เตรียมตัวสอนลูกเขียนโปรแกรมตั้งแต่ปอหนึ่ง


ช่วงปิดเทอมที่ผ่านมาเจ้าต้นไม้มาวนเวียนแถวโต๊ะทำงานของพ่อแล้วบอกว่าจะช่วยพ่อทำงาน

"เมื่อไหร่พ่อจะสอนไม้เขียนโปรแกรม ไม้จะทำงานจะได้มีเงินของตัวเอง"

ในโลกของเจ้าต้นไม้ จะมีเงินใช้ต้องเขียนโปรแกรม

"เดี๋ยวพอไม้ขึ้นปอหนึ่งเทอมสองพ่อจะสอนแล้วกันนะ" ผมตอบแบ่งรับแบ่งสู้

ตอนนี้โรงเรียนเปิดเทอมแล้ว เจ้าต้นไม้ขึ้นปอหนึ่งเทอมสองแล้วก็มาวนเวียนอยู่ที่โต๊ะพ่อเพื่อจะเรียนเขียนโปรแกรม

ถึงเวลาแล้วที่ต้องเริ่มสอนลูกเขียนโปรแกรมสินะเพราะผมกับ อ.จัน ไม่ปล่อยให้การศึกษาของไม้อยู่กับที่โรงเรียนอย่างเดียว เราสร้างระบบการศึกษา "ทางเลือก" ที่บอกใครแล้วอาจจะแปลกประหลาดไม่เหมือนกับระบบทางเลือกที่เขานิยมโดยทั่วไป

วันนี้วันหยุดอยู่บ้าน ผมถือว่าเป็นการเปิดพิธีเริ่มเตรียมตัวสอนเจ้าต้นไม้เขียนโปรแกรม

อย่างแรกที่ผมทำคือการหาครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนตัวให้กับเจ้าต้นไม้ จะเขียนโปรแกรมนั้นต้องมีคอมพิวเตอร์ส่วนตัวที่ปรับแต่งให้ถูกใจ เหมือนดาบประจำตัวซามูไร ตอนแรกผมก็คิดจะซื้อเครื่องใหม่ให้เจ้าต้นไม้เพื่อให้มีความประทับใจกับอุปกรณ์ เดี๋ยวนี้คอมพิวเตอร์ดีๆ เขียนโปรแกรมได้ราคาหมื่นต้นๆ เท่านั้น แม้กระทั่งคอมพิวเตอร์สุดแฟนซีสำหรับโปรแกรมเมอร์เก่าและแก่อย่างผมยังราคาสองหมื่นต้นๆ เท่านั้นเอง ถือว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ถูกลงมาก

แต่สุดท้ายก็ไม่ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์เพราะนึกขึ้นได้ว่ายังมีเครื่องคอมพิวเตอร์เก่าที่เอามาปรับแต่งให้ดูดีให้เจ้าต้นไม้ก็น่าจะเพียงพอแล้ว ประหยัดเงินไปได้ไม่น้อยทีเดียว

ประเด็นต่อไปคือจะให้เจ้าต้นไม้เขียนโปรแกรมอะไร?

เรื่องนี้ผมมีคำตอบอยู่ในใจตั้งนานแล้วว่าต้องให้เจ้าต้นไม้เขียนโปรแกรมได้อย่างผม

แต่ "ได้อย่างผม" นี่ไม่ได้หมายถึงการเขียนในสิ่งที่ผมทำในปัจจุบัน แต่ให้ "ได้" ความประทับใจและความสนุกในการเขียนโปรแกรมเหมือนผมรู้สึก ผม "เล่น" กับการเขียนโปรแกรมมาตลอดจนถึงทุกวันนี้ ผมเล่นจนถึงขั้นมีคนจ้างให้ผมเล่น

ผมเชื่อว่าการเล่นเป็นการเรียนรู้โดยธรรมชาติ เราไม่เคยต้องบังคับให้เด็กเล่น แต่เราต้องบังคับให้เด็กเรียน การบังคับเป็นสิ่งที่ผิดมาก สิ่งที่เราควรทำคือเปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นอย่างสนุกสนาน โดยสิ่งที่เราควรทำในฐานะครูก็คือช่วยเหลือให้เด็กได้รู้และเห็นในสิ่งที่ถ้าเขาเล่นแล้วนอกจากสนุกแล้วยังสามารถมีรายได้เลี้ยงตัวเองในอนาคตได้ด้วย

ผมเองบังเอิญโชคดี ผมยังจำได้ถึงวันที่เพื่อนๆ ผมส่วนใหญ่เล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ในขณะที่ผมเล่นกับการเขียนโปรแกรมเมื่อหลายสิบปีก่อนได้ เป็นจังหวะชีวิตนิดเดียวเท่านั้นที่ได้เห็นความสนุกของการเขียนโปรแกรมมากกว่าการเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นสิ่งที่คนอื่นเขียน

ดังนั้นการเขียนโปรแกรมของเจ้าต้นไม้จะไม่ใช่การเรียนแต่จะเป็นการเล่นเท่านั้น

ผมยังนึกไม่ครบถ้วนว่าผมจะสอนเจ้าต้นไม้ยังไงอย่างไรบ้าง คงเป็นการลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ แต่เชื่อว่าน่าจะได้ประสบการณ์ดีๆ มาหลายอย่างทีเดียว ก็คงได้มีโอกาสเผยแพร่ให้พ่อแม่และครูอาจารย์คนอื่นๆ ได้อ่านกันต่อไปครับ

หมายเลขบันทึก: 579962เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2014 15:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2014 15:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

น้องต้นไม้ก้าวไกลมาก ลูกไม้หล่นใต้ต้นจริงๆ ครับ

ส่วนลูกสาวผมเล่นเป็นแต่คุกกี้รันนะครับ ทั้งๆ ที่อยู่ ป.3 แล้ว 555

อยากเก่งมั่งครับดร.ครับ โชคดีที่เรียนรู้ลัดโลกยุคใหม่ได้ทัน ลูกคงเห็นโลกยุคใหม่เหมือนพ่อนะครับ...รออ่านต่อไปครับ

ในอนาคต คงเห็นน้องต้นไม้ ได้เล่นได้ทำสิ่งที่เขาชอบอย่างสนุกแน่ๆครับ

อ่านแค่เริ่มก็น่าสนุกแล้วนะคะ

I used to teach programming (in C at 101 or year 1 undergrade level). After a few semesters I changed my emphasis from C language to a conceptual language (you may call it pseaudo language). From a 'pattern' point of view, programming is just 'flow' of specific and limited number of actions.

In almost like meditation, I asked students to think of things they do in daily life and write down instructions for other to emulate using only a common set of (action) 'keywords'. (To save time I use C keywords ;-) I experimented (using different keyword sets) with classes in SQL (Database manipulation), COBOL (Business programming) and Linux (Operating systems) and found that this simple conceptual framework worked well for students. Many said it was useful for programming their lives. I said 'I don't teach how to program happiness or life-fulfilment'. (I don't even have a keyword set for these) ;-)

A simple analytical framework known as 'ariya-sacca 4' was used to verify 'correctness' and 'completeness' of 'pseudo-code' programming. Testing was done as walk-thru (in class) and after coding. Coding of such programs was treated as (software) engineering problems with different sets of (hardware) media and constraints.

As you have guessed; Buddhist teachings provided (and still provide) a solid foundation and re-enforcement for learning 'programming' for me.

Good luck.

คุณ Sr กับผมคิดตรงกันครับ การเรียนเขียนโปรแกรมเป็นการฝึก "flow" ของความคิดในการแก้ปัญหาครับ เป็นการฝึก "algorithmic mind" ครับ

น่าเสียดายที่การสอนเขียนโปรแกรมในปัจจุบันในหลายๆ ที่ผู้สอนไม่เข้าใจ อาจจะเป็นเพราะผู้สอนไม่ได้เขียนโปรแกรมเป็นอาชีพ เลยสอนเด็กโดยมุ่งที่เทคโนโลยี เด็กจบมาแทบจะไม่ได้อะไรเลยครับ ปัญหาที่เราเจอในปัจจุบันคือเด็กที่จบวิทยาการคอมพิวเตอร์หรือวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ทำงานจริงไม่ได้ครับ

ผมวางแผนจะสอนเจ้าต้นไม้เขียนโปรแกรมเกมส์แบบง่ายๆ เพราะสำหรับเด็กก็คงต้องเอาสิ่งวูบๆ วาบๆ มาล่อ โดยผมอาจจะเขียนตั้งต้นให้แล้วเหลือส่วนที่เป็นโจทย์ให้เขาเขียนแก้ปัญหาเป็นส่วนๆ ไปครับ

ต้นไม้โชคดีที่ได้เรียนเขียนโปรแกรมต้ังแต่ ป.๑ ความคิดสร้างสรรค์ยังเยอะ จินตนาการยังแยะ อยู่ในครอบครัวที่พร้อม พี่ขอรอดูผลงานนะคะ

อาจารย์ต้องสนุกกับการสอนลูกแน่!!

เป็นเคล็ดที่เห็นเองจริงๆกับตัวเองนะคะว่า การสอนลูกที่ดีที่สุดไม่ใช่การสอนสิ่งที่ต้องเรียน แต่เป็นการสอนวิธีเรียนให้สนุก สอนให้รู้จักมองกระบวนการเรียนการสอนของครู ของโรงเรียนแล้วปรับตัวเองให้เข้ากับระบบ แต่มีจุดยืนของตัวเอง ทำได้แบบนี้แล้วลูกจะรู้จักตัวเองได้ง่าย ปรับตัวให้เข้ากับระบบรอบๆตัวได้ง่าย โดยไม่ต้องไหลตามกระแสของสังคม เพราะหากเราสามารถทำให้ลูกเห็นว่า การเป็นตัวของตัวเองก็สามารถเดินไปกับระบบได้ โดยที่เราต้องเป็นคนควบคุมไม่ใช่ให้กระแสสังคมหรือระบบที่เราไม่ชอบมาครอบงำเรา ถ้าทำได้เราก็จะอยู่ในสังคม (ที่เราอาจจะไม่ชอบ แต่ไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากนัก) ได้อย่างไม่แปลกแยกในแบบของเราได้อย่างมีความสุข นะคะ

เชื่อว่าน้องต้นไม้ก็จะซึมซับตัวตนของพ่อแม่และสร้างตัวตนของตัวเองได้อย่างมีความสุขแน่นอนค่ะ

สงสัยค่ะว่าการสอนเด็กเล็กเขียนโปรแรมคอมพิวเตอร์นั้นใช้ programming language ใด นึกถึงตนเองเรียนครั้งแรกสุดใช้ BASIC เรียนในวิชา Computer application in teaching mathematics (อายุ 27) รู้สึกว่าเป็นภาษาที่ง่ายต่อการเรียนรู้ เป็นธรรมชาติ และได้ฝึก "algorithmic mind" และ logic& problem solving สามารถถ่ายโยงวิธีการคิดมายังงานอื่น ๆได้อย่างดี และคิดว่าการที่เราเรียน และใช้ ตรรกศาสตร์ในการเรียนคณิตาสตร์มาแล้วก็ทำให้เรียนเขียนโปรแกรมได้ง่ายขึ้น ภายหลังไม่ได้เรียนการโปรแกรมภาษาอื่นใดนอกจากใช้พวกโปรแกรมสำเร็จรูป ตอนนั้นก็ต้องเขียนคำสั่งเองเหมือนกัน และทุกวันนี้ใช้โปรแกรมอื่น ๆที่เขาสร้างมาให้ คลิก ๆ ๆ (แต่ก็ต้องเลือกให้ถูก ใช้สมองเหมือนกันนา)

ตื่นเต้นไปกับน้องต้นไม้ด้วย คงหัวใจพองโตเมื่อเขียนโปรแกรมแรกสำเร็จ สนุกทั้งคนสอนและคนเรียนแน่ค่ะ

เป็นการเรียนรู้...ที่เยี่ยมมากๆๆ ค่ะ ... เด็กๆ เหมือน...การเหล่าดินสอ ... ค่อยๆ เริ่ม.....สุดท้ายจะได้ดินสอที่แหลมคม (ปัญญาที่แหลมคม นะคะ)

น้องต้นไม้ โชคดีมากๆๆ ค่ะ

...ภาพเกม ไฉนเคลื่อน เลื่อนวิ่ง
บ้างนิ่ง ไม่ขยับ ขอถาม
แนะวิธี โปรแกรม คิดความ
วานจาร จักตาม คำครู

...ผู้รู้ เร่งบอก ตอกย้ำ
ใช่หวัง ลอกซ้ำ อดสู
แง่คิด ประดิษฐ์/ค้น พ้นรู
กอบกู้ ผู้เรียน เพียรจริง

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท