ขับเคลื่อน PLC ที่ สพป. กาฬสินธุ์ เขต 1_18 : ค่ายต้นกล้าแห่งความดี ๑ (ขอบคุณผู้บริหาร GE)


วันที่ ๒๙-๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ สำนักศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดย CADL จัดค่ายฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ การเรียนรู้บนฐานปัญหาในชีวิตจริง (Real-Life Problem-based Learning: RL-PBL) ณ เฮือนสวนดอนธรรม จ.กาฬสินธุ์ กลุ่มเป้าหมายคือนักเรียนแกนนำ (ประมาณ ๗๐ คน) และครูเพื่อศิษย์ (ประมาณ ๒๐ ท่าน) จาก ๒๐ โรงเรียน และศึกษานิเทศก์ (๒ ท่าน) สังกัด สพป.กาฬสินธุ์ เขต ๑ รวมกับศึกษานิเทศก์จาก สพป. มหาสารคาม เขต ๓ (๒ ท่าน) ทีม CADL อีก ๗ คน (รวมพี่เด็กดีมีที่เรียน) และคณะวิทยากรกลุ่ม "ฮักนะเชียงยืน" (๑๔ คน) จากโรงเรียนเชียงยืนพิทยาคม รวมทั้งสิ้นประมาณ ๑๑๐ คน

ผมกล่าวรายงานต่อผู้อำนวยการสำนักศึกษาทั่วไป ประธานเปิดงานว่า สาเหตุสำคัญที่เป็นปัจจัยให้เกิดโครงการนี้คือ ข้อค้นพบในการทำงานที่ผ่านมาที่จัดเวทีฝึกอบรมเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นครู การประเมินหลังกิจกรรมพัฒนาครู สะท้อนให้รู้ว่าครูได้เรียนรู้และเกิดแรงบันดาลใจที่จะกลับไปพัฒนาการเรียนรู้แบบปัญหาเป็นฐาน หรือ Project-based Learning หรือ PBL แต่เมื่อเวลาผ่านไป พบว่ามีครูจำนวนน้อยมากที่นำไปใช้และเริ่มปรับวิธีการเรียนเปลี่ยนวิธีการสอน เนื่องจากความภาระงานและข้อจำกัดด้านนโยบายที่มุ่งไปที่การสอบ O-net กอปรกับเมื่อสังเคราะห์ปัจจัยแห่งความสำเร็จของการพัฒนาของครูเพ็ญศรี ใจกล้า โรงเรียนเชียงยืนพิทยาคม พบว่า นักเรียนแกนนำที่เรียนรู้ด้วยการแก้ปัญหาจริงๆ ในชุมชน และเรียนผ่าน "การนำทำกิจกรรม" กระบวนการ จึงได้เกิดแนวคิดจะปรับแนวทางการขับเคลื่อนฯ มาสู่นักเรียนแกนนำในแต่ละโรงเรียน โดยเริ่มที่นักเรียนแกนนำโรงเรียนละ ๓ คน ครูแกนนำโรงเรียนละ ๑ คน โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องสมัครใจเท่านั้น มาร่วมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ โดยใช้กระบวนการของ กลุ่ม "ฮักนะเชียงยืน" ซึ่งรับเชิญมาเป็น "วิทยากรกระบวนการ"

วัตถุประสงค์ ๒ ประการของงานนี้คือ ๑) ทำอย่างไรครูและนักเรียนแกนนำจะเข้าใจและมั่นใจ ถึงระดับที่สามารถนำกระบวนการเรียนรู้แบบ RL-PBL นี้ ไปใช้ในโรงเรียนของตน และ ๒) เพื่อจะสร้างเครือข่าย PBL ในเขตพื้นที่ ในทีนี้เรียกว่า "PLC กาฬสินธุ์"


ขอขอบพระคุณ รศ.ดร.อนงค์ฤทธิ์ แข็งแรง ที่ท่านให้ความสำคัญและสนับสนุนกระบวนการสร้าง "ต้นกล้างแห่งความดี" ที่ยากจะหวังผลลัพธ์ในเชิงปริมาณในระยะเวลาสั้นๆ ท่านเดินทางด้วยตนเองมาร่วมและเปิดงานอย่างเป็นทางการ นอกจากกำลังใจแล้ว ทีม CADL ยังได้แนวคิดและแนวทางในการขับเคลื่อนเชื่อมโยงเป็นระบบและและขยายเครือข่ายวิชาการให้ไกลไปถึงระดับอาเซียน ท่านบอกว่า...

สำนักศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีพันธกิจคือการจัดการเรียนรู้รายวิชาศึกษาทั่วไปจำนวน ๓๐ หน่วยกิต ให้กับนิสิตทุกคนที่เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างบัณฑิตให้เป็นคนที่สมบูรณ์ เป็นคนดี และเป็นที่พึ่งแก่ชุมชนและสังคม แต่การขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย สำนักศึกษาทั่วไปไม่ได้มองเพียงแค่ ๒ ปีที่นิสิตเรียนรายวิชาพื้นฐานนี้ หรือ ๔ ปีที่เรียนรู้อยู่ในมหาวิทยาลัย แต่มองไปถึงการปลูกฝังความดีให้กับนักเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา ก่อนที่จะเข้ามาเรียนต่อในมหาวิทยาลัย จึงส่งเสริมให้มีเครือข่ายวิชาการเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ มอบให้ศูนย์ CADL เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการปลูกฝังและพัฒนานักเรียนแกนนำในพื้นที่ และส่งเสริมให้ "คนดีในพื้นที่" เข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยใน "โครงการเด็กดีมีที่เรียน" ซึ่งมีกระบวนการขับเคลื่อนพัฒนาโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา ให้ทุกคนได้พัฒนาตนเองอย่างเต็มที่ ปลูกฝังความดี ให้เป็นบัณฑิตที่พึงประสงค์ที่ "มีปัญญา" และ "อยู่เพื่อมหาชน" ตามอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยต่อไป

(กระบวนการ RL-PBL จะเป็นอย่างไร เชิญอ่านต่อในบันทึกต่อไปครับ)
ดาวน์โหลดภาพทั้งหมดได้ ที่นี่ครับ

หมายเลขบันทึก: 581494เขียนเมื่อ 2 ธันวาคม 2014 00:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 ธันวาคม 2014 15:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท