง ประทับบนพลับพลาวัดแสนขวาง ทอดพระเนตรกระบวนแห่ครัวทานเป็นการสำหรับฉลองวัดเสร็จแล้ว พระราชชายาเจ้าดารารัศมีเสด็จไปในพระอุโบสถ ทรงนมัสการพระเสร็จแล้ว เสด็จขึ้นไปบนกุฏิของหลวงโยนการ เสด็จกลับเวลาย่ำค่ำ ๕นาที"

วันที่ ๒ มิ.ย. รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๘

"เสด็จเลยไปที่วัดแสนขวางประทับบนพลับพลา ทอดพระเนตรกระบวนแห่เสร็จแล้วเสด็จกลับเวลาย่ำค่ำ"

ภาพ 3 รายงานจากพระยาอนุชิตชาญไชย เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระราชชายาฯครั้งเสด็จกลับมาเยือนเชียงใหม่

และเสด็จไปที่ต่างๆ


ภาพ 4. รายงานของท้าวโสภานิเวศร์ เรื่องพระราชชายาเสด็จเชียงใหม่ถวายพระเจ้าอยูหัวรัชกาลที่ 5


ภาพ5 อุโบสถวัดแสนฝางที่หลวงโยฯสร้างเสร็จแล้วพระราชายาฯจ่ายเงินทดแทน ๑๐๐๐ รูปี

แล้วถวายเป็นพระราชกุศลให้พระราชบิดา พระราชมารดา

ภาพ 6 ภาพเก่าของอุโบสถวัดแสนฝางครั้งที่หลวงโยฯสร้างเสร็จใหม่ๆ ภาพจากบ้านนางแสงเพ็ชร กระแสชัย

ภาพ 7 พระเจดีย์วัดแสนฝาง ก่อนที่จะมีการสร้างกำแพงแก้วเพิ่มเติม ภาพจากหนังสือประวัติวัดแสนฝาง

ภาพ 8 เจดีย์วัดแสนฝางในปัจจุบัน

ภาพ9. ซูมดอกสัญลักษณ์หลวงโยฯที่ประดับเจดีย์วัดแสนฝาง

ภาพ10 ซูมดอกสัญลักษณ์ของหลวงโยฯที่โขงวัดแสนฝางโดยดอกสัญลักษณ์นี้มีประดับทุกโขง

ภาพ11. ซุ้มพระในกุฏิวัดแสนฝางที่เคยเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุวัดพระธาตุศรีจอมทอง

ที่หลวงโยฯทูลเชิญพระราชชายาฯเสด็จในงานฉลองพระเจดีย์

ภาพ12. ภาพกุฏิที่หลวงโยฯสร้างถวายวัดแสนฝาง จากหนังสือประวัติวัดแสนฝาง เรียกว่า กุฏิ ๑๐๐ ปีโยนการพิจิตร

(บูรณะ ปี 2526-2529)

ภาพ13. ภาพกุฏิวัดแสนฝางที่มีสวนหินบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ

ภาพ14. สวนหินที่ทางขึ้นกุฏิวัดแสนฝางในปัจจุบัน

ภาพ15 วิหารลายคำวัดแสนฝางที่หลวงโยฯอยู่เบื้องหลังการสร้างถวายพระเจ้าอินทวิชยานนท์

ภาพ16 มีดอกสัญลักษณ์ของหลวงโยฯประดับที่คอสองวิหารลายคำวัดแสนฝาง เชียงใหม่

ภาพ17 ที่เหนือหน้าต่างด้านข้างวิหารลายคำ ช่างของหลวงโยฯทิ้งดอกสัญลักษณ์รูปดอกจันไว้

ภาพ18. ปูนปั้นรูปกินนรฟ้อนรำที่ช่างนำไปประดับวัดอื่นอีกหลายวัด ครั้งนี้ใช้ ประดับด้านนอกวิหารลายคำ

ภาพ19 หอไตรวัดแสนฝางที่สร้างจากชิ้นส่วนประกอบของปราสาท(ที่ตั้งศพ) ของนางบัวจีน อุปะโยคินภรรยาคนที่ ๒ ของหลวงโยฯ

ภาพ20 นาควัดแสนฝาง

ภาพ 21 ดอกไม้สี่กลีบที่อกนาควัดแสนฝาง ดอกสัญลักษณ์อีกแบบหนึ่งของหลวงโยฯ

ภาพ 22 หอระฆังวัดแสนฝางที่หลวงโยฯสร้างถวายวัด

ภาพ 23 ระฆังวัดแสนฝางที่พระยาตะก่าปันโหย่(หลวงโยฯ)สร้างถวายวัด

ขอบคุณภาพจากหนังสือจารึกเมืองเชียงใหม่เล่ม ๑๐ โดย ดร.ฮันส์ เพนธ์และคุณศรีเลา เกตุพรหม

ภาพ 24 จารึกบนระฆังวัดแสนฝางที่พระยาตะก่าปันโหย่สร้างถวายวัดแสนฝาง

ขอบคุณภาพจากหนังสือจารึกเมืองเชียงใหม่เล่ม ๑๐ โดยดร.ฮันส์ เพนธ์ และคุณศรีเลาเกตุพรหม

ภาพ 25 แผ่นไม้จารึกการสร้างกุฏิถวายวัดแสนฝางโดยพระยาตะก่าปันโหย่(หลวงโยฯ)

ขอบคุณภาพจากหนังสือจารึกเมืองเชียงใหม่โดยดร.ฮันส์ เพนธ์ และคุณศรีเลาเกตุพรหม

ภาพ 26 ลายประจำตัวหลวงโยฯที่ระเบียงวัดแสนฝางและภายในกุฏิวัดแสนฝาง


****

ขอขอบพระคุณคุณพิเชษฐ์ ตันตินามชัยและคณะสำหรับเอกสารชั้นต้นเกี่ยวกับรายงานของพระยาอนุชิตชาญไชยและรายงานของท้าวโสภานิเวศน์

เรื่องโดย นางศรีสุดา ธรรมพงษา

ภาพโดย อ.ไพศาล สุกใส

ร่วมเขียนโดย ผ.ศ.ดร.กัลยา ธรรมพงษา

ครูบาเถิ้ม
ภาพที่ 1   อดีตเจ้าอาวาสวัดแสนฝาง   ครูบาเถิ้ม หรือ ครูบาโสภาโณมหาเถระ
หมายเลขบันทึก: 586601เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2015 17:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มีนาคม 2021 22:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวยมากครับ และเพลิดเพลินบวกความรู้ทางประวัติศาสตร์ด้วยครับ


สวยงาม งดงามมากๆๆ ค่ะ

สวยงาม ได้ความรู้มากค่ะอาจารย์

น่ายินดีนะคะที่วัดแสนฝางยังคงอยู่เป็นหลักฐานแสดงศรัทธาแห่งหลวงโยฯ ไว้เป็นเกียรติยศแก่ลูกหลาน

หนต่อไปถ้าได้มาเชียงใหม่ เห็นทีจะต้องแวะมาที่วัดแห่งนี้ค่ะ

พระเจ้าอินทวิชยานนท์ นี่คือ พระราชบิดา ของพระราชชายาฯ ใช่มั๊ยคะ (ดิฉันเคยอ่านประวัติของพระราชชายาฯ ทั้งนับถือและเห็นใจที่ท่านเสียสละจากบ้านเกิดไปอยู่ท่ามกลางคนเมืองหลวง เจออะไรต่อมิอะไรมากมาย)


ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่าน และให้กำลังใจ

คุณหมอ ทิมดาบ หมอเปิ้ล หมอนุ้ย(หรือหนุ่ยคะ) ผู้เขียนก็เพลิดเพลินไปกับเรื่องในอดีตค่ะ เลยเขียนต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ หลวงโย ฯ ท่านคงพอใจที่ยังระลึกถึงสิ่งที่ท่านทิ้งไว้ให้

ใช่ค่ะ พระราชชายา เป็นพระธิดาองค์สุดท้อง ลำดับที่ 11 ของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 7 กับเจ้าแม่ทิพยเกสร ท่านต้องเข้าถวายตัวตั้งแต่อายุ 13 ปี และมิได้กลับมาเชียงใหม่เลยแม้กระทั่งงานพระศพของพระราชบิดาและมารดา ชีวิตในวังหลวงของพระราชชายาคงจะเข้มข้นทีเดียว แต่ก็ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี และเป็นที่โปรดปรานของพระราชสวามี เป็นที่นับถือของบรรดาราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่

ถ้ามาเที่ยวเชียงใหม่คราวหน้าบอกล่วงหน้านะคะ ขอต้อนรับและจะชวนเพื่อนพาชมวัดค่ะ ด้วยความยินดีค่่ะ

ต่ออีกนิดค่ะ ท่านเสด็จมาเยี่ยมเชียงใหม่อยู่ครั้งหนึ่ง (รศ. 128) ประมาณ 1 ปี เพื่อฉลองเจดีย์และย้ายกู่ของบรรพบุรุษไปอยู่ที่วัดสวนดอก และประกอบพระกรณียกิจทางด้านศาสนาและวัฒนธรรมอีกมากมาย ซึ่งระยะนี้เองที่หลวงโย ฯ ได้มีโอกาสโดยเสด็จพระราชกุศลและได้มีโอกาสรับใช้ ท่านเป็นผู้หนึ่งที่มีหมายให้เข้าร่วมงานพิธีต่าง ๆและในขบวนเดินทางส่งเสด็จกลับกรุงเทพ ฯ หลังจากพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จสวรรคตอีกหลายปีต่อมาท่านเสด็จกลับมาอยู่เชียงใหม่ถาวร แต่ยังคงดำรงพระยศอยู่ในราชวงศ์จักรีภายใต้การดูแลของรัชกาลต่อมา

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท