CADL ขับเคลื่อน ปศพพ. ใน มมส. _ ๐๗ : รู้แล้วว่าการขับเคลื่อนฯ ควรเริ่มที่ไหน


วันที่ ๑๒ พ.ย. ๒๕๕๗ รศ.ดร.นารีรัตน์ รักวิจิตรกุล เป็นวิทยากรจิตอาสา มาพัฒนานิสิตกลุ่มเด็กดีมีที่เรียนเป็นสัปดาห์ที่ ๓ ติดต่อกัน ท่านบอกว่า "ฉันไม่ได้มาเลคเชอร์เธอนะ ... ฉันมาสร้าง inspiration มาสร้างแรงบันดาลใจให้เธอ..." และเน้นย้ำด้วยประโยคสั้นๆ ว่า "การวางแผนที่ดี เท่ากับสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง" ก่อนจะเริ่มคุยกับนิสิตที่มาร่วมในวันนั้น

ผมตั้งเป้าหมายว่าจะต้องเรียนรู้จากท่าน(แบบ "ครูพักลักจำ") ให้ได้มากที่สุด แม้ว่าครั้งนี้ผมจะติดราชการ ไปศึกษาดูงาน "ธรรมศาสตร์เพื่อประชาชน" ที่รังสิต ผมใช้วิธีฟังเทปบันทึก (ที่นี่ )ที่อุ้ม (คุณภาณุพงศ์) เขียนสรุปไว้ แล้วนำมาตีความในมุมมองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อที่จะทำความเข้าใจกับนิสิตที่จะเป็นแกนนำขับเคลื่อนฯ ต่อไปในมหาวิทยาลัย

ท่านเริ่มนำนิสิตเข้าสู่บทเรียนโดยใช้ไดอารี่ของท่านเอง เป็นตอนก่อนจะเดินทางไปเรียนต่อที่อเมริกา บันทึกประมาณเพียงไม่กี่บรรทัดที่ท่านอ่านให้ฟัง แสดงให้เห็นตัวอย่างของการวางเป้าหมายชีวิตหนึ่งเดียวที่แน่วแน่ การวิเคราะห์ต้นทุนของตนเองและทรัพยกรที่ต้องใช้อย่างชัดเจน ท่านบอกว่า สิ่งที่มั่นใจคือความสามารถด้านภาษาอังกฤษ มีเงินเก็บที่สามารถอยู่ที่อเมริกาได้โดยไม่ต้องทำงาน ๑ เทอม สิ่งที่ต้องทำคือ ไปสอบวัดผล TOEFL ให้ผ่านเกณฑ์ สิ่งที่ยังทำไม่ได้ตอนนั้นคือ ขับรถและพิมพ์สัมผัส ฯลฯ และบันทึกก็บอกด้วยว่า ต้องไปทำอย่างไรถึงจะได้ตามเป้าหมายนั้นๆ ...

บรรยายเรื่อง ๗ อุปนิสัยสู่การเป็นผู้ทรงประสิทธิภาพยิ่ง (The 7th Habits of Highly Effective People) ของ Stephen Covey

ท่านเกริ่นภาพรวมว่า ๒ สัปดาห์ที่ผ่านมานั้น เราได้กำหนดเป้าหมายชีวิตและวิเคราะห์ตนเองมาแล้ว วันนี้ท่านจะพูดถึง ๗ อุปนิสัยที่ทำให้คนเป็นผู้ทรงประสิทธิผลยิ่ง ของสตีเฟน โควีย์ ซึ่งได้ไปทำวิจัยสัมภาษณ์ผู้ทรงประสิทธิผลระดับโลก แล้วนำมาสังเคราะห์เขียนว่า คนเหล่านั้นมี ๗ อุปนิสัยนี้ ได้แก่

  • อุปนิสัยที่ ๑ ต้องเป็น Proactive คือ ต้องเป็นฝ่ายเริ่มก่อน
  • อุปนิสัยที่ ๒ เริ่มที่จุดมุ่งหมายภายในใจ
  • อุปนิสัยที่ ๓ ทำตามลำดับความสำคัญ
  • อุปนิสัยที่ ๔ ต้องคิดแบบชนะ-ชนะ
  • อุปนิสัยที่ ๕ ต้องเข้าใจคนอื่นก่อนให้คนอื่นมาเข้าใจเรา
  • อุปนิสัยที่ ๖ ประสานพลัง
  • อุปนิสัยที่ ๗ ต้องลับเลื่อนให้คม

อุปนิสัยคืออะไร

"...ต้องมีความรู้ ต้องรู้ว่าต้องทำอะไร ต้องทำอย่างไร และคุณมีความต้องการจะทำไหม มีความปรารถนาจะทำหรือเปล่า จริงๆ เธอต้องการเป็นผู้พิพากษาหรือเปล่า หรือพ่อเธอบอก เธอจึงอยากเป็น ? เช่น ครูรู้ว่า จะไปเรียนเมืองนอก ครูต้องผ่าน TOEFL ต้องขับรถเป็น

ต้องรู้ด้วยว่าต้องทำอย่างไร ฉันก็ไปติว ไปเรียนพิมพ์ดีดที่นี่

ให้คนช่วยหัดขับรถ..."


ผมตีความคำว่าอุปนิสัย (Habit) ที่ศาสตราจารย์โควีย์เสนอว่าประกอบกันขึ้นจาก ๓ องค์ประกอบคือ ความรู้ ทักษะ และความต้องการนั้น ถ้าจะทำให้เป็นคนดีมีประสิทธิผล การปฏิบัติจะสอดคล้องกับหลักคิดของเศรษฐกิจพอเพียง เช่น ความต้องการหรือความปรารถนาต้อง "พอประมาณ" ทักษะและความสามารถที่มีต้องเพียงพอ ทำได้ และตั้งอยู่บนเหตุผลของความเป็นจริง และการมีความรู้ถือได้ว่าเป็นภูมิคุ้มกันอันดีที่จะทำให้สำเร็จ แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ขาดไม่ได้ต้องมีคุณธรรมประจำใจ ...

ประสิทธิผลคืออะไร

"...คือความสมดุลระหว่าง Production (ผลผลิต) กับ Production Capability (ความสามารถในการผลิต) เช่น ถ้าเธอต้องการเงินเดือน ๓๐,๐๐๐ เธอมีความสามารถไหม เธอพูดภาษาอังกฤษได้ไหม เธอพิมพ์สัมผัสได้ไหม หรือถ้าเธอซื้อมือถือมา เธอสามารถใช้กี่ปีให้คุ้มค่า... เราสามารถใช้ความสามารถของเราเพื่อเติมเต็มให้สมดุลกับความสามารถในการผลิต เช่น เราต้องออกกำลังกาย เตรียมร่างกายและจิตใจให้พร้อม ที่จะใช้ความสามารถของเราได้อย่างเต็มที่ในการสร้างสรรค์หรือผลิต..."

อุปนิสัยที่ ๑ Proactive เป็นผู้เริ่มต้นก่อน

"...ถ้าเป็นคนทำงานในองค์กรจะรอนายสั่ง แบบนั้นเขาเรียกพวก Reactive ไม่ใช่ Proactive ... Proactive จะวิเคราะห์ปัญหา แล้วเอาปัญหาที่สำคัญๆ มาหาทางแก้ไข แล้วค่อยขยายขอบเขตของปัญหานั้นออกไปให้ครอบคลุ่มปัญหาทั้งหมด..."

อุปนิสัยที่ ๒ เริ่มที่จุดมุ่งหมายภายในใจ

"...ข้อนี้เราทำมาในสองสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว...ที่ครูให้พวกเราวางแผนอาชีพน่ะ เป็นแผนระยะยาว... แต่การกระทำทุกอย่างเราต้องมีเป้าหมายภายในใจเสมอ..."

อุปนิสัยที่ ๓ จัดลำดับความสำคัญ

พิจารณาโดยแบ่งตารางกิจกรรมออกเป็น ๔ ช่อง ได้แก่ สำคัญและเร่งด่วน สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน เร่งด่วนแต่ไม่สำคัญ และทั้งไม่สำคัญและไม่เร่งด่วน

...เร่งด่วนแต่ไม่สำคัญคืออะไร เช่น รับโทรศัพท์ ไลน์ เฟสบุ๊ค หนังจะออกจากโรงพรุ่งนี้ ยังไม่ได้ไปดู...เร่งด่วนและสำคัญ... เช่น พรุ่งนี้ต้องนำเสนอ ทำ ppt เสร็จหรือยัง... โปรเจคจะส่งแล้วเสร็จหรือยัง...ไม่สำคัญและไม่เร่งด่วน เช่น ลอยกระทง (ดูหนัง ฟังเพลง เที่ยว) ... ที่สำคัญและไม่เร่งด่วนคือ กิจกรรมเพิ่ม PC (Production Capability) หรือกิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพ เช่น ออกกำลังกาย อ่านหนังสือเพิ่มความรู้ ฝึกทักษะ...

...หลักสำคัญคือ เธอต้องวางแผนให้มีกิจกรรมที่ไม่สำคัญและไม่เร่งด่วนให้มาก คือต้องมีกิจกรรมเพิ่ม PC ทุกวันนะ...ทำให้กิจกรรมนั้นๆ อยู่ในการวางแผนของเธอ...

การบ้าน

สิ่งที่ท่านเน้นอีกเรื่องหนึ่งคือ บทบาทในชีวิต ทุกคนต้องรู้จักบทบาทในชีวิตของตนเอง ...ฉันมีบทบาทเป็นลูก ฉันมีบทบาทเป็นผู้ใหญ่ เป็นเพื่อน เป็นลูกศิษย์ ... โดยท่านใช้ตารางวางแผนชีวิตด้านล่าง (เป็นตัวอย่างของคุณภาณุพงศ์)




รายละเอียดเกี่ยวกับแต่ละอุปนิสัยแบบย่อ อ่านได้ ที่นี่ ท่านได้มอบหมายให้นิสิตทุกคนลองไปทำแบบวางแผนประจำสัปดาห์ของตนเอง คราวหน้าจะมาติดตามอีกครั้งหนึ่ง

หลังจาก ๓ สัปดาห์ที่ท่านมาเป็นวิทยากรให้กับกลุ่มเด็กดีมีที่เรียน ผมรู้แล้วว่า การขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในมหาวิทยาลัย ควรจะเริ่มจากที่ไหน เราต้องเริ่มจาก "ตนเอง" ในที่นี้คือ เริ่มจากการพัฒนาเชิงปฏิบัติกับกลุ่มนิสิตกลุ่มเด็กดีมีที่เรียนอย่างจริงจังในภาคการศึกษาต่อไป โดยเรียนเชิญท่านเป็นวิทยากรประจำสัปดาห์ และจะเรียนรู้และพัฒนาเป็น "หลักสูตร"ที่จะนำไปใช้กับ "เด็กดี" ทุกๆ ปีต่อไป ...

หมายเลขบันทึก: 580550เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2014 22:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2014 22:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท