คำนิยม หนังสือ เปลี่ยนหลักคิด คืนชีวิตให้หาดทราย



คำนิยม

หนังสือ

เปลี่ยนหลักคิด คืนชีวิตให้หาดทราย

บทสรุปสำหรับผู้บริหารและประชาชน

วิจารณ์ พานิช

.................................



หนังสือ เปลี่ยนหลักคิด คืนชีวิตให้หาดทราย บทสรุปสำหรับผู้บริหารและประชาชน (หนังสือที่เสนอทางเลือกเชิงนโยบายในการแก้ปัญหาและฟื้นฟูหาดทรายที่ถูกกัดเซาะ กรณีศึกษาชายหาดสมิหลา - นาทับ จังหวัดสงขลา) เขียนขึ้นจากผลงานวิจัย

ผมขอแสดงความชื่นชมเครือข่ายเฝ้าระวังรักษาชายหาด ที่ทำงานมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความรู้ และสื่อสารสังคม เกี่ยวกับพลวัตชายหาด อันจะนำไปสู่การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ชายหาดอย่างยั่งยืน โดยใช้หลักการของทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา (ที่เสนอโดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี) อันประกอบด้วยพลังความรู้ พลังของการสื่อสารสังคม ไปสู่ประชาชนวงกว้าง และพลังนโยบายที่มีอำนาจ ออกกฎหมาย หรือกำหนดกฎเกณฑ์กติกา ดำเนินการหรือห้ามดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับชายหาด

หนังสือเล่มนี้ เป็นการนำเอาผลงานวิจัย (พลังปัญญา) ออกสื่อสารต่อสาธารณชน (พลังประชาชน) เพื่อให้ประชาชนช่วยกันแสดงเจตนารมณ์ต่อฝ่ายกำหนดนโยบาย ให้คำนึงถึงข้อมูลนี้ ในการทำหน้าที่กำหนด นโยบายเกี่ยวกับการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ชายหาด โดยผลงานวิจัยนี้ทำที่ชายหาดระหว่างหาดสมิหลา อำเภอเมืองสงขลา กับตำบลนาทับ เป็นกรณีศึกษา

เป็นหนังสือเล่มที่ ๕ ในชุดหาดทราย และเป็นเล่มที่ ๔ ที่ผมได้รับเกียรติเชิญเป็นผู้เขียนคำนิยม

หนังสือของเครือข่ายเฝ้าระวังรักษาชายหาดทุกเล่มบอกเราว่า หาดทรายชายทะเลมีพลวัตตามธรรมชาติ ที่ละเอียดอ่อน การเข้าไปยุ่งเกี่ยวสร้างโครงสร้างแข็งในบริเวณหาดทราย เป็นการรบกวนสมดุลตามธรรมชาติ และจะนำไปสู่การกัดเซาะและทำลายหาดทรายในที่สุด

ชายหาดพื้นที่ศึกษา ระยะทาง ๓๑.๖ กิโลเมตร ในจังหวัดสงขลา ระหว่างแหลมสนอ่อน ลงไปทางใต้ ถึงชายหาด ตำบลนาทับ ถูกกัดเซาะทำลาย เพราะการก่อสร้างเขื่อนกันทรายที่ปากคลองนาทับ และสร้างโรงสูบน้ำเสีย ที่ชายหาดชลาทัศน์ ตอนต้นทศวรรษ พ.ศ. ๒๕๔๐ เมื่อมีการกัดเซาะชายหาด ก็มีการสร้างโครงสร้างแข็งป้องกัน คลื่นเซาะชายหาด ซึ่งยิ่งมีผลกัดเซาะรุนแรงลุกลามมากขึ้น

คณะผู้วิจัยจึงทำวิจัยเปรียบเทียบทางเลือกเชิงนโยบาย ๔ ทางเลือก เปรียบเทียบกับการไม่ทำอะไรเลย ว่าทางเลือกใดให้ผลตอบแทนต่อสังคมในเชิงเศรษฐศาสตร์ มากที่สุด

สรุปได้ว่า วิธีที่เลวที่สุดคือวิธีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ ป้องกันชายฝั่งด้วยโครงสร้างแข็ง และวิธีที่ดีที่สุด คือ รื้อโครงสร้างแข็งออกไปให้หมด และฟื้นฟูหาดทรายด้วยกลไกที่สอดคล้องกับธรรมชาติ

เนื่องจากยุคนี้เป็นยุคปฏิรูปประเทศ ด้วยกลไก คสช., สนช., สปช. ที่มีนโยบายกวาดล้าง ทำความสะอาดประเทศ จากความชั่วร้ายต่างๆ และความเข้าใจผิดหรือมิจฉาทิฐิ ว่าด้วยการบำรุงรักษา หาดทรายชายทะเลด้วยโครงสร้างแข็ง ก็เป็นความชั่วร้ายอย่างหนึ่ง ผมจึงขอเสนอให้คณะผู้จัดทำหนังสือนี้ นำหนังสือ (และผลงานวิจัยฉบับเต็ม) เสนอต่อสมาชิก สนช., สปช. และผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะได้นำความรู้นี้ ไปสู่นโยบายระดับประเทศในระดับออก กฎหมายห้ามสร้างโครงสร้างแข็งบริเวณชายหาด และกำหนดแนวถอยร่น

ผมขอแสดงความชื่นชมต่อคณะผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ คณะทีมวิจัย ตลอดจนทีมเครือข่ายเฝ้าระวัง รักษาชายหาดทุกท่าน ที่ทำงานเฝ้าระวังรักษาชายหาดแบบเกาะติด โดยใช้ยุทธศาสตร์เขยื้อนภูเขา ทั้งนี้เพื่อผลประโยชน์ระยะยาวของสังคมไทย ขอเป็นกำลังใจให้ได้ทำงานนี้ต่อไปอีกต่อเนื่องยาวนาน จนในที่สุดเราได้เห็นโครงสร้างแข็งอันอัปลักษณ์ และน่าอับอายทางปัญญา ถูกรื้อถอนไปจนหมดสิ้นชายหาดไทย



วิจารณ์ พานิช

๒๓ มกราคม ๒๕๕๘


หมายเลขบันทึก: 586538เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2015 18:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2015 18:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เสียดายที่เรามีชายทะเลที่สวยงามถึง 2 ฝั่ง แต่ไร้การดูแลรักษา ต้องขอขอบพระคุณอาจารย์ที่ให้ความสำคัญในเรื่องหาดทราย ที่ใครๆก็ไม่เห็นค่า

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท