สมุดปกขาวเรื่องการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ


มาตรการต่าง ๆ ใน ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะมีผลทำให้จำนวนเยาวชนรายใหม่ที่เสพติด บุหรี่ลดลง เพราะร่าง พ.ร.บ. นี้พัฒนามาจากกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเพื่อให้ทันกับกลยุทธ์ทางการตลาดของอุตสาหกรรมบุหรี่ ที่กฎหมายฉบับปัจจุบันยังไม่ครอบคลุม

สมุดปกขาวเรื่องการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ

สมุดปกขาว

ข้อเท็จจริง และความจำเป็น

ของ

ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

ธันวาคม พ.ศ.2557

ทำไมต้องมีสมุดปกขาว

กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการให้มีการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 ซึ่งใช้มานานแล้ว ให้ทันกับสถาน การณ์ปัจจุบัน และเพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบัน เป็นภาคีของอนุสัญญาควบ คุมการบริโภคยาสูบ ขององค์การอนามัยโลก

เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2554 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้แต่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงและจัดทำร่างพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบขึ้น และนำร่าง พ.ร.บ. เข้าสู่การประชาพิจารณ์ตามขั้นตอน และดำเนินการปรับปรุงจนร่าง พ.ร.บ. ได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบถี่ถ้วน โดยมีการประชุมคณะกรรมการทั้งหมด 66 ครั้ง ขณะนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอร่างกฎหมายดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ก่อนที่จะส่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อตราออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเยาวชนจากการเสพติดบุหรี่

สมาคมผู้ค้ายาสูบไทย และสมาคมผู้ปลูก ผู้บ่มและผู้ค้ายาสูบแห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของบริษัทบุหรี่ ได้ออกมาคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยที่ข้อมูลที่องค์กรเหล่านี้กล่าวอ้างเป็นข้อมูลที่บิดเบือน ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสังคม และผู้ที่เกี่ยวข้องในการพิจารณากฎหมาย

สมุดปกขาวเล่มนี้จึงถูกจัดทำขึ้น เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของ รัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องของทุกฝ่ายในสังคมไทย

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ

ที่ปรึกษาคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุง

และจัดทำร่างกฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบ

เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่


ประเทศไทยและคนไทยจะได้ประโยชน์อะไร

  • จาก ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ
  • มาตรการต่าง ๆ ใน ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะมีผลทำให้จำนวนเยาวชนรายใหม่ที่เสพติด บุหรี่ลดลง เพราะร่าง พ.ร.บ. นี้พัฒนามาจากกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเพื่อให้ทันกับกลยุทธ์ทางการตลาดของอุตสาหกรรมบุหรี่ ที่กฎหมายฉบับปัจจุบันยังไม่ครอบคลุม
  • มาตรการต่าง ๆ ใน ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ส่งเสริมการไม่สูบบุหรี่ และเกื้อหนุนและสร้าง แรงจูงใจให้ผู้สูบบุหรี่เลิกสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น อันจะทำให้รัฐบาลสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ได้มากขึ้น
  • ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศภายใต้อนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบ ภายใต้องค์การอนามัยโลก และไม่ขัดต่อกฎระเบียบต่าง ๆ ขององค์การ การค้าโลก

ผลที่อาจกระทบต่อธุรกิจยาสูบและผู้เกี่ยวข้อง

  • ตลาดบุหรี่ซิกาแรตจะทรงตัว หรือมีขนาดค่อย ๆ เล็กลง ผู้ผลิตและผู้นำเข้าบุหรี่ จะขยายตลาดได้ยากขึ้น ซึ่งนับเป็นผลดีต่อเด็กและเยาวชนไทย
  • ร้านค้าปลีกที่ขายบุหรี่จะได้รับผลกระทบน้อยมาก เนื่องจากร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นการปรับแก้ กฎหมายเกี่ยวข้องกับการโฆษณา และส่งเสริมการตลาดของบริษัทบุหรี่เป็นประเด็นหลัก มีแต่เพียงประเด็นห้ามแบ่งขายบุหรี่เป็นรายมวนเท่านั้น ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับร้านค้าปลีกโดยตรง
  • ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบไม่มีบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการเพาะปลูกหรือการค้าใบยาสูบ ดังนั้นชาวไร่ยาสูบจึงมิใช่ผู้ได้รับผลกระทบจาก ร่าง พ.ร.บ.นี้แต่ประการใด


  • ความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องมี พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่
    • 1.กฎหมายยาสูบ (พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535) ได้มีการบังคับใช้มากว่ายี่สิบปีแล้ว ในขณะที่บริษัทบุหรี่ได้พัฒนาเทคนิคการตลาดใหม่ ๆ รวมทั้งมีผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด เพื่อหาลูกค้ารายใหม่จำนวนมากในแต่ละปี ทดแทนผู้สูบบุหรี่ที่เลิกสูบหรือเสียชีวิต
    • 2.ประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องปรับปรุงกฎหมายควบคุมยาสูบ ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาควบคุม การบริโภคยาสูบขององค์การอนามัยโลก ที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 179 รัฐภาคี ที่ต้องควบคุมกลยุทธ์ทางการตลาดของบริษัทบุหรี่
    • 3.อัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยลดลงมาโดยต่อเนื่อง จากร้อยละ 59 เป็นร้อยละ 39 (เฉพาะในเพศชาย) แต่เนื่องจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น จำนวนคนไทยที่สูบบุหรี่ในปี พ.ศ.2556 จึงลดลงจากปี พ.ศ. 2534 เพียงเล็กน้อย ที่น่าเป็นห่วงคือแนวโน้มการสูบบุหรี่กลับสูงขึ้นในกลุ่มเยาวชนและสตรี
    • 4.การแก้ปัญหาสุขภาพจากการสูบบุหรี่ ต้องทำทั้งการป้องกันเยาวชนไม่ให้เข้าไปเสพติดบุหรี่ และการช่วยเหลือผู้ที่ติดบุหรี่อยู่แล้วให้เลิกสูบ

    ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคยาสูบ (พ.ศ.2554)

    ด้านสังคมและสุขภาพ

    • จำนวนผู้สูบบุหรี่ = 10.9 ล้านคน
    • เป็นเยาวชนอายุ 15-24 ปี = 1,671,194 คน
    • ผู้สูบบุหรี่เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ = 50,710 คน ต่อปี
    • แต่ละคนป่วยหนักก่อนเสียชีวิตเฉลี่ย = 2 ปี
    • แต่ละคนที่เสียชีวิตอายุสั้นลงเฉลี่ย = 12 ปี
    • ความสูญเสียจากการป่วยและเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร= 52,000 ล้านบาท
    • ด้านเศรษฐกิจ
    • 1. ยอดจำหน่ายบุหรี่ซิกาแรตต่อปีเฉลี่ย (ระหว่าง พ.ศ.2534-2556) = 2,008 ล้านซอง
    • จำนวนบุหรี่ที่สูบ (เพื่อให้ง่ายแก่การคำนวณ) = 2,000 ล้านซอง/ปี
    • ค่าใช้จ่ายซื้อบุหรี่ซิกาแรตโดยผู้สูบบุหรี่ = 586 บาท/เดือน/คน
    • จำนวนร้านค้าปลีกยาสูบ (พ.ศ.2554) = 670,000 ราย
    • เฉลี่ยสถิติการจำหน่ายบุหรี่ ต่อร้านค้าปลีก = 2,985 ซอง/ปี
    • = 8 ซอง/วัน หรือ 240 ซอง/เดือน
    • เฉลี่ยกำไรต่อร้านค้าปลีกต่อเดือน (กำไรต่อซองเฉลี่ย = 3.5 บาท) = 840 บาท/เดือน
    • 2. กำไรบริษัทบุหรี่
    • ส่วนแบ่งการตลาด (โดยประมาณ) อยู่ที่
    • Ø โรงงานยาสูบร้อยละ 75, บริษัทฟิลลิป มอร์ริส ร้อยละ 22 และ อื่น ๆ ร้อยละ 3
    • กำไรโรงงานยาสูบต่อปี (ประมาณ) = 6,000 ล้านบาท
    • กำไรบริษัทฟิลลิป มอร์ริส(ประเทศไทย)ต่อปี (ประมาณ) = 3,000 ล้านบาท

    3. ชาวไร่ยาสูบ

    • จำนวนชาวไร่ยาสูบ = 61,058 ราย
    • ผลผลิตใบยาปี 2552/2553 = 62,448,784 กิโลกรัม
    • เป็นใบยาสำหรับส่งออก = ร้อยละ 64.8
    • เป็นใบยาที่รับซื้อโดยโรงงานยาสูบไทย = ร้อยละ 35.2

    • ประเด็นที่แก้ไขเพิ่มเติมใน พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่
      • แก้ไขคำนิยามให้ทันกับกลยุทธ์ของบริษัทบุหรี่
    • -คำว่า "ผลิตภัณฑ์ยาสูบ" ให้หมายรวมถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบใหม่ ๆ อาทิ บุหรี่ไฟฟ้า บารากู่
    • -คำว่า "การโฆษณา" ให้ครอบคลุมการสื่อสารการตลาดรูปแบบใหม่ ๆ อาทิ การใช้สื่อบุคคล เช่น "พริตตี้"
    • เพิ่มมาตรการป้องกันการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบของเยาวชน
    • -ห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบแก่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ให้เท่ากับกฎหมายสุรา (ปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 18 ปี)
    • -ห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ปัจจุบันมีนโยบายห้าม แต่ไม่มีกฎหมาย รองรับ)
    • -ห้ามขายบุหรี่ซิกาแรตที่บรรจุซองน้อยกว่าซองละยี่สิบมวน
    • -ห้ามแบ่งขายบุหรี่ซิกาแรตเป็นมวน ๆ (ปัจจุบันห้ามอยู่แล้ว แต่กฎหมายเขียนไว้ไม่ชัดเจน)
    • เพิ่มข้อห้ามการโฆษณาทางอ้อม
    • -ห้ามการสื่อสารการตลาดในสื่อต่าง ๆ รวมถึงการใช้สื่อบุคคล (พริตตี้)
    • -ห้ามเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับ "กิจกรรมเพื่อสังคม" (CSR) ของบริษัทบุหรี่ ในทุกสื่อ (ปัจจุบันห้ามเพียงสื่อวิทยุและโทรทัศน์)
    • เพิ่มมาตรการอื่น ๆ ตามที่กำหนดในอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก
    • -ห้ามส่วนราชการรับการอุปถัมภ์จากธุรกิจยาสูบ (ปัจจุบันห้ามโดยมติ ครม.)
    • -กำหนดลักษณะของจุดขายปลีกยาสูบ
    • -กำหนดให้บริษัทบุหรี่ต้องจัดส่งรายงานประจำปีให้คณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบ
    • -กำหนดแนวทางและขั้นตอนการติดต่อระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับบริษัทบุหรี่ ในกรณีที่มีความจำเป็น
    • เพิ่มมาตรการคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่
    • -กำหนดให้ผู้ดำเนินการ (เจ้าของสถานที่สาธารณะ) มีหน้าที่รับผิดชอบไม่ให้มีการสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่
    • -ปรับปรุงขั้นตอนการบังคับใช้กฎหมายเขตปลอดบุหรี่
    • ปรับปรุงโครงสร้างคณะกรรมการควบคุมยาสูบในทุกระดับ
    • -กำหนดให้มีคณะกรรมการควบคุมยาสูบระดับประเทศ และคณะกรรมการควบคุมยาสูบ ระดับจังหวัด รวมทั้งให้มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการควบคุมยาสูบ ทั้งนี้เนื่องจากงานควบคุมการบริโภคยาสูบของประเทศไทย ยังขาดโครงสร้างองค์กรรัฐที่จะสนับสนุนการควบคุมยาสูบในระดับจังหวัด ทั้งๆ ที่คนไทยที่สูบบุหรี่กว่าร้อยละ 90 อาศัยอยู่ในต่างจังหวัด

    องค์กร/กลุ่มที่ออกมาคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ

    • สมาคมการค้ายาสูบไทย (Thai Tobacco Trade Association : TTTA) เป็นสมาคมที่บริษัทบุหรี่ข้ามชาติ ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด ผู้จำหน่ายบุหรี่มาร์ลโบโรและแอลแอนด์เอ็ม สนับสนุนให้มีการจัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2555 และสนับสนุนการดำเนินการจนถึงปัจจุบัน
    • สมาคมผู้บ่ม ผู้เพาะปลูกและผู้ค้าใบยาสูบไทย (สยท.) ซึ่งเป็นสมาคมเครือข่ายของสมาคมผู้ปลูก ยาสูบนานาชาติ International Tobacco Growers Association (ITGA) ซึ่งสนับสนุนโดยการร่วม ลงขันของบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ เพื่อเป็นองค์กรบังหน้า ในการเคลื่อนไหวคัดค้านมาตรการควบคุม ยาสูบทั้งระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ
    • โรงงานยาสูบไทย ไม่ได้แสดงท่าทีคัดค้านที่ชัดเจน แต่สหภาพแรงงานโรงงานยาสูบได้แสดงความ เห็นคัดค้าน ในบางมาตราระหว่างการทำประชาพิจารณ์
    • บริษัทฟิลลิป มอร์ริส คัดค้านมาตรการที่เกี่ยวกับการห้ามโฆษณาและส่งเสริมการขาย และขอให้มีตัวแทนของผู้ประกอบธุรกิจยาสูบอยู่ในคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบด้วย
    • จากเอกสารลับของบริษัทบุหรี่

      "สมาคมการค้าผลิตภัณฑ์บุหรี่ ซึ่งเป็นองค์กรบังหน้าที่ดีที่สุดของเรา กำลังได้รับการเสริมสร้าง ให้เข้ม แข็งยิ่งขึ้นในหลายๆ ประเทศ สมาคมระดับประเทศหลายๆ แห่งกำลังได้รับการจัดตั้งขึ้น"

      บริษัท บริติสอเมริกันโทแบคโค ปี พ.ศ. 2522

      จากเอกสารลับของบริษัทบุหรี่

      "เรายังได้ช่วยจัดตั้งกลุ่มชาวไร่ยาสูบในหลายๆประเทศอีกด้วย..หลายประเทศที่เราได้ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับชาวไร่ยาสูบและเป็นประเทศที่มีความสำคัญอย่างมากในการผลักดันให้องค์กร FAO เปลี่ยนจุดยืน ไม่ต่อต้านการปลูกใบยาสูบ ได้แก่ มาลาวี ซิมบับเว อาร์เจนตินาและไทย"

      ฟิลลิป มอร์ริส ปี พ.ศ.2528


    ตอบข้อโต้แย้งของผู้คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ

    ข้อคัดค้าน

    ข้อเท็จจริง

    กฎหมายนี้ควรจะให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้พิจารณา

    การพูดเช่นนี้ถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติแก่รัฐบาลปัจจุบันและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

    นี่เป็นกลยุทธ์ของธุรกิจข้ามชาติที่ต้องการหน่วงเหนี่ยวให้การ ออกกฎหมายล่าช้าออกไปเพื่อที่บริษัทบุหรี่จะได้วิ่งเต้นขัดขวาง ยับยั้งกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ง่ายขึ้น เพื่อทำให้เนื้อหา ของกฎหมายอ่อนลง

    ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน

    การที่อัตราการสูบบุหรี่ของชายไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ยังสูงถึง ร้อยละ 40 และอัตราการสูบบุหรี่ในเยาวชนที่สูงขึ้น กอรปกับการ สูบบุหรี่เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตอันดับที่สองของคนไทย นับว่าเป็นสถานการณ์เร่งด่วนที่รัฐบาลไทยต้องเร่งแก้ไข ด้วยมาตรการต่าง ๆ อย่างเต็มที่

    ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบเน้นการควบคุมกลยุทธ์ ทางการตลาดและการส่งเสริมการขายของบริษัทบุหรี่ เพื่อลด จำนวนเยาวชนที่จะเสพติดบุหรี่ใหม่ การป้องกันเด็กๆ ไม่ให้ติดบุหรี่เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของสังคม และเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะเด็กไทยที่ติดบุหรี่ 70% จะไม่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ตลอดชีวิต

    ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะกระทบโชห่วย ส่งผลกระทบต่อร้านค้าปลีกกว่า 5 แสนราย สร้างความเสียหายแก่ ธุรกิจ รวมไปถึงเศรษฐกิจของ ประเทศโดยรวม

    ร่าง พ.ร.บ.มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับร้านค้าปลีก คือ ห้ามฝ่าฝืนทำ การโฆษณา ณ จุดขาย และห้ามจำหน่ายบุหรี่เป็นมวนๆ (ต้อง ขายเป็นซอง) เพื่อทำให้เด็กๆ ที่มีกำลังซื้อน้อยเข้าถึงบุหรี่ได้ยาก ขึ้น ทำให้เกิดนักสูบหน้าใหม่น้อยลง ขณะนี้เด็กไทยสามารถซื้อบุหรี่ได้ง่าย โดยร้อยละ 70 ของเด็กที่สูบบุหรี่ซื้อแบบรายมวน

    ขณะนี้มีหลายประเทศทั่วโลกออกกฎหมายนี้ รวมทั้ง 5 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ ลาว พม่า บรูไน สิงคโปร์ และมาเลเชีย

    • สมาคมผู้ค้ายาสูบไทยเองเป็นผู้ให้ข้อมูลว่า ส่วนแบ่งยอด ขายบุหรี่เป็นร้อยละ 12.5 ของร้านค้าปลีก ซึ่งหากข้อมูลนี้เป็น จริงตามที่สมาคมผู้ค้ายาสูบอ้าง และหากร่าง พ.ร.บ.มีประสิทธิ ภาพสูงสุด โดยทำให้ยอดขายสินค้ายาสูบลดลงได้ถึงร้อยละ 10 ส่วนแบ่งรายได้ยอดขายบุหรี่ของร้านค้าปลีกก็จะลดจากร้อยละ 12.5 เหลือ 11.25 (12.5-1.25 = 11.25)
    • ความจริงจึงมีอยู่ว่ายอดขายบุหรี่ที่เป็นร้อยละ 12.5 ของยอดขายทั้งหมด ลดลงเหลือร้อยละ 11.25 ทำให้ร้าน โชห่วยเดือดร้อนขนาดหนักตามที่สมาคมผู้ค้ายาสูบไทย กล่าวอ้างเป็นความจริงหรือไม่
    • สมาคมผู้ค้ายาสูบไทยได้รับการตั้งขึ้นและสนับสนุนการดำเนินการโดยบริษัทฟิลลิป มอร์ริส ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ไม่ยากว่า แท้จริงแล้วบริษัทฟิลลิป มอร์ริส ต่างหากที่ต้องการคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ เพื่อปกป้องผลกำไรปีละ 3,000 ล้านบาทในประเทศไทย แต่เนื่องจากสังคมไม่ให้น้ำหนักการคัดค้านของบริษัทบุหรี่ บริษัทฟิลลิป มอร์ริสจึงใช้กลยุทธ์ผ่านทางร้านค้าปลีก ออกมาคัดค้าน
    • การที่อ้างว่าร่าง พ.ร.บ. จะส่งผลกระทบไปถึงเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวมจึงเป็นข้ออ้างที่เลื่อนลอยที่สุด

    การกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ขายผลิตภัณฑ์ยาสูบเป็น 18 ปีบริบูรณ์ สร้างภาระแก่ผู้ค้าปลีกมากเกินไป

    การกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ขายผลิตภัณฑ์ยาสูบ เป็นข้อกำหนด ตามอนุสัญญาควบคุมยาสูบองค์การอนามัยโลก และเพื่อให้ สอดคล้องกับ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ที่กำหนดให้ ผู้ปกครองห้ามเด็กทำหรือประกอบอาชีพซึ่งหมายรวมถึงการขายผลิตภัณฑ์ยาสูบ ซึ่งเป็นสินค้าเสพติดและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เหตุผลคือ การปล่อยให้เด็ก ๆ คุ้นเคยกับสินค้ายาสูบ สุดท้ายจะนำไปสู่การเสพติดบุหรี่ของเด็ก

    ร่าง พ.ร.บ.ใหม่ ก่อให้เกิดภาระเกินสมควรแก่ผู้จำหน่ายปลีกบุหรี่ เช่น การกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องจัดแสดงสื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์ ณ จุดขาย

    มาตรการที่กำหนดให้ผู้ค้าปลีก (ร้านโชห่วย/ร้านสะดวกซื้อ) ต้องแสดงสื่อเพื่อประชาสัมพันธ์การเลิกการสูบบุหรี่นั้น กฎหมาย กำหนดให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้จัดทำสื่อรณรงค์แจกจ่ายให้ กับร้านค้าทั่วประเทศ โดยเจ้าของร้านไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่ อย่างใด อีกทั้งสมาคมผู้ค้ายาสูบไทยเองเป็นผู้เสนอให้รัฐบาล เน้นไปที่การให้การศึกษาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลดอัตรา การสูบบุหรี่ ดังนั้นการแสดงสื่อรณรงค์ ณ จุดขายปลีก จะเกิดผลสูงในการให้การศึกษาผู้สูบบุหรี่ถึงพิษภัยของยาสูบ


    ข้อคัดค้าน

    ข้อเท็จจริง

    การบังคับให้ร้านค้าปลีกจัดส่งรายงานประจำปีให้แก่รัฐบาล สร้างภาระกับผู้ค้าปลีกมากเกินไป

    ร่าง พ.ร.บ. ใหม่ กำหนดให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบเท่านั้นที่ต้องส่งรายงานประจำปี ไม่เกี่ยวข้องกับร้านค้าปลีกเลย เหตุที่กำหนดให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าบุหรี่ต้องส่งรายงานประจำปี ก็เพื่อตรวจสอบว่าบริษัทบุหรี่ได้ปฏิบัติตามร่าง พ.ร.บ. ในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรการการตลาดและส่งเสริมการขาย และการบริจาคเพื่อแทรกแซงนโยบายหรือไม่อย่างไร

    ร่าง พ.ร.บ.ใหม่ให้อำนาจแก่ข้าราช การ ออกกฎหมายลูกต่างๆ จำนวนมาก ในภายหลังตามอำเภอใจ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการทางรัฐสภาและการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย

    อำนาจในการออกระเบียบต่างๆ ในร่าง พ.ร.บ.ใหม่ ยังคง เหมือนกฎหมายเดิม คือการแจ้งรายการส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ ยาสูบ และการพิมพ์คำเตือนบนซองยาสูบ

    ส่วนการที่รัฐมนตรีมีอำนาจออกประกาศเพิ่มเติม อาทิ การออกประกาศสถานที่ห้ามสูบบุหรี่เพิ่มเติม การกำหนดสถานที่ห้ามจำหน่ายยาสูบเพิ่มเติม การห้ามการตลาดรูปแบบใหม่ ๆ หากประเด็นเหล่านี้ต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภา จะเป็นภาระแก่รัฐสภามากเกินจำเป็น และไม่ทันต่อสถานการณ์ที่สำคัญร่าง พ.ร.บ.ใหม่และระเบียบต่างๆ ที่จะกำหนดออกมาไม่มีส่วนใดที่เกี่ยวข้องกับชาวไร่ยาสูบและผู้บ่มใบยาเลย

    ร่าง พ.ร.บ. ใหม่ จำกัดสิทธิไม่ให้มีตัวแทนของชาวไร่หรือธุรกิจยาสูบเข้าไปมีส่วนร่วมในองค์ประกอบของคณะ กรรมการในระดับต่างๆ ทั้งที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง

    การไม่ให้มีตัวแทนของชาวไร่หรือธุรกิจยาสูบอยู่ในคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบ เป็นข้อกำหนดของอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก ที่ภาคีสมาชิกทั้ง 179 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องยึดถือปฏิบัติ เพื่อไม่ให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจยาสูบแทรกแซงการกำหนดนโยบายควบคุมยาสูบ ซึ่งถือว่าเข้าข่ายผล ประโยชน์ทับซ้อน

    ร่าง พ.ร.บ. ใหม่ อาจส่งผลต่อรายได้ภาษีสรรพสามิต ของกระทรวงการคลังจากยาสูบกว่า 60,000 ล้านบาทต่อปี

    ร่างกฎหมายนี้ไม่เกี่ยวกับภาษีสรรพสามิตยาสูบแต่อย่างใด

    ขณะที่ในความเป็นจริงแล้ว ธุรกิจบุหรี่คือฝ่ายที่พยายามขัด ขวางการที่รัฐบาลจะมีรายได้จากภาษีบุหรี่เพิ่มขึ้น โดยการวิ่งเต้นขัดขวางการขึ้นภาษีบุหรี่ทุกครั้ง เพราะจะทำให้กำไรของบริษัทบุหรี่ลดลง จากการที่คนสูบบุหรี่น้อยลง และเด็ก ๆ ติดบุหรี่น้อยลง


    ข้อคัดค้าน

    ข้อเท็จจริง

    ร่างกฎหมายดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่ออาชีพและวิถีชีวิตการทำมาหากินของชาวไร่ยาสูบ จะทำให้ชาวไร่ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก

    ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ไม่มีส่วนใด ที่เกี่ยวกับการทำไร่ การบ่มใบยาและการค้าใบยาสูบเลย ชาวไร่ยาสูบจึงสามารถที่จะมีวิถีชีวิต ทำมาหากิน ทำไร่ยาสูบ ตามปกติดังเช่นในปัจจุบัน

    • ข้อมูลจากกรมสรรพสามิตระบุว่าในฤดูการผลิตปี 2552/ 2553 ประเทศไทยมีชาวไร่ยาสูบ 61,058 ราย ผลิตใบยาได้ 62,448,781 กิโลกรัม โดยร้อยละ 64.8 เป็นใบยาสำหรับส่งออก และร้อยละ 35.2 รับซื้อโดยโรงงานยาสูบไทย

    จะเห็นว่า 2 ใน 3 ของผลผลิตใบยาสูบไทยเป็นผล ผลิตสำหรับส่งออก ซึ่งปัจจัยที่มากระทบส่วนนี้จะมาจากกลไกการตลาดโลก ไม่ใช่มาตรการควบคุมยาสูบภายใน ประเทศไทย

    ในส่วนของชาวไร่ยาสูบที่ปลูกใบยาสำหรับโรงงานยาสูบไทย ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อความต้อง การใบยาสูบของโรงงานยาสูบไทย จะมาจากการแข่งขันแย่งส่วนแบ่งตลาด ระหว่างบุหรี่นำเข้าจากต่างประเทศ และบุหรี่ที่ผลิตโดยโรงงานยาสูบไทย โดยหากบุหรี่ต่างประเทศมีส่วนแบ่งตลาดในประเทศไทยเพิ่มขึ้น โรงงานยาสูบก็จะมีความต้องการใบยาสูบจากชาวไร่ยาสูบไทยน้อยลง

    จากสถิติที่พบว่าจำนวนประชากรไทยที่สูบบุหรี่ลดลงจาก 12.2 ล้านคน เหลือ 10.7 ล้านคน ระหว่างปี 2534-2556 ขณะที่ยอดจำหน่ายบุหรี่ซิกาแรต ในปี 2534 เท่ากับ 1,942 ล้านซอง แต่ในปี 2556 เท่ากับ 2,172 ล้านซอง หรือเฉลี่ยเท่ากับ 2,000 ล้านซองต่อปีตลอดช่วง 23 ปีที่มีการรณรงค์ควบคุมการบริโภคยาสูบอย่างต่อเนื่อง ย่อมเป็นหลักฐานยืนยันว่ามาตรการในการควบคุมการบริโภคยาสูบ ไม่ใช่ปัจจัยที่จะส่งผลต่ออาชีพชาวไร่ยาสูบไทย แต่การที่จำนวนชาวไร่ยาสูบไทยในจังหวัดต่างๆ ลดลง เพราะโรงงานยาสูบไทยเสียส่วนแบ่งจากที่เคยครองตลาดในประเทศ 100 เปอร์เซ็นต์เมื่อปี 2534 ลดลงเหลือประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2556

    กฎหมายปัจจุบันมีจุดอ่อน ไม่ครอบคลุมกลยุทธ์ทางการตลาดของบริษัทบุหรี่ เช่น

    • ผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดใหม่ๆ เช่น บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า บุหรี่ไฟฟ้า
    • การตลาดรูปแบบใหม่ๆ เช่น การตลาดผ่านพริตตี้ การโฆษณาทางอินเทอร์เน็ท ทางไลน์ ทางเฟซบุ๊ค
    • การโฆษณาทางอ้อม เช่น การอุปถัมภ์โดยใช้ชื่อบริษัทบุหรี่
    • การทำกิจกรรมที่อ้างว่าทำเพื่อสังคมโดยบริษัทบุหรี่ (ซีเอสอาร์)
    • การโฆษณา ณ จุดขาย
    • การแบ่งขายบุหรี่เป็นมวนๆ

    จุดอ่อนของกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ฉบับปัจจุบัน

    • เน้นไปที่ผู้ที่สูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบ แทนที่จะเน้นให้เจ้าของสถานที่เป็นผู้รับผิดชอบดูแลไม่ให้มีการสูบบุหรี่ในสถานที่นั้นๆ
    • การบังคับใช้กฎหมายมีหลายขั้นตอน ใช้เวลามากในการดำเนินคดีแต่ละกรณี
    • ไม่มีโครงสร้างกลไกสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายที่ชัดเจนในระดับจังหวัด

    ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม โปรดติดต่อ

    มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ โทร. 02 2781828

    www.ashthailand.or.th

หมายเลขบันทึก: 582848เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2014 19:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ธันวาคม 2014 19:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท