ขับเคลื่อน PLC ที่ สพป. กาฬสินธุ์ เขต 1_19 : ค่ายต้นกล้าแห่งความดี ๒ (สิ่งที่อยากบอกครู)


อ่านบันทึกที่ ๑ ที่นี่

เราออกแบบ "กระบวนการ" ในหลักสูตรฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ การเรียนรู้บนฐานปัญหาจริง (Real-Life Problem-based Learning: RL-PBL) ให้ครูแยกตัวและรวมตัวกับนักเรียนเป็นเป็นช่วงๆ และเรียนรู้แบบตื่นตัว(Active Learning) โดยเฉพาะกิจกรรมที่ทำกับนักเรียน ที่ออกแบบโดยนักเรียนกลุ่มฮักนะเชียงยืน ซึ่งจะได้กล่าวถึงในบันทึกถัดไป แต่ในบันทึกนี้จะเขียนถึงสิ่งที่เราพยายามจะสื่อสารบอกครู ให้รู้และเข้าใจตรงกัน

BAR (ฺBefore Action Review)

หลังจากพิธีเปิด เราเกริ่นให้คณะครูสังเกตกระบวนการละลายพฤติกรรมของทีมวิทยากรอยู่สักครู่หนึ่ง ก่อนที่จะแยกไปรวมตัวเปิดวง "จิตตปัญญาศึกษาวิธีพุทธ" อยู่อีกสถานที่หนึ่ง

เริ่มด้วยกิจกรรม "Scan Body" หวังจะให้ "ใจ" ของทุกคนรวมมาอยู่กับตัว เรียนรู้ "ความคิด" กับ "ความรู้สึก" ก่อนจะเริ่มกระบวนการ "สุนทรียสนทนา" เพื่อที่จะให้ทุกคนได้สังเกต "เนื้อหา" และ "กระบวนการ" จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา เราจะสามารถเรียนรู้ได้ดีมากถ้าสามารถ "ระลึกรู้" ว่า ณ ขณะใดๆ (ขณะปัจจุบัน) สิ่งที่เกิดขึ้นกับเรานั้นเป็น "ความคิด" หรือ "ความรู้สึก" และหากจะเป็น Coach หรือ ครูอำนวย (Facilitator) ทักษะที่น่าจะต้องมีคือ ทักษะการมองกระบวนการ นั่นคือ สามารถแยกแยะ "กระบวนการ" และ "เนื้อหา" ออกจากกันได้ในมุมมองของตนเอง



ระหว่างดำเนินกิจกรรม "สุนทรียสนทนา" เราเติมกติกาและเครื่องมือเล็กน้อยๆ เช่น การฟัง ปากกาศักดิ์สิทธิ์ การสโลดาวน์ความคิดด้วยการประวิงเวลา ๓๐ วินาทีก่อนที่จะเริ่มคุย ฯลฯ เพื่อช่วยให้ครูค่อยๆ เรียนรู้ "ความรู้สึก" และ "กระบวนการ" เมื่อใดที่เข้าใจว่า "รู้" และ "รู้สึก" คืออะไร จะเข้าใจได้ว่า "ความคิด" คืออะไร ในทำนองเดียวกัน เมื่อใดที่เราเข้าใจว่า "กระบวนการ" เป็นอย่างไร เราจะเข้าใจทันทีว่า "เนื้อหา" คือสิ่งที่เรายึดติดและจมติดอยู่กับการถ่ายทอดแบบ "ท่องจำโดยไม่จำเป็น" (หมายถึง ท่องจำไป แต่ไม่ได้ใช้).... หลักการที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ผู้ปฏิบัติสมถะ-วิปัสสนาในพระพุทธศาสนา จะสามารถเข้าใจในเจตนาได้ง่ายยิ่ง จึงเรียกว่า "จิตตปัญญาวิถีพุทธ"

เราบูรณาการ BAR กับกิจกรรมจิตตปัญญาวิถีพุทธ ด้วยการค่อยๆ ตั้งคำถามตามลำดับ ๓ คำถาม ในระหว่างที่กำลังทำ "สุนทรียสนทนา" ได้แก่ ๑) คุณครูต้องการอะไร ๒) จะต้องทำอย่างไรเพื่อให้ได้สิ่งนั้นๆ และ ๓) อะไรบ้างที่จะทำให้ไม่บรรลุผลสำเร็จตามข้อแรก การตั้งคำถามเป็นเพียง "กระบวนการ" ณ ขณะดำเนินกิจกรรมนั้น เพราะหลังการสนทนา ผมในฐานะกระบวนกรนำสร้างข้อตกลงทันที ด้วยการกำหนดคำตอบของ ๒ คำถามแรก และทำการสำรวจคำตอบของคำถามสุดท้ายจากทุกคน

๑)่ สิ่งที่เราต้องการ

เราต้องการจะพัฒนาการเรียนรู้ (ทักษะการเรียนรู้) และทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ อื่นๆ ด้วยกระบวนการจัดการเรียนการสอนแบบ RL-PBL ซึ่งเน้นให้นักเรียนทุกคนได้ ฝึกคิด ฝึกทำ ฝึกเรียนรู้ด้วยตนเอง

๒) ทำอย่างไรเพื่อให้นักเรียนมีทักษะในศตวรรษที่ ๒๑

เราต้อง "ปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอน" ขอเสนอการจัดการเรียนสอนแบบตื่นตัว (Active Learning) ด้วย RL-PBL ตามตัวอย่าง "ตุ๊กตา" ต่อไปนี้





๓) อะไรที่จะทำให้ไม่บรรลุผลสำเร็จ

  • ครูไม่เปิดใจ ครูไม่ศรัทธาต่อแนวทางและวิธีนี้ .... ข้อนี้ผมถามคุณครูทันทีว่า "ท่านศรัทธาไหมครับ" นั่นแสดงว่าวันนี้เรามีคุณครูที่มีศรัทธาและเปิดใจแล้วอย่างน้อย่างน้อยโรงเรียนละ ๑ ท่าน
  • ภาระงานสอนหลายระดับชั้น ไม่สามารถขยับเวลาได้ โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งถูกกำหนดให้สอนด้วย "ครูตู้" .... การสอนแบบ RL-PBL สามารถคละนักเรียนหลายระดับชั้นได้ ผมเสนอเชิงตั้งคำถามว่า ใช้ในชั่วโมงชุมนุม ชมรม หรือ ลูกเสือ-เนตรนารี ได้หรือไม่.....
  • ไม่ลงมือทำจริงๆ ขาดทีมงาน ... ข้อนี้ผมบอกคุณครูว่า ไม่ต้องสนใจ สิ่งที่เรากำลังจะทำอยู่นี้เป็นการบุกเบิก สำหรับครูผู้บุกเบิกเท่านั้น ซึ่งมีจำนวนไม่มากในประเทศไทย

(มาว่ากันต่อเกี่ยวกับตัวอย่างการ "ฝึกคิด" ด้วยกิจกรรมค่าย ในบันทึกถัดไปครับ)

หมายเลขบันทึก: 581620เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2014 18:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ธันวาคม 2014 18:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท