แคงเกอร์มะนาวเอาอยู่ สูตรเภสัชกรเอก


สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน ผมเภสัชกรเอกจะมาขอนำเสนอแนวทางใหม่ในการจัดการ โรคแคงเกอร์ (Citrus Canker) ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาที่นำความปวดหัวปวดใจมาให้พี่น้องเกษตรกรสวนมะนาว และสวนส้มอยู่ไม่น้อย เพราะเจ้าโรคแคงเกอร์นี้มันเป็นโรคที่รักษายาก แต่ติดต่อง่ายมาก หากสวนไหนมีต้นมะนาวที่เป็นโรคแคงเกอร์แค่เพียงต้นเดียว ในเวลาอีกไม่นาน มะนาวเกือบทั้งสวนก็จะพลอยติดโรคแคงเกอร์ ไปด้วย ซึ่งปัจจุบันเรามักใช้ยากลุ่มทองแดง หรือ คอปเปอร์ (Copper) ซึ่งไม่สามารถกำจัดโรคแคงเกอร์ให้หมดไปได้ และสารเคมีพวกคอปเปอร์ ยังมีราคาแพง และเป็นพิษต่อเกษตรกร และ อันตรายต่อผู้บริโภค อีกต่างหาก เรียกว่ามันแพง และเป็นพิษ แถมยังคุมโรคแคงเกอร์ไม่อยู่อีกด้วย อ้าว ลืมแนะนำตัวไป ครับ ผมเภสัชกรเอก ทำงานเป็นเภสัชกร ในโรงพยาบาลครับ โดยตัวผมเอง นี่สนใจปลูกมะนาวมานานกว่า 10 ปีแล้ว เพราะแม่ผมซึ่งป่วยเป็นมะเร็ง จำเป็นต้องใช้มะนาวเยอะมาก วันละ 10 ผลเลยทีเดียว มันจึงทำให้ผมเข้าสู่วงการเป็นเป็นเกษตรกรสวนมะนาวกับเขาด้วยคนครับ ยังไง ๆ ผมขอฝากเนื้อ ฝากตัวกับผู้อ่านด้วยครับ ขอยกมือไหว้งามๆ สักครั้งหนึ่งนะครับ

โรคแคงเกอร์ (Citrus Canker) เป็นโรคที่พบในพืชตระกูลส้มได้แก่ มะนาว ส้มโอ มะกรูด และเลมอน โรคนี้มักพบที่ใบจะมีรอยโรคเป็นจุดสีน้ำตาล และอาจเกิดแผลที่ใบอาจมีรอยแตกร้าว นอกจากนี้ อาจพบรอยโรคที่กิ่ง ก้าน ลำต้น และผลได้โดยโรคแคงเกอร์นั้นมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Xanthomonas axonopodi. pv citri. นี่คือชื่อใหม่ล่าสุดครับ ส่วนเชื่อเดิม ของมันก็คือ Xanthomonas compestris. pv citri. กล่าวแบบสั้นๆ ก็คือ โรคแคงเกอร์ สาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียนั่นเอง


ภาพที่ 1 แบคทีเรีย ก่อโรคแคงเกอร์

โรคแคงเกอร์นั้นจะระบาดมากเมื่อมีความชื้นสูง กระแสลมแรง และ หนอนชอนใบเข้าทำลายใบมะนาว หรือ ใบส้ม จะทำให้โรคแคงเกอร์ระบาดมากขึ้นดังนั้น คำแนะนำเดิมๆ จึงจะให้ชาวสวนปลูกพืชแนวเขตเพื่อบังลมเข้าสวนมะนาวเสมอ และต้องมีการใช้ยาฆ่าแมลงในการป้องกันและกำจัด หนอนชอนใบ (Asian leafminer) โดยเฉพาะเวลามะนาว หรือส้มแตกยอดใบอ่อนขึ้น มักจำเป็นต้องใช้ยาฆ่าแมลงในช่วงแตกใบอ่อนเพื่อป้องกันหนอนและแมลง ปัญหาก็คือเกษตรกรส่วนใหญ่มักใช้ สารเคมี ที่มีชื่อว่า abamectin ในการป้องกันหนอนและแมลง ซึ่งมีพิษมากต่อ มนุษย์ ผมเคยไปฉีดพ่น abamectin อยู่หนหนึ่ง พ่นยาครั้งเดียว ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน ทำให้ต้องลาป่วยไป 3 วันเลยทีเดียว ต่อมาผมแก้ปัญหาง่ายๆ โดยจ้างชาวบ้านคนอื่นมาพ่นสารเคมีแทน ทำให้ผมเองในฐานะเภสัชกร ก็รู้สึกผิดเหมือนกัน ที่อาจทำให้ผู้อื่นได้รับสารพิษจากการทำสวนมะนาวของผมนั่นเอง

ภาพที่ 2 ใบพืชตระกูลส้มที่ติดโรคแคงเกอร์

ผมเองเลย ใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ มาค้นคว้า จากข้อมูลงานวิจัยต่างๆ ว่าจะสามารถใช้วิธีใดที่ปลอดภัยในการปราบ โรคแคงเกอร์ ผมได้อ่านบทความ ของ ดร.จิระ แจ่มสว่าง ในหนังสือ การลงทุนสร้างสวนมะนาวเชิงธุรกิจมืออาชีพ พบว่า เจ้าเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า และแบคทีเรีย Bacillus Cereus ผมเองมีความคิดส่วนตัวว่า แบคทีเรียมันโตเร็วกว่าเชื้อรา ดังนั้นผมจึงสนใจ จะนำเอาแบคทีเรีย บาซิลลัส มาปราบเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคมะนาวให้ได้ แต่เนื่องจากว่า ผมไม่สามารถหาซื้อ เจ้าแบคทีเรีย Bacillus Cereus มาได้ ผมจึงเลือกใช้ แบคทีเรีย ที่มีชื่อว่า Bacillus Subtilis มาใช้แทน เพราะผมค้นคว้า บทความวิชาการในประเทศแล้วพบว่า เจ้า แบคทีเรียตัวนี้ มันสามารถ ปราบโรครากเน่า โคนเน่าได้ดี และโรคนี้ก็พบในมะนาวด้วย ประกอบกับ บทความโฆษณาที่น่าสนใจ ของคุณมนตรี บุญจรัส แห่ง ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ บอกว่า เจ้า แบคทีเรีย บาซิลลัส ซับทิลิส(Bacillus Subtilis) มันสามารถ ลดการระบาดของโรคแคงเกอร์ในมะนาวได้ดี

ผมจึงได้เริ่มทดลอง ครั้งแรกกับ มะนาวแป้นดกพิเศษ ลูกรักของผม ติดโรคแคงเกอร์ 3 ต้น ผมจึงใช้ แบคทีเรีย บาซิลลัส ซับทิลิส ที่ขยายในนม UHT รสหวาน + นมแลตตาซอย มาผสมน้ำ 5 ลิตร แล้วนำมารดต้นมะนาวที่เป็นโรคแคงเกอร์ ทุก 3 วัน รวม 4 ครั้ง ผลที่ได้ก็คือ จุดต่างๆ ที่ใบมะนาว ที่ติดโรคแคงเกอร์ นั้นหายไปหมด ภายในเวลาไม่ถึงเดือนเท่านั้นเอง และอีกอย่างหนึ่งก็คือ แบคทีเรียตัวนี้ มันปลอดภัย เพราะชาวภาคเหนือใช้มันในการทำขนมถั่วเน่า และคนญี่ปุ่น ใช้มันในการทำเต้าหู้ มานานหลายปีแล้ว แสดงว่า แบคทีเรีย บาซิลลัส ซับทิลิส ปลอดภัยมาก เพราะคนก็ยังกินเจ้าแบคทีเรียพวกนี้ได้ อย่างสบายๆเลย ต่อมากผม นำเอาเจ้าแบคทีเรียตัวนี้ มารักษา มะนาวแป้นรำไพที่เป็นโรคแคงเกอร์ มันก็ได้ผลอีกเช่นเดิม แล้วผมยังได้ไป ซื้อหามะนาวบ้าน ราคาถูกที่ติดโรคแคงเกอร์ อย่างหนัก 3 ต้น ผมก็ใช้สูตเดิมอีกคือ แบคทีเรีย บาซิลลัส ซับทิลิส + นมUHT รสหวาน + นมแลตตาซอย หมักไว้ 48 ชั่วโมง และผสมน้ำ 5 ลิตร นำไปรดใบและโคนต้นมะนาวในตอนเย็น ทุกๆ 3 วัน รวม 4 ครั้ง ซึ่งก็น่าพอใจมาก เจ้าโรคแคงเกอร์หายสนิท ใบมะนาวที่ออกใหม่ มันสวย มันเขียว มันเนียนมาก ไม่พบโรคแคงเกอร์อีกเลยครับท่าน

การกำจัดหนอนชอนใบ

หนอนชอนใบ (Asian leafminer) นั้นจะเข้าไปทำลายใบมะนาวอ่อนที่เกิดใหม่ นั้น ทำให้ใบมะนาวมีแผล และแบคทีเรียก่อโรคแคงเกอร์ Xanthomonas axonopodi. pv citri. ก็จะเริ่ม ระบาดทันที แต่ใบมะนาวมีแผล มีความชื้นสูงพอ การระบาดของโรคแคงเกอร์ จะรุกลามเร็วมาก

ภาพที่ 3 แสดงภาพหนอนชอนใบ

โดยเฉพาะมะนาวแป้นรำไพ และมะนาวแป้นพวง จะอ่อนแอต่อโรคแคงเกอร์มาก ซึ่งแต่เดิม การใช้สารเคมีเพื่อจัดการหนอนชอนใบ มักใช้ อะบาแม็กซิน (abamectin) หรือ สารเคมีกลุ่ม คาร์บาริล ซึ่งมีความเป็นพิษต่อมนุษย์สูง ผมจึงค้นคว้าแล้วพบว่า สารเคมีที่ กำจัดแมลงศัตรูพืชที่ค่อนข้างปลอดภัย และมีพิษต่ำก็คือ Dinotefuran ใช้กำจัดหนอน และเพลี๊ยะต่างๆ ส่วน White Mineral Oil ที่มีพิษต่ำมาก(สามารถใช้ในสวนเกษตรอินทรีย์ได้) กำจัด หนอน แมลง เพลี๊ยะ และไร สารเคมีทั้ง 2 ชนิด สามารถ ได้อย่างปลอดภัย หากใช้อย่างถูกวิธีจะ ไม่มีพิษตกค้างแก่ร่างกายเกษตรกรแม้แต่น้อย ซึ่งข้อมูลพวกนี้ ต้องค้นคว้าเพิ่มเติม จากความรู้ด้านพิษวิทยา ที่ได้เล่าเรียนมาสมัยเป็นนักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ นั่นเอง

เหตุผลที่ บาซิลลัส ซับทิลิสใช้ได้ผลดีในโรคแคงเกอร์

ทำไมแบคทีเรีย บาซิลลัส ซับทิลิส จึงสามารถ กำราบโรคแคงเกอร์ จากการค้นคว้า โดยดูจากงานวิจัยที่ ผ่านมา ผมพบว่า ใน ปี คศ. 1996 ที่ประเทศอินเดีย ได้มีงานวิจัยโดยการนำแบคทีเรีย และเชื้อราหลายชนิดมาจัดการเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคแคงเกอร์ โดยการทดสอบในห้องทดลอง พบว่า แบคทีเรีย บาซิลลัส ซับทิลิส ได้ผลดีที่สุดรองลงมาได้แก่ Pseudomonas fluorescens , Aspergillus terreus ตามลำดับ

http://epubs.icar.org.in/ejournal/index.php/IPPJ/article/viewFile/20077/10232


ภาพที่ 4 ตารางแสดงความสามารถในการยับยั้งแบคทีเรีย ก่อโรคแคงเกอร์

นอกจากนี้ ในปี คศ.2012 ประเทศไต้หวัน ยังมีการตีพิมพ์งานวิจัยในการทดลอง นับแบคทีเรีย บาซิลลัส หลายสายพันธุ์ในการยับยั้งแบคทีเรียที่ก่อโรคแคงเกอร์ โดยพบว่า Bacillus subtilis สายพันธุ์ TKS1-1 และ Bacillus amyloliquefaciens สายพันธุ์ WG6-14 สามารถยับยั้งแบคทีเรีย Xanthomonas axonopodi. pv citri. ที่ก่อโรคแคงเกอร์ได้ดีมาก

http://www.plosone.org/article/info%3Adoi%2F10.1371%2Fjournal.pone.0042124

บทสรุปการจัดการโรคแคงเกอร์ขั้นเทพ แบบเภสัชกรเอก

ให้ใช้ แบคทีเรีย บาซิลลัส ซับทิลิส ที่จัดเตรียมและขยายเชื้อแล้ว พ่นใส่ใบมะนาวที่เป็นโรค ทุก 3 วัน รวม 4 ครั้ง และพ่นซ้ำเพื่อ ป้องกันการเกิดโรคแคงเกอร์ซ้ำ นอกจากนี้ ยังควรลดโคนต้นมะนาวด้วยเชื้อ บาซิลลัส ซับทิลิส ด้วย อย่างน้อย 3 ครั้งต่อปี

ภาพที่ 5 ผลการทดลองรักษาโรคแคงเกอร์ในมะนาวพื้นเมือง ด้วย บาซิลลัส ซับทิลิส

ข้อดีของการใช้ แบคทีเรีย บาซิลลัส ซับทิลิส (Bacillus subtilis)

ประหยัด เพราะ หัวเชื้อ แบคทีเรีย บาซิลลัส ซับทิลิส ราคาถูกมาก (กิโลกรัมละ ไม่เกิน 500 บาท) โดยแต่ละครั้งใช้หัวเชื้อแค่ 5 กรัมเท่านั้น

ปลอดภัย เพราะ แบคทีเรีย บาซิลลัส ซับทิลิส ไม่มีพิษเหมือน สารกลุ่มคอปเปอร์ ต่างๆแบคทีเรียนี้ สามารถนำมาทำอาหารได้ ในถั่วเหม็น ของคนภาคเหนือ และเต้าหู้ ของคนญี่ปุ่น

ประสิทธิภาพสูง เนื่องจาก แบคทีเรีย บาซิลลัส ซับทิลิส เป็นแบคทีเรีย ที่เติบโตได้ดี ในอากาศอบอุ่น ถึงอากาศร้อน และ เป็นแบคเรีย ชนิดสร้างสปอร์ได้ จึงทำให้มันตายยาก อยู่ในดินได้นานกว่า 10 ปี แตกต่างจากยาปฎิชีวนะ หรือ สารเคมีที่ต้องให้เรื่อยๆ ไป ใช้แล้วหมดไป ต้องเสียเงินซื้อสารเคมีมาใช้บ่อยๆ ส่วน การใช้ แบคทีเรีย ชนิดนี้ เมื่อมันมีมากพอแล้ว มันจะยึดครองมะนาวต้นนั้นกลายเป็นแบคทีเรียประจำถิ่น และดินบริเวณใกล้เคียง ต่อไปอีกนานแสนนานเลยทีเดียว

การเตรียมสารเพาะเชื้อ แบคทีเรีย บาซิลลัส ซับทิลิส

ส่วนผสม

หัวเชื้อแบคทีเรีย บาซิลลัส ซับทิลิส (Bacillus subtilis) ขนิดผง 1 ช้อนชา

นม UHT รสหวาน 1 กล่อง 250 ml

นมแลตาซอย 1 กล่อง 250 ml

การเตรียม

ผสมให้เข้ากันในขวดน้ำอัดลมพลาสติก ขนาด 1.25 ลิตร หมักไว้ในห้องที่มีอากาศร้อน (อย่าปิดฝาแน่น) แต่ไม่ให้โดนแสงแดด เก็บไว้นาน 48-72 ชั่วโมง จึงนำมาใช้ได้ พยายาม อย่าให้มดขึ้นด้วย เวลาใช้ นำน้ำยาที่ได้ 50 ml ไป ผสมน้ำ 5 ลิตร ในการพ่นใบมะนาวที่เป็นโรคแคงเกอร์

ทำความรู้จักผู้เขียน

สวัสดีครับ ผมเภสัชเอก ครับ ผมมีชื่อจริงว่า ศุภรักษ์ ศุภเอม ผมเป็นเภสัชกร รับราชการ ทำงาน ที่อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น สนใจปลูกมะนาวเป็นอาชีพเสริม มานานกว่า 10 ปีแล้วครับ โดยผมมีความฝันจะ ทำสวนมะนาวที่มีผลผลิตคุณภาพสูง ปลอดสารพิษ ผ่านมาตรฐาน GAP และ สามารถบังคับมะนาวให้ออกนอกฤดูกาลได้ ในต้นทุนที่ไม่สูง เกินไป โดยอาศัยความรู้พื้นฐานด้านเภสัชศาสตร์ เกษตรศาสตร์และ การทำวิจัยที่ได้เล่าเรียนมาในการค้นคว้าหาความรู้เรื่องมะนาว และ ทดลองวิธีการใหม่ๆ ในการปลูกมะนาวให้ประสบความสำเร็จ

บรรณานุกรม

1 จิรเดช แจ่มสว่าง. 2552. การใช้จุลินทรีย์ปฏิปักษ์เพื่อควบคุมโรคมะนาว. การลงทุนสร้างสวนมะนาวเชิงธุรกิจมืออาชีพ. บริษัท แอคมี่ พรินติ้ง จำกัด. ISBN : 978-974-235-885-3

2 มนตรี บุญจรัส. 2557 . ปัญหาที่เกิดบ่อยในการทำมะนาวนอกฤดู. เกษตรวาไรตี้ รู้แล้วรวย ฉบับที่ 35/2557.

3 Kalita ,P. L. C. Bora and K.N. Bhagabati , 1996. Phylloplane microflora of citrus and their role in management of citrus canker. Indian Phytopath., 49: 234-237.

4 Huang T-P, Tzeng DD-S, Wong ACL, Chen C-H, Lu K-M, et al. (2012) DNA Polymorphisms and Biocontrol of Bacillus Antagonistic to Citrus Bacterial Canker with Indication of the Interference of Phyllosphere Biofilms. PLos ONE / www.ploseone.org July 2012 / Volume 7 / Issue 7/ e42124.

หมายเลขบันทึก: 581372เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2014 06:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2015 19:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ทำไมหนอ..ประเทศเราจึงไม่มีการสนับสนุน..ในการ..ใช้เทคนิคนี้..ให้ทุกคนที่มีปัญหา..เข้าถึง...(น่าเสียดาย)

อิฉัน..เคยหลงไหลความงามบนใบไม้..ที่หนอนเป็นผู้กระทำ..อิอิ

  • ขอชื่นชมและยินดีกับความสัมฤทธิ์ผลของการทดสอบ ทดรองครั้งนี้ครับ
  • เป็นการนำความรู้แต่ละเรื่อง มาประมวล มาบูรณาการ..จนเกิดเป็นความรู้รอบ..รอบรู้
  • ขอขอบคุณสำหรับการแบ่งปัน ครับ

ขอบคุณมากค่ะ สำหรับเทคนิคดีๆ เดี่ยวจะนำไปใช้บ้าง ถ้าได้ผลกับตัวเองแล้วจะนำไปเผยแพร่ต่อให้กับเกษตรกรนะคะ

จะนำไปทดลองใช้ครับมีสวนมะนาวอยู่ไม่มากแต่ก็พอเก็บขายได้และแจกญาติพี่น้อง แบคทีเรีย บาซิลลัช และซับทิลิส ซื้อได้ที่ไหนครับ..ขอบคุณมาก

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท