หลวงโยนะการพิจิตร...พ่อค้าไม้ชาวพม่าผู้อุปถัมภ์พระเจดีย์ สร้างพระ และอุปถัมภ์วัด (ตามรอย 7 ...วัดอุปคุตพม่า/วัดอุปคุต)


วัดอุปคุตพม่าเป็นวัดที่หลวงโยนะการพิจิตรสร้างเองทั้งวัด ถือเป็นวัดประจำตระกูลอุปะโยคินของหลวงโยฯ ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อให้พุทธศาสนิกชนทั่วไปไม่ว่าจะเป็นคนเชื้อสายพม่าหรือคนพื้นเมืองกสามารถเข้าไปประกอบศาสนกิจได้

เนื่องจากเนื้อที่วัดแต่เดิมมีน้อย หลวงโยฯ จึงซื้อที่ดินเพิ่มอีกสามไร่เศษและสร้างวัดอุปคุตพม่าโดยใช้ช่างฝีมือชาวพม่าชุดเดียวกันที่สร้างบ้านเฮือนหลวงที่อยู่อาศัย ร.ศ.ดร.โชติมา จตุรวงค์ เมื่อครั้งมาทำการวิจัยเกี่ยวกับ (ว่าที่)วัดพม่าในเชียงใหม่

ได้เขียนภาพเปรียบเทียบความคล้ายคลึงของกุฏิวัดอุปคุตพม่ากับบ้านของหลวงโยฯ แต่ว่าบ้านมีสถานะต่ำกว่าจึงมีความเรียบง่ายกว่า

ภาพ 1 เปรียบเทียบบ้านเฮือนหลวง และกุฏิวัดอุปคุต โดยร.ศ.ดร.โชติมา จตุรวงค์ 

ภาพ 2 แผนที่สมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์แสดงอาณาเขตของวัดอุปคุตไทย(อุปคุตนอก)และวัดอุปคุตพม่า(อุปคุตใน)และที่ดินที่มองปันโยเป็นเจ้าของซึ่งน่าจะเป็นบ้านหลังแรกของมองปันโย(หลวงโยฯ)ก่อนซื้อที่ดินฝั่งตรงข้าม ซึ่งปัจจุบันคือบริเวณโรงแรมเพชรงาม แผนที่ได้รับความอนุเคราะห์จากร.ศ.จิรีจันทร์ ประทีปเสนและอ.เสรินทร์ จิรคุปต์ 

วัดอุปคุตพม่าที่สร้างขึ้นประกอบด้วย กุฏิ วิหาร พระเจดีย์ และศาลาจำศีล ซึ่งทั้งหมดถูกรื้อถอนไปประมาณปี พ.ศ. 2498-99 เพื่อสร้าง พุทธสถาน เชียงใหม่

ภาพ 3 -5 พุทธสถาน เชียงใหม่ เปิดเมื่อ 29 มกราคม 2501 

คุณไพบูลย์ เธียรสิริ เล่าว่า พระประธานในวิหารวัดอุปคุตพม่าชื่อ พระพุทธรูปเทพนิมิตร วิหารหันหน้ามาทางทิศตะวันออก เมื่อเปิดประตูวิหารและแสงอาทิตย์ส่องเข้าไปกระทบแท่นแก้วที่ประดับด้วยกระจกหลากสี จะสะท้อนแสงอาทิตย์งามระยิบระยับ

ภายในวิหารมีพระพุทธรูปมากมายเรียงรายอยู่ คล้ายพระพุทธรูปในศาลารายวัดพระธาตุดอยสุเทพ แต่มีพระพุทธรูปอยู่เพียงด้านเดียว ในวิหารยังมีซุ้มประดับพระพุทธรูปหลายซุ้มงดงามมาก น่าเสียดายที่ลูกหลานมิได้ถ่ายภาพเก็บไว้

วัดอุปคุตพม่าในขณะนั้นไม่ได้ขึ้นกับคณะสงฆ์ไทย ภายหลังเมื่อหลวงโยฯถึงแก่กรรมนายโมส่วยทายาทของท่านก็ยังเป็นโยมอุปฐากวัดนี้อยู่ ต่อมานายโมส่วยเกิดมีข้อพิพาทกับเจ้าอาวาส (ที่เป็นพระภิกษุชาวพม่า)อย่างรุนแรงเจ้าอาวาสจึงย้ายออกจากวัดไป ทำให้วัดขาดพระมาจำพรรษาอยู่ชั่วคราว ช่วงเวลานั้นมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศพม่า การเดินทางของพระจากพม่ามาจำพรรษาที่วัดทำได้ยาก นอกจากนี้เกิดกระแสความต้องการสถานที่เป็นศูนย์รวมของชาวพุทธในเชียงใหม่ ในการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ นายโมส่วยทายาทของท่านได้ตกลง ยกวัดให้คณะสงฆ์ไทยดูแล จากนั้นไม่นานจึงมีการทุบวัดทิ้งทั้งวัดเพื่อสร้างพุทธสถาน แต่ก่อนหน้านั้นหลังจากเป็นที่แน่นอนว่าจะมีการใช้สถานที่นี้ในการสร้างพุทธสถาน เชียงใหม่ก็มีพระภิกษุพม่ารูปหนึ่งมาจำพรรษาและไม่ ยินยอมให้ทุบวัดทิ้ง แต่ในที่สุดก็มิอาจทัดทานได้และหายตัวออกจากวัดไป

หลวงพ่ออูอาสุภะ อดีตเจ้าอาวาสวัดทรายมูลม่าน ซึ่งเข้ามาจำพรรษาที่เมืองไทยราวๆปี ๒๔๙๐ ท่านเล่าว่าใต้ถุนกุฏิวัดอุปคุตพม่าเปิดเป็นโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรม ท่านก็ได้ไปศึกษาที่โรงเรียนนี้ด้วย เมื่อถามท่านว่า เมื่อวัดอุปคุตพม่าถูกทุบทิ้ง ชาวพม่าคนอื่นไม่มีปฏิกิริยาใดๆหรือ ท่านตอบว่าก็เป็นวัดของพวกเขา(หลวงโยฯ )คนอื่นไม่มีสิทธิบ่น

การสร้างพุทธสถานนั้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและความหมายต่อชาวพุทธอย่างไม่มีข้อสงสัย แต่ถ้าจะยังคงรักษาวัดในพุทธศาสนาอีกวัดหนึ่งไว้และทำนุบำรุงให้ถาวรสืบไปย่อมมีคุณค่าไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน เหตุผลเบื้องลึกอาจเป็นไปตามข้อสังเกตของนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ล้านนาแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ผู้นี้หรือไม่........ รศ. สมโชติ อ๋องสกุล เขียนไว้ว่า

" นับเป็นความตั้งใจร่วมมือร่วมใจของหลายฝ่ายที่ต้องการ "สร้างประวัติศาสตร์" ด้วยรูปอนุสาวรีย์พระสิริมังคลาจารย์ นักปราชญ์แห่งล้านนา แต่ด้วยแรง " ชาตินิยม"แห่งยุคสมัยนั้น มองเห็นวัดอุปคุตพม่าที่ริมแม่น้ำปิงว่าสมควรเป็นที่ตั้งอาคารพุทธสถานและอนุสาวรีย์ ดังนั้นด้วยเหตุผลเชิงชาตินิยม คณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่และศรัทธาวัดอุปคุตไทยจึงขอคืนวัดอุปคุตพม่าให้แก่วัดอุปคุตไทยแล้วดำเนินการรื้อวิหารอันสวยงามแบบพม่าของวัดอุปคุตพม่าและสร้างอาคารสมัยใหม่ขึ้นแทน เรียกว่า "พุทธสถาน เชียงใหม่" มีพิธีเปิดป้าย เมื่อ 29 มกราคม 2501 ......ประวัติศาสตร์ของชาวพุทธแห่งเชียงใหม่ผู้ใจบุญจึงได้ปิดฉากวัดอุปคุตพม่าอันงามยิ่งตั้งแต่นั้นมา"

อนึ่ง มีการทำสัญญาเช่าที่วัด 4 ไร่ เป็นสถานที่ก่อสร้างเป็นเวลา 30 ปีละ 1 บาท และต่อสัญญาคราวละ 30 ปี ต่อมาค่าเช่าเพิ่มเป็นปีละ 100 บาท ปัจจุบัน(2547) ปีละ 1,000 บาท.......


 

บัดนี้มีแต่ภาพวัดอุปคุตพม่าอันงดงาม ขอบคุณคุณบุญเสริม สาตราภัยที่ถ่ายภาพไว้ในปี 2496 หลายภาพ ภาพเหล่านี้นอกจากจะทำให้คนรุ่นหลังรู้จักรูปธรรมของวัดอุปคุตพม่าแล้ว ยังทรงคุณค่าในฐานะเป็นสิ่งที่ทำให้ยืนยันเอกลักษณ์สิ่งก่อสร้างของหลวงโยฯได้ดังเช่น ซุ้มประตูโขง ที่เหมือนกับกำแพงวัดมหาวันและวัดเชียงยืนที่หลวงโยนะการพิจิตรเป็นผู้สร้างหรือผู้บูรณะเช่นกัน


 

ภาพ 6 วัดอุปคุตพม่า

จากภาพที่คุณบุญเสริมถ่ายภาพไว้ดังกล่าวจะเห็นว่าวัดอุปคุตพม่ายังเป็นวัดที่สวยงามอยู่ มิได้ชำรุดทรุดโทรมจนต้องทุบทิ้งเหมือนดังที่อ้างในหนังสือพิธีเปิดพุทธสถานแต่อย่างใด จะมีก็แต่ศาลาจำศีลที่เหลือแต่เสา

ภาพ 7 ภาพศาลาจำศีลวัดอุปคุตพม่า เป็นภาพจากบ้านนางแสงเพ็ชร กระแสชัย

ภาพ 8 ภาพศาลาจำศีลวัดอุปคุตพม่าที่ในภาพของคุณบุญเสริม เหลือแต่เสา

จากภาพถ่ายต่อไปนี้จะเห็นว่าบริเวณวัดอุปคุตพม่าในช่วงสงกรานต์ จะเป็นศูนย์กลางของขบวนแห่ที่เริ่มขบวนจากวัดพระสิงห์มาตั้งพักในวัดอุปคุตพม่าก่อนจะเคลื่อนขบวนไปดำหัวผู้ว่าราชการจังหวัดที่จวนผู้ว่าซึ่งอยู่ใกล้กัน

ภาพ 9-10 บรรยากาศที่วัดอุปคุตพม่าเมื่อสงกรานต์ 2496

ในภาพจะเห็นว่ามีผู้คนมากมายรอบๆวัด บ้างก็ปีนไปอยู่บนกำแพงเพื่อให้มองเห็นขบวนแห่ได้ชัดเจน วัดอุปคุตพม่าจึงเป็นศูนย์กลางของผู้คนที่แห่กันเล่นน้ำสงกรานต์ เนื่องจากสามารถลงไปเล่นน้ำแม่ปิงโดยลงไปที่เชิงสะพานนวรัฐได้

ต่อมาอาจจะเนื่องจากผู้คนมากเข้า น้ำในแม่น้ำปิงมิได้สะอาดเหมือนสมัยนั้นจึงมีการเคลื่อนย้ายไปเล่นน้ำสงกรานต์แถบคูเมืองแทน ดังเช่นปัจจุบัน (เป็นที่น่าสังเกต ลักษณะของซุ้มประตูโขงวัดอุปคุตพม่าเหมือนกับซุ้มประตูโขงอุโบสถวัดเชียงยืน ดังภาพเปรียบเทียบข้างล่าง และเมื่อไปดูโขงที่วัดเชียงยืน จะพบดอกไม้หลายกลีบ สัญลักษณ์ของหลวงโย ฯประดับอยู่

ภาพ 11 ภาพเก่าอุโบสถวัดเชียงยืนเมื่อครั้งที่หลวงโย ฯ สร้างเสร็จใหม่ ๆ (ภาพจากบ้านนางแสงเพชร กระแสชัย หลาน)

ในหนังสือที่ระลึกในพิธีเปิดพุทธสถานเชียงใหม่ปี 2501 ผู้เขียนบทความได้เขียนไว้ว่า ก่อนจะยกวัดให้คณะสงฆ์ไทย นายโมส่วยได้ขอให้นำไม้ที่รื้อถอนจากวัดอุปคุตพม่าไปสร้างศาสนสถานต่อไป

พระธรรมราชานุวัตรจึงได้นำไม้จากวัดอุปคุตพม่าจำนวนมากไปใช้สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมในวัดพระสิงห์

วัดศรีสองเมือง อ.สุารภี จ. เชียงใหม่ ได้นำไม้เสาวิหารไปสร้างวิหารของวัดโดยใช้เกวียนมาลากไปเกือบยี่สิบเล่ม เนื่องจากการเดินทางด้วยเกวียนช้ามากจึงต้องมานอนค้างคืนที่วัดตอนกลางคืน ครั้งนั้นศรัทธาจากวัดศรีสองเมืองเห็นมีคนแอบเข้าไปทุบองค์พระในวัดเพื่อหาของมีค่า ผู้เขียน (นางศรีสุดา ) เคยได้ยินญาติผู้ใหญ่เล่าว่า ในการสร้างพระพุทธรูป จะมีการบรรจุพระเนตรและหัวใจพระพุทธรูปด้วยอัญมณีมีค่า

คุณยาย ซิ้วเฮียง โจลานันท์ ผู้สูงอายุที่ผู้เขียนมีโอกาสสัมภาษณ์เมื่อปี พ.ศ. 2549 เล่าว่า ท่านบังเอิญผ่านไปทางวัดอุปคุตพม่า ระหว่างที่กำลังรื้อถอนอยู่ ท่านสลดใจมากเพราะมีการใช้คนงานที่ไม่ใช่ชาวพุทธใช้เชือกพันรอบเศียรพระและดึงจนเศียรพระขาด ฝุ่นคลุ้งไปหมด ท่านไม่เข้าใจว่าเหตุใดจึงไม่มีการย้ายพระพุทธรูปไปไว้ที่อื่นแต่เลือกที่จะทำลาย

ส่วนผู้เขียนเองยังจำได้ดีว่า หลังจากนั้นเมื่อมีการเปิดพุทธสถานแล้ว ยังมีพระเศียรขาดเหลือแต่องค์พระวางทิ้งเรียงรายอยู่ติดกำแพงวัดทางด้านทิศเหนืออยู่อีกหลายปีซึ่งเป็นภาพที่ชวนหดหู่ใจ

แล้วเศียรพระเล่าไปอยู่ ณ ที่ใด

หลังจากมีดำริที่จะจัดตั้งพุทธสถานโดยทุบวัดอุปคุตพม่าทิ้งแล้ว ได้มีการจัดทำสัญญาระหว่างเจ้าอาวาสวัดอุปคุต(ไทย)กับผู้อำนวยการพุทธนิคมเชียงใหม่ นายกพุทธสมาคมสาขาเชียงใหม่ และนายกยุวพุทธิกสมาคมสาขาเชียงใหม่ เช่าที่ดินที่เป็นวัดอุปคุตพม่าเดิม เพื่อสร้างพุทธสถานเชียงใหม่โดยคิดค่าเช่าปีละ ๑ บาท (จากหนังสือที่ระลึกในการเปิดพุทธสถาน)

ภาพ 12-13 สัญญาเช่าที่วัดอุปคุตพม่าเดิม เพื่อสร้างพุทธสถาน


 

ต่อมา เมื่อมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ได้มีการนำสิ่งของต่างๆที่เคยอยู่ในวัดอุปคุตพม่าก่อนถูกทุบทิ้ง ที่ถูกเก็บไว้ชั้นสองของอาคารพุทธสถานรวมอยู่กับของจากวัดวาอารามต่างๆที่มีผู้ไปเก็บมาเนื่องจากวัดเหล่านั้นจะถูกน้ำท่วมจากการสร้างเขื่อนภูมิพล สิ่งของเหล่านี้นำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ มีการระบุเพียงว่ามาจากพุทธสถานเชียงใหม่ แทนการระบุชื่อเจ้าของดั้งเดิม

คือหลวงโยฯ หรือระบุที่มาว่ามาจากวัดอุปคุตพม่าแต่อย่างใด เช่นเดียวกับของที่มาจากวัดอื่น ๆ เป็นที่น่าเสียดายที่พิพิธภันฑ์สถานแห่งชาติต้องขาดข้อมูลรายละเอียดของโบราณวัตถุเหล่านั้น

เวลาผ่านไป ๕๗ ปี ปัจจุบันนี้ พุทธสถาน เชียงใหม่ กลายเป็นสถานที่ให้เช่าจอดรถที่สำคัญบริเวณเชิงสะพานนวรัฐ น้อยครั้งที่มีการให้เช่าสถานที่เพื่อจัดงานเช่น เทศกาลกินเจ ไม่มีกิจกรรมที่เด่นชัด นับว่าห่างไกลจากวัตถุประสงค์เมื่อเริ่มก่อตั้งเป็นอย่างยิ่ง


 

เอกสารอ้างอิง

สมโชติ อ๋องสกุล ชุมชนสงฆ์กับการสร้างประวัติศาสตร์ท้องถิ่น(จบ) .มองเมืองเหนือ. 25-31 ตุลาคม 2547. 28-29

อุดม บุณยประสพ. คำรับสารภาพ. พุทธสถาน เชียงใหม่ หนังสือรวมบทความจัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในการเปิดพุทธสถาน. 2501

เริ่อง และ ภาพ โดย ศรีสุดา ธรรมพงษา และผ.ศ.ดร.กัลยา ธรรมพงษา

ขอบพระคุณ

      ร.ศ.ดร.โชติมา จตุรวงค์ ที่ศึกษาเรื่องราวของหลวงโยฯและอนุญาตให้ลูกหลานนำมาใช้อ้างอิง

       คุณบุญเสริม สาตราภัยที่มอบภาพวัดอุปคุตพม่าปี ๒๔๙๖ให้ลูกหลานได้ใช้อ้างอิง

       คุณบอย แห่ง เอ็มดีทัวร์ที่มอบหนังสือที่ระลึกในการเปิดพุทธสถานให้ลูกหลานหลวงโยฯ           ผ่านร.ศ.อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว

 


 


 

หมายเลขบันทึก: 585985เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2015 17:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 ตุลาคม 2021 19:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

งดงามมากค่ะ

ถ้าวัดแห่งนี้ยังคงอยู่จะมีอายุกว่าร้อยปีมั๊ยคะอาจารย์

เป็นวัดที่งดงามมากเลยครับ

เคยไปที่จังหวัดตาก

เข้าใจว่าที่แม่สอดมีวัดคล้ายๆแบบนี้ครับ

ขอบคุณค่ะคุณหมอNui ที่เข้ามาเยี่ยมชมเช่นเคย เรายืนยันได้เพียงว่าวัดถูกทุบทิ้ง ปี พ.ศ. ใด แต่เริ่มสร้างปีใดยังไม่มีเอกสารที่ชัดเจนจากทางลูกหลานของหลวงโย ฯ แต่จากการอ่านบทความหนึ่งที่ตีพิมพ์แจกเป็นที่ระลึกในวันเปิดพุทธสถาน เชียงใหม่ เขียนไว้ว่า มี 'ข้าราชการไทยเชื่อสายพม่า' (ไม่ยอมออกนาม) สร้างไว้ประมาณ 50 กว่าปีมาแล้ว ดังนั้นสามารถประมาณอายุของวัดนี้ถ้ายังคงอยู่ก็น่าจะประมาณ 110 ปีค่ะ

ขอบคุณ ดร.ขจิต มากค่ะ วัดที่อาจารย์เคยเห็นที่ตาก หรือแม่สอดที่คล้าย ๆวัดอุปคุตพม่าทำให้พวกเราตื่นเต้าเล็กน้อย เพราะเคยมีคนเคยมาเล่าให้คุณศรีสุดาฟังว่า พระยาตะก่า ได้สร้าง/อุปถัมภ์วัดไว้ทางแม่สอดด้วย อาจหลายแห่งด้วย แต่เขาไม่ได้จำชื่อวัด (พระยาตะก่า เป็นสมญานามที่พม่า กะเหรียงเรียกขานหลวงโย ฯ ด้วยความนับถือมาแต่เดิม) ถ้าอาจารย์ทราบชื่อวัดภายหลังช่วยบอกด้วยค่ะ จะเป็นพระคุณยิ่งค่ะ)

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท