นักโภชนาการประจำตำบล สร้างคุณภาพคน-คิดค้นคุณภาพอาหาร


ผ่านมาการจัดการด้านเมนูอาหารให้กับเด็ก เยาวชน ที่อยู่ในการดูแลของท้องถิ่น ยังทำได้ไม่ดีพอ ส่วนใหญ่การดูแลจะเน้นจากความคุ้นชิน คำแนะนำจากตำรา โดยไม่มีผู้รู้จริงซึ่งเป็นนักโภชนาการมืออาชีพ มาคอยให้คำแนะนำ จึงเห็นด้วยกับความพยายามผลักดันให้มีการจัดนักโภชนาการประจำท้องถิ่น

ผอม...อ้วน...เตี้ย... คือภาพสะท้อนสุขภาวะที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็ก เยาวชนในปัจจุบัน ปัจจัยสำคัญหนีไม่พ้นการบริโภคอาหารที่ไม่คำนึงถึงหลักโภชนาการ

แน่นอนว่าตลอดทั้งวันเด็กใช้ชีวิต อยู่ภายในการดูแลของสถานศึกษา ครู มากกว่าอยู่ที่บ้าน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าอาหารที่เด็กบริโภคเข้าไปในแต่ละวัน ขึ้นอยู่กับการเอาใจใส่ของคนดูแลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


จากผลการสำรวจของกรมอนามัยร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อเดือนมีนาคม 2557 พบว่า ร้อยละ 80 ของโรงเรียน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กยังจัดบริการอาหารไม่ได้มาตรฐานโภชนาการ สุขาภิบาลอาหาร และอาหารปลอดภัย แม้รัฐบาลจะขึ้นค่าอาหารกลางวันนักเรียนจากวันละ 13 บาทต่อคน เป็น 20 บาทต่อคน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 แล้วก็ตาม

ทั้งนี้เพราะ โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ยังขาดการบริหารจัดการเชิงระบบ ครู ผู้ดูแลเด็กที่รับผิดชอบโครงการอาหารกลางวันไม่สามารถจะทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ เพราะหน้าที่หลักคือสอนหนังสือ ประกอบกับการจัดอาหารสำหรับเด็กที่มีปัญหาภาวะทุพโภชนาการ หรือการพัฒนาอาหารให้มีคุณภาพตามมาตรฐานโภชนาการ สุขาภิบาลอาหาร และอาหารปลอดภัย เพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัยนั้น จำเป็นต้องใช้ผู้ที่มีความรู้และทักษะด้านอาหารและโภชนาการในเชิงลึก จึงจะจัดการได้สำเร็จ

บทเรียนการดำเนินงาน โครงการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย ของกรมอนามัย ร่วมกับ สสส. และสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ปี 2551-2556 ค้นพบว่าโรงเรียน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีนักโภชนาการหรือมีอัตราจ้างผู้ที่จบด้านอาหารและโภชนาการอยู่ประจำ จะมีการจัดการด้านอาหารและโภชนาการได้คุณภาพตามมาตรฐานโภชนาการ สุขาภิบาลอาหาร และอาหารปลอดภัยมากกว่าโรงเรียนที่ไม่มีบุคลากรด้านนี้ และเมื่อเทียบเคียงผลการดำเนินงานกับนานาชาติที่เจริญแล้วและมีผลสำเร็จด้านการพัฒนาคน เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และอังกฤษ พบว่าประเทศเหล่านี้ล้วนมีนักโภชนาการประจำโรงเรียนเป็นส่วนมาก

เหตุนี้ จึงเกิดคำถามว่าถึงเวลาหรือยังที่ประเทศไทยต้องมี "นักโภชนาการประจำตำบล" หรือจะเรียกว่า "นักการจัดการด้านอาหารและโภชนาการชุมชน" เข้ามาดูแลการบริโภคของเด็กและเยาวชนในท้องถิ่นอย่างจริงจัง

นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ทางกรมอนามัย โดยสำนักโภชนาการจึงได้กำหนดแนวทางในการส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันให้มีนักโภชนาการประจำตำบล เพื่อให้เด็กในโรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และสถานรับเลี้ยงเด็กในชุมชน ได้รับการคุ้มครองสิทธิด้านโภชนาการอย่างเท่าเทียม เช่น ได้รับอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนเหมาะสม สะอาด ปลอดภัย ได้รับการเฝ้าระวัง และติดตามการเจริญเติบโต เด็กกลุ่มเสี่ยงได้รับการส่งเสริมภาวะโภชนาการที่เหมาะสมตามวัยทันต่อเวลาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย

นพ.ณรงค์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ทางกรมอนามัยได้ศึกษาข้อมูล และสื่อสารถึงความจำเป็นในการมีนักโภชนาการประจำตำบล พร้อมๆ กับขยายแนวคิดสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการกำหนดอัตรากำลัง และงบประมาณรองรับ ซึ่งทางกรมอนามัยก็พร้อมที่จะจัดอบรมนักโภชนาการประจำตำบล ให้มีศักยภาพในการทำงาน

ขณะที่ อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษากรมอนามัยและนักวิชาการด้านโภชนาการ ยอมรับว่า ณ วันนี้เด็ก เยาวชนไทย ไม่สามารถบริโภคอาหารมื้อหลัก อาหารว่าง ที่มีคุณภาพ

"อาหารที่จัดให้เด็กในแต่ละมื้อ ผัก ผลไม้น้อย เน้นรสหวาน มัน เค็ม และน้ำตาลสูง ซึ่งเมื่อบริโภคอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้เกิดภาวะผอม เตี้ย อ้วน" อ.สง่า อธิบาย

ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นผลโดยตรงมาจากการที่สถานศึกษา ศูนย์ พัฒนาเด็กเล็ก ภายในท้องถิ่น ไม่มีนักโภชนาการประจำ เพื่อคอยดูแล ควบคุมคุณภาพ อาหารให้เหมาะสมกับวัย นั่นเป็นสาเหตุให้ต้องผลักดันนักโภชนาการประจำตำบล เพื่อเข้ามาทำหน้าที่ใน 7 เรื่องหลัก

ประกอบด้วย 1.การกำกับดูแล ควบคุมเมนู อาหารมื้อหลักให้มีคุณภาพ 2.กำหนด ควบคุม อาหารว่าง นม และเครื่องดื่ม 3. ควบคุมความปลอดภัยในอาหาร และสุขาภิบาลอาหาร 4. พัฒนาศักยภาพครู แม่ครัว ผู้ปกครอง ให้มีความรู้ ทักษะ ด้านอาหารและโภชนาการ

5. ส่งเสริมการผลิตอาหาร การเกษตรเพื่อโภชนาการในโรงเรียนและชุมชน 6. ให้นักโภชนาการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้นักเรียนมีพฤติกรรมด้านโภชนาการที่พึงประสงค์ และ 7. เฝ้าระวัง ติดตามภาวะโภชนาการของเด็กนักเรียน

สำหรับบทบาทหน้าที่นี้ รัศมีแสง นาคอ่อน นักโภชนาการ สถานอนามัยเด็กกลาง ศูนย์อนามัยที่ 1 กรุงเทพฯ ยอมรับว่า แม้จะเป็นหน้าที่ที่ไม่ค่อยถูกพูดถึง เพราะที่ผ่านมาภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หน้าที่การดูแลควบคุมด้านโภชนาการให้กับเด็กๆ จะตกอยู่ที่พี่เลี้ยงเด็ก ซึ่งงานประจำในการดูแลเด็กก็มากพออยู่แล้ว การจะมาคอยดูแลเรื่องอาหารการกินอาจเป็นการเพิ่มภาระ และอาจส่งผลให้เด็กเข้าไม่ถึงการบริโภคที่มีคุณภาพ จากความไม่เชี่ยวชาญด้านอาหารนั้น ทำให้หน้าที่ของนักโภชนาการ มีความสำคัญในการคัดสรรเมนูอาหารมื้อกลางวัน อาหารว่าง ให้มีสัดส่วนถูกต้องตามหลักโภชนาการ อีกทั้งต้องควบคุมการปรุง ประกอบอาหาร ตรวจสอบอาหารที่จะจัดส่งไปยังศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ไม่เพียงเท่านั้นยังต้องสำรวจพฤติกรรมการบริโภคของเด็ก เยาวชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงเด็กอ้วน ผอม เตี้ย

"เราต้องคิดเมนูที่ไม่ซ้ำกันภายใน 1-2 สัปดาห์ ต้องปรับเปลี่ยนเมนูให้มีความหลากหลาย เด็กจะได้ไม่เบื่อ และได้รับอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะเด็กในวัย 1 ขวบครึ่งถึง 3 ขวบ ที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะอยู่ในช่วงพัฒนาการที่สำคัญ จึงควรได้รับอาหารที่มีประโยชน์ และคุณภาพ นักโภชนาการจึงเป็นบทบาทที่ต้องสนับสนุน" นักโภชนาการ ขยายความ

ไม่เพียงจะควบคุม ดูแล คัดสรรเมนูอาหารเท่านั้น การศึกษา และแก้ปัญหาด้านพฤติกรรมการบริโภคให้กับเด็กกลุ่มเสี่ยง อ้วน ผอม เตี้ย ยังเป็นอีกบทบาทที่ รัศมีแสง ต้องประเมินความเสี่ยง และหาแนวทางลดพฤติกรรมที่จะส่งผลต่อสุขภาพของเด็ก เยาวชน ที่สำคัญไปกว่านั้นคือการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้กับผู้ปกครอง ในการดูแล เอาใจใส่ด้านการบริโภคให้กับบุตรหลาน


สอดคล้องกับความคิดเห็นของผู้นำท้องถิ่น สุรศักดิ์ สิงห์หาร ปลัดเทศบาลตำบลเมืองแก อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ ยอมรับว่า ที่ผ่านมาการจัดการด้านเมนูอาหารให้กับเด็ก เยาวชน ที่อยู่ในการดูแลของท้องถิ่น ยังทำได้ไม่ดีพอ ส่วนใหญ่การดูแลจะเน้นจากความคุ้นชิน คำแนะนำจากตำรา โดยไม่มีผู้รู้จริงซึ่งเป็นนักโภชนาการมืออาชีพ มาคอยให้คำแนะนำ จึงเห็นด้วยกับความพยายามผลักดันให้มีการจัดนักโภชนาการประจำท้องถิ่น

ไม่ต่างจาก สำเนาว์ รัศมิทัต นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ที่ยอมรับเช่นกันว่า การที่เด็ก เยาวชนไม่ได้รับการเอาใจใส่ด้านการบริโภคที่ดีพอ ส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวทั้งโรคอ้วน ฟันผุ ขาดวิตามิน ซึ่งขณะนี้เชื่อว่าการจัดการด้านอาหารให้กับเด็กในแต่ละวันก็ยังทำได้ไม่เต็มที่

"การมีครัวกลาง หรือ มีนักโภชนาการประจำท้องถิ่นจะมีส่วนช่วยสำคัญไม่เพียงควบคุมดูแลการบริโภคให้กับเด็ก เยาวชนเท่านั้น ยังสามารถสร้างองค์ความรู้ให้กับชุมชน ผู้ปกครอง ในเรื่องอาหารการกินที่มีคุณภาพได้อีกด้วย" นายก อบต.บางน้ำผึ้ง ขยายความ

ข้อเท็จจริงจากปากผู้บริหารท้องถิ่นที่เกิดขึ้น ยังนำไปสู่ข้อเสนอให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ออกข้อกำหนดให้ท้องถิ่นแต่ละแห่งต้องมีนักโภชนาการอยู่ประจำ พร้อมสนับสนุนงบประมาณเพื่อไว้ว่าจ้างอัตรากำลังนักโภชนาการดังกล่าว จะเป็นแนวทางแก้ปัญหาที่ได้รับประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย

แต่การผลักดันแนวทางนี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นง่ายตราบใดที่ยังไม่สามารถสร้างความตระหนักให้ผู้ใหญ่ของท้องถิ่นออกมาแสดงความจริงใจในการดูแลเด็ก เยาวชน ซึ่งเป็นบุตรหลานของคนในท้องถิ่น

เรื่องนี้ สุเทพ พงษ์ใหม่ อุปนายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนองค์กรบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย ไม่ปฏิเสธว่า ปัจจุบันยังมีหลายท้องถิ่นที่ยังมุ่งเน้นงานที่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมเชิงโครงสร้าง มากกว่าประเด็นสุขภาพของคนในชุมชน

"เรื่องสุขภาพของเด็ก เยาวชน เห็นผลการเปลี่ยนในระยะยาว แต่สิ่งที่เห็นผลการเปลี่ยนแปลงทันที อย่างการก่อสร้างต่างๆ เพื่อพัฒนาท้องถิ่น กลับกลายเป็นสิ่งที่นักการเมืองท้องถิ่นให้ความสำคัญมากกว่า ซึ่งอาจบอกได้ว่านักการเมืองท้องถิ่นยังห่วงคะแนนเสียงทางการเมือง มากกว่าสุขภาพลูกหลานของตัวเอง จึงอยากเห็นการสร้างความตระหนักเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นให้ได้" อุปนายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียน อบจ. สะท้อนมุมมอง

ดังนั้นน่าจะถึงเวลาแล้วที่ท้องถิ่นไทยควรมี "นักโภชนาการประจำตำบล" เพื่อช่วยดูแล จัดสรร และให้คำปรึกษาเรื่องการกินแก่คนในชุมชน โดยเฉพาะเด็กๆ หากพวกเขาได้รับการเอาใจใส่เรื่องอาหารตั้งแต่ยังเล็กๆ โตขึ้นก็จะได้เป็นคนคุณภาพของประเทศต่อไป.

หมายเลขบันทึก: 586247เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2015 20:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2015 21:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

_สวัสดีครับ..

_เกี่ยวกับเรื่องการกำหนดอัตรากำลังด้านโภชนาการใน อปท.ถือเป็นเรื่องที่ดีและควรให้การสนับสนุนอย่างจริงจังกับผู้บริหารครับ..จึงจะนำไปสู่การปฏิบัติได้..ขอร่วมตีฆ้องร้องป่าว..

_ขอบคุณครับ

ตามมาเชียร์การทำงาน

เพื่อเด็กไทยเลยครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท