กายภาพของดินที่เหมาะสมต่อการปลูกอ้อย


ข่าวคราวเกี่ยวกับเรื่องอ้อยในห้วงช่วงนี้ดูท่าจะดีและโดดเด่นค่อนข้างมากครับ เนื่องด้วยนโยบายที่มีการเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นจากเดิม 10 ล้านไร่ เป็น 16 ล้านไร่ โดยอาศัยการลดพื้นที่ปลูกข้าวที่อยู่ในเขตที่ไม่เหมาะสมให้ลดน้อยถอยลงไปทีละน้อย จึงทำให้ในอนาคตอันใกล้นี้ปริมาณผลผลิตข้าวจะลดลงไปประมาณ 10 ล้านตัน ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ราคาข้าวจะค่อยดีขึ้นและเหมาะสม กับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ส่วนอ้อยนั้นราคาจะดีขึ้นหรือเปล่า จะซ้ำรอยเหมือนการรณรงค์ส่งเสริมให้มีการขยายพื้นที่ปลูกยางพาราเหมือนห้วงช่วงสิบกว่าปีที่แล้วอีกหรือไม่ อันนี้ก็คงต้องติดตามกันต่อไปครับ

จะอย่างไรก็ตามด้วยความคิดเห็นส่วนตัวราคาอ้อยนั้นน่าจะไม่ตก ด้วยอาศัยการสังเกตจากสถานการณ์หลายๆอย่าง ทั้งการสนับสนุนจากภาครัฐ การปรับเปลี่ยนกฎระเบียบที่เก่าแก่มากกว่า 30 ปี จากการตกลงกันระหว่าง ผู้บริโภค เกษตรกร โรงงานและภาครัฐ การอนุญาตให้นำน้ำอ้อยดิบมาผลิตเป็นเอทานอลเพื่อทดแทนหรือชดเชยการส่งออกในช่วงที่ตลาดภายนอกอิ่มตัว ก็จะทำให้น้ำอ้อยดิบนั้นมีที่ระบายมีที่จำหน่ายช่วยให้ซัพพลายไม่ล้นจนมากเกินไป ที่สำคัญราคาก็จะไม่ตกต่ำ อีกทั้งตอนนี้ทั้งจีน ญี่ปุ่น และรัสเซีย ก็สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเยี่ยมเยืยนพี่ไทยเรากันบ่อยเสียเหลือเกิน หวังว่าวิกฤติระหว่าง ยุโรป อเมริกา กับรัสเซีย และจีนกับเวียดนามก็น่าจะช่วยให้ไทยเรามีสถานการณ์ทีดีขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อย

จะอย่างไรก็ตามครับ การปลูกอ้อยนั้นก็ควรให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนบ้าง เพราะจัดว่าเป็นพืชที่ต้องการอินทรียวัตถุและแร่ธาตุและสารอาหารในดินที่มากพอสมควร หน้าดินตามหลักทฤษฎีวิชาการนั้นจะต้องมีหน้าดินที่ลึกมากถึง 1 เมตร และระดับน้ำใต้ผิวดินต้องลึกลงไปถึง 1.6 เมตร เพราะฉะนั้นถ้าปลูกกันแบบตาสีตาสาก็จะทำให้ต้องสิ้นเปลืองปุ๋ยเคมีที่ต้องใช้เงินซื้อเข้ามาเพิ่มอย่างไม่จบสิ้น ทำให้ต้นทุนสูง แต่กำไรต่ำ ทำมาเท่าไรก็หมดไปกับค่าปุ๋ยค่ายา ทั้งๆที่ไม่แน่ ที่ใต้พื้นผิวดินนั้นอาจจะมีปุ๋ยผ่านการใส่จากน้ำมือของเราสะสมไว้เป็นจำนวนมากก็ได้ แต่เนื่องด้วยว่าถูกล็อค ถูกตรึง จากค่าความเป็นกรดที่ตกค้างจากปุ่ยเคมีเป็นจำนวนมาก แต่ขาดการดูแลตรวจวัดทำให้การตอบสนองต่อการใส่ปุ๋ยทำได้ไม่ดีนัก

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการปลูกอ้อยนั้นถ้าไม่หนาวหรือชื้นแฉะจนเกินไปนักก็เรียกว่าแทบจะปลูกได้ทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทยทีเดียวเชียวละครับ เพียงแต่เราจะต้องให้ความสำคัญในเรื่องของการตรวจวัดค่าความเป็นกรดและด่างของดิน และปรับให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมคือ 5.8 – 6.3 คือจะต้องเป็นกรดอ่อนๆ ทีนี้พอจะใส่อาหารอะไรลงไปรากอ้อยก็สามารถที่จะตอบสนองได้หมด พยายามทำหรือสร้างธนาคารปุ๋ยหมักเพื่อสำรองอินทรียวัตถุลงไปสู่แปลงนาให้มากๆเข้าไว้ (อย่าลืมต้องนำปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกที่หมักได้ที่แล้วเท่านั้นนะครับ โดยใช้จุลินทรีย์ขี้ควาย,ขี้วัวหรือจุลินทรีย์หน่อกล้วย ฉีดพ่นกระตุ้นให้เปื่อยยุ่ยเร็วด้วยนะครับ)

การดูแลบำรุงรักษาต้องพยายามให้อ้อยนั้นกินอาหารให้ครบห้าหมู่หรือครบโภชนาการนะครับ มิฉะนั้นอ้อยอาจจะโตแบบขาดคุณภาพโดยเฉพาะเรื่องความหวานนั้น ถ้าค่าความหวาน (CCS) ไม่ถึงก็อาจจะถูกตัดราคาจากโรงงาน และในทางกลับกันถ้าค่าความหวานได้ตรงตามมาตรฐานหรือดีกว่าก็จะมีราคาที่บวกเพิ่มขึ้นมาให้อีกด้วยนะครับ การที่จะทำให้อ้อยได้รับแร่ธาตุและสารอาหารที่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น ถ้าปลูกอยู่บนพื้นที่คุณภาพแย่ เป็นดินทราย ดินขี้เป็ด หรือดินที่มีการกำเนิดเกิดปฏิกริยากับเนื้อดินต่ำ คือถูกกระบวนการทางธรรมชาติทำให้เปื่อยผุพังอย่างรวดเร็ว สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนจนแทบจะไม่เหลือแร่ธาตุและสารอาหารที่กลับคืนมาได้เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของพืช ดังนั้นถ้าจำเป็นที่ต้องการให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์อย่างเร่งด่วนแล้วการใช้แต่เพียงอินทรีย์วัตถุเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่พอ ควรจะต้องอาศัยคุณสมบัติจากหินแร่ภูเขาไฟที่มีแหล่งกำเนิดการเกิดปฏิกิริยาของเนื้อดินสูง มีแร่ธาตุและสารอาหารต่างๆมากมายที่พร้อมต่อการเจริญเติบโตของพืชและอ้อย จะช่วยเพิ่มผลผลิตทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพได้ไม่มากก็น้อยครับ

มนตรี บุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ www.thaigreenagro.com

หมายเลขบันทึก: 581567เขียนเมื่อ 2 ธันวาคม 2014 19:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ธันวาคม 2014 19:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท