ธนาคารที่มิใช่ธนาคาร


ธนาคารที่มิใช่ธนาคาร

๕ ธันวาคม ๒๕๕๗

คำว่า "ธนาคารที่มิใช่ธนาคาร" ในที่นี้ คงไม่ใช่สถาบันการเงินในรูป "ธนาคาร" หรือ "การธนาคาร" ที่หลาย ๆ คนเข้าใจกัน แต่เป็นรูปแบบในลักษณะของกองทุนซึ่งที่ผ่านมามีการใช้คำว่า "ธนาคาร" ไปใช้กับ "ธนาคารขยะ(รีไชเคิล)" "ธนาคารโคกระบือ" "ธนาคารที่ดิน" "ธนาคารต้นไม้" ซึ่งเป็นลักษณะของกองทุนเงินที่มีการระดมเงินทุนฝาก การให้ถอนเงินทุนไปประกอบการฯ มีการฝาก การถอนเงินทุนฯ หรือมีลักษณะการดำเนินการเสมือนธนาคารที่มีการรับฝาก การถอนเงินหรือทรัพย์สินฯออกไป มีหลายรูปแบบ อาทิ

ธนาคารขยะ(รีไซเคิล) คือ รูปแบบหนึ่งในการดำเนินงานเพื่อส่งเสริม การคัดแยกขยะมูลฝอย โดยเริ่มต้นที่เยาวชนและชุมชนเป็นหลัก และใช้โรงเรียนเป็นสถานที่ดำเนินการ เพื่อให้เยาวชนและชุมชน เกิดความเข้าใจในการคัดแยกขยะมูลฝอย หลักการของธนาคารขยะรีไซเคิล คือให้นักเรียนสมัครเป็นสมาชิกของธนาคารขยะฯ และนำขยะมาฝากที่ธนาคาร โดยมีเจ้าหน้าที่ของธนาคาร ทำการคัดแยกและชั่งน้ำหนักขยะและคำนวณเป็นเงิน แล้วบันทึกลงสมุดคู่ฝาก โดยใช้ราคาที่ทางโรงเรียน ประสานกับร้านรับซื้อของเก่า เป็นเกณฑ์ในการกำหนดราคา รายได้ของกิจกรรมมาจากผลต่าง ของราคาที่คณะทำงานของโรงเรียนกำหนด กับราคาที่สามารถขายให้กับร้านรับซื้อของเก่า ซึ่งต้องมีการหักรายจ่ายอื่นๆ เช่น ค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์ ติดต่อ ประสานงาน ซึ่งรายได้สามารถใช้เป็นทุนหมุนเวียน และจัดตั้งเป็นกองทุน เพื่อใช้เป็นทุนการศึกษา [1]

"...ธนาคารโคและกระบือ ก็คือ การรวบรวมโคและกระบือ โดยมีบัญชีควบคุม ดูแลรักษา แจกจ่ายให้ยืม เพื่อใช้ประโยชน์ในการเกษตร และเพิ่มปริมาณโคและกระบือ ตามหลักการของธนาคารโคและกระบือเป็นเรื่องใหม่ ของโลกที่มีความจำเป็นเกิดขึ้น เพราะปัจจุบันมีความคิดแต่จะใช้เครื่องกลไก เป็นเครื่องทุ่นแรงในกิจการเกษตร แต่เมื่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงแพงขึ้น ความก้าวหน้าในการใช้เครื่องกลไกเสียไป จำเป็นต้องหันมาพึ่งแรงงานจากสัตว์ ที่เคยใช้อยู่ก่อน เมื่อหันกลับมาเป็นปรากฏว่ามีปัญหามาก เพราะชาวนาไม่มีเงินซื้อโค กระบือมาเลี้ยงเพื่อใช้แรงงาน..." (พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่สมาชิกกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ ณ บริเวณโครงการส่วนประองค์สวนจิตรลดา ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๒๓) สรุป ธนาคารโคและกระบือ ก็คือ การรวบรวมโคและกระบือ โดยมีบัญชีควบคุม ดูแลรักษา แจกจ่ายให้ยืม ... ตั้งแต่ไถพรวน นวดข้าว จนกระทั่งถึงการขนย้ายผลผลิต ในบางท้องที่ยังใช้แรงงานจากโค-กระบือ ... คนทั่วไปมักจะนึกว่า ธนาคารเป็นเรื่องที่ต้องเกี่ยวข้องกับกระแสเงินตรา [2]

"ธนาคารที่ดิน" เป็นหนึ่งในเครื่องมือปฏิรูปที่ดินและกระจายการถือครองที่ดินที่น่าสนใจ มีการนำมาใช้ในหลายประเทศ [3] "ธนาคารที่ดิน" หมายความว่า องค์กรที่ทำหน้าที่จัดเก็บรวบรวมข้อมูลที่ดินของหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และจัดซื้อที่ดินจากเอกชน เพื่อนำมาจัดให้เกษตรกร ผู้ยากจน หรือผู้ประสงค์จะใช้ประโยชน์ในที่ดินได้เช่า เช่าซื้อ หรือเข้าทำประโยชน์และสนับสนุนทางการเงินแก่การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม [4] เพื่อให้มีองค์กรหรือสถาบันการเงินใดรับผิดชอบให้มีการใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างเหมาะสมและสนับสนุนทางการเงินแก่การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มีกรณีตัวอย่างการจัดการที่ดินบ้านโป่ง ตำบลแม่แฝก อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ [5]

"ธนาคารต้นไม้" คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ภายใต้โครงการธนาคารต้นไม้ ได้มีโครงสร้างวิธีคิดเกี่ยวกับการปลูกต้นไม้แล้วนำเอาฝากไว้ที่องค์กรเช่นธนาคารแล้วให้ค่าเป็นทรัพย์สินภายใต้ชื่อธนาคารต้นไม้แนวคิดหนี้เกิดก่อนหน้าโครงการปลูกต้นไม้ใช้หนี้เคยเสนอแนวคิดนี้บ้างแล้วแต่ไม่มีองค์กรใดให้ความสนใจ โดยสรุปแนวคิดคือ ต้นไม้ควรมีค่าขณะที่มีชีวิตแต่ในความจริงปัจจุบันต้นไม้จะต้องตัดตายเสียก่อนจึงมีค่าจึงน่าจะให้ค่าหรือสร้างค่าต้นไม้ ขณะมีชีวิตและเพื่อให้โอกาสคนที่ปลูกต้นไม้ซึ่งมีหนี้สินหรือไม่มีหนี้สินจึงเกิดการบูรณาการระหว่างโครงการปลูกต้นไม้ใช้หนี้กับธนาคารต้นไม้ โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดกิจกรรมวิชาการแนะนำโครงการจัดตั้งธนาคารต้นไม้ การจัดนิทรรศการเกี่ยวกับการปลูกป่าไม้การสร้างเครือข่ายชุมชนในอำเภอป่าพะยอมเพื่อการจัดตั้งธนาคารต้นไม้ สาขาป่าพะยอม การสร้างความร่วมมือกับชุมชนในการมีส่วนปลูกต้นไม้เพื่อช่วยในการรักษาสิ่งแวดล้อม และมีส่วนร่วมในโครงการคาร์บอนเครดิตเพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Campus Policy) [6]

ธนาคารที่มิใช่ธนาคารในอีกลักษณะหนึ่งก็คือ "ธนาคารแรงงาน" เป็นแนวคิดหนึ่งในการปฏิรูปด้านแรงงาน เพื่อเป็นกองทุนสวัสดิการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานที่มีรายได้ต่ำ เป็นแนวคิดที่น่าสนใจ มาทบทวนดูที่ผ่านมาว่า มีหลักการ แนวคิด และวิธีดำเนินการอย่างไร

"ธนาคารแรงงาน" คำนี้ไม่ทราบว่าเริ่มใช้ กันมานานเพียงใด แต่เมื่อปี ๒๕๕๒ ได้มีนักวิชาการเสนอให้ตั้ง กองทุนแรงงาน เรียกว่า "ธนาคารแรงงาน" โดยนำเงินกองทุนประกันสังคมปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ใช้แรงงาน ซึ่งกระทรวงแรงงานได้นำเงินสมทบกองทุนประกันสังคมไปฝากกับธนาคารของรัฐ นายไพฑูรย์แก้วทอง รมว.แรงงาน ยังไม่เห็นด้วยเกรงว่าจะประสบปัญหาขาดทุน [7]

ราวปี ๒๕๕๒ ก็มีการส่งเสริมจัดตั้ง "ธนาคารแรงงาน" ขึ้นโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สนับสนุนการวิจัยโครงการโครงการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่สมดุลตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดชัยภูมิ (พ.ศ. ๒๕๕๐-๒๕๕๓) ในพื้นที่ ๑๗ จังหวัด จังหวัดชัยภูมิ เป็นหนึ่งใน ๑๗ จังหวัดซึ่งมีนายสมโภชน์ หมู่หมื่นศรี อดีตผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาอำเภอเมืองชัยภูมิ เป็นหัวหน้าโครงการ รูปแบบโครงการคือ จากข้อมูลค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานที่สูงขึ้น และแรงงานหายาก โดยมาช่วยกันทำงานโดยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างแรงงาน แต่ใช้แรงงานของตนแลกเปลี่ยนกัน ผู้จัดการจะต้องเป็นคนวางระบบ จัดสรรแรงงานให้ลงตัวกับวันและเวลาที่กำหนด โดยกิจกรรมจะเกิดขึ้นอยู่ ๒ ช่วง คือ ช่วงฤดูดำนา(เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม) และช่วงฤดูเกี่ยวข้าว (เดือนพฤศจิกายน-เดือนธันวาคม) ถือเป็นบทพิสูจน์ของการพึ่งพาตนเอง ไม่รอคอยการแก้ไขปัญหาจากภายนอก เป็นการแก้ไขปัญหาของชุมชนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง [8]

เมื่อพฤศจิกายน ๒๕๕๗ ได้มีการนำเสนอข่าวทีวีถึงชุมชนหมู่บ้านแห่งนี้ ที่รู้จักกันในชื่อธนาคารแรงงานบ้านบัว ต.บ้านเดื่อ (บ้านบัว) อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ ที่ยังคงรักษาประเพณีดั้งเดิมไว้อย่างประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว แต่ไม่ใช่การลงแขกเกี่ยวข้าวธรรมดา หมู่บ้านแห่งนี้ได้นำมาปรับเป็นธนาคารแรงงาน ที่ไม่มีดอกเบี้ย และยังลดต้นทุนการผลิต ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรได้อีกด้วย [9]

รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ (๒๕๕๒) ประธานคณะทำงานการกระจายรายได้ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) ร่วมกับโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งขบวนการแรงงานเพื่อการคุ้มครองสุขภาพและสวัสดิการแรงงาน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินหน้าแนวคิด "ธนาคารลูกจ้าง" โดยมีหลักการแนวคิดการจัดตั้งธนาคารลูกจ้าง คือการตั้งสถาบันการเงินเป็นแหล่งทุนตามความจำเป็นให้แก่แรงงานที่มีรายได้น้อย ที่ต้องการทำธุรกิจสร้างรายได้เสริม หรือใช้ในกรณีฉุกเฉิน เป้าหมายแม้ยังไม่มีหน่วยงานใดรับเป็นเจ้าภาพ พร้อมจับมือภาคเอกชนพร้อมควักกระเป๋าตั้งต้นกองทุนปล่อยกู้ให้แรงงาน ใช้กลไกสังคมดูแลและไม่ให้เกิดหนี้เสีย ตั้งเป้าโครงการทดลองมีสมาชิกครบ ๑๐๐,๐๐๐ คนในปี ๒๕๕๔ สรุปผลการศึกษาวิจัยและเสนอแนวคิดต่อรัฐบาลว่าธนาคารลูกจ้างมีความจำเป็นที่จะเข้ามาลดความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงานได้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดรับเป็นเจ้าภาพโครงการดังกล่าว ดังนั้น จึงตัดสินใจผลักดันในอีกทางหนึ่ง เนื่องจากความเดือดร้อนด้านการเงินของผู้ใช้แรงงานไม่สามารถรอกลไกของกฎหมายได้ โดยดำเนินการจริงในรูปแบบการทดลองผ่านโครงการวิจัย ภายใต้การดูแลของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช้เงินทุนเริ่มต้น ๕ ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยเงินจากสถาบันการเงินชุมชน เงินภาคเอกชน รวมทั้งทุนของตนเอง มาตั้งต้นให้สินเชื่อแก่สมาชิกผู้ใช้แรงงาน ซึ่งผู้ลงทุนไม่ได้รับดอกเบี้ย แต่จะได้รับผลกำไรปันผล [10]

คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) เสนอแนวทางปฏิรูปประเทศ (๒๕๕๔) ว่า รัฐควรจัดตั้งธนาคารแรงงาน โดยรัฐขายพันธบัตรให้แก่กองทุนประกันสังคม และนำเงินมาปล่อยกู้ให้แก่คนงาน เพื่อให้แรงงานสามารถกู้ได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อผ่อนคลายภาระหนี้สินนอกระบบของแรงงาน ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยสูง แต่จำกัดวงเงินกู้และมีส่วนบังคับการออมอยู่ด้วย [11]

ต่อมานายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน (๒๕๕๕) กล่าวถึงสถานการณ์แรงงานไทยหลังพ้นวิกฤตน้ำท่วมว่า การขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมทุกวันนี้เกิดจากการไม่เข้าคู่ของทักษะฝีมือ เนื่องจากตลาดขาดแคลนแรงงานฝีมือและประสบการณ์ โดยเฉพาะแรงงานช่างระดับอาชีวะ ในขณะที่แรงงานจบใหม่ส่วนใหญ่จะศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี เพราะเห็นว่าค่าตอบแทนสูงถึงเดือนละ ๑๕,๐๐๐ บาท กระทรวงแรงงานได้จัดทำธนาคารแรงงาน ขึ้นมาเพื่อเป็นข้อมูลจัดเก็บว่ามีแรงงานจำนวนเท่าไร นายจ้างต้องการแรงงานในกลุ่มลักษณะใด ปริมาณเท่าใด เพื่อให้สามารถจับคู่ความต้องการได้ตรงความต้องการของสองฝ่าย และต้องดูว่าแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศจำนวนนับแสนและกลับมาไทยแล้ว ขณะนี้อยู่ที่ใด เราต้องมีในข้อมูลธนาคารแรงงาน เพราะเป็นกลุ่มแรงงานที่แม้จะมีอายุบ้างแต่ก็มีทักษะฝีมือ ประสบการณ์ที่จะมาเติมเต็มให้กับภาวะขาดแคลนแรงงานได้อีกส่วนหนึ่ง การที่มีแนวคิด เร่งตั้งธนาคารแรงงานก็เพื่อเป็นฐานข้อมูลจับคู่แรงงานกับตำแหน่งงานว่าง เพราะขณะที่ค่าจ้าง ๓๐๐ บาทจ่อบังคับใช้ เอสเอ็มอีหันพึ่งเครื่องจักรแทนกำลังคน [12]

จากการทบทวนข้อมูลดังกล่าวเบื้องต้น ได้เห็นถึงความจำเป็นในการตั้ง "ธนาคารแรงงาน" ที่มิใช่ธนาคาร อันเป็นแนวทางหนึ่งในการจัดสวัสดิการสังคมให้แก่ประชาชน


[1] "ธนาคารขยะ ทำอย่างไร", บล๊อกOKnation, เมษายน ๒๕๕๑. http://www.oknation.net/blog/print.php?id=250063

[2] "ธนาคารโคและกระบือ", https://web.ku.ac.th/king72/2539/kaset7.htm

[3] ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ และ โสภณ ชมชาญ, "ธนาคารที่ดิน รูปธรรมในการจัดตั้ง",รายงาน ณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ใน V-Reform (เครือข่ายวิชาการเพื่อการปฏิรูป), ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕. http://v-reform.org/v-report/landbank_proposal/

[4] พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๕๔, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๓๓ ก วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔, หน้า ๑ - ๑๘. http://www.codi.or.th/downloads/laws/law/land_law-12.pdf

[5] ศราวุฒิวงษ์ณิกร, "กองทุนธนาคารที่ดิน กรณีบ้านโป่ง ตำบลแม่แฝก อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่", สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน), http://www.codi.or.th/index.php/samples/185-landresolve-case-study/2663-2013-06-16-07-30-55

[6] นงลักษณ์ อ่อนเครง, "โครงการจัดตั้งธนาคารต้นไม้ (Tree Bank) สาขาอำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง", ๔ สิงหาคม ๒๕๕๒, https://www.gotoknow.org/posts/283184

[7] "ไพฑูรย์"ค้านแนวคิดนำเงินกองทุนฯตั้งธนาคารแรงงาน, มติชนออนไลน์, ๒๔ มกราคม ๒๕๕๒. http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1232793375& "รุมค้านแนวคิดนักวิชาการ ตั้งธ.แรงงาน-หวั่นขาดทุน ฮอนด้ากรุงเก่าโวยถูกเลิกจ้าง", หนังสือพิมพ์แนวหน้า, ๒๕ มกราคม ๒๕๕๒. http://www.ryt9.com/s/nnd/823262

[8] "นวัตกรรมชุมชน : การลดต้นทุนการผลิต ด้วยธนาคารแรงงาน ต.บ้านบัว อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ", http://www.trf.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=4494:2014-06-11-10-21-06&catid=59&Itemid=209

[9] "ชัยภูมิ-สืบทอดธนาคารแรงงานภูมิปัญญาโบราณ", ครอบครัวข่าวทีวี ๓, ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๗, http://www.krobkruakao.com/ข่าวไลฟ์สไตล์/107306/ชัยภูมิ-สืบทอดธนาคารแรงงานภูมิปัญญาโบราณ.html

[10] "ดันตั้งธนาคารลูกจ้างปล่อยกู้ผู้ใช้แรงงาน", คมชัดลึก, ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๒. http://www.komchadluek.net/detail/20091128/39179/ดันตั้งธนาคารลูกจ้างปล่อยกู้ผู้ใช้แรงงาน.html

[11] แนวทางการปฏิรูปประเทศไทย ข้อเสนอต่อพรรคการเมืองและผู้มีสิทธิเลือกตั้ง, คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๔, หน้า ๔๔-๔๕, http://www.reform.or.th/2014/wp-content/uploads/book_001.pdf

[12] "ห่วงแรงงานขาดแคลนเร่งตั้ง "ธนาคารแรงงาน" เป็นฐานข้อมูล", ASTVผู้จัดการออนไลน์, ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕, http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9550000020500

หมายเลขบันทึก: 581784เขียนเมื่อ 5 ธันวาคม 2014 23:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ธันวาคม 2014 08:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท