โครงการสร้างคนที่ชุมชนบ้านปะอาว : (ตอนที่ 3) 3 ปีผ่านไป ไวเหมือนโกหก!


"หนูให้กำลังใจแกว่าจงภูมิใจในตัวเรา เราสืบทอดมาได้ทุกวันนี้เพราะเราเห็นคุณค่าของฝีมือแบบดั้งเดิม เราไม่ได้ทำเพื่อรางวัล เราทำเพื่อเลี้ยงชีพ เพื่อสืบทอด" "ยังบอกแกว่างานอื่นๆ นั้นวิ่งตามกระแส อีกสักหน่อยก็ไม่เหลือซากของตัวเอง ทีนี้ละ จะมีคนเอาวอมารับเราไปหอบเอารางวัล"

17 ม.ค.58

เมื่อเราพ่อ แม่ ลูก เดินทางถึงกำแพงแสดงเขตป่าชุมชนท้ายหมู่บ้าน ซึ่งศูนย์หัตถกรรมเครื่องทองเหลืองบ้านปะอาวตั้งอยู่นั้น ก็เลยห้าโมงเย็นไปแล้ว ช่วงฤดูหนาวแบบนี้เราจึงเห็นแสงสีแดงเรื่อบนขอบฟ้า พ่อ-ลูกออกอาการลุ้นว่าศูนย์ฯ จะปิดหรือยัง ดิฉันปลอบใจว่า

"ปิดก็ไม่เป็นไร เราตั้งใจมาแล้วก็แวะดูสักหน่อย อย่างน้อยก็บอกได้ว่าเคยมาแล้วแต่ไม่ทัน"

.. แต่เรามาทันค่ะ มองเห็นเท้าคนหลายข้างขยับไปมาอยู่ในศูนย์ฯ จึงเลี้ยวรถเข้าไปจอดหน้าศูนย์ เมื่อจอดรถ เจ้าของเท้าหลายคู่ต่างชะโงกหน้าออกมามองด้วยความฉงน คงคิดว่าเป็นนักท่องเที่ยว ดิฉันรีบลงไปสวัสดีทักทายช่างทองเหลือง 5-6 คนที่นั่งล้อมวงถกเถียงกันหลังเลิกงาน แล้วบอกวัตถุประสงค์แบบง่ายๆ อย่างคนคุ้นเคยว่า

"ตั้งใจจะมาก่อกวนอีก ว่าจะมาขออนุญาตพ่อช้างไว้ก่อน"

ได้รับคำตอบพร้อมใบหน้ายิ้มแย้มว่า "เชิญมาก่อกวนได้ตามสบาย" สนทนากันครู่หนึ่งจึงทราบว่า 'พ่อช้าง' ครูภูมิปัญญาหัตถกรรมเครื่องทองเหลือง หัวหน้าศูนย์ฯ ไม่อยู่ ไปกรุงเทพฯ ซึ่งทราบภายหลังว่านำผลิตภัณฑ์ไปโชว์ ดิฉันไม่ถามรายละเอียดเพิ่ม เพราะรู้สึกเกรงใจที่ช่างฯ กำลัง 'คุยกันได้ที่' จึงเดินลงจากศูนย์ฯ ไปหาครอบครัวช่างทองเหลืองฯ เป็นอีกกลุ่มหนึ่งในพื้นที่ศูนย์ฯ

ดิฉันขอให้ราละเอียดเพิ่มสักหน่อยนะคะ

ศูนย์หัตถกรรมเครื่องทองเหลืองบ้านปะอาว แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มบน-ล่าง ทั้งสองกลุ่มนี้จะมีชาวบ้านซึ่งเป็นญาติพี่น้องกันแบ่งงานส่วนหนึ่งไปทำที่บ้าน โดยจะเข้ามาใช้เตาเผาทองเหลืองภายในศูนย์ เสร็จแล้วนำชิ้นงานมารวมกันก่อนส่งให้ลูกค้า

กลุ่มแรก เรียกตัวเองว่ากลุ่มบน อยู่บนอาคารถาวรโอ่โถงที่สร้างให้โดยผู้สนับสนุนจากภายนอก รวมทั้งเตาหลอมทองเหลืองที่อยู่ถัดไปด้านหลัง ส่วนนี้ดำเนินการโดยช่างทองเหลืองที่เป็นชายฉกรรภ์หลายรุ่นรวมกันเกือบ 10 คน นำทีมโดย 'พ่อช้าง' รับสั่งงานฝีมือชิ้นใหญ่ๆ เช่น ระฆังใหญ่ที่สุดในประเทศ เป็นต้น รับงานชิ้นเล็กๆ ด้วยเหมือนกัน แต่ถ้ามีงานชิ้นใหญ่นอกพื้นที่ ต้องระดมคนมากๆ ก็ระงับงานชิ้นเล็กไว้ก่อน

กลุ่มที่สอง กลุ่มล่างเป็นช่างทองเหลืองแบบครอบครัวขยาย พ่อ แม่ ลูก เขย สะใภ้ จึงมีหลานสาวตัวน้อยวิ่งเล่นรอบศูนย์ เป็นสีสันที่อบอุ่น กลุ่มนี้จะรับงานปลีกย่อยชิ้นเล็กๆ รับทำตามคำสั่งตั้งแต่ชิ้นเดียวถึงหลายพันชิ้น ช่วงปี 2555–56 ดิฉันเข้ามาคลุกคลีแบบ 'คนใน' ในศูนย์ฯ อยู่ทำงานเป็นลูกมือกิตติมศักดิ์แบบเต็มวัน สัปดาห์ละ 3 วัน จึงมีโอกาสสัมผัสวิถีชีวิตถึงการกินอยู่ การจัดลำดับความสัมพันธ์ การเข้าสังคม ฯลฯ รายละเอียดปลีกย่อยระดับที่บอกได้ว่า ถ้าคนไหนพูดอะไร คนไหนจะแสดงปฏิกิริยาอะไร แล้วอีก 2-3 วันจะมีผลกระทบอย่างไรกับใครบ้าง

ช่วงที่ดิฉันเข้ามาทำงานวิจัยในพื้นที่ปี 2552–54 นั้นยังไม่อะไรเปลี่ยนแปลงในศูนย์ฯ นี้มากนัก เริ่มมีเปลี่ยนแปลงชัดเจนปี 2554–56 ซึ่งดิฉันถอนตัวออกมาแล้วอย่างเป็นทางการ แต่ยังไปมาหาสู่แบบญาติพี่น้องเป็นระยะ ได้ทำซ้ำความสัมพันธ์กับชุมชนนี้ถี่กว่าผู้เป็นญาติพี่น้องสายตรงของคนในชุมชนเสียอีก จึงมีโอกาสเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงอย่างรู้สึกชื่นชมเสมอมา จะค่อยๆ เล่าให้ฟังเมื่อมีเหตุการณ์ที่เชื่อมโยงกันนะคะ

มาวันนี้มีสิ่งที่ดิฉันได้ยินแล้วรู้สึกมีความสุขมาก คือ การยึดมั่นในหลักการ 'หัตถกรรมเครื่องทองเหลืองบ้านปะอาวเป็นงานฝีมือของคนปะอาว' เท่านั้น ขอสรุปด้วยบทสนทนาบางตอนระหว่างดิฉันกับพระครูสุตบูรพาสถิตย์ ในเย็นวันเดียวกันดังนี้

"หลายปีก่อนตอนที่หนูไปให้กำลังใจพ่อช้างประกวดในงานโอทอปที่กรุงเทพฯ แกบอกหนูแบบเศร้าๆ เพราะผิดหวัง ไม่ได้รางวัลที่ 1"

"กรรมการบอกแกว่างานทองเหลืองเป็นงานฝีมือที่ดีมาก แต่ถูกตัดคะแนนต่อยอดสร้างสรรค์"

"หนูให้กำลังใจแกว่าจงภูมิใจในตัวเรา เราสืบทอดมาได้ทุกวันนี้เพราะเราเห็นคุณค่าของฝีมือแบบดั้งเดิม เราไม่ได้ทำเพื่อรางวัล เราทำเพื่อเลี้ยงชีพ เพื่อสืบทอด"

"ยังบอกแกว่างานอื่นๆ นั้นวิ่งตามกระแส อีกสักหน่อยก็ไม่เหลือซากของตัวเอง ทีนี้ละ จะมีคนเอาวอมารับเราไปหอบเอารางวัล"

"ยิ่งเก่า ยิ่งโบราณ ยิ่งมีคุณค่ามากขึ้น จะเหลืองานทองเหลืองปะอาวที่เดี่ยวละ"

ดิฉันกับหลวงพ่อจึงมีโอกาสหัวเราะพร้อมกัน โดยหลวงพ่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า งานที่ท่านศึกษาเป็นการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ จึงมีผู้รู้เข้ามาแสดงความเห็น ให้ข้อเสนอแนะในการปรับรูปแบบหลายอย่าง

"แต่ 'เขา' ฟังแล้วเขาไม่มีความสุข มันไม่ใช่ตัวเขา เราก็ต้องยอม" ดิฉันเห็นด้วยว่าเราควรเปลี่ยนเมื่อเขาพร้อม ยอมรับ และยินดีที่จะเปลี่ยนเท่านั้น

จึงแลกเปลี่ยนกับหลวงพ่อว่า ตอนนี้ก็มีแนวโน้มว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างช้าๆ เพราะ 'พ่อทองคำ' ผู้ดูแลกิจการในศูนย์กลุ่มที่สองกำลังถ่ายโอนงานส่วนหนึ่งให้ 'นายบอย' ลูกชายดูแลแทน ซึ่งนายบอยให้ความสนใจความต้องการของลูกค้ามากกว่าความต้องการของผู้เป็นพ่อ เย็นนี้ดิฉันจึงเห็นผลิตภัณฑ์หน้าตาแปลกๆ หลายอย่าง ตั้งแต่ ปิ่นปักผม ผอบทรงเจดีย์ ชุดพานเชี่ยนหมากขอบแหลมแปลกประหลาด ฯลฯ เรียกว่าสั่งมาโลด ทำให้ได้หมดทุกอย่าง รวมทั้งมีตัวอย่าง 'ของแปลก' ให้ดูเป็นตัวอย่างว่าทองเหลืองนำไปทำเป็นอะไรได้บ้างอีกด้วย

ตอนที่ 4 ดิฉันจะเล่าเรื่อง 'ที่อยู่ที่กินฟรีๆ ไม่เสียตังค์' ค่ะ

หมายเหตุ : ขอเผยแพร่บทความนี้ 1 วันค่ะ (19 ม.ค.58)

หมายเลขบันทึก: 584148เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2015 07:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มีนาคม 2016 15:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

น่าสนใจมากเลยครับ

อยากเห็นภาพเครื่องทองเหลืองว่าจะต่างจากที่อื่นอย่างไร

เอานักรียนไทยทรงดำมาฝากครับ

ขอขอบคุณ อ.ขจิตนะคะที่ให้ความสนใจ ดิฉันจะไปปะอาวทุกวันหยุด สัปดาห์ใดได้เนื้อหาสาระมากก็จะเขียนได้หลายตอน มีภาพประกอบ เผยแพร่เพียงตอนละ 1 วัน

ดิฉันมีความคาดหวังต่อ GTK สังคมเครือข่ายนักวิชาการว่าจะได้รับการ comment ไม่มากก็น้อย เชิญ อ.ขจิต และทุกท่านนะคะ comment ได้ทุกซอกทุกมุม จะนำไปปรับใช้และกลับมารายงานว่าใช้แล้วได้ผลอย่างไร ถือว่าเป็นวิทยาทานนะคะ อยากให้ลูกสาวได้สัมผัสกับบรรยากาศของนักวิชาการค่ะ

อยากเห็นรูปเครื่องทองเหลืองจังครับอาจารย์ (อาจารย์นอกเรื่องครับ ที่อาจารย์สมัครสภา อาจารย์ได้รับเลือกไหม เพราะผมเชียร์อาจารย์ให้น้องๆ พยาบาลช่วยเลือกครับ)

อยากเห็นภาพเครื่องทองเหลือง 2 เสียงแล้ว คืนนี้จะหาภาพมาลงให้นะคะ แต่จะลงในอนุทิน เพราะบันทึกนี้จะลบพรุ่งนี้เช้า ครบ 1 วันค่ะ

สภาการพยาบาล ได้รับเสียงเป็นลำดับที่ 16 หรือ 20 จากท้าย แปลว่าสอบตกค่ะ ขอบคุณที่ข่วยเชียร์ช่วยลุ้นนะคะ ขอบคุณด้วยใจจริงค่ะ

อยากเห็นภาพด้วยคนค่ะพี่

แบบเก่าก็น่าจะขลัง เป็นเอกลักษณ์ แบบใหม่ก็รับใช้คนปัจจุบัน ผลิตชิ้นใหม่ได้รายได้เข้ามา

ขึ้นกับภาวะผู้นำ "คนใน" ละนะคะ เข้าใจคุณค่าของสิ่งที่เป็นมาและจะเป็นไป ทิศทางไหน

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท