โครงการสร้างคนที่ชุมชนบ้านปะอาว : (ตอนที่ 6) อ้าว! คุณหมอเป็นผู้หญิง


เมื่อชาวบ้านเห็นดิฉันแต่งตัวเหมือนผู้หญิงทั่วไป คือ สวมเสื้อค่อนข้างเข้ารูปกับกระโปรงยาวสีสันสดใส แม้จะยังตัดผมสั้นเกินพอดีเหมือนเดิม หลายคนมองมาในลักษณะ ‘ตาค้าง’ อมยิ้ม แล้วร้องตะโกนเสียงดังลั่น ..พวกเราดูซิใครมา คุณหมอมาๆ อ้าว! คุณหมอเป็นผู้หญิงหรือนี่

21 ม.ค.58

วันนี้ดิฉันจะขอเล่าเรื่องผมทรงสั้นเกรียนเกินพอดีค่ะ

5 ปีที่ผ่านมา ดิฉันต้องเผชิญกับสายตาและคำถามแปลกๆ มากมายจากบุคคลรอบตัว เป็นต้นว่า "โอ! ต้องขนาดนี้เชียวหรือ" เออ.. มีอะไรหรือเปล่า "หัวหน้า เป็นมะเร็งเหรอ" .. ก็ไม่นะ แต่ดูเหมือนบางคนกำลังจะเป็นมะเร็งที่ปากแล้วละ "ไม่พอใจอะไรใครหรือเปล่า" ใช่ .. เริ่มไม่พอใจเธอนั่นแหละ

ผู้บริหารบางท่านก็เอากับเขาด้วย เมื่อพบหน้าไม่ถามไถ่ แต่ตำหนิเราลับหลังว่า "ดารนีแต่งตัวไม่เหมาะสม เป็นตัวอย่างไม่ดี .." และ "..."

อย่าทราบรายละเอียดเลยนะคะ ดิฉันก็ได้แต่น้อยอกน้อยใจ ผู้หญิงที่ไหนจะไม่อยากสวยบ้าง ไม่อยากจะคุยนะคะ เมื่อครั้งย้ายมาจากกรุงเทพฯ เมื่อต้นปี 2531 ดิฉันตัวเล็กนิดเดียว เป็นสาว กทม.ที่เฟี้ยวฟ้าวน่าดู เป็นพยาบาลคนแรกที่ย้อมสีผม แต่งหน้า ทาเปลือกตาสามสีแบบนกแก้วเชียวนะคะ แม้เวลาจะผ่านไปนาน ดิฉันก็ยังคงรักสวยรักงามอยู่ลึกๆ แต่ก็มีความมุ่งมั่นกับงานวิจัยมากกว่า ถึงกับยอมเปลี่ยนตัวเองขนาดนี้ แล้วให้เหตุผลง่ายๆ กับผู้ที่แสดงความแปลกใจว่า

"ทำงานกับพระ ต้องทำตัวให้กลมกลืนหน่อย"

ทำงานกับพระภิกษุ แล้วยังไง? โดยหลักการแล้ว เมื่อนักวิจัยเลือกพื้นที่เป้าหมายงานวิจัยได้แล้ว ก็ต้องทำความรู้จักกับชุมชนนั้นๆ ให้มากที่สุด เรียกว่า เรียนรู้ชุมชนหรือ 'รู้เขา' เพื่อการวางตัวที่เหมาะสมกับงานวิจัยที่ออกแบบไว้ แล้วงานนี้ดิฉันกำหนดว่าต้องเข้าไปฝังตัวอยู่ในชุมชน ปฏิบัติตัวกลมกลืนในระดับที่นักวิจัยต้องมีมุมมองความคิดอย่าง 'คนใน' เชียวค่ะ

ขอขยายความเรื่อง มุมมองอย่าง 'คนใน' สักเล็กน้อย เมื่อเข้าไปในชุมชนใหม่ๆ สามีดิฉันจะตามไปเป็นองครักษ์ส่วนตัวด้วยทุกครั้ง เรียกว่าไปไหนไปด้วยเหมือนเงาตามตัว การพบปะกับชาวบ้านพูดคุยกันในประเด็นต่างๆ นั้น ดิฉันจะใช้เทคนิคการรับฟังอย่างตั้งใจ พยักหน้า แล้วเปิดประเด็นใหม่ไปเรื่อยๆ ตามสถานการณ์เพื่อกระตุ้นให้ชาวบ้านพูดคุยมากขึ้น โดยสั่งความสามีก่อนออกจากบ้านว่า 'ห้าม' แสดงความคิดเห็นใดๆ ทั้งสิ้น โดยให้เหตุผลว่า

"เราเข้ามาในชุมชน เพื่อเรียนรู้เขาอย่าง คนใน หรืออย่างที่เขาเป็น เพื่อให้เข้าใจเขามากขึ้น"

ถ้าอยากทราบว่าเรามีมุมมองอย่างคนในหรือยัง ก็ให้ประเมินตนเอง อย่างเช่น จู่ๆ มีหญิงคนหนึ่งเปลื้องเสื้อผ้าในงานวัด ให้ถามตนเองว่ามีความคิดเห็นต่อกรณีดังกล่าวอย่างไร แล้วเปรียบเทียบกับความเห็นของชาวบ้าน หากได้คำตอบใกล้เคียงกันก็ถือว่าใช่ แต่ถ้าแตกต่างกันมากเหมือนความคิดคนละกรอบ หรือต่าง paradigm ก็ยังไม่ใช่

ดิฉันลงทุนอพยพครอบครัวมาเช่าบ้านเพื่อใช้ชีวิตในวิถีของชุมชนนี้ โดยบอกชาวบ้านตรงๆ ว่าเป็นพยาบาลในโรงพยาบาลจิตเวช จะเข้ามาทำงานพัฒนาในชุมชน แล้วแปลงกายตนเองเสียใหม่ แต่งกายด้วยเสื้อม่อฮ่อม กางเกงขายาวกรอมเท้า สวมเป็นเครื่องแบบเฉพาะตัว เป็นสัญลักษณ์ของตนเอง (ดิฉันมีเสื้อม่อฮ่อมเป็นลังเลยค่ะ) สวมชุดนี้เมื่ออยู่ในชุมชน ร่วมกิจกรรมทุกงาน ทั้งงานศพและงานมงคล ถอดสร้อย แหวน นาฬิกา เครื่องประดับออกทั้งหมด รวมทั้งตัดผมสั้นเกรียนอีกด้วย

ต้องขนาดนี้เชียวหรือ? มีที่มาค่ะ

ผู้แนะนำดิฉันให้ระมัดระวังตัวเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน เธอเล่าเรื่องในอดีตเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสมของพระภิกษุ ที่จำพรรษาในชุมชน 2-3 วัดกับสีกาให้ฟัง 2-3 กรณี เรื่องราวสงบลงนานแล้ว ไม่มีใครติดใจอะไร

แต่ช่วง 4-5 ปีก่อนหน้าที่ดิฉันจะเข้ามาในชุมชน ปรากฏว่ามีนักวิชาการผู้หญิงมาทำงานวิจัยในพื้นที่ เธอไม่ถึงกับพักประจำในชุมชน แต่มักจะเข้าไปปรึกษาเจ้าอาวาสในยามวิกาลบ่อยๆ แน่นอนว่าเธอเป็นคนสวย ชาวบ้านจึงเกิดความกังวลและพากับ 'จอบ' แปลว่าคอยจับตามองเพื่อเฝ้าระวัง!

ดิฉันจึงต้องทำตัวให้ไม่น่าพิศวาส ทำได้ไม่ยากหรอกค่ะ เพราะเมื่อผนวกกับความกระโดกกระเดกส่วนตัว และมีผู้เฒ่าผู้แก่ตามไปด้วยทุกครั้ง นั่งอยู่ด้วยตลอดเวลาที่ปรึกษางานท่าน .. อันที่จริงก็อยากหลีกเลี่ยงนะคะ แต่ทำไม่ได้ เพราะดิฉันทำงานเวลาราชการ

การปฏิบัติตัวของดิฉันได้ผลดีค่ะ

เพราะเมื่อดิฉันกลับเข้ามาในชุมชนอีกครั้งหลังจากถอนตัวไปนานเกือบปี วันนั้นดิฉันกลับเข้ามาเยี่ยมชาวบ้าน ตรงกับงานบุญของชุมชนพอดี เมื่อชาวบ้านเห็นดิฉันแต่งตัวเหมือนผู้หญิงทั่วไป คือ สวมเสื้อค่อนข้างเข้ารูปกับกระโปรงยาวสีสันสดใส แม้จะยังตัดผมสั้นเกินพอดีเหมือนเดิม หลายคนมองมาในลักษณะ 'ตาค้าง' อมยิ้ม แล้วร้องตะโกนเสียงดังลั่น รับกันเป็นทอดๆ และชี้มือมาทางดิฉันว่า

"พวกเราดูซิใครมา" "คุณหมอมาๆ" "อ้าว! คุณหมอเป็นผู้หญิงหรือนี่"

มาทราบภายหลังว่าหลายคนคิดว่าดิฉันเป็น 'ทอม' สามีกับดิฉันเป็นพี่น้องกัน อาจเป็นเพราะไม่ค่อยมีใครเห็นไปไหนด้วยกัน เนื่องจากเขาเผลอแสดงความคิดเห็นของตนเอง แล้วมีผลให้ชาวบ้านเกรงใจไม่กล้าแสดงความคิดเห็นคัดค้านหรือไม่เห็นด้วยออกมา ดิฉันจึงสั่ง 'กักบริเวณ' ให้อยู่แต่ในบ้าน ไม่ให้ตามไปเป็นองครักษ์อีก ยกเว้นไปรับ-ไปส่งเท่านั้น เขารู้สึกน้อยใจมากที่ดิฉันให้ความสำคัญกับงานมากกว่า แต่วันนี้เขาเข้าใจดีแล้วค่ะ

การตัดสินใจกลับเข้ามาในชุมชนปะอาวอีกครั้ง อย่างเต็มตัว ในวันนี้ และคงต้อง 'เข้าหา' พระครูสุตบูรพาสถิตย์บ้าง หากท่านเรียกใช้สอย .. แต่ขอรับรองด้วยเกียรติของพยาบาลโรคจิตนะคะ ว่าดิฉันจะไม่ใช่มารศาสนาอย่างแน่นอน

หมายเหตุ : ขอเผยแพร่บทความนี้ 1 วัน (22 ม.ค.58)


หมายเลขบันทึก: 584342เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2015 07:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มีนาคม 2016 14:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

แวะเติมน้ำมันพลังแห่งความคิดถึงค่ะคุณดารณี ชุมชนคนหัวใจแกร่ง

เราจะเป็นกำลังใจให้กันค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท