ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๘๙. จัดการกิจกรรมบุญนิยม ด้วยวิธีการทุนนิยม



บ่ายวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๗ ผมไปที่หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ เพื่อประชุมคณะกรรมการบริหาร หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ โดยมีเรื่องที่นำมาหารือกัน ๒ เรื่องใหญ่ๆ คือเรื่องบัญชีและการเงิน กับเรื่องโครงการพิเศษ

เรื่องบัญชีและการเงิน เน้นการช่วยกันทำให้มีความถูกต้องตามหลักวิชา และมีวิวัฒนาการ ไปตามยุคสมัย

เนื่องจากกิจกรรมหนึ่งของหอฯ คือการพิมพ์หนังสือ และผลิตสินค้าระลึกธรรมออกจำหน่าย จึงต้องการผู้มีความรู้ทางธุรกิจมาช่วยให้คำแนะนำ ชี้ช่องทาง ในคณะกรรมการบริหารมีนักธุรกิจหลายคน อาสามาช่วยให้คำแนะนำ และผมถูกสั่งการให้ทำหน้าที่ประธาน

ผมได้เรียนรู้ว่า ธุรกิจหนังสือในประเทศไทยกำลังหดตัวอย่างหนัก จำนวนหนังสือที่มีผู้ซื้อ ลดลงประมาณร้อยละ ๒๐ ทุกๆ สามเดือน เพราะคนหันไปอ่าน e-Book กันมากขึ้น

นอกจากนั้น สินค้าทุกชนิดมีอายุการวางขายสั้นลงเรื่อยๆ วิธีการตีราคาสินค้าเพื่อลงบัญชีต้อง มีการเปลี่ยนแปลง ลดค่าลงเร็วกว่าสมัยก่อน ซึ่งหมายความว่า วิธีคิดการลงทุน กำไร ขาดทุน ต้องเปลี่ยนใหม่หมด ยุคสมัยแห่งศตวรรษที่ ๒๑ มันเปลี่ยนไปเสียทุกเรื่อง

เราจึงสรุปกันว่า แม้หอจดหมายเหตุฯ ทำกิจกรรมบุญนิยม แต่ก็ต้องจัดการแบบทุนนิยม หรือแบบธุรกิจ เพื่อให้กิจกรรมสามารถเลี้ยงตัวเองได้

โครงการพิเศษ เป็นโครงการที่มีเงินค่าบริหารจัดการ เป็นรายได้เข้าหอจดหมายเหตุฯ ช่วยให้รายจ่ายไม่มากกว่ารายรับ เพราะในเวลานี้ กิจกรรมหลักของหอจดหมายเหตุฯ ดังระบุ ที่นี่ มีรายได้น้อยกว่ารายจ่ายอยู่ปีละประมาณ ๑๐ ล้านบาท ที่ผ่านมาก็ได้รายได้จากโครงการพิเศษนี่แหละ มาช่วยให้ไม่ติดลบ

แต่คณะกรรมการมูลนิธิหอจดหมายเหตุฯ เคยเตือนว่า อย่าจัดกิจกรรมพิเศษมากจนเสียงานหลัก ทีมงานของหอฯ จึงเอารายการของโครงการพิเศษ มาให้คณะกรรมการบริหารดู และขอคำปรึกษาว่าควรทำหรือไม่ รายการมีดังต่อไปนี้

  • โครงการธรรมนิยม เพื่อฟื้นคืนธรรมและคืนความสุขแท้สู่สังคมไทย ร่วมกับ สสส. โดยมีโครงการย่อย ๕ โครงการ
  • โครงการขยายเครือข่ายสถานเรียนรู้และพัฒนาเพื่อสุขภาวะทางปัญญา ร่วมกับ สสส.
  • โครงการงานวัดลอยฟ้า ครั้งที่ ๓
  • โครงการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวทางธรรม (บุญจาริก) ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  • โครงการการศึกษาและพัฒนา ว่าด้วยปฐมบทพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ตามคำเชิญของ อพท. พื้นที่อู่ทอง (ต่อเนื่องเป็นปีที่ ๓)

คำแนะนำของคณะกรรมการบริหารคือ ควรทำ แต่ต้องอย่าให้เสียงานหลัก

นอกจากนั้น ยังมีการหารือเรื่องการวางตัวของหอจดหมายเหตุฯ ในสถานการณ์การแย่งชิง พื้นที่ทางการเมืองโดยอาศัยสื่อมวลชน และจะมาถ่ายทำที่หอจดหมายเหตุฯ คำแนะนำคือ ให้ระมัดระวัง การลากหอฯ เข้าไปสื่อต่อสังคมเชิงสัญลักษณ์ว่าหอฯ ฝักใฝ่ฝ่ายโน้นฝ่ายนี้ เราฝักใฝ่ทางธรรมเท่านั้น ไม่ฝักใฝ่การเมือง


วิจารณ์ พานิช

๓ ต.ค. ๕๗


หมายเลขบันทึก: 580411เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2014 09:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2014 09:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท