จิตตปัญญาเวชศึกษา 207: เรื่องราวที่ค้างคา


เรื่องราวที่ค้างคา

อาทิตย์ที่แล้วไปร่วมประชุมงาน Palliative Care Annual Conference ครั้งที่สองของสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย (Thai Palliative Care Society, THaPs) ได้ฟังเรื่องเล่ามาหลายเรื่อง แต่ละเรื่องมีความดี ความงาม และความจริงรอคอยการค้นพบ และนำไปใคร่ครวญอยู่ไม่น้อย เป็นอีกงานประชุมทางการแพทย์ที่มีพระภิกษุมาร่วมเป็นวิทยากรถึงสองรูป นักสังคม นักศิลปบำบัด และอดีตนักร้องชั้นนำของเมืองไทย ก็มาเป็นวิทยากร แสดงถึงองค์ความรู้หลายมิติในเรื่องนี้

ขอนำเรื่องหนึ่งที่พระอาจารย์ครรชิต อกิญฺจโน จากวัดป่าสันติธรรม จังหวัดชัยภูมิ ที่เล่าในเรื่องมิติทางจิตวิญญาณในการดูแลผู้ป่วยมาถ่ายทอดต่อ ในฐานะที่ผมโชคดีได้เป็นผู้ดำเนินรายการในครั้งนี้

เรื่องราวที่ค้างคา

มีผู้ป่วยรายหนึ่งเป็นผู้หญิงวัยกลางคน ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย เธอมีสามีและลูกชายอีกหนึ่งคน อาการในระยะท้ายก็ทรงและทรุดไปตามธรรมชาติของโรค แต่ไม่ว่าเธอจะทรุดลงเพียงไร ก็ดูเหมือนว่าเธอยังไม่ยอมจากไป พยาบาลที่ดูแลจึงนำเรื่องมาปรึกษาพระอาจารย์ครรชิต ก็ได้ถามรายละเอียดเพิ่มเติม

ปรากฏว่าลูกชายคนเดียวของผู้ป่วย ได้บวชเป็นพระภิกษุ และยังมาทำงานจิตอาสาอยู่ที่โรงพยาบาลอยู่เป็นประจำ มีวันหนึ่งพระลูกชายได้มาเยี่ยมผู้ป่วยในหอผู้ป่วยอื่นๆตามปกติ ก็พบว่ามีผู้ป่วยรายหนึ่ง จะกลับบ้านกับญาติ แต่ไม่มีเงิน พระลูกชายทราบก็เลยช่วยเหลือ และได้ให้เงินไปจำนวนหนึ่งก็พบว่าผู้ป่วยรายนั้นกับญาติดีใจมาก ขอบคุณแล้ว ขอบคุณอีก พระลูกชายก็รู้สึกปิติ กลับมาที่ห้องของแม่ แล้วก็เล่าให้แม่ฟัง ตอนนั้นพยาบาลก็อยู่ด้วย ในห้องยังมีสามีของผู้ป่วย ซึ่งก็คือพ่อของพระลูกชายนั่งเฝ้าอยู่ ทั้งพยาบาลและแม่ได้ยินเรื่องเล่าของพระลูกชายก็ปลื้มใจ ยกมือไหว้ขออนุโมทนาในบุญและกุศลเรื่องนี้

แต่ทว่า ณ ตอนนั้นเอง โยมพ่อก็ลุกผลุนผลันขึ้นมา พูดเสียงดัง
"อะไรกัน ให้เงินเค้าไป ทำไมต้องทำอะไรกันขนาดนั้น แม่ก็ป่วย เรามีเงินมีทองอะไรกัน ร่ำรวยนักหนาเหรอ"
ทุกคนในห้องนั้นก็ตกใจ เพราะคาดไม่ถึงในปฏิกิริยาจากโยมพ่อ

พอพยาบาลเล่าถึงตอนนี้ พระอาจารย์ก็เลยบอกว่า "สงสัยอาจจะมีปัญหาอะไรสักอย่างแล้ว ระหว่างพระลูกชายกับโยมพ่อ"
"แล้วมันเกี่ยวกับเรื่องของโยมแม่ด้วยหรือคะ?" พยาบาลถาม
"ไม่ทราบเหมือนกัน อาจจะเกี่ยว หรืออาจจะไม่เกี่ยว"
"แล้วจะทำอย่างไรดีคะ?"
"คุณพยาบาลลองเลียบเคียงถามดู ว่ามีอะไรกันหรือเปล่า" พระอาจารย์แนะนำ
"แล้วท่านจะยอมบอกหรือคะ?"
"ลองถามกับพระลูกชายดู ถามจากพ่อสงสัยจะไม่ได้เรื่อง บอกว่าเป็นเรื่องสำคัญ เกี่ยวพันถึงสุขภาพของแม่ พระน่าจะบอก"

พยาบาลก็เลยรับคำแนะนำของอาจารย์ไปปฏิบัติ พอได้โอกาสก็เลยชวนพระลูกชายมาสนทนา บอกว่ามีเรื่องสำคัญอยากจะถามและเกี่ยวกับการดูแลโยมแม่ด้วย พอนั่งลงสนทนา พยาบาลก็ถาม
"วันก่อน ที่ท่านให้เงินคนไข้ไปรายหนึ่ง และที่โยมพ่อไม่พอใจ พยาบาลเลยอยากจะถามท่านเกี่ยวกับเรื่องนี้ค่ะ"
"มันสำคัญอย่างไรหรือ?" พระถามตอบ
"คืออาจจะไม่มีอะไร แต่ก็อาจจะมีเกี่ยวกับคุณแม่น่ะค่ะ เพราะดูๆท่านก็เป็นกังวล"
พระนิ่งเงียบไปพักหนึ่ง ก่อนจะตอบ
"อาตมากับโยมพ่อไม่ค่อยจะถูกกันมานานแล้ว" พระหยุดนิ่งคิด ทบทวนความทรงจำในอดีต
"โยมพ่อชอบดุด่า ตีอาตมามาตั้งแต่เด็กๆ ทำอะไรไม่เคยชอบ ไม่เคยถูกใจ ดุด่าว่ากล่าวตลอด ไม่เคยพูดอะไรดีๆด้วยเลย"
"ท่านเคยบอกเรื่องนี้กับใครไหมคะ?"
"ไม่เคย อาตมาทนมาตลอด แต่ก็คิดว่าพ่อคงจะไม่รักเรา อาตมาจึงสนิทกับโยมแม่ อยากจะดูแลโยมแม่"

พยาบาลนำเอาเรื่องนี้มาเล่าให้พระอาจารย์ครรชิตฟัง บอกว่าอาจจะพบสาเหตุแล้ว แต่ไม่ทราบจะทำอย่างไรต่อดี พระอาจารย์เลยแนะนำว่า "คุณพยาบาลให้บอกพระลูกชาย ให้ไปนัดพบกับพ่อต่อหน้าเตียงแม่ และกล่าวขออโหสิกรรม"
"พระจะยอมหรือคะ พระคิดว่าท่านเป็นผู้ถูกกระทำนะคะ"
"นั่นแหละ เพราะเป็นพ่อกับลูก จะให้พ่อมาขอโทษ ขออโหสิ คงจะยาก ต้องเริ่มจากพระลูกชายนี่แหละ ลองดูเถิด นึกว่าเห็นแก่แม่"
พยาบาลจึงนำความไปบอกเล่ากับพระลูกชายตามนั้น ตอนแรกๆก็อิดเอื้อน ไม่อยากทำ แต่พอบอกว่าทำเพื่อโยมแม่ ในที่สุดทั้งๆที่ไม่ใคร่เต็มใจเท่าไร พระลูกชายก็ไปหาพ่อที่นั่งเฝ้าอยู่ข้างเตียงแม่
"โยมพ่อ พระมีอะไรอยากจะพูดกับโยมหน่อย" พระเริ่ม
"มีอะไร" ตอบห้วนๆ จากพ่อ
พระลูกชายถอนหายใจยาวในน้ำเสียงที่ได้รับ
"พระทราบว่าโยมพ่อไม่พอใจ ไม่ชอบในสิ่งที่พระทำ พระพูด โยมไม่เคยรักพระเลย" พระพูดต่อ "พระจึงอยากจะขออภัยโยมพ่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรที่พระทำให้โยมไม่พอใจ จึงโกรธ เกลียดพระ พระขอให้โยมพ่ออโหสิกรรมให้พระด้วยเถิด"

พ่อถึงกับนิ่งอึ้งไปนานเมื่อได้ยินดังนั้น จนสักพักพ่อก็ลุกขึ้นยืน พูดเสียงสั่น
"พ่อไม่เคยรู้ตัวเลยว่าได้ดุด่าพระมากขนาดนั้น ไม่เคยทราบเลยว่าตนเองได้ทำอะไรลงไป พ่อเป็นคนพูดอะไรออกไปไม่ได้คิด พอพระบอกอย่างนี้ พ่อถึงคิดมาได้ว่าพ่อได้ทำผิดพลาดไปแล้ว จริงๆพ่อรักพระมาก รักแม่ รักลูก พ่อขอให้ลูกอโหสิกรรมให้พ่อด้วยเถิด" แล้วพ่อก็ยกมือไหว้พระ แล้วเดินมากอดพระลูกชาย
ทั้งสองคนกอดกันแน่น พยาบาลที่อยู่ข้างเตียงคนไข้ มองไปที่คุณแม่ ก็พบว่าใบหน้าของแม่มีรอยยิ้มอย่างมีความสุขเกิดขึ้น

วันรุ่งขึ้นแม่ก็เสียชีวิต จากไปอย่างสงบ

การดูแลมิติทางจิตวิญญาณนั้นต้องใช้ความละเอียด ใช้ทักษะความเข้าใจในชีวิต ทักษะการมองเห็นความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยง นำมาคุร่นคิดใคร่ครวญให้แยบคาย ผนวกกับความมุ่งมั่นที่จะดูแลคนเบื้องหน้า ไม่เพียงเฉพาะผู้ที่กำลังเจ็บไข้ได้ป่วย แต่เมื่อคนหนึ่งในครอบครัวป่วย คนทุกคนในครอบครัวก็กระทบถึงกันหมด สุขภาวะของคนในครอบครัวก็ย้อนกลับมากระทบกับสุขภาวะของคนป่วยเองด้วย

เรื่องบางเรื่อง พยาธิกำเนิดนั้นล่วงเลยมานานแล้ว ไม่สามารถจะย้อนกลับไปแก้ไขอะไรได้ แต่สำหรับมิติทางจิตวิญญาณ ถึงแม้ว่าสาเหตุจะล่วงเลยไปแล้ว การเกิดบุญ (จิตใจผ่องใสเบาสบาย) และกุศล (จึงเกิดปัญญา สามารถเข้าใจและปล่อยวาง) สามารถที่จะเยียวยาพยาธิสภาพใดๆได้ เพราะปัญญาจึงเกิดแสงสว่างในความมืด เกิดทางออกในซอยตัน ตัดสลายปมอันยุ่งเหยิงแก้ไม่ออก

ผู้ที่จะช่วยเหลือ จะต้องมีทักษะในการฟังอย่างลึกซึ้ง มองชีวิตเป็นองค์รวม เชื่อในความหลากมิติของสุขภาวะ และนำการเยียวยาในทุกมิติเข้ามาบูรณาการกันให้เป็น ใช้ชีวิตอย่างบัณฑิตผู้แสวงหาความจริง ความดี และความงามของธรรมชาติเป็นนิสสัย

สาธุ สาธุ สาธุ ขออนุโมทนา

บันทึกโดย นพ.สกล สิงหะ
กลับมาเขียนที่หน่วยชีวันตาภิบาล โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
วันจันทร์ที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ เวลา ๙ นาฬิกา ๓๙ นาที
วันแรม ๔ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีมะเมีย

หมายเลขบันทึก: 580106เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2014 09:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2014 09:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อยากมีทักษะของผู้ช่วยเหลือให้พรักพร้อมเช่นนี้
มีบทเรียนสำเร็จรูป เรียนที่เดียว ทำได้หมดทุกอย่างตามที่อาจารย์เขียนได้ไม๊คะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท