สอนรายวิชามนุษย์กับการเรียนรู้ ครั้งที่ ๑ : แนะนำรายวิชาและวิธีการประเมิน


ในฐานะที่สวมหัวโขนเป็นทั้งผู้บริหารและอาจารย์ผู้สอนรายวิชาศึกษาทั่วไป ผมคิดว่าควรจะมีการเขียนบันทึกการสอน หรือบันทึกการเรียนรู้ไว้อย่างจริงจัง อย่างน้อยก็เพื่อที่จะพัฒนาการสอนของตนเองในรายวิชานี้ให้ดีที่สุด

ผมเป็นหนึ่งในอาจารย์ผู้สอน ๘ ท่านของรายวิชา ๐๐๐๒๐๑๙ มนุษย์กับการเรียนรู้ ที่มาจากต่างคณะต่างสาขา มารวมกันด้วยอุดมการณ์และความสนใจที่คล้ายกัน เราเชื่อว่าการเรียนรู้ที่แท้จริงจากภายในเท่านั้นที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนิสิต หรือ "ตนเองเท่านั้นที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงตนเองได้" ดังนั้นเป้าประสงค์ของรายวิชาจึงมุ่งไปที่การเอื้ออำนวยให้นิสิตเรียนรู้ตัวเองเพื่อให้ "รู้จักตนเอง" เมื่อรู้จักตนเองแล้วจะ "เข้าใจผู้อื่น" และสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข

มีนิสิตมาเรียนในภาคเรียนนี้ทั้งหมด ๑๒๐ คน เต็มตามจำนวนที่ห้องเรียนสามารถรับได้ ต้องนับว่าเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ และเป็นโจทย์วิจัยสำคัญด้านการเรียนการสอนต่อไป

เราเริ่มด้วยการแจ้งวัตถุประสงค์ (Objective) ของรายวิชา เพื่อให้นิสิตทราบว่ารายวิชานี้จะสร้างผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน(Learning Outcome)อะไรบ้างกับพวกเขา ซึ่งนี่น่าจะเรียกว่าเป็นวัตถุประสงค์ของรายวิชา อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่นิสิตทุกคนต้องเข้าใจไม่ใช่เพียงนี้ แต่ทุกคนต้องมีและระลึกรู้ได้ชัดว่าตนเองมีเป้าหมาย (Goal) อะไรที่มาเรียนรายวิชานี้ และต้องทราบดีด้วยว่า อาจารย์ผู้สอนวางแผนการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนนั้นๆ อย่างไร


ในฐานะอาจารย์ผู้สอน ผมไม่ได้มองว่า รูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการสอนที่ค่อนข้างตายตัวและกำหนดล่วงหน้าใน มคอ.๓ นั้น จะสามารถสร้างความสำเร็จ (Achievement) นิสิตทุกคนไปถึงเป้าหมายของตน แต่อย่างไรก็ดี คนที่ได้ผลการเรียน A หรือ B ในรายวิชานี้ น่าจะได้ผ่านการฝึกฝนทั้งภายนอกและภายใน ทั้งจิตใจและร่างกาย จนเกิดการเปลี่ยนแปลง (Transform) ในทางที่ดีขึ้นบางประการกับตนเอง... เพราะส่วนนี้เองที่ถือเป็นความสำเร็จที่คาดหวังของอาจารย์

คำอธิบายรายวิชา

ธรรมชาติทางสมองของมนุษย์และการเรียนรู้สุนทรียะสนทนา การฟังอย่างลึกซึ้ง กระบวนทัศน์แบบองค์รวม หลักการพื้นฐานของการจัดกระบวนการจิตตปัญญาศึกษาการเรียนรู้ด้วยใจที่ใคร่ ครวญ การเรียนรู้เพื่อให้เข้าถึงความจริง ความดี ความงาม และความสุข แนวคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับมณฑลแห่งการเรียนรู้ การบ่มเพาะสภาวะจิตตื่นรู้ภาวะความเป็นผู้นำในกระบวนทัศน์ใหม่ และการเรียนรู้ตลอดชีวิต

Nature of human brain and learning, dialogue, deep listening, holistic paradigms, fundamental principles of contemplative educational processes, contemplative learning, learning for promoting human competencies to attain truth; virtue; beauty and happiness, fundamental concepts of learning space, creating conscious minds, leadership in new paradigm, and lifelong learning

กระบวนการเรียนการสอน

ผมเขียนเล่าเรื่องกระบวนการเรียนการสอนที่ทีมผู้สอนไปประชุมถอดบทเรียนที่ อ.เชียงคาน ไว้ ที่นี่ เราตกลงกันว่า เราจะปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอน มาเน้นให้นิสิตได้เรียนรู้ด้วยการสังเกตและสะท้อนตนเอง (Self-Reflection)เป็นหลัก หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "สอนน้อย เรียนมาก" และในวันแรกนี้ผมได้เสนอแผนการเรียนรู้ตามรูปด้านล่าง



แม้จะเน้นกิจกรรม เน้นกระบวนการ เอากิจกรรมนำ แต่ไม่ได้ละทิ้งความสำคัญของเนื้อหา (content) แก่นสอน หรือองค์ความรู้ที่เรากำหนดไว้ในตำราเรียน "มนุษย์กับการเรียนรู้" (ดาวน์โหลด ที่นี่) ทีมผู้สอนได้นำเอาเนื้อหาสาระที่เหมาะสม มาเป็นเป้าหมายด้านให้นิสิตสร้างองค์ความรู้นั้นๆ ด้วยตนเองผ่านกระบวนการสะท้อนตนเอง และอาจารย์ผูสอนสรุปเชื่อมโยง "ความจริง ความดี ความงาม" ในแต่ละหัวเรื่องนั้นๆ ทุกๆ คาบเรียน เรียกได้ว่ามีการบูรณาการระหว่างกิจกรรมกับเนื้อหา หรือเรียกให้ถูกกว่านี้คือ "การเรียนแบบเน้นกระบวนการจากภายใน"


ผมตั้งใจว่า จะมาเขียนบันทึกการเรียนการสอนทุกๆ ครั้ง ให้นิสิตได้อ่าน ย้อนหลังว่า สิ่งที่ใดบ้างที่เราได้เรียนรู้ร่วมกัน โดยแลกเปลี่ยนกันทาง Facebook ของกลุ่ม

หมายเลขบันทึก: 584458เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2015 21:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มกราคม 2015 01:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท