ประเพณีป้อนข้าวพระจันทร์


ประเพณีปังออกเปรียะแคนี้ ถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่ทำขึ้นเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อธรรมชาติที่ได้ประทานความอุดมสมบูรณ์มาสู่โลกมนุษย์ โดยเอาพระจันทร์เป็นตัวแทนหรือเป็นสัญลักษณ์ รวมทั้งเป็นการเสี่ยงทายฤดูกาล(คล้ายพิธีแรกนาขวัญ) ว่าปีนี้ฤดูกาลจะเป็นอย่างไรบ้าง? ฝนตกมากน้อยเพียงใด? ข้าวปลาอาหารสมบูรณ์เพียงพอหรือไม่? และเหตุการณ์บ้านเมืองจะเป็นอย่างไรบ้าง?

เรื่องเล่าจากบ้านแม่ตาด :

ประเพณีป้อนข้าวพระจันทร์








ในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ของทุกปี ในขณะที่ชาวไทยทั่วประเทศกำลังมีความสุขและสนุกสนานกับประเพณีลอยกระทงอยู่นั้น คนเฒ่าคนแก่และหนุ่มสาวชาวไทยเชื้อสายเขมรที่บ้านพราน ต.พราน อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ กลับพากันขนอุปกรณ์ต่างๆ ไปที่วัด เพื่อร่วมกันทำพิธี "ปังออกเปรียะแค" หรือ "ป้อนข้าวพระจันทร์" ซึ่งเป็นประเพณีที่มีการสืบทอดกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยโบราณกาล

ประเพณีปังออกเปรียะแคนี้ ถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่ทำขึ้นเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อธรรมชาติที่ได้ประทานความอุดมสมบูรณ์มาสู่โลกมนุษย์ โดยเอาพระจันทร์เป็นตัวแทนหรือเป็นสัญลักษณ์ รวมทั้งเป็นการเสี่ยงทายฤดูกาล(คล้ายพิธีแรกนาขวัญ) ว่าปีนี้ฤดูกาลจะเป็นอย่างไรบ้าง? ฝนตกมากน้อยเพียงใด? ข้าวปลาอาหารสมบูรณ์เพียงพอหรือไม่? และเหตุการณ์บ้านเมืองจะเป็นอย่างไรบ้าง?

พิธีปังออกเปรียะแคหรือป้อนข้าวพระจันทร์ปีนี้ตรงกับวันที่ 6 พ.ย. 2557 ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับวันลอยกระทงประจำปีนี้ โดยในช่วงเช้าชาวบ้านพรานทั้งคนเฒ่าคนแก่ หนุ่มสาวและเยาวชนจะพากันจัดหาและนำอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบพิธีไปไว้ที่วัดสุพรรณรัตน์หรือวัดบ้านพราน แล้วช่วยกันจัดเตรียมสถานที่สำหรับประกอบพิธีตอนกลางคืน

ช่วงบ่ายๆ ชาวบ้านก็จะออกไปเกี่ยวข้าวที่แก่พอทำข้าวเม่าได้แล้วที่นาของตนเอง จากนั้นก็นำกลับมาที่บ้านและทำเป็นข้าวเม่า ส่วนใครที่ข้าวยังไม่แก่พอจะทำข้าวเม่าได้ ก็จะขอหรือยืมจากนาของพี่น้องหรือคนอื่น หรืออาจจะขอซื้อจากคนอื่นเพื่อนำไปทำข้าวเม่าไปถวายที่วัด

ตอนเย็นประมาณ ๒ ทุ่ม ชาวบ้านก็พากันออกไปรวมตัวกันที่วัด โดยเด็กและหนุ่มสาวจะพากันเล่นสะบ้า เล่นวิ่ง ชักเย่อ เตะตะกร้อ และมอญซ่อนผ้า อย่างสนุกสนาน ส่วนผู้ใหญ่หรือคนเฒ่าคนแก่ก็พากันเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับประกอบพิธี

สำหรับบุคคลหรืออุปกรณ์ในการประกอบพิธีนั้น ประกอบด้วย ชายหนุ่ม ๔ คน หญิงสาว ๔ คน ครกตำข้าว ๒ ลูก สากไม้ตำข้าว ๑ อัน เทียนขี้ผึ้งแท้ขนาดเท่ากัน ๘ เล่ม ข้าวเม่า ๒ จาน มะพร้าวอ่อน ๒ ลูก กล้วยสุก ๘ ลูก ใบตองกล้วย ๒ ก้าน ช้อน ๒ คัน และบาตร ๘ ลูก

เวลาประมาณ ๔ ทุ่มตรง ชาวบ้านทั้งหมดได้พากันนิมนต์พระสงฆ์สามเณรมานั่งบนอาสนะที่ได้จัดเตรียมเอาไว้สำหรับทำพิธี แล้วก็ไหว้พระสวดมนต์ พระสงฆ์เจริญพุทธมนต์และถวายพรพระ ถึงตอนนี้ชาวบ้านก็จะพากันลุกขึ้นและนำข้าวเม่าไปใส่บาตร

เมื่อจวนจะถึงเวลา ๖ ทุ่ม คณะกรรมการก็เอาครก สาก และของอื่นๆ ที่เตรียมไว้ไปตั้งที่สนามกลางแจ้ง ซึ่งมีบริเวณมากพอที่คนจะดูได้จำนวนมากๆ โดยตั้งครกลูกหนึ่งทางทิศเหนือ อีกลูกหนึ่งทางทิศใต้ ระยะห่างกันประมาณ ๑ เมตรเศษ เอาสากตำข้าววางพาดไว้ที่ปากครก เอาเทียนขี้ผึ้งที่มีขนาดใหญ่และยาวเท่ากัน ๘ เล่มติดกับสากตำข้าว ตั้งชันขึ้น เอาใบตองกล้วย ๒ ก้านวางกับพื้นใต้สากระหว่างครกทั้งสองลูก เพื่อรองรับน้ำตาเทียนที่จะหยดลง จัดหนุ่มสาว ๘ คนเป็นคู่ เพื่อให้จับสากด้านทิศเหนือ ๒ คู่ และทิศใต้ ๒ คู่ แล้วให้หนุ่มสาวแต่ละคู่ตักข้าวเม่าป้อนซึ่งกันและกัน ตามด้วยกล้วยสุก และปิดท้ายด้วยการดื่มน้ำมะพร้าวอ่อนด้วยกัน

ครั้นเมื่อถึงช่วงที่พระจันทร์บนฟ้าอยู่ตรงศีรษะ ทายกก็สวดชุมนุมเทวดาและจุดเทียนชนวน ๘ เล่ม ยื่นให้หนุ่มสาวทั้ง ๘ คน หนุ่มสาวพากันเอาเทียนชนวนจุดเทียนขี้ผึ้งที่ติดสากเอาไว้แล้วพร้อมๆ กัน จากนั้นก็จับสากหมุนเวียนขวาขึ้น-ลงช้าๆ เทียนแต่ละเล่มก็ลุกไหม้ และน้ำตาเทียนก็หยดลงในใบตองที่รองรับอยู่ด้านล่าง จนเทียนไหม้หมด โดยพระสงฆ์สามเณรสวดชัยมงคลคาถาไปด้วยจนเทียนไหม้หมดแล้วจึงหยุดสวด

สำหรับเทียนที่ติดสากตำข้าวทั้ง ๘ เล่มนั้น เป็นเครื่องหมายของเดือนที่มีฝนตก ๘ เดือน เริ่มนับเอาตั้งแต่เดือน ๕ ถึงเดือน ๑๒ โดยนับจากทิศใต้เป็นเล่มที่ ๑ และนับไปตามลำดับ เหตุผลที่ต้องนับจากด้านทิศใต้เป็นอันแรก เพราะช่วงฤดูฝนลมมรสุมจะพัดจากทิศใต้ขึ้นไปทางทิศเหนือนั่นเอง

ในช่วงที่หนุ่มสาวกำลังหมุนสากอยู่นั้น ชาวบ้านทุกคนก็ต่างพากันสังเกตดูว่าเทียนเล่มใดไฟลุกไหม้แรงหรือค่อย เล่มไหนมีลมพัดแรงหรือค่อย หรือเล่มไหนไม่มีลมเลย ซึ่งแต่ละเล่มจะมีความหมายที่แตกต่างกัน ถ้าเล่มที่ ๑ เทียนติดไฟลุกไหม้แรง แสดงว่าเดือน ๕ ของปีนั้นจะมีฝนตกหนัก ถ้าเทียนเล่มที่ ๒ เทียนลุกไหม้แรงและมีลมพัดแรงด้วย แสดงว่าเดือน ๖ ของปีนั้นจะมีทั้งฝนตกหนักและมีลมแรงด้วย ซึ่งประเพณีการเสี่ยงแบบนี้เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีความแม่นยำและเชื่อถือได้พอๆ กับการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาเลยทีเดียว

สำหรับน้ำตาเทียนที่หยดลงบนใบตองกล้วยนั้น ถือว่าเป็นของดีที่หาได้ยาก ซึ่งชาวบ้านอยากได้และพากันแย่งกันอย่างชุลมุนวุ่นวายเลยทีเดียว

เมื่อทำพิธีปังออกเปรียะแคหรือป้อนข้าวพระจันทร์เพื่อเสี่ยงทายฟ้าฝนจบลงแล้ว พระสงฆ์สามเณรก็ให้พรเป็นภาษาบาลี จากนั้นชาวบ้านก็แยกย้ายกันกลับบ้านเรือนของตน ถือว่าปีนี้ได้ทำพิธีเสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่ามกลางความรู้สึกมีความสุขและภาคภูมิใจของชาวบ้านทุกคนที่มาร่วมพิธีในวันนี้


สำหรับตัวผมเองนั้น สมัยยังเป็นเด็กผมมีโอกาสได้ดูเขาทำพิธีทุกปี บางปีมากับพ่อแม่ บางปีมากับยาย และบางปีก็มากับเพื่อนๆ เพื่อมาเล่นสนุกสนานกันที่วัดตามประสาเด็กๆ แม้เมื่อโตขึ้นและไปมีครอบครัวอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่ผมก็ยังหาโอกาสกลับไปร่วมพิธีป้อนข้าวพระจันทร์ที่บ้านพรานด้วยในบางปี เพื่อร่วมสืบสานประเพณีเก่าแก่นี้ให้ดำรงอยู่สืบไป จนทำให้ผมจดจำรายละเอียดของพิธีกรรมได้เกือบจะทั้งหมด

แม้ว่าปีนี้ผมจะไม่มีโอกาสได้เดินทางไปร่วมพิธีกรรม แต่ก็รู้สึกมีความสุขและปลื้มใจอย่างมากที่ได้เห็นรูปภาพการทำพิธีป้อนข้าวพระจันทร์ผ่านทางเฟซบุ๊คของน้องสาวคนหนึ่ง ซึ่งเธอถ่ายรูปขณะทำพิธีเอาไว้และนำมาลงเอาไว้ในเฟซบุ๊คของเธอ ทำให้ลูกหลานชาวบ้านพรานที่อยู่ห่างไกลจากบ้านเกิด(รวมทั้งผมด้วย)มีโอกาสได้ชมบรรยากาศขณะกำลังทำพิธีด้วย

ผมชมรูปภาพเหล่านั้นด้วยความอิ่มใจและปลื้มใจอย่างที่สุด ที่เห็นพี่น้องชาวบ้านพรานทุกคนไปร่วมพิธีกันอย่างคึกคักและร่วมมือร่วมใจพากันสืบสานประเพณีและภูมิปัญญานี้เอาไว้อย่างเข้มแข็ง เพื่อเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันดีงามและล้ำค่าให้ลูกหลานได้ภาคภูมิใจและสืบทอดต่อไปในอนาคตตราบนานเท่านาน

เห็นแล้วรู้สึกอิ่มใจและมีความสุขมากจริงๆ ครับ






เขียน/เล่า โดย : อักขณิช ศรีดารัตน์

ภาพประกอบ โดย : คุณกีเติ้ล-ศริญญา รินวงษ์



หมายเลขบันทึก: 579929เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2014 08:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2014 08:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

ชื่อเรียกเพราะจังค่ะ ป้อนข้าวพระจันทร์ น้องต้นไม้ถามว่าเขาป้อนได้อย่างไร :)

  • เป็นความรู้ใหม่ สำหรับหมอเปิ้น เลยนะคะ .... น้องต้นไม้ .... ช่างถามดีนะคะ .... เป็นนักนักคิดนะคะ ต้องชื่นชม ดร.จันทวรรณ ที่ฝึกลูก เป็นนักเด็กคิด นะคะ
  • ขอบคุณบันทึกดีดีนี้ค่ะ










เป็นประเพณีที่ควรอนุรักษ์ ไว้นะครับ...

สวัสดีครับ อาจารย์ จันทวรรณ


น้องต้นไม้เข้าใจถามจังเลย เป็นคำถามที่ตอบยากเลยนะครับเนี่ย 555

ที่จริงการ "ป้อนข้าวพระจันทร์" ไม่ได้ป้อนเข้าปากพระจันทร์จริงๆ หรอกนะครับ แต่จะมีการเตรียมเครื่องเซ่นหรือเครื่องบวงสรวงต่างๆ เอาไปตั้งในพิธีเพื่อทำการบวงสรวงตอนที่พระจันทร์อยู่เหนือศีรษะพอดี โดยเครื่องเซ่นที่ใช้ก็คือ ข้าวเม่า กล้วย และน้ำมะพร้าว นะครับ

แต่จะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่มีการป้อนกันจริงๆ ก็คือ ช่วงที่หนุ่ม-สาวพรหมจารีย์ ทำพิธีป้อนข้าวป้อนน้ำให้แก่กันและกัน ช่วงนี้ คือการป้อนจริงๆ ครับ ก่อนที่จะทำการพิธีหมุนสากและเสี่ยงทายต่างๆ

หากน้องต้นไม้อยากรู้ว่าเขาป้อนข้าวพระจันทร์กันยังไง? โอกาสหน้าขอเชิญ อ.จันและน้องต้นไม้ไปดูด้วยตนเองนะครับ แล้วจะเข้าใจและจะรู้สึกประทับใจครับ


สวัสดีครับ พี่ Dr. Ple


ประเพณีนี้มีอยู่เฉพาะชุมชนไทยเชื้อสายเขมรแถบอีสานใต้เท่านั้นนะครับ

ที่ศรีสะเกษก็มีเฉพาะที่บ้านพราน(บ้านเกิดของผม)ที่ยังมีความคึกคักและเข้มแข็งมากกว่าที่อื่นๆ เนื่องจากชาวบ้านให้ความสำคัญกับประเพณีอย่างมากและมีการทำพิธีกรรมนี้มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

สวัสดีครับ พี่ พ.แจ่มจำรัส


ปัจจุบันประเพณีนี้เริ่มหาดูได้ยากมากขึ้นแล้วครับ ยกเว้นที่บ้านพรานแห่งเดียว ที่ชาวบ้านยังคงช่วยกันอนุรักษ์และสืบทอดเอาไว้อย่างเหนียวแน่น เห็นแล้วรู้สึกชื่นใจจริงๆ ครับ

โอเคเลยครับ เป็นประเพณีที่น่ารักสุดๆ ครับลุง :)

สวัสดีครับ อาจารย์ จันทวรรณ


เรียก "ลุง" เนี่ย ทำให้ผมรู้สึกว่าตัวเองแก่ลงไปถนัดตาเลยนะครับ

ช่างทำไปได้ 55555555555555555555555555555555555

ขอบคุณนะคะที่เอามาเล่า ไม่เคยได้ยินมาก่อน

ดิฉันกำลังคิดว่าคนโบราณใช้เป็นอุบายเพื่อสืบสานประเพณีอันดีงามให้คนรุ่นหลังๆ รักษาไว้นะคะ จึงใช้คนหนุ่มสาวมาเป็นตัวหลักสำคัญ ครกสากนี่ก็เป็นอุปกรณ์การยังชีพ การประกอบอาชีพที่สำคัญในยุคก่อน เราจึงควรให้ความเคารพ เพราะใช้งานมาทุกวันตลอดปี ๒ อย่างนี้เป็นตัวหลัก อื่นๆ เป็นส่วนประกอบ การจัดงานก็เพื่อแสดงความสำนึกในบุญคุณ และเป็นการสร้างความสามัคคีรักใคร่ในชุมชน

คนรุ่นเก่าจะเข้าใจว่างานแบบนี้เป๋็นงานสำคัญที่เราทุกคนจะไปร่วมกันพร้อมหน้า

"ปังออกเปรียะแค" หรือ "ป้อนข้าวพระจันทร์"

อ่านแล้วรู้สึกดีจังค่ะ

เป็นประเพณีที่นอบน้อมและรุ้คุณธรรมชาติดีจัง เพิ่งได้เรียนรู้ครับ ความรู้ใหม่มากครับ

สวัสดีครับ พี่ nui

ประเพณีจะยึดโยงกับวิถีเกษตรกรรมเป็นหลักนะครับ โดยเฉพาะเกี่ยวกับการทำนาทำไร่ และนำเอา "พระจันทร์" มาเป็นสัญลักษณ์แทนเทพเจ้าสำหรับทำพิธีบวงสรวงเพื่อแสดงความขอบคุณที่ได้ประทานความอุดมสมบูรณ์มาให้

ประเพณีนี้มีการนำคนทุกเพศทุกวัยมาช่วยกันทำนะครับ ตั้งแต่วัยรุ่น หนุ่มสาว ผู้ใหญ่และคนเฒ่าคนแก่ เลยทำให้เกิดการเรียนรู้และสามารถสืบทอดต่อๆ กันมาจนถึงปัจจุบันนี้ได้ครับ

สวัสดีครับ คุณหมออดิเรก ทิมดาบ

ประเพณีนี้มีอยู่เฉพาะแถบอีสานใต้เท่านั้นนะครับ มีอยู่เฉพาะในชุมชนคนไทยเชื้อสายเขมรเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันนี้เริ่มหาดูได้ยากมากขึ้นทุกที ยกเว้นที่บ้านเกิดผมแห่งเดียวเท่านั้นที่ยังคึกคักและสืบสานประเพณีนี้เอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น

เป็นความรู้ใหม่จ้ะ ไม่เคยได้ยินมาก่อน ขอบคุณที่นำมาแบ่งปันจ้ะ

สวัสดีครับ คุณมะเดื่อ

ขอบคุณมากๆ ครับ ที่กรุณาแวะเข้ามาอ่านและให้กำลังใจ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท