ข้อผิดพลาดในการวิจัยช่องว่างของรายได้


ข้อผิดพลาดในการวิจัยช่องว่างของรายได้

นสพ. The Wall Street Journal ฉบับวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ลงบทความ How to Distort Income Inequality เขียนโดยนักการเมืองพรรครีพับลิกันสองท่าน บอกข้อมูลและสาระที่ทั้งน่าฟังและน่าระวัง

ที่น่าระวังก็เพราะเรารู้กันดีว่า พรรครีพับลิกันเขามุ่งส่งเสริมกลไกตลาด เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่เน้นความเท่าเทียมกันในสังคม ข้อความและข้อมูลที่เขานำมาเสนอ อาจมีอคติเจือปนอยู่ไม่มากก็น้อย

ที่น่าฟังคือ เขาบอกว่า ผลการวิจัยอันทรงชื่อเสียง และเป็นที่ถกเถียง เรื่อง income inequality ของสหรัฐอเมริกา รายงานโดยศาสตราจารย์ Thomas Piketty & Emmanuel Saez ในปี ค.ศ. 2003 นั้น การเก็บข้อมูลไม่ครบถ้วน ทำให้รายงานนั้นผิดพลาดอย่างร้ายแรง

ข้อมูลที่ไม่ได้เก็บคือ "รายได้" ส่วนที่ไม่ใช่เงินสดเข้ากระเป๋าหรือเข้าบัญชีธนาคาร แต่เป็นเงินสวัสดิการรักษาพยาบาล เงินสวัสดิการสังคม ที่นายจ้างจ่ายให้ รวมทั้งไม่รวมภาษี กล่าวคือ ข้อมูลของ Piketty – Saez Study คิดเฉพาะเงินรายได้ส่วนที่เข้ากระเป๋าหรือบัญชีธนาคารเท่านั้น ละเลย "รายได้" ส่วนอื่นอีกมากมาย

เขาบอกว่า มีผลการวิจัยใหม่ ที่แก้ข้อผิดพลาดดังกล่าว เป็นผลงานของศาสตราจารย์ Philip Armour & Richard V. Burkhauser แห่งมหาวิทยาลัย คอร์เนลล์ ร่วมกับ Jeff Larrimore สังกัด Congress's Joint Committee on Taxation รายงานใน Southern Economic Journal พบว่า ภาพความไม่เท่าเทียมแตกต่างไปมากมาย ได้แก่ (๑) ระหว่างปี 1979 – 2007 คนที่มีรายได้กลุ่ม 20% ล่างสุด มีรายได้เพิ่มขึ้น 31% ไม่ใช่ลดลง 33% (๒) รายได้ของกลุ่ม 20% ที่สองจากล่าง ซึ่งเรียกกันว่า Working class เพิ่มขึ้น 32% ไม่ใช่ 0.7% (๓) รายได้ของคนกลุ่ม 20% ตรงกลาง ที่เรียกกันว่า middle class เพิ่มขึ้น 37% ไม่ใช่ 2.2%

รายงานของ Piketty – Saez Study บอกว่า ในปี 1979 สหรัฐอเมริกามีอัตราเงินเฟ้อร้อยละ 13.3 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15.5 อัตราความยากจนสูงขึ้น แต่ความยากลำบากทางเศรษฐกิจก็กระจายทั่วถึงดีกว่าในช่วงต่อๆ มา ซึ่งช่วงหลังจากนั้นเศรษฐกิจอเมริกันดีขึ้นมากในยุค ปธน. เรแกน และคลินตั้น ที่อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยลดลง เศรษฐกิจเติบโตดี แต่รายงานนี้บอกว่า ทำให้คนจนยิ่งจนลง และคนรวยยิ่งรวยขึ้น มีคนอเมริกันส่วนน้อยเท่านั้น ที่ได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงนี้

ผู้เขียนบทความบอกว่า ในช่วงดังกล่าว ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่เสรีที่สุด และมีพลวัตสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ เขาแย้งว่า เสรีภาพกับความเท่าเทียมกันของรายได้ไม่เคยอยู่ด้วยกัน ไม่ว่าในประเทศใดและในยุคสมัยใด สหรัฐอเมริกาในช่วงนั้น (ค.ศ. 1979 – 2007) เป็นยุคที่นวัตกร (the innovator) ผู้ขยับตัวคนแรก (the first mover) คนสมองดี (the talented) และคนที่มีชัยชนะต่อเนื่อง (the persistent win out) สร้างความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ รางวัลที่ได้กระจายไม่เท่าเทียมกัน เพราะผู้บริโภคย่อมให้รางวัลแก่คนที่เพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้แก่สินค้า

เขาบอกว่า รายได้ของคนอเมริกันกระจายอย่างเท่าเทียมกันน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ OECD ร้อยละ ๒๔ แต่คนอเมริกันมี per capita GDP สูงกว่า ร้อยละ ๔๒ ความมั่งคั่งของครัวเรือน (household wealth - ผมไม่ทราบว่าคืออะไร) สูงกว่า ร้อยละ ๒๑๐ และจุดกึ่งกลางของรายได้ที่เอาไปจับจ่ายได้ (median disposible income) สูงกว่าร้อยละ ๔๒

อ่านแล้วผม AAR ว่า สังคมเอมริกันก็ดีอย่างนี้ มีการนำเอาหลักฐานข้อมูลมาโต้แย้งต่อสู้กันอย่างเปิดเผย และเป็นอุทาหรณ์ว่า ผลงานวิจัย ก็ต้องถูกตรวจสอบความถูกต้องแม่นยำ ผลงานที่เขาเอามาโต้แย้ง ออกมาตั้งกว่าสิบปี และเป็นที่ฮือฮากันมาก ก็ถูกโต้แย้งอย่างนี้ นี่คือตัวอย่างของการใช้ประโยชน์ของการวิจัยเชิงนโยบาย

ผมงานวิจัยชิ้นหลัง ทำโดยร่วมมือกับพรรคการเมือง จะมีอคติแค่ไหนก็ไม่ทราบ และโปรดสังเกตว่า บทความนี้ใช้คำ "ไม่เท่าแท้" (inequality) ไม่ใช่ "ไม่เท่าเทียม" (inequity)



วิจารณ์ พานิช

๑๓ พ.ย. ๕๗

โรงแรมโฟซีซั่น แม่ริม เชียงใหม่


หมายเลขบันทึก: 583002เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2014 14:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 ธันวาคม 2014 14:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท