โครงการจัดตั้งธนาคารต้นไม้ (Tree Bank) สาขาอำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง


คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมโครงการจัดตั้งธนาคารต้นไม้ (Tree Bank) สาขาอำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง ในวันที่ 21 สิงหาคม 2552

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง  ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมโครงการจัดตั้งธนาคารต้นไม้ (Tree Bank)  สาขาอำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง ในวันที่ 21 สิงหาคม 2552 

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นุกูล อินทระสังขา  คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ    วิทยาเขตพัทลุง  กล่าวว่า  คณะวิทยาศาสตร์ กำหนดจัดการประชุมเพื่อแนะนำการจัดตั้งธนาคารต้นไม้ สาขาอำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง ขึ้น  ในวันที่ 21 สิงหาคม 2552  เนื่องจากในปัจจุบันเกษตรกรในประเทศไทยประสบกับปัญหาหนี้สินเกินกว่า  2  ล้านล้านบาท ปัจจุบันเกษตรกรไม่สามารถทำการเกษตรแล้วปลดหนี้ได้  ส่วนใหญ่จะทำการขายที่ดินแล้วปลดหนี้เอง การขายที่ดินทำกินปลดหนี้แล้ว  จึงเป็นคนไร้ที่ดินทำกินต้องบุกรุกป่าหรือเป็นทาสแรงงานในสังคมอุตสาหกรรม  หรือไม่ก็ปล่อยให้หนี้ท่วม  แล้วเอาชีวิตเข้าแลก  โดยการตายปลดหนี้ตามแนวทางกองทุนฌาปนกิจ  และเรียกร้องหรือบีบให้รัฐบาลปลดหนี้โดยการประท้วง  ฯลฯ  จากปัญหาดังกล่าวมีองค์กรภาคเอกชนได้เกิดแนวคิดต้องการปลดเปลื้องหนี้  โดยส่งเสริมให้ปลูกต้นไม้  5  ระดับ  เพื่อให้พึ่งตนเองได้และใช้ต้นไม้ที่ปลูกมาปลดหนี้ / และปลดหนี้แผ่นดินเสนอแนวทางผ่านทางสำนักนายกรัฐมนตรีในนามสภาผู้นำชุมชนแห่งชาติผู้รับผิดชอบ  และมีแนวทางให้แต่ละเครือข่ายเป็นผู้ดำเนินการลักษณะโครงการนำร่อง

จากแนวคิดของนายพงศา  ชูแนม หัวหน้าหน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร หนึ่งในผู้ริเริ่มโครงการธนาคารต้นไม้ ได้มีโครงสร้างวิธีคิดเกี่ยวกับการปลูกต้นไม้  แล้วนำเอาฝากไว้ที่องค์กร  เช่น  ธนาคาร  แล้วให้ค่าเป็นทรัพย์สินภายใต้ชื่อธนาคารต้นไม้  แนวคิดหนี้เกิดก่อนหน้าโครงการปลูกต้นไม้ใช้หนี้  เคยเสนอแนวคิดนี้บ้างแล้วแต่ไม่มีองค์กรใดให้ความสนใจ โดยสรุปแนวคิดคือ ต้นไม้ควรมีค่าขณะที่มีชีวิต  แต่ในความจริงปัจจุบันต้นไม้จะต้องตัดตายเสียก่อนจึงมีค่า  จึงน่าจะให้ค่าหรือสร้างค่าต้นไม้ ขณะมีชีวิตและเพื่อให้โอกาสคนที่ปลูกต้นไม้ซึ่งมีหนี้สินหรือไม่มีหนี้สิน  จึงเกิดการบูรณาการระหว่างโครงการปลูกต้นไม้ใช้หนี้กับธนาคารต้นไม้  และตกลงใช้ชื่อในการดำเนินการของลุ่มน้ำเครือข่าย  จังหวัดชุมพร  ระนอง  เป็นธนาคารต้นไม้แทนโครงการปลูกต้นไม้ใช้หนี้โดยมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์อย่างบูรณาการ  8  ประการ ดังต่อไปนี้

1.      ประชาชนทุกคนทั้งที่เป็นหนี้และไม่เป็นหนี้  สามารถปลูกต้นไม้แล้วได้ประโยชน์จากรัฐเหมือนกัน

2.   ที่สร้างรูปแบบผสมผสานกระบวนการส่งเสริมตามพฤติกรรมสังคมไทยที่ยอมรับผู้นำ    ผู้มีอำนาจ  ผู้มีความมั่งคั่ง  ผู้มีความดีงาม  โดยให้กลุ่มคนเหล่านี้ที่ไม่ได้เป็นหนี้  เป็นผู้นำในการปลูกต้นไม้และส่งเสริมให้ผู้อื่นปลูก  ซึ่งจะได้การยอมรับมากกว่า

3.      การประเมินค่าต้นไม้ให้เป็นทรัพย์ขณะที่มีชีวิต  ซึ่งเป็นการสร้างค่าให้แก่ต้นไม้ตั้งแต่เริ่มปลูก  และฝากไว้ในบัญชีธนาคาร

4.   กลุ่มคนทั่วไปที่ไม่มีหนี้สินต้องการปลูกต้นไม้เพื่อความมั่นคงของตน  เพื่อตกทอดเป็นมรดก  และเพื่อเป็นการสร้างกุลแก่มนุษยชาติ

5.      ให้องค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ  ได้ใช้ที่ดินว่างเปล่าสร้างมูลค่าให้แก่ตนด้วยต้นไม้

6.   ใช้ต้นไม้เป็นเครื่องมือสร้างระบบนิเวศที่สมดุลในพื้นที่เล็ก ๆ  ของเกษตรเพื่อเปลี่ยนพื้นที่สมดุลในระบบนิเวศจากป่าผืนใหญ่ ด้วยความเชื่อถือว่าระบบนิเวศ ณ  จุดหนึ่งจะส่งผลต่อพื้นที่นั้น

7.      เพิ่มพื้นที่ป่าและการสร้างความมั่นคงในแผ่นดิน  โดยใช้เงื่อนไขในการรับรองต้นไม้  และแผ่นดินที่ประชานปลูกต้นไม้

8.      เปลี่ยนฐานการออมเงินสู่ภาคชนบทโดยใช้ต้นไม้ซึ่งเป็นความถนัดและจุดแข็งของคนชนบท

ปัจจุบันได้มีการขับเคลื่อนจึงใช้ชื่อ ธนาคารต้นไม้ (Tree Bank) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549  เป็นต้นมาใช้งบประมาณภายใต้โครงการปลูกต้นไม้ใช้หนี้ผ่านเครือข่ายลุ่มน้ำหลังสวนที่มีนายไพโรจน์ ช่วยยิ้ม เป็นประธานเครือข่าย  นายจินดา บุญจันทร์  สมาชิกสภาผู้นำชุมชนเป็นผู้ประสานงาน ขณะนี้มีจำนวนสาขาของธนาคารต้นไม้ประมาณ 400 สาขา กระจายอยู่ทั่วไประเทศ

สำหรับจังหวัดพัทลุงแม้ว่ามีพื้นที่ป่าไม้อยู่จำนวนมากแต่ส่วนใหญ่มีพื้นที่ป่าที่มีถูกบุกรุกตัดไม้และเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกไม้เศรษฐกิจอื่นๆ แทน โดยเฉพาะยางพาราและปาล์มน้ำมัน ดังนั้นการนำหลักการธนาคารต้นไม้มาปรับใช้ในพื้นที่จะเป็นทางหนึ่งที่ทำให้เพิ่มพื้นที่ป่าไม้และกระตุ้นความต้องการรักษาและร่วมกันป้องกันสภาวะแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลง โดยเฉพาะจากภาวะโลกร้อน  ในประเด็นนี้เองมหาวิทยาลัยทักษิณได้มีพื้นที่ตั้งอยู่ในอำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง และมีส่วนงานวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสิ่งแวดล้อม ชุมชนและการเกษตร การนำแนวทางเรื่อง ธนาคารต้นไม้ เข้ามาส่งเสริมประชาชนในท้องถิ่นจะทำให้ได้รับการยอมรับจากชุมชนและมีส่วนร่วมช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่ง จึงได้มีส่วนผลักดันให้เกิดโครงการแนะนำและร่วมจัดตั้งธนาคารต้นไม้สาขาอำเภอป่าพะยอมและบริเวณใกล้เคียงขึ้น

โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดกิจกรรมวิชาการแนะนำโครงการจัดตั้งธนาคารต้นไม้ การจัดนิทรรศการเกี่ยวกับการปลูกป่าไม้  การสร้างเครือข่ายชุมชนในอำเภอป่าพะยอมเพื่อการจัดตั้งธนาคารต้นไม้ สาขาป่าพะยอม การสร้างความร่วมมือกับชุมชนในการมีส่วนปลูกต้นไม้เพื่อช่วยในการรักษาสิ่งแวดล้อม และมีส่วนร่วมในโครงการคาร์บอนเครดิตเพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน  การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Campus Policy)

ภายในงานมีการเสวนา เรื่อง ประสบการณ์และแนวทางการจัดตั้งธนาคารต้นไม้  โดยนายพงศา  ชูแนม ประธานกองทุนพัฒนาศักยภาพธนาคารต้นไม้    ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาป่าพะยอม   นายวัชรินทร์ วิเชียรนพรัตน์  หัวหน้าศูนย์เพาะชำพันธุ์กล้าไม้พัทลุง  และการร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางจัดตั้งธนาคารต้นไม้  โดยหาสมาชิกผู้สนใจ  และแจกพันธุ์กล้าไม้ที่ส่งเสริมให้มีการปลูกแก่เกษตรกรและผู้สนใจที่เข้าร่วมงานด้วย

            ผู้สนใจติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คณะวิทยาศาสตร์ โทรศัพท์  074- 693995  หรือที่ งานประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยทักษิณ โทรศัพท์  074-673232 

คำสำคัญ (Tags): #onblog#online#pr#sar#tsu
หมายเลขบันทึก: 283184เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2009 22:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

กิจกรรมดังกล่าว เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งของ งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2552 ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ที่เป็นกิจกรรมทางวิชาการ ส่งเสริมความรู้และกิจกรรมดี ๆ สู่ชุมชน เพื่อเป็นการสร้างรากฐานที่เข้มแข็งให้กับสังคม ทั้งนี้สามารถดูรายละเอียดต่างๆ ได้ที่ www.sci.tsu.ac.th/sciday/

นาย สมชาย เพชรขาวช่วย

อยากรู้เกี่ยวกับต้นไม้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท