การบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี : มองเทศมองไทย


การบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี : มองเทศมองไทย

Managementof Good : afestivalforThailand

ดร.ธิติวุฒิ หมั่นมี[๑]

Dr.Thitiwut Manmee


การบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี : มองเทศมองไทย ผู้เขียนขึ้นต้นบทความนี้ด้วยชื่อบทความด้วยเหตุผลที่ว่าต้องการสื่อถึงการบริหารกิจการบ้านเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันโดยผู้เขียนเน้นที่มองเทศแล้วกลับมามองไทย กล่าวคือ มองเทศในที่นี้หมายถึงประเทศออสเตรเลีย ทำไมต้องเป็นประเทศออสเตรเลีย ต้องเกริ่นหรืออารัมภบทก่อนว่าอะไรที่ทำให้ผู้เขียนสนใจที่จะเขียนบทความเกี่ยวกับการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีโดยเน้นไปที่ประเทศออสเตรเลีย ที่มาของบทความนี้เริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้อนุมัติให้ผู้บริหารหลักสูตรบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาการจัดการเชิงพุทธ และสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ไปศึกษาดูงาน ณ ประเทศออสเตรเลียซึ่งผู้เขียนเป็นหนึ่งในคณะผู้เดือนเดินทางไปศึกษาดูงานในครั้งนี้ด้วย จากการไปศึกษาดูงานเป็นระยะเวลา ๙ วัน ผู้เขียนได้มองเห็นการบริหารจัดการบ้านเมืองของประเทศของเขานั้นเป็นระเบียบเลียบร้อย (ทั้งนี้ในระหว่างการเยี่ยมชมรัฐสภาได้มีโอกาสเข้าร่วมฟังการประชุมของวุฒิสภาด้วย) แต่ก่อนที่จะได้วิเคราะห์ถึงการบริหารจัดการบ้านเมืองของประเทศออสเตรเลีย และกลับมามองประเทศไทยนั้นผู้เขียนจะนำเสนอข้อมูลทั่วไปหรือข้อมูลพื้นฐานของประเทศออสเตรเลียดังนี้

ประเทศออสเตรเลีย มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีรูปแบบรัฐบาลเป็นสหพันธรัฐ และระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ประมุขแห่งรัฐของออสเตรเลียคือสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ ๑ ซึ่งพระองค์ปัจจุบันคือสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ ๒ พระอิสริยยศในออสเตรเลียคือ Elizabeth the Second, by the Grace of God Queen of Australia and Her other Realms and Territories, Head of the Commonwealthนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ธงชาติของออสเตรเลียมีรูปธงชาติอังกฤษ (พร้อมด้วยดาวแห่งสหพันธรัฐและดาวกางเขนใต้)

ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (แม่แบบ:Governor-general) เป็นผู้แทนพระองค์ในออสเตรเลียของพระประมุขซึ่งประทับอยู่ในสหราชอาณาจักร รัฐธรรมนูญของออสเตรเลียระบุว่า "อำนาจบริหารเป็นของสมเด็จพระราชินี และทรงใช้อำนาจนั้นผ่านผู้สำเร็จราชการในฐานะผู้แทนพระองค์ของสมเด็จพระ ราชินี" อำนาจ ของผู้สำเร็จราชการนั้นรวมถึงการแต่งตั้งรัฐมนตรีและผู้พิพากษา การยุบสภา และการลงนามบังคับใช้กฎหมาย ผู้สำเร็จราชการคนปัจจุบันคือพลตรีไมเคิล เจฟเฟอรี ผู้สำเร็จราชการยังดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดด้วย ในทางธรรมเนียมปฏิบัตินั้น ผู้สำเร็จราชการจะใช้อำนาจตามคำแนะนำของรัฐมนตรี สภาบริหารสหพันธรัฐ (Federal Executive Council) เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ให้คำแนะนำแก่ผู้สำเร็จราชการ โดยมีผู้สำเร็จราชการเป็นประธานการประชุม และรัฐมนตรีทุกคนมีสมาชิกภาพตลอดชีพ แต่ในทางปฏิบัติจะเรียกประชุมเฉพาะรัฐมนตรีคณะปัจจุบัน รัฐบาลจะมาจากพรรคที่ได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งการที่สมเด็จพระราชินีทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแห่งออสเตรเลียให้เป็นตัวแทนพระองค์ในการแนะนำรัฐบาลออสเตรเลียที่ได้รับการเลือกตั้ง ผู้สำเร็จราชการจะแต่งตั้งรัฐมนตรีตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี ระบบการปกครองของออสเตรเลียจะยึดตามธรรมเนียมเสรีประชาธิปไตย ซึ่งรวมถึงการยอมรับความต่างทางศาสนา ตลอดจนเสรีภาพในการแสดงออกและการสมาคม รัฐธรรมนูญของออสเตรเลียได้อธิบายหน้าที่ต่าง ๆของรัฐบาลออสเตรเลีย เช่น ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ และการค้าขาย การป้องกันประเทศ ตลอดจนการเข้าเมือง รัฐและเขตปกครองต่าง ๆ จะเป็นผู้รับผิดชอบต่อเรื่องที่ไม่ได้มอบหมายให้แก่รัฐบาลสหพันธรัฐโดยจะมีกลุ่มทางการเมืองสองกลุ่มหลักซึ่งมักได้รับโอกาสจัดตั้ง รัฐบาลทั้งในระดับสหพันธรัฐ และในรัฐต่าง ๆ ซึ่งก็คือพรรคแรงงานออสเตรเลีย และรัฐบาลผสมซึ่งเป็นการรวมกลุ่มอย่างเป็นทางการของพรรคเสรีนิยมและพรรคร่วม ย่อย ๆ ซึ่งเลียกว่าพรรคชาติพรรคเสียงข้างมากหรือรัฐบาลผสมนี้จะกลายเป็นรัฐบาล ซึ่งจะได้รับการตัดสินในการเลือกตั้งโดยพลเมืองชาวออสเตรเลีย พรรคการเมืองหลักหรือกลุ่มพรรคการเมืองอื่นจะเลียกว่า 'ฝ่ายค้าน'

ออสเตรเลีย มีรัฐสภาเก้าแห่ง หนึ่งสภาของสหพันธ์ หกสภาของแต่ละรัฐ และสองสภาของแต่ละดินแดน นอกจากนี้ยังมีรัฐบาลท้องถิ่นประมาณ ๗๐๐ รัฐบาล ออสเตรเลียกลายเป็นประเทศที่มีการปกครองประเทศแบบเดียวตั้งแต่ ๑ มกราคม ๑๙๐๑ แม้ว่าจะมีการแบ่งออกเป็นรัฐและเขตปกครองซึ่งมีการปกครองด้วยตนเองก็ตาม แต่เราก็ยังรวมใจกันเป็นหนึ่งเดียว รัฐสภาของสหพันธ์ใช้ระบบสองสภา ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร (House of Representative) และวุฒิสภา (Senate) สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิก ๑๕๐ คน มาจากการเลือกตั้ง โดยแบ่งเป็นเขตเลือกตั้ง มีผู้แทนเขตละหนึ่งคน วุฒิสภามีสมาชิก ๗๖ คน มาจากแต่ละรัฐ รัฐละ ๑๒ คน และจากดินแดน (เขตเมืองหลวงและนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี) ละสองคน ทั้งสองสภาจัดการเลือกตั้งทุกสามปี สมาชิกวุฒิสภามีวาระ ๖ ปี โดยการเลือกตั้งแต่ละครั้งจะเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมด

ออสเตรเลียมีพรรคการเมืองหลักสามพรรค ได้แก่พรรคแรงงานออสเตรเลีย พรรคเสรีนิยม และพรรคชาติ ตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๔๖๕

รัฐบาลของสหพันธ์มาจากพรรคแรงงานหรือเป็นรัฐบาลผสมของพรรคเสรีนิยมและพรรคชาติ ปัจจุบัน นายกรัฐมนตรีเควิน รัดด์ มาจากพรรคแรงงาน พรรคอื่น ๆ ที่มีบทบาทได้แก่ออสเตรเลียนเดโมแครต และออสเตรเลียนกรีนส์ โดยมักได้ที่นั่งในวุฒิสภา

วัฒนธรรมของออสเตรเลีย

สังคมออสเตรเลียประกอบด้วยผู้คนที่มีความหลากหลายของภูมิหลังทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ ภาษา และศาสนา ตลอดจนลักษณะเฉพาะของสังคมออสเตรเลียยุคใหม่ ชาวอะบอริจินและชาวเกาะ Torres Strait อาศัยอยู่ในออสเตรเลียมาเป็นเวลาหลายหมื่นปี ชาวออสเตรเลียส่วนใหญ่จะอพยพเข้ามาหรือสืบเชื้อสายผู้อพยพที่เข้ามาใน ระหว่างช่วงสองร้อยปีที่ผ่านมาจากกว่า ๒๐๐ ประเทศ ภาษาพูดที่ใช้มากที่สุดในออสเตรเลียคือภาษาอังกฤษ และศาสนาที่นับถือมากที่สุดคือศาสนาคริสต์ แม้ว่าจะมีการใช้ภาษาต่างชาติและศาสนาอื่นอย่างแพร่หลายก็ตาม

เมือง รัฐ และเขตการปกครอง

ออสเตรเลียถูกแบ่งออกเป็นหกรัฐและสองเขตปกครอง

๑. รัฐแคนเบอร์รา เป็นเมืองหลวงและเป็นศูนย์กลางของการปกครอง ซึ่งเมืองนี้ตั้งอยู่ห่างจากเมืองซิดนีย์ไปทางตอนใต้ประมาณ ๒๙๐ กิโลเมตรในอาณาเขตนครหลวงของออสเตรเลีย (ACT) แคนเบอร์ราตั้งอยู่บนดินแดนโบราณแห่งชาว Ngunnawal พื้นเมือง และชื่อของเมืองหมายความว่า 'สถานที่นัดพบ' จากคำในภาษาอะบอริจิน 'Kamberra' นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์กลางของสถาบันสำคัญของประเทศ เช่น รัฐสภาออสเตรเลีย และศาลสูงของออสเตรเลีย

๒. รัฐนิวเซาท์เวลส์ เป็นรัฐที่เก่าแก่ที่สุดและมีประชากรหนาแน่นที่สุดของออสเตรเลีย แต่เดิมมีการตั้งขึ้นเพื่อใช้เป็นทัณฑนิคมบนชายฝั่ง Port Jackson ซึ่งในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงอันพลุกพล่านอย่างซิดนีย์ กว่าหนึ่งในสามของชาวออสเตรเลียอาศัยอยู่ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ และซิดนีย์ เป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ

๓. รัฐวิกตอเลียมีขนาดเล็กที่สุดในรัฐบนแผ่นดินใหญ่แต่มีประชากรหนาแน่นเป็นอันดับที่สอง เมลเบิร์นเป็นเมืองหลวงของรัฐ และ เป็นเมืองที่มีประชากรหนาแน่นเป็นอันดับสองของออสเตรเลีย ระหว่างช่วงตื่นทองในทศวรรษที่ ๑๘๕๐ เมลเบิร์นได้กลายเป็นหนึ่งในเมืองที่ใหญ่ที่สุดและร่ำรวยที่สุดในโลก ในบางครั้งเมลเบิร์นจะถูกเลียกว่า "เมืองหลวงแห่งวัฒนธรรมของออสเตรเลีย" และเป็นแหล่งกำเนิดของภาพยนตร์ โทรทัศน์ ศิลปะ การเต้นรำ และดนตรีของออสเตรเลีย นอกจากนี้ความกระตือรือร้นในด้านกีฬาของรัฐวิกตอเลียยังถือเป็นตำนานอีกด้วย และเกมฟุตบอลตามแบบออสเตรเลียก็เริ่มต้นที่นี่

๔. รัฐควีนส์แลนด์เป็นรัฐที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของออสเตรเลีย เมืองหลวงของรัฐคือบริสเบน ซึ่งเป็นเมืองที่มีประชากรหนาแน่นเป็นอันดับสามของออสเตรเลีย ชาวควีนส์แลนด์จะเพลิดเพลินไปกับแสงอาทิตย์และความอบอุ่นของฤดูหนาวมากกว่า รัฐอื่น ๆ ในออสเตรเลีย และเหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับกิจกรรมกลางแจ้งและกีฬาทางน้ำทุกประเภท นอกจากนี้ รัฐควีนส์แลนด์ยังเป็นถิ่นกำเนิดของแนวปะการัง Great Barrier Reef ที่มีชื่อเสียงก้องโลก อีกทั้งยังมีพื้นที่ขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลก ๕ แห่ง

๕. รัฐเซาท์ออสเตรเลียเป็นรัฐที่ตั้งอยู่ส่วนกลางทางตอนใต้ของประเทศ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่แห้งแล้งที่สุดของทวีปบางพื้นที่ รัฐเซาท์ออสเตรเลียเป็นรัฐที่ใหญ่ที่สุดอันดับสี่ของออสเตรเลีย และมีอาณาเขตร่วมกับรัฐบนแผ่นดินใหญ่ทั้งหมดตลอดจนเขตปกครองนอร์ทเทิร์นเท อริทอรี เมืองหลวงของรัฐคือเมืองแอดิเลด ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับห้าของออสเตรเลีย รัฐเซาท์ออสเตรเลียมีงานศิลปะอันมีชีวิตชีวา และในบางครั้งยังเป็นที่รู้จักกันในนามของ 'เมืองแห่งเทศกาล' อันมีเทศกาลต่าง ๆ กว่า ๕๐๐ รายการเกิดขึ้นทุกปี

๖. เขตการปกครองนอร์ทเทิร์นเทอริทอ รี ซึ่งจุดเหนือสุดของออสเตรเลียจะอยู่บนเขตปกครองนอร์ทเทิร์นเทอริทอ รี เมืองหลวงของเขตปกครองนี้คือเมืองดาร์วินซึ่งตั้งอยู่บนชายฝั่งทางเหนือ และเมืองอลิซสปริงส์อันเป็นเมืองในเขตปกครองที่มีความสำคัญ ในทางภูมิศาสตร์ เมืองอลิซสปริงส์ถือเป็นหัวใจของออสเตรเลีย เนื่องจากตั้งอยู่เกือบใจกลางของประเทศพอดี เขตปกครองนอร์ทเทิร์นเทอริทอรีจะมีหิน Uluru อันเลื่องชื่อ (Ayers Rock), Kata Tjuta (Olgas) และอุทยานแห่งชาติ Kakadu

๗. รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียเป็นรัฐที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในออสเตรเลีย ประชากรประมาณสามในสี่ของรัฐจะอาศัยอยู่ในเมืองหลวงที่ชื่อเพิร์ท ซึ่งเป็นเมืองที่มีประชากรหนาแน่นเป็นอันดับสี่ของออสเตรเลีย ทางตะวันออกของรัฐโดยมากเป็นทะเลทราย ขณะที่ทางตะวันตกของรัฐจะรายล้อมไปด้วยแนวชายฝั่งอันบริสุทธิ์ระยะทางเกือบ ๑๓,๐๐๐ กิโลเมตร ในทศวรรษที่ ๑๘๙๐ มีการค้นพบทองและการทำเหมืองแร่ยังคงเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของ รัฐ

๘. รัฐแทสเมเนียถูกแยกออกมาจากออสเตรเลียแผ่นดินใหญ่โดยช่องแคบ Bass และเป็นรัฐที่เล็กที่สุดในออสเตรเลีย เมืองโฮบาร์ตซึ่งเป็นเมืองหลวงก่อตั้งขึ้นในปี ๑๘๐๔ โดยใช้เป็นทัณฑนิคม และเมืองหลวงที่มีความเก่าแก่ที่สุดเป็นอันดับสองรองมาจากซิดนีย์ พื้นที่หนึ่งในห้าของรัฐแทสเมเนียครอบคลุมไปด้วยอุทยานแห่งชาติและพื้นที่ ป่าธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเกาะอันเต็มไปด้วยภูเขาที่มากที่สุดในโลก ซึ่งเป็นข้อมูลทางธรณีวิทยาที่สะท้อนให้เห็นว่าออสเตรเลียและทวีปแอนตาร์ กติกาเคยเชื่อมต่อกันเมื่อหลายล้านปีก่อน

นอกจากนี้ ออสเตรเลียยังปกครองหมู่เกาะ Ashmore และ Cartier เกาะ Christmas หมู่เกาะ Cocos (หรือ Keeling) หมู่เกาะ Coral Sea หมู่เกาะ Heard และ McDonald เกาะ Norfolk และเขตปกครองออสเตรเลียนแอนตาร์กติกเทอริทอรี (ซึ่งครอบคลุมทวีปแอนตร์กติกอยู่ ๔๒ เปอร์เซ็นต์) ในฐานะเขตแดนด้านนอก

การเมืองการปกครอง และระบบราชการของประเทศออสเตรเลีย

Australia แบ่งการเมือง การปกครองและการบริหารราชการ เป็น ๓ ระดับ คือระดับประเทศหรือระดับสหพันธรัฐ (Federal) ระดับรัฐ (State) หรือเขตปกครองพิเศษ (Territory) และระดับท้องถิ่น (Local)

ระดับ

รายละเอียด


ระดับประเทศหรือระดับสหพันธรัฐ จะมีการเลือกตั้ง โดยมี ๒ สภาคือสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งได้จากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน พรรคที่ได้เสียงข้างมากในสภาล่าง จะได้รับเชิญให้ตั้งรัฐบาล (Federal Government) เพื่อทำการบริหารประเทศ โดยจะมีการกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของการบริหารงานแต่ละระดับ และผู้นำของฝ่ายบริหารในระดับ Federal คือ นายกรัฐมนตรี (Prime Minister) รูปด้านซ้ายคือ Kevin Rudd นายกรัฐมนตรีปัจจุบัน (๒๐๑๔)


ระดับมลรัฐ (State) Australia ประกอบด้วย ๖ states และ ๒ Territories ซึ่ง State จะมีอำนาจอธิปไตยของรัฐตัวเอง คือมีทั้งรัฐบาลของรัฐ (State Government) สภาของรัฐ (State Parliament) และศาลสูงของรัฐ (State high court) โดยผู้นำของฝ่ายบริหารของรัฐ เรียกว่า Premier ของรัฐนั้นรูปด้านซ้าย คือ Nathan Rees - Premier ของรัฐ New South Wales ปัจจุบัน (๒๐๑๔)


ระดับท้องถิ่น เป็นการบริหารระดับท้องถิ่นตามขอบอำนาจที่ระดับ State กำหนด ได้แก่ การอนุญาตการเลี้ยงสัตว์ ก่อสร้างอาคาร การระบายน้ำ กำจัดน้ำเสีย บำรุงรักษาถนน ที่จอดรถ เป็นต้น ซึ่งความเป็นอิสระและขอบเขตในการบริหารจัดการท้องถิ่นของตนเองน้อยกว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทย และต้องอยู่ภายใต้การกำกับอย่างมากจากระดับ State

การเมืองและการบริหารราชการของ Australia ในระดับสหพันธรัฐ (Federal)

Australia เป็นประเทศสหพันธรัฐ ที่เรียกว่า Common Wealth of Australia ประกอบด้วย ๖ States และ ๒ Territories โดยแต่ละรัฐจะมีรัฐบาล (State Government) และสภาของรัฐ (State Parliament) ศาลสูงของรัฐ (State high Court) และยังมีรัฐบาลของสหพันธรัฐที่เลียกว่า (Federal Government) สภาของสหพันธรัฐ (Federal Parliament) และศาลสูงสุดของสหพันธรัฐ หรือจะกล่าวได้ว่าแต่ละรัฐก็มีอธิปไตยของตนเอง คือมีทั้งอำนาจ บริหาร นิติบัญญัติและตุลาการ ในด้านการบริหารนั้น จะมีการแบ่งหน้าที่กันระหว่าง Federal Government , State Government และผู้บริหารของท้องถิ่น (Local Administration) ดังปรากฏตามตารางที่ ๑

ในระดับ Federal Government จะใช้สำนักงาน (Department) ในการบริหารราชการ
(ไม่ใช้คำว่ากระทรวงเหมือนประเทศไทย) โดยมีรัฐมนตรีเป็นผู้ดูแลสูงสุด โดยแบ่งออกเป็น

๑.สำนักงานอัยการสูงสุด

๒.สำนักงานการสื่อสารโทรคมนาคม ข้อมูลสารสนเทศและศิลปะ

๓.สำนักงานกิจการกลาโหม

๔.สำนักงานการศึกษา การฝึกอบรม และกิจการเยาวชน

๕.สำนักงานสิ่งแวดล้อมและมรดกของชาติ

๖.สำนักงานการเงินและการบริหารงบประมาณ

๗.สำนักงานกิจการต่างประเทศและการค้า

๘.สำนักงานการสาธารณสุขและการดูแลผู้สูงอายุ

๙.สำนักงานการย้ายถิ่นฐานและความหลากหลายทางวัฒนธรรม

๑๐.สำนักงานอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ และทรัพยากร

๑๑.สำนักงานการเกษตร ประมงและป่าไม้

๑๒.สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี

๑๓.สำนักงานกิจการครอบครัวและการบริการชุมชน

๑๔.สำนักงานกิจการขนส่งและการบริการภูมิภาค

๑๕.สำนักงานการคลัง

๑๖.สำนักงานกิจการทหารผ่านศึก

๑๗.สำนักงานกิจการแรงงาน ความสัมพันธ์ในสถานประกอบการและธุรกิจขนาดเล็ก

ส่วนในประเทศไทย จะใช้ Ministry แทน กระทรวง และ Department แทน กรม แต่ใน Australia นั้นไม่ใช้คำว่า Ministry แต่ใช้คำว่า Department ทำหน้าที่แทนกระทรวง คำว่า Department of Health ของ Australia จึงเทียบเท่ากับกระทรวงสาธารณสุขของ Australia

ตารางที่ ๑ การแบ่งหน้าที่ การปกครองในระดับสหพันธรัฐ ระดับรัฐ และระดับท้องถิ่น

ระดับขององค์กร

ขอบเขตความรับผิดชอบ

(เรียงลำดับตามอักษรภาษาอังกฤษ)

จำนวนบุคลากร
( ณ เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๗)

๑. งานระดับสหพันธรัฐ (หน่วยงานราชาการ, องค์กรบริหารอิสระ, องค์กรบริหารเฉพาะด้านและรัฐวิสาหกิจ)

การสื่อสารโทรคมานาคม, กิจการกลาโหม, สิ่งแวดล้อม, การศึกษาระดับสูงกว่ามัธยม, การเงินการคลัง, การต่างประเทศและการค้า, สาธารณสุข, การจัดระบบความสัมพันธ์ในอุตสาหกรรม, กิจการคนเข้าเมือง, การพัฒนาอุตสาหกรรม, การไปรษณีย์, การท่องเที่ยวและการขนส่ง


๒. งานระดับมลรัฐหรือเขตปกครองพิเศษ

การเกษตร, การศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยม, การไฟฟ้าและประปา, กิจการพลังงาน, การสิ่งแวดล้อม, ป่าไม้, การสาธารณสุขและโรงพยาบาล, การเคหะ, กิจการยุติธรรม, กิจการที่ดินและเหมืองแร่, กิจการตำรวจและขนส่ง


๓. งานระดับท้องถิ่น

การออกใบอนุญาตเลี้ยงสัตว์, การออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร, การระบายน้ำและกำจัดน้ำเสีย, การจัดทำและบำรุงรักษาถนนในท้องถิ่น, การจัดที่จอดรถและการดูแลเรื่องไฟส่องสว่างตามถนนสาธารณะ


การเมืองและการเลือกตั้งในระดับสหพันธรัฐ

Australia ประกอบด้วย ๒ สภาเหมือนประเทศอังกฤษ คือ สภาผู้แทนราษฎร และ วุฒิสภา
โดยการเลือกผู้แทนราษฎรเป็นแบบเขตเดียว เบอร์เดียว ประมาณ ๑๕๐ คน โดยมีวาระคราวละ ๓ ปี ส่วนวุฒิสภาได้จากการเลือกตั้ง โดยตรงจากประชาชนของรัฐนั้น จำนวนรัฐละ ๑๒ คน รวม ๗๒ คน (๑๒x๖ = ๗๒) และ Territories ละ ๒ คน เป็น ๔ คน (๒x๒ =๔ ) จำนวนวุฒิสภาทั้งหมดรวม ๗๖ คน โดยมีวาระคราวละ ๖ ปี ( ยกเว้นวุฒิสภาจาก Territories มีวาระครั้งละ ๓ ปี) ในปี ๒๐๐๗ พรรคที่ได้เสียงข้างมากเลียงตามลำดับดังนี้ Labour (๘๓ ที่นั่ง) , Liberal (๕๕) , National (๙ ที่นั่ง) อื่นๆ ( ๓ ที่นั่ง) ส่วนที่นั่งในวุฒิสภา ประกอบด้วย Labour (๓๒ ที่นั่ง) , Liberal (๓๒) , Green (๕ ที่นั่ง) National (๔ ที่นั่ง) อื่นๆ (๓ ที่นั่ง) โดยพรรคที่ได้เสียงข้างมาก จะได้รับเชิญจากผู้สำเร็จราชการ (Governor General) ให้จัดตั้งรัฐบาลของสหพันธรัฐ (Federal Government) โดยหัวหน้ารัฐบาลจะเป็นนายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันชื่อ Kevin Rudd สังกัดพรรค Australian Labour หรือ ALP

เป็นที่น่าสังเกตว่าระบบการเลือกตั้งระบบสหพันธรัฐ และระดับมลรัฐ (State) อาจจะแตกต่างกันแล้วแต่รัฐ บางรัฐจะมี ๒ สภา คือ สมาชิกสภาผู้แทน (สภาล่าง) และวุฒิสภา (สภาสูง) บางรัฐจะมีเพียงสภาล่างสภาเดียว บางรัฐเลือกตั้งทุก ๓ ปีสำหรับสภาล่าง และทุก ๖ ปีสภาบน แต่บางรัฐมีการเลือกตั้งทุก ๔ ปี สำหรับสภาล่าง และทุก ๘ ปีสำหรับสภาบน

การเมืองและการบริหารราชการในระดับมลรัฐ (State)

ตามที่ได้เกริ่นมาก่อนหน้านั้นว่า Australia เป็นสหพันธรัฐ โดยรัฐต่าง ๆ จะมีการบริหารจัดการที่มีความอิสระตามเขตอำนาจที่กำหนดไว้ การเลือกตั้งของแต่ละรัฐจะมีความแตกต่างกันได้ เช่น บางรัฐมีสภาเดียว เช่น Queensland และ เขตปกครองพิเศษ ทั้ง ๒ (Territories) แต่รัฐที่เหลืออีก ๕ รัฐ รวมถึงระดับสหพันธรัฐ (Federal) มี ๒ สภา วาระของสภาล่างและสภาสูงก็ไม่เท่ากัน เช่นระดับสหพันธรัฐ (Federal) หรือของรัฐ Queensland วาระของสภาล่าง ๓ ปี ส่วนของสภาสูง ๖ ปี แต่บางรัฐเช่นรัฐ New South Wales (NSW) สภาล่าง ๔ ปี สภาสูง ๘ ปี ส่วนของ Queensland วาระ ๓ ปี เหมือนกับระดับ Federal

เพื่อให้เกิดความเข้าใจ จึงขอยกตัวอย่างรัฐ NSW ซึ่งมี ๒ สภา คือ สภาผู้แทนราษฎร (Legislative Assembly หรือ Lower House ) มีจำนวนที่นั่งทั้งหมด ๙๓ ที่นั่ง มีวาระคราวละ ๔ ปี ส่วนวุฒิสภา (Legislative Council หรือ Upper House) มีจำนวน ๔๒ ที่นั่ง มีวาระคราวละ ๘ ปี โดยจะมีการเลือกครึ่งหนึ่งทุก ๓ ปี สมาชิกของทั้ง ๒ สภารวมกัน ๑๓๕ ที่นั่ง และพรรคที่ได้เสียงข้างมากในสภาล่าง จะได้รับเชิญจากผู้สำเร็จราชการ (Governor General) ให้ตั้งรัฐบาล โดยหัวหน้ารัฐบาลเลียกว่า Premier พรรคการเมืองที่สำคัญของ Australia ได้แก่ Australian Labor Party หรือ ALB , Liberal Party , National Party เป็นต้น โดยในปี ๒๐๐๗ ALB เป็นพรรคที่ได้เสียงข้างมากในสภาของ NSW และผู้ที่เป็น NSW Premier ชื่อ Nathan Rees สังกัดพรรค Labor และ Senior Colleagues จะได้เป็น Ministers เพื่อบริหารสำนักงาน (Department) ต่าง ๆ ของรัฐ NSW ในการเลือกตั้งปี ๒๐๐๗ ที่ผ่านมา พรรคที่ได้รับการเลือกในสภาล่างได้แก่ พรรค Labour (๕๒ ที่นั่ง) , Liberal (๒๒ ที่นั่ง ) , National (๑๓ ที่นั่ง) อื่นๆ (๖ ที่นั่ง) รวม ๙๓ ที่นั่ง สำหรับวุฒิสภาที่ได้รับเลือกตั้งในปี ๒๐๐๓ และ ๒๐๐๗ เป็นของพรรค Labour (๑๙ ที่นั่ง) , Liberal (๑๐ ที่นั่ง ) , National (๕ ที่นั่ง) Green (๔ ที่นั่ง) , อื่นๆ ( ๔ ที่นั่ง) รวม ๔๒ ที่นั่ง

ระบบบริหารราชการส่วนท้องถิ่นของออสเตรเลีย

ระบบบริหารราชการส่วนท้องถิ่นของออสเตรเลียเป็นระบบบริหารงานสาธารณะที่จัดทำโดยองค์กรระดับที่สาม รองจากส่วนที่เป็นการจัดการของสหพันธรัฐ ( Commonwealth) และระดับมลรัฐ
(State Government) และเป็นระบบการบริหารงานสาธารณะที่มีผู้ปฏิบัติงานน้อยที่สุดในสามระดับนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากตารางที่ ๑ จะเห็นได้ว่าระบบราชการส่วนท้องถิ่นของออสเตรเลียได้รับมอบหมายภารกิจที่มีความสำคัญน้อยกว่าองค์กรในระดับสหพันธรัฐและในระดับมลรัฐมาก ภารกิจที่จำกัดดังกล่าวสอดคล้องกับบุคลากรที่มีอยู่อย่างจำกัดขององค์กรปกครองท้องถิ่นดังจะเห็นได้จากตารางแสดงขอบเขตภารกิจและจำนวนผู้ปฏิบัติงานในงานบริการสาธารณะทั้งสามระดับ

ในเดือนมีนาคม ๒๕๔๒ หน่วยงานปกครองท้องถิ่นของออสเตรเลียซึ่งลดจำนวนเรื่อย ๆ ในระยะเวลาประมาณ ๑๐ ปีมานี้ อันเป็นผลจากการยุบรวมท้องถิ่นหลายแห่งเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารงานมากยิ่งขึ้น มีจำนวนรวมทั้งสิ้นเพียง ๗๐๕ แห่งเท่านั้น

การศึกษาเรื่องการปฏิรูประบบปกครองท้องถิ่นของออสเตรเลียไม่สามารถกระทำได้อย่างเป็นระบบและมีความหลากหลายต่างกันไปในระหว่างท้องถิ่นต่าง ๆ เป็นอย่างมาก เพราะออสเตรเลียเป็นสหพันธรัฐ และอำนาจในการบริหารจัดการปกครองท้องถิ่นเป็นอำนาจของรัฐบาลแต่ละมลรัฐที่จะตรากฎหมายที่จะจัดการบริหารงานท้องถิ่นของตนได้เอง และไม่มีหลักประกันความเป็นอิสระของท้องถิ่นหรือหลักเกณฑ์อื่นใดในเรื่องการปกครองตนเองไว้ในรัฐธรรมนูญของออสเตรเลียแต่อย่างใด ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลแต่ละมลรัฐสามารถตรากฎหมายเรื่องท้องถิ่นของตนเองขึ้นเป็นการเฉพาะได้ และในแต่ละรัฐก็ได้มีการปรับปรุงระบบบริหารงานส่วนท้องถิ่นของตนบนเงื่อนไขและประสบการณ์เฉพาะที่แตกต่างกัน

มลรัฐสองมลรัฐมีการปฏิรูปโครงสร้างการปกครองท้องถิ่นไปแล้วอย่างมาก คือมลรัฐวิคตอเลียและมลรัฐนิวเซาต์เวลส์ ซึ่งจำเป็นต้องปฏิรูประบบราชการส่วนท้องถิ่นของตนตั้งแต่ทศวรรษที่ ๑๙๙๐ เนื่องจากข้อจำกัดทางการเงินและงบประมาณทำให้มลรัฐไม่สามารถให้ความสนับสนุนท้องถิ่นอย่างไม่มีขอบเขตเช่นเดิมได้ ดังนั้น จึงได้มีการตรากฎหมายกำหนดให้มีการยุบรวมหน่วยงานท้องถิ่นหลายแห่งเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารและจัดการ โดยให้รัฐมนตรีว่าการกิจการท้องถิ่นของมลรัฐเป็นผู้ใช้อำนาจในการออกกฎหมายลำดับรองให้ยุบรวมท้องถิ่นได้ (มลรัฐวิตอเลียสามารถลดจำนวนท้องถิ่นจากเกือบสองร้อยแห่งมาเหลือเพียงประมาณแปดสิบแห่งในระหว่างปี ๑๙๙๓–๑๙๙๕) และแนวทางในเรื่องการพัฒนาระบบบริหารท้องถิ่นโดยการยุบรวมท้องถิ่น ๒, ๓ หรือ ๔ แห่งเข้าด้วยกันเป็นหน่วยงานท้องถิ่นเดียวกันนี้กำลังเป็นที่แพร่หลายในรัฐอื่น ๆ ที่กำลังดำเนินการตามแนวทางเดียวกันในขณะนี้

การเปลี่ยนแปลงระบบบริหารงานท้องถิ่นอีกด้านหนึ่งที่เริ่มเกิดขึ้นในบางมลรัฐคือการกำหนดให้มี Chief Executive Office - CEO ขึ้นในระบบบริหารงานท้องถิ่นแทนที่จะให้นายกเทศมนตรีเป็นผู้บริหารงาน โดยให้มีการว่าจ้างผู้บริหารสูงสุดเข้ามาปฏิบัติงานตามนโยบายที่สภาท้องถิ่นมีมติให้ดำเนินการโดยการทำสัญญาว่าจ้างคราวละ ๕ ปี แนวทางดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับแนวคิดเรื่อง City – manager ที่ประเทศไทยเคยนำมาใช้ในกรณีเมืองพัทยานี้กำลังขยายตัวกว้างออกไป ภายใต้การชี้นำ กำหนดนโยบายและวางหลักเกณฑ์การปฏิบัติต่าง ๆ โดยรัฐมนตรีกิจการท้องถิ่นของมลรัฐซึ่งได้เลือกนำระบบนี้ไปใช้กับการบริหารงานของตนมากขึ้นเรื่อย ๆ หน่วยงานปกครองท้องถิ่นของออสเตรเลียได้รับเงินสนับสนุนในลักษณะเงินอุดหนุนจากทั้งรัฐบาลมลรัฐ และรัฐบาลสหพันธรัฐในสัดส่วนประมาณ ๒๐ – ๓๐ % ของงบประมาณรายจ่ายของท้องถิ่นทั้งหมด งบประมาณส่วนที่เหลือของท้องถิ่นนั้นจะได้จากการเก็บภาษีที่ดินและโรงเรือนจากผู้วอยู่อาศัยในท้องถิ่นนั้น ๆ เป็นหลัก

หากจะกล่าวโดยสรุป ระบบบริหารราชการส่วนท้องถิ่นของออสเตรเลียเป็นการบริหารจัดการในระดับมลรัฐที่มีความแตกต่างไปในแต่ละมลรัฐ และมีแนวโน้มที่จะลดจำนวนของหน่วยงานของท้องถิ่นลงเรื่อย ๆ โดยผลของการออกกฎหมายของมลรัฐที่จะทำให้มีการรวมท้องถิ่นเล็ก ๆ เข้าด้วยกัน หน่วยงานปกครองท้องถิ่นของออสเตรเลียมีอิสระในการดำเนินงานน้อย และอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวดของรัฐมนตรีกิจการท้องถิ่นของมลรัฐ (ในมลรัฐวิคตอเลีย การตั้ง CEO ของท้องถิ่นแม้จะทำโดยมติสภาท้องถิ่น แต่ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีกิจการท้องถิ่นของมลรัฐด้วย) และรัฐมนตรีมีอำนาจยุบสภาท้องถิ่นและออกคำสั่งให้ฝ่ายบริหารท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่งได้ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าระบบบริหารงานท้องถิ่นของออสเตรเลีย มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเท่านั้น โดยมิได้มีความมุ่งหมายทางการเมืองในการให้โอกาสแก่คนของท้องถิ่นในการปกครองตนเองเพื่อพัฒนาประชาธิปไตยดังที่เป็นที่ยอมรับและกำหนดหลักประกันความเป็นอิสระและมีการปกครองตนเองของท้องถิ่นไว้ในรัฐธรรมนูญดังกรณีของประเทศไทยแต่อย่างใด


[๑]อาจารย์ประจำหลักสูตรบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาการจัดการเชิงพุทธ และสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

หมายเลขบันทึก: 582137เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2014 13:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ธันวาคม 2014 13:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เขียนได้ละเอียดมากเลยครับ

ทุกวันพฤหัสบดี

ไป มจร สอนพระ

จะพบอาจารย์ได้ที่ไหนครับ

https://www.gotoknow.org/posts/581767


อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท