เรื่องเล่าระหว่างวันที่ 10 - 14. พฤศจิกายน. 2557



16. พฤศจิกายน. 2557

เรียน. เพื่อนครู. ผู้บริหาร และผู้อ่านที่เคารพรักทุกท่าน

วันจันทร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2557 เข้าสำนักงานยังไม่ทันได้นั่ง มีคนมาเชิญไปห้องสโมสร เจ้าหน้าที่ยืนกันเต็ม เขาบอกว่ากำลังจัดอวยพรวันเกิดย้อนหลังให้เพราะปีนี้ 8 พฤศจิกายน ตรงกับวันเสาร์ มาถึงขั้นนี้ก็ต้องตามใจ ตอนปราศรัยได้กำชับให้ช่วยกันบริการครูให้ดีเพราะเรามีที่ทำงานที่สะดวกสบายทั้งกายและใจแล้ว ต้องทำให้ครูสบายใจกลับไปให้ได้ กลับไปทำงานที่ห้องสลับกับการรับแขกที่มาหา

เที่ยงชวนนักการภารโรงไปกินข้าวที่ร้านกันเอง คลองบ้านพร้าว บ่ายกลับมาทำงานต่อ เย็น ๆ มีผู้บริหารมาอวยพรวันเกิดให้อีก 7-8 คน. จึงรับรองกันที่ห้องสโมสร ได้ร้องเพลงกันพอหอมปากหอมคอ. เย็นเดินทางไปเยี่ยม ผอ.สนอง. ดาวตุ่น ที่ถนนเพชรบุรี พาภรรยาคือครูแน่งน้อย ดาวตุ่น มาหาหมอที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เคยทำงานด้วยกันที่ชุมพรประมาณ 5 ปี ตอนนี้เกษียณแล้วแต่ยังดูแข็งแรง. พูดถึงการอวยพรวันเกิดสำหรับปทุมธานีมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่เรื่องหนึ่งซึ่งผมก็เก็บความสงสัยมากว่า 3 ปี คือผู้มาอวยพรร้อยละ 70 จะมีแบรนด์เขียวมาฝาก แถมบางคนคุยให้ได้ยินว่าซื้อของอย่างอื่นมาต้องไปเปลี่ยนเป็นแบรนด์เขียว. ทำนองว่าผมชอบกินแบรนด์เขียว. ความจริงผมกินแบรนด์เขียวปีหนึ่งไม่กี่ขวด. ซื้อเวลาขับรถทางไกลเพราะลูกน้องที่ชุมพรแนะนำว่าดีกว่า M-150. โดยปกติวิสัยก็ไม่เคยดื่ม. เมื่อมอบมาก็นำไปแจกลูกน้องที่เพชรบุรีบ้างชุมพรบ้างตามโอกาส . เห็นว่าปีนี้เป็นปีที่6 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่จะรับราชการที่ปทุมธานีจึงขอบอกว่า. ผมไม่ใช่นักเลงแบรนด์เขียวตามที่เข้าใจกัน.(แก้ข่าว) หากจะซื้อมาฝากก็รับไว้ แต่อย่าเข้าใจว่าผมชอบดื่มแบรนด์เขียว อย่างที่ผ่านมา น้ำดื่มธรรมดาก็พอ สะอาดและประหยัดกว่า ปรากฎการณ์นี้เคยเกิดกับเลขาธิการ ท่านหนึ่ง ทุกคนเข้าใจว่าท่านชอบกินแอพเปิ้ล พอถึงปีใหม่ห้องทำงานจึงกลายสภาพเป็นตู้คอนเทนเนอร์แอพเปิ้ล ท่านเฉลยให้ฟังว่าคุยให้คนใกล้ชิดฟังว่าสมัยเรียนที่อเมริกากินแอพเปิ้ลทุกวัน แถมใส่กระเป๋ากางเกงไว้อีกหนึ่งลูก แค่นี้ถูกขยายผลจนห้องกลายเป็นโกดังแอพเปิ้ล. ไม่เชื่อก็เป็นไปแล้ว

วันอังคารที่ 11 พฤศจิกายน 2557 เช้าเดินตรวจความเรียบร้อยรอบอาคาร ต้นไม้ที่ปลูกด้านหลังใบเหี่ยวลงจนเป็นสีน้ำตาลทั้งต้น คือ มะตาด ต้นทางเหนือสุด. แต่ที่ยอดใบยังเขียว คงต้องรอดูอาการว่าจะอยู่หรือไป . สวนครัวขี้เหร่แท้ ไร้คนดูแลรักษา ขาดปุ๋ยขาดน้ำ. แต่พริกยังออกผลใหญ่มาให้ชม 2-3 ดอก ริมอาคารด้านเหนือเป็นที่สุมของถังขยะ ไม้ถูพื้นและเรือที่รอซ่อม คิดแล้วเรายังขาดห้องเก็บของ การสร้างสำนักงานให้สมบูรณ์เป็นเรื่องยาก. ที่จอดรถเก็บรถของราชการก็ไม่มี(เหมือนเดิม) หน้าอาคารจอดรถแกะกะไปหมด ที่เก่าดีตรงไม่มีที่ให้จอดเลย ที่นี่ต้องจัดระเบียบใหม่ กลับทำงานที่ห้องมีแฟ้มงานให้ลงชื่ออนุญาตเกี่ยวกับการพาลูกเสือไปอยู่ค่ายพักแรมต่างจังหวัดกันมาก ทั้งที่ย้ำแล้วว่าหากเสียหายผู้รับผิดชอบคือโรงเรียนซึ่งหมายถึงผู้อำนวยการโรงเรียนนั้นแล. บ่ายไปงานพระราชทานเพลิงศพแม่คุณสัมฤทธิ์ ทรัพย์ขำ อดีต กปช.สมัยปี 2526 ที่วัดศรีเมือง. จังหวัดสมุทรสาคร. ใช้เส้นทางถนนพุทธมณฑลสาย 4 จนจนเกือบออกถนนพระราม 2. เลี้ยวขวาเข้าถนนบางปลา แล้วเลี้ยวเข้าถนนเทศบาลซอย 5 จนถึงวัด. พบเพื่อนฝูงเก่าที่เกษียณไปแล้วหลายท่าน ขากลับแวะซื้อปลาเค็มนานาชนิดให้เขาทอดเสร็จคนละ 1 กก.กับเต้ยเป็นของฝากจากมหาชัย

วันพุธที่ 12 พฤศจิกายน 2557 เช้านี้ตั้งใจออกโรงเรียนที่ขาดผู้บริหารตัวจริงในอำเภอลาดหลุมแก้ว มีท่านรองผู้อำนวยการเขตฯ นายสมบัติ จันทร์มีชัย ไปด้วย ส่วน ศน.ประสิทธิ์ เสียงแจ๋ว รอที่โรงเรียน และคงขับรถนำบ้างตามบ้างไปทุกโรงเรียน. เริ่มจากโรงเรียนคลองพระอุดม. ผอ.มนต์ชัย เปรมปราณี เกษียณอายุราชการ ครูท่านเดิมที่เคยรักษาราชการแทนก็มาป่วยจึงต้องตั้งผู้อาวุโสรองลงมารักษาราชการแทน ดูสภาพทั่วไปก็น่าจะจ้ดการเรียนการสอนไปได้ หลายห้องใช้โครงการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม แนะนำให้ลดจอโทรทัศน์ลงในระดับสายตา เวลานักเรียนนั่งก็ให้นั่งตรง ๆ หันหน้าเข้าจอ ไม่ใช่เอียงจนคอเบี้ยวเสียสุขภาพ จากนั้นออกกลับทางเดิมมุ่งไปทางลาดหลุมแก้ว ลงขวาเข้าไปโรงเรียนสังฆรักษ์บำรุง ยังมีร่องรอยแห่งความรุ่งเรืองสมัย ผอ. วีระพงษ์ ประดิษฐ์ เป็นผู้บริหาร การใช้ถังน้ำฝนแบบ ฝ.33 ปรับปรุงเป็นห้องน้ำห้องส้วมได้สวยงามจนเป็นแบบอย่างได้ โรงเรียนไหนจะรื้อทิ้งขอให้มาดูตัวอย่างที่โรงเรียนนี้ก่อน. กิจกรรมหนึ่งก่อนกลับคือเก็บพริกกะเหรี่ยงในแปลงเกษตรของโรงเรียน แต่ละต้นดกมาก ได้มาสักกำมือจะไปพิสูจน์ว่าเผ็ดจริงหรือเปล่า ครูแถมกล้วยน้ำว้าให้อีก 1 หวี จากนั้นตรงแน่วไปจนถึงแนวคลองส่งน้ำคลองลากค้อนขึ้นไปทางทิศตะวันตกแวะโรงเรียนสว่างราษฎร์บำรุง.เคยรุ่งเรืองสมัย ผอ.ปราโมทย์ ภูมิจันทร์ มาวันนี้ก็ดูทรุดโทรมลงไปเหมือนบ้านที่ขาดเสาหลัก แต่คุณครูก็ตั้งใจทำงาน โครงการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมก็ใช้ได้ดี ข้ามฝั่งคลองลากค้อนไปจังหวัดนนทบุรีเพราะถนนดีกว่า แต่ไม่แวะโรงเรียนวัดลากค้อนเพราะสังกัด สพป.นนทบุรี เขต 2 ไปลอดถนนบางบัวทอง-สุพรรณบุรี ส้กพักก็ข้ามคลองไปฝั่งปทุมธานี แวะโรงเรียนคลองลากค้อน ผอ.รร.เพิ่งย้ายไปสามร้อยยอด ประจวบคีรีขันธ์ เธอปรับปรุงโรงเรียนไว้ดีมาก ตัวโรงเรียนอยู่บริเวณเดียวกับมัสยิด จึงได้พึ่งพาอาศัยชุมชนช่วยดูแล วันนี้ผู้ปกครองมาช่วยตักอาหารกลางวันเลี้ยงเด็กนักเรียน ชุมชนกำลังก่อสร้างอาคารเรียนศาสนา งบประมาณสนับสนุนจาก อบจ.ปทุมธานี ผู้รักษาราชการแทนยืนยันว่าทำงานกันไปได้ไม่มีปัญหา. เดินทางลอดถนนบางบัวทอง-สุพรรณบุรีไปฝั่งตะวันออกอีกครั้งเพื่อไปโรงเรียนชุมชนวัดหน้าไม้ ถึงโรงเรียนพักกลางวันพอดี ผู้รักษาการก็ไม่หนักใจอะไรเพราะเชื่อว่าจะมีผู้บริหารย้ายมาเร็ววัน. กลับออกมาทานข้าวกลางวันที่ร้านสมชัย(โกเท้) ถือโอกาสซื้อขนมเปี๊ยะบางเลน 5 กล่องฝากเพื่อนรูมเมดตอนเรียน นปส. คือคุณไพศาล ศิลปวัฒนานันท์ นายอำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ เพราะขอข้าวกลางวันให้คณะครูโรงเรียนป่าไม้อุทิศ 9 สพป.นนทบุรี เขต 1 ทานหนึ่งมื้อพรุ่งนี้ ลงใต้ไปทางอำเภอบางบัวทองแล้วแวะซ้ายมือส้กพักถึงโรงเรียนสามวาวิทยา ผอ.รร.เพิ่งเกษียณไป หลังน้ำท่วมภาคธุรกิจเอกชนช่วยฟื้นฟูจนสภาพดี บ่ายได้ยินเสียงสวดคำภีร์กุรอ่าน เสียงเพราะมาก ได้ความว่าเป็นนักเรียนโรงเรียนนี้เคยเข้าประกวดจนได้รางวัล พบประธานกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ท่านบอกว่าหากย้ายครูออกไปให้ส่งครูมาแทนด้วย. ก็ได้ตามขอมีครูย้ายออกไปคนหนึ่งแต่มีครูย้ายมาแทนคนหนึ่งเหมือนกัน เข้าทางลัดตัดไปโรงเรียนคลองขวางบน ผ่านทุ่งนาบ้างป่าละเมาะบ้างก็ถึงโรงเรียน พัฒนาไปมากจากฝีมือ ผอ.ณรงค์ กิตติกาญจนาพร ไม่เสียทีที่ให้สองขั้นก่อนเกษียณ โรงเรียนสุดท้ายของอำเภอนี้คือโรงเรียนวัดบัวขวัญ เอกลักษณ์ของโรงเรียนนี้คือบันไดขึ้นชั้นสอง ช่างคำนวณผิดพลาดอย่างไรไม่แจ้งทำให้บันไดขั้นสุดท้ายผิดจังหวะไม่เหมือนขั้นอื่น ๆ. ครูใช้ทางไกลผ่านดาวเทียมกันทุกห้อง ปัญหาคือทีวีสูงไป. กลับเข้าเขตแบบหมดเรี่ยวแรงแต่ก็มีความสุขกว่าที่ไหนๆเมื่อออกไปโรงเรียน เหมือนได้รบเคียงบ่าเคียงไหล่กับครู รู้สุขรู้ทุกข์ของเขา สัมผัสแววตาเด็ก ๆ ที่มาเติมเต็มสาระให้ชีวิต. ครูคือที่พึ่งของเขา

วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤศจิกายน 2557 ภาคเช้าเดินทางไปสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา บ่ายกลับเข้าสำนักงานเดินดูการติดป้ายนิเทศ ป้ายข้อมูลที่รื้อจากอาคารเดิม บางแผ่นหาที่ติดยากเพราะเก่าเหลือเกิน. นั่งคิดไตร่ตรองถึงการสร้างที่ยีดเหนี่ยวทางใจให้กับคนในเขตตามความเชื่อ เพราะยามมาบ่นให้ฟังว่ากลางคืนเงียบจนน่ากลัว (รวมทั้งหนาวเพราะฤทธิ์แอร์ที่ติดให้หรือเปล่า) บางคนก็ขยายผลว่าเห็นคนใส่ชุดขาววูบวาบไปมา รวมทั้งก่อนจะสร้างอาคารหลังนี้มีต้นพิกุลใหญ่อยู่ต้นหนึ่งไม่แน่ใจว่ามีคนไปนุ่งห่มผ้าให้หรือเปล่า ต่อมาก็ยืนตายเพราะดินไปถมรากอยู่ลึกเกินไปขาดอากาศ คนงานก็สร้างศาลเล็กๆให้ ข่าวว่าถูกหวยกันหลายคน พอสร้างอาคารเสร็จเราปรับที่ใหม่เสมอกันหมด ความจริงมีผู้เสนอจะสร้างศาลพระภูมิให้แต่ขนาดและสถานที่ยังไม่ลงตัว. ผมเองก็เป็นคนกลาง ๆ มีหรือไม่มีก็ได้ถือว่ากระบี่อยู่ที่ใจ(ความจริงอยู่ที่ใต้) แต่ถ้าจะสร้างต้องให้ดีให้สวย อวดใครๆได้ ไม่หมองแหมง เลยคิดว่าถ้าจะมีต้องทำเป็นเนินดินสูงขึ้นข้างบนเป็นลานขนาดย่อม ด้านในสร้างเป็นศาลาประดิษฐานหลวงปู่ทวดทำด้วยทองเหลืองรมดำหน้าตัก 20-30 นิ้ว. ด้านหน้าศาลามีศาลพระภูมิและศาลเจ้าที่(เจ้าพ่อเจ้าแม่). ส่วนถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไรจอดรถกันไปตามปกติ เรียกว่าคิดไปเรื่อยแบบอยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดายปั้นวัวปั้นควายให้ลูกท่านเล่น.

วันศุกร์ที่ 14 พฤศจิกายน 2557 เช้านี้แต่งชุดปกติขาวไปร่วมพิธีวันพระบิดาแห่งฝนหลวง ที่ศาลารักษ์ปทุม ส่วนราชการกระทรวงเกษตร เป็นแม่งาน เป็นพิธีเพื่อแสดงความรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่หาที่สุดมิได้ที่มีต่อปวงชนชาวไทย คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเฉลิมพระเกียรติในฐานะที่ทรงเป็น "พระบิดาแห่งฝนหลวง" โดยกำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันพระบิดาแห่งฝนหลวง เพื่อจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ให้ประชาชนทั้งในปัจจุบันและอนุชนรุ่นหลัง ได้มีโอกาสแสดงความจงรักภักดี ชื่นชมในพระบารมี และร่วมกันถวายสดุดีเฉลิมพระเกียรติทุกปี นั่งคุยกับประมงจังหวัดทราบว่าย้ายไปจังหวัดฉะเชิงเทรา ทั้งที่เหลือเวลาอีก 8 เดือนก็เกษียณอายุราชการแล้ว ก็เข้าหลักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

เสร็จพิธีถูลู่ถูกังขึ้นไปคุยกับครูที่มาอบรมการสอนประวัติศาสตร์ที่ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 3 นับเป็นรอบปฐมฤกษ์ในการใช้ห้องประชุมวิวดอกบัวแห่งนี้ ที่เรียกว่าวิวดอกบัวเพราะมองทางหน้าต่างเห็นสระบัว(ของชาวบ้าน)มีบัวชูดอกชูใบเต็มไปหมดและเห็นทิวทัศน์แบบสบายตามากๆ. พูดกับครูจบเลยไปห้องประชุมเล็กอยู่ชั้น3 เหมือนกันแต่เป็นด้านฐานตัวแอลติดถนน ประชุมร่วมกับตัวแทน สพป.ปทุมธานี เขต. 2 เรื่องการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯของ อบจ.ปทุมธานี ที่ลดงบลงเหลือ 150,000 บาท แบ่งกัน 2 เขต ไปถึงเขาแบ่งเงินแบ่งงานแบ่งเต้นท์กันจบแล้ว เหลือแต่ไปดำเนินการ. จึงถือว่าจบข่าวในราชสำนัก เขตใครเขตใครไปจัดกันเอาเอง บ่ายให้เต้ยกับลุงแดงติดตั้งสุขภัณฑ์ในห้อง เช่น ที่วางสบู่. ฝักบัว เครื่องทำน้ำอุ่น เพราะเผื่อย้ายแบบท่านประมงจังหวัด คนใหม่มาจะได้สะดวกสบาย การอยู่นานก็มีทั้งดีทั้งเสีย. ที่ดีก็ตามพุทธภาษิตที่ว่า วิสา สปรมา ญาตี ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง ...ที่เสียก็ตรงกับภาษิตฝรั่งที่ว่า Familiarity leads to touch upon. ความสนิทนำไปสู่การลามปาม. เมื่อเปลี่ยนสถานที่ในการทำงานแล้วก็เหลือการวางคนให้เหมาะกับงาน ตำแหน่งรองผอ.เขต เกษียณอายุราชการไป 2 ท่าน. คำสั่งเดิมแม้จะใช้ไปได้ ต้องยอมรับว่าขาดประสิทธิภาพในตัวเอง จึงติตามความเคลื่อนไหวของ สพฐ.และ ก.ค.ศ. หากนัดนี้ไม่มีวาระย้ายรอง ผอ.เขต อีกคงต้องออกคำสั่งปรับเปลี่ยนงานไปก่อนจะได้เดินหน้าไปได้เต็มสูบ

ก่อนจากนำนิทาน 2 บรรทัดจาก 'นิทานประกอบการเรียนบริหารรัฐกิจและธุรกิจ' เฟซบุ๊คของ Thiravat Hemachudha. ขอขอบพระคุณอาจารย์ไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย

1. จอมพลจางเซียเหลียง ในรัฐบาลเจียงไคเช็ก เปิดเผยว่า มีผู้หญิง 11 คนมาติดพันในชีวิต มีชู้คนหนึ่งแซ่จ้าว สมสู่กันตั้งแต่นางอายุ 16 ปี ถ้าคบกัน 1 ปี ถือว่าเป็นชู้ ถ้าคบกัน 3 ปี ถือว่าเป็นกิ๊ก แต่นี่อยู่ด้วยกัน 60 ปี (จอมพลจางเซียเหลียงอายุยืน 101 ปี) จึงกลายเป็นรักอมตะ

นิทานเรื่องนี้ให้แนวคิดว่า เรื่องหลายเรื่องไม่ได้ดูที่ทำหรือไม่ทำ แต่ดูที่ทำ นานแค่ไหน

2. ต้นยุคสาธารณรัฐจีน มีโสเภณีเด่นคนหนึ่งนามว่าหงส์น้อย หากเธอพัวพันกับชาวนาหรือกรรมกร คงถูกกวาดล้างไม่ไว้หน้า แต่นี่เธอเป็นชู้กับนายพลไฉ้เอ๋อ ก็เลยมีชื่อจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ และหากเธอได้คบกับประธานาธิบดี เธอก็อาจจะกลายเป็นเฟิร์ส เลดี้

นิทานเรื่องนี้ให้แนวคิดว่า การที่คุณทำอะไรไม่สำคัญหรอก สำคัญอยู่ที่ว่าคุณทำกับใคร

3. เกิดไฟไหม้ที่โรงอาบน้ำหญิง กลุ่มหญิงในโรงอาบน้ำตกใจวิ่งหนีตัวเปล่าล่อนจ้อนออกมาบนท้องถนน ชายแก่ทั้งหลายตะโกนฮาป่า บรรดาหญิงเปลือยนึกขึ้นมาได้จึงพยายามใช้มือปกปิด แต่จุดล่อแหลมมีอยู่หลายจุด จึงจ้าละหวั่นทำอะไรไม่ถูก ตาแก่คนหนึ่งตะโกนบอก "ปิดใบหน้าก็พอ ข้างล่างมันเหมือนกันหมด จำไม่ได้หรอกว่าเป็นใคร"

นิทานเรื่องนี้ให้แนวคิดว่า ในภาวะฉุกเฉินไม่อาจทำอะไรให้รอบคอบทุกด้าน จับจุดสำคัญก็พอ

4. สาวใหญ่แจ้งความกับตำรวจ "ดิฉันเสียบกระเป๋าเงินไว้ในยกทรง เบียดเสียดอยู่ในรถไฟจนถูกหนุ่มหล่อล้วงกระเป๋าไป" ตำรวจขมวดคิ้ว "ล้วงในจุดล่อแหลมขนาดนั้น คุณไม่รู้สึกตัวรึ?" สาวใหญ่ตอบอย่างเหนียมอาย "ก็ไม่นึกว่าเขาตั้งใจจะล้วงกระเป๋าไปน่ะสิ"

นิทานเรื่องนี้ให้แนวคิดว่า การทำให้ลูกค้าตกอยู่ในภาวะเคลิบเคลิ้มพอใจที่จะถูกรีดเงิน เป็นชั้นเชิงสูงสุดทางธุรกิจ

5. บริษัทติดข้อความเหนือโถปัสสาวะ "ก้าวเข้าไปอีกนิด ใกล้ชิดอารยธรรม" แต่บนพื้นก็ไม่วายมีฉี่เรี่ยราดเฉอะแฉะ บริษัทศึกษาเคสนี้อย่างจริงจัง แล้วปรับแผนใหม่ทันที "ฉี่ไม่ตรงเป้าโถ แสดงว่าของคุณอ่อน ฉี่เล็ดก่อนถึงโถ แสดงว่าของคุณสั้น" ผลปรากฏว่าพื้นสะอาดกว่าเดิม เยอะทีเดียว

นิทานเรื่องนี้ให้แนวคิดว่า การให้คำแนะนำแก่ลูกค้า ต้องเป็นรูปธรรมและแทงถูกใจดำ

6. วันหนึ่งเลขานุการสาวตีหน้าขึงขังกับผู้จัดการ "ผู้จัดการ ดิฉันตั้งท้องอ่ะ" ผู้จัดการได้ยินดังนั้น แต่ยังคงก้มหน้าอ่านน.ส.พ. แล้วตีหน้าตายพูดว่า "ผมทำหมันตั้งนานแล้ว" เลขานุการสาวตะลึงอยู่ชั่วครู่ แล้วก็ยิ้มให้กับผู้จัดการ "ดิฉันพูดเล่นค่า" ผู้จัดการเงยหน้ามองเธอ "ผมก็เหมือนกัน" พร้อมกับหยิบถ้วยชาขึ้นมาจิบ

นิทานเรื่องนี้ให้แนวคิดว่า คนที่อยู่ในสังเวียน ต้องไม่ตระหนกตกใจง่ายเมื่อเผชิญภาวะวิกฤต แม้มีปืนเล็งก็ตั้งรับได้

7. ชายหนุ่ม 3 คนไปขอเจ้าสาวคนเดียวกัน พร้อมกัน ว่าที่พ่อตาก็ให้แต่ละคนแนะนำตัว คนแรกบอกว่า "ผมมีเงิน 10 ล้าน" คนที่สองบอกว่า "ผมมีคฤหาสน์หรูมูลค่า 20 ล้าน" ว่าที่พ่อตาฟังแล้ว รู้สึกพอใจหนุ่มทั้งสองคน แล้วถามคนที่สามว่ามีอะไรบ้าง? คนที่สามบอกว่า "ผมไม่มีอะไรเลย มีก็แต่ลูกคนเดียวยังอยู่ในท้องลูกสาวคุณ" หนุ่มคนแรกกับคนที่สอง ได้ยินดังนั้นก็ตกใจ รีบลาจากไป

นิทานเรื่องนี้ให้แนวคิดว่า อำนาจแข่งขันไม่ได้อยู่ที่กำลังทรัพย์ แต่อยู่ที่การจัดวางคนของเราในตำแหน่งที่สำคัญ

8. (เรื่องสุดท้าย) เถ้าแก่เบื่อเมียลับเต็มทนเพราะเธอเริ่มแก่ตัวลงและขอค่าเลี้ยงดูก้อนใหญ่ เถ้าแก่คิดจะฆ่าปิดปากเธอ แต่ผู้ช่วยเถ้าแก่ เสนออุบายให้เถ้าแก่ออกทุนแสนหยวน ส่งเมียลับไปเรียนในมหาวิทยาลัย โดยอ้างเหตุผลเพื่อยกระดับวุฒิการศึกษา การเรียนในมหาวิทยาลัย นักศึกษาระดับเถ้าแก่ต่างหลงเสน่ห์นักศึกษาสาวคนนี้ ไม่ช้าไม่นานเธอก็ไม่ขออยู่ด้วยกับเถ้าแก่เก่า แถมยังให้เงินล้านแก่เถ้าแก่เก่า เป็นค่าปิดปาก

นิทานเรื่องนี้ให้แนวคิดว่า การจัดการทรัพย์สินด้อยคุณภาพของธุรกิจ วิธีดีที่สุดคือย้อมแมวตกแต่ง แล้วแปลงทรัพย์สินให้เป็นทุน ไม่ใช่ถือเป็นซากทิ้งไปหรือรอให้ย่อยสลายเอง.

นายกำจัด คงหนู

ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต 1

หมายเลขบันทึก: 580560เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2014 05:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2014 11:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ชอบใจภาพที่อยู่กับเด็กน้อยครับ ผอ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท