​สอนอย่างมือชั้นครู :๑๗. เรียนเป็นกลุ่ม


บันทึกชุด “สอนอย่างมือชั้นครู" ๓๔ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Teaching at Its Best : A Research-Based Resource for College Instructors เขียนโดย Linda B. Nilson ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ปรับปรุงครั้งที่ ๓ ผมขอเสนอให้อาจารย์ในสถาบันการศึกษาไทยทุกคน หาหนังสือเล่มนี้อ่านเอง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เพราะหากติดตามอ่านจากบันทึกใน บล็อก ของผม ซึ่งลงสัปดาห์ละตอน จะใช้เวลากว่าครึ่งปี และการอ่านบันทึกของผมจะแตกต่างจากการอ่านฉบับแปล หรืออ่านจากต้นฉบับโดยตรง เพราะบันทึกของผมเขียนแบบตีความ ไม่ได้ครอบคลุมสาระทั้งหมดในหนังสือ

ตอนที่ ๑๗ นี้ ตีความจาก Part Three : Choosing and Using the Right Tools for Teaching and Learning มี ๗ บท ตอนที่ ๑๗ ตีความจากบทที่ 16. Learning in Groups

สรุปได้ว่า การเรียนเป็นกลุ่มช่วยให้เรียนบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ในระดับสูง และเป็นการฝึกทักษะ แห่งศตวรรษที่ ๒๑ โดยเฉพาะทักษะขั้นสูงของการทำงานเป็นทีม

ในชั้นเรียน นักศึกษาได้เรียนรู้สองด้าน คือ ด้านเนื้อหาสาระวิชา กับด้านการเรียนรู้อื่นๆ รวมทั้งส่วน ที่ไม่ใช่วิชาการ (non-cognitive) ซึ่งรวมเรียกว่า ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ที่เชื่อมโยงกับวิธีสอนของอาจารย์ หากอาจารย์สอนแบบให้นักศึกษาเป็นผู้ลงมือปฏิบัติ นักศึกษาก็จะได้ฝึก ค้นพบ วิเคราะห์ และประยุกต์ใช้ ความรู้ด้วยตนเอง โดยอาจารย์ทำหน้าที่แนะนำ และนักศึกษาได้ฝึกรับผิดชอบการเรียนรู้ของตนเอง รูปแบบหนึ่งของการเรียนรู้แบบนี้คือ การเรียนเป็นกลุ่ม

นักศึกษาจะได้ฝึกทักษะ และจริยธรรมของการทำงานและเรียนรู้เป็นทีม ได้เห็นคุณค่าของการเรียน เป็นทีม ว่าดีกว่าเรียนคนเดียว


ชื่อของการเรียนรู้เป็นกลุ่ม

ในภาษาอังกฤษ การเรียนรู้เป็นกลุ่ม หรือเป็นทีม มีชื่อเรียกแตกต่างกันมากมาย ได้แก่ group work, group learning, cooperative learning, collaborative learning, peer instruction peer tutoring, team learning


จุดแข็งและจุดอ่อนของการเรียนเป็นกลุ่ม

การเรียนเป็นกลุ่มมีข้อดีมากกว่าจุดอ่อน แต่ก็พึงตระหนักว่า หากอาจารย์ไม่เอาใจใส่หรือไม่มีทักษะ ในการจัดการเรียนการสอนแบบนี้ ก็อาจเกิดผลร้ายได้ ผลร้ายที่พึงสังวรร์คือ เกิดผลดีแก่นักศึกษาที่มีความ สามารถปานกลาง แต่นักศึกษาหัวดีเสียประโยชน์

งานวิจัยบอกว่า การเรียนเป็นกลุ่มให้ผลดี ๓ ประการคือ (๑) ด้านการเรียนรู้วิชา (๒) ด้านปฏิสัมพันธ์ เชิงบวกระหว่างนักศึกษา และ (๓) ด้านสุขภาพจิตในการเรียน

ผลงานวิจัยบอกต่อไปว่า ปัจจัยที่มีผลต่อผลการเรียน และความพึงพอใจต่อการเรียนมากที่สุด ๒ อย่าง คือ ปฏิสัมพันธ์ ระหว่างนักศึกษาด้วยกันเอง และปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษากับอาจารย์

ผลลัพธ์สำคัญที่ได้จากการเรียนแบบนี้ และไม่ได้จากการเรียนตามจารีตเดิมคือ การคิดอย่างมีวิจารณ ญาณ ความมั่นใจตนเอง ความสัมพันธ์ระหว่างชาติพันธุ์ และพฤติกรรมเชิงบวกด้านสังคม

ประเด็นสำคัญที่หนังสือเล่มนี้เตือนไว้คือ ต้องใช้การเรียนเป็นกลุ่ม ควบคู่ไปกับการเรียนแบบอื่นๆ ได้แก่ การบรรยายแบบมีปฏิสัมพันธ์ (interactive lecture), การอภิปรายในชั้น (whole-class discussion), การเรียนโดยการปฏิบัติ (experiential learning) ฯลฯ

ข้อเตือนใจอื่นๆ ในการใช้วิธีเรียนเป็นกลุ่ม ได้แก่ (๑) นักศึกษาแต่ละคนต้องได้ฝึกฝนทักษะจำนวนหนึ่ง ในฐานะปัจจเจก (๒) นักศึกษาเคยเรียนแบบกลุ่มในชั้นมัธยมและประถม การเรียนแบบกลุ่มจึงไม่ใช่ของใหม่ ส่วนที่ใหม่คือ นักศึกษาต้องฝึกสังเกตติดตามผลซึ่งกันและกัน และให้คำแนะนำป้อนกลับต่อกัน โดยอาจารย์ ไม่ต้องเข้าไปจัดการอย่างในโรงเรียน อาจารย์พึงตระหนักว่านักศึกษามีแนวโน้มจะเกรงใจ ไม่กล้าประเมินซึ่งกัน และกันอย่างจริงจัง (๓) จุดอ่อนของการเรียนเป็นกลุ่มคือ นักศึกษาเรียนเก่งมักต้องสอนเพื่อน และไม่ได้รับ คำแนะนำป้อนกลับเพื่อยกระดับการเรียนรู้ของตน

จึงควรใช้การเรียนเป็นกลุ่ม เป็นตัวเสริมการเรียนรู้แบบอื่นๆ ได้แก่ ใช้ในกิจกรรมคั่นการบรรยาย ใช้เริ่มต้นการอภิปรายในชั้น ใช้ละลายพฤติกรรม ใช้เสริมการเรียนโดยการปฏิบัติ ใช้ใน case debriefing, ใช้ใน PBL, ใช้ในการฝึกหัดทำโจทย์คณิตศาสตร์ ใช้ในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ใช้ในการประเมิน ห้องเรียน และใช้ทบทวนบทเรียน


เปลี่ยนบทบาท

ในการเปลี่ยนการเรียนจากแบบจารีตนิยมที่เน้นการบรรยาย มาเป็นแบบนักศึกษาทำงานเป็นกลุ่ม ทั้งอาจารย์และนักศึกษาต้องเปลี่ยนบทบาท


นักศึกษา เปลี่ยนแปลงดังต่อไปนี้ (๑) เปลี่ยนจากผู้ฟังและจด เป็นผู้แก้ปัญหา ผู้ค้นพบ ผู้ให้ และผู้เปลี่ยนแปลงความรู้ (๒) จากผู้เตรียมพร้อมระดับต่ำถึงปานกลาง เป็นระดับสูง ในการเตรียมตัวเข้าสู่ชั้นเรียน (๓) จากมีความเสี่ยงต่ำ และแฝงตัวตน เป็นมีความเสี่ยงสูง และแสดงตัวตน (๔) จากเข้าเรียนด้วยความรับผิดชอบส่วนตน เป็นที่ความคาดหวังจากกลุ่ม และมีความ รับผิดชอบต่อกลุ่ม (๕) จากเรียนแบบการแข่งขันกับเพื่อนๆ สู่ความร่วมมือกันเป็นทีม ความสำเร็จในการเรียนรู้ ขึ้นกับความร่วมมือซึ่งกันและกัน (๖) จากเรียนแบบตัวใครตัวมัน เป็นเอื้ออาทรต่อการเรียนรู้ต่อกันและกัน และเอาใจใส่ความสำเร็จในภาพรวมของทีม (๗) จากการยกย่องครูและตำราเป็นใหญ่ สู่การให้ความสำคัญ ต่อตนเอง เพื่อนๆ และปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน เป็นแหล่งของความรู้และการเรียนรู้

อาจารย์ต้องตระหนักว่า นักศึกษาอาจเคยมีประสบการณ์ด้านลบต่อการเรียนเป็นกลุ่มมาจากโรงเรียน เพราะครูจัดการชั้นเรียนผิดพลาด นักศึกษาเองอาจขาดความรู้และทักษะด้านพลวัตกลุ่ม (group dynamics) อาจารย์จึงต้องฝึกทักษะพื้นฐานให้แก่ศิษย์ ได้แก่รูปแบบของการสื่อสารภายในกลุ่ม ทำความเข้าใจ การสื่อสาร ทางเดียว การสื่อสารสองทาง การสื่อสารในกลุ่มแบบหัวหน้าเป็นศูนย์กลาง และการสื่อสารในกลุ่มแบบ เป็นธรรมชาติและทั่วถึง โดยให้นักศึกษาเขียนแผนผังการสื่อสารแบบต่างๆ และอธิบายพฤติกรรมของสมาชิกกลุ่มแต่ละคน เพื่อทำความเข้าใจพลวัตกลุ่มที่พึงประสงค์ เช่น

นักศึกษาควรได้ทำความเข้าใจขั้นตอนของพัฒนาการของทีม คือ forming, storming, norming, performing ซึ่งอ่านได้ที่นี่ และมีเอกสารคู่มือ ดาวน์โหลดได้ที่นี่


อาจารย์ เปลี่ยนแปลงบทบาทเช่นเดียวกัน คือเปลี่ยนจาก “the sage on the stage" ไปเป็น “a guide on the side" คือครูไม่เป็นศูนย์กลางความสนใจของนักศึกษาอีกต่อไป ไม่เป็น “ครูผู้รู้เจนจบ" แต่เปลี่ยนเป็นโค้ช หรือครูฝึก ทำหน้าที่โดยเน้นการตั้งคำถาม เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักศึกษาทำกิจกรรมกลุ่ม และเกิดการเรียนรู้ ตามเป้าหมายผลลัพธ์การเรียนรู้ที่กำหนด


วิธีการจัดตั้งและจัดการกลุ่มของนักศึกษา

การจัดตั้งและจัดการกลุ่มของนักศึกษา ต้องคำนึงถึง วิธีจัดกลุ่ม การกำหนดงาน จัดการกระบวนการ หรือกิจกรรม และวิธีให้เกรด โดยคำนึงถึงปัจจัยต่อไปนี้


การพึ่งพาซึ่งกันและกันเชิงบวก(Positive Interdependence)

หัวใจคือสมาชิกกลุ่มต้องรู้สึกว่าตนมีความรับผิดชอบต่อความสำเร็จของกลุ่มและของเพื่อนร่วมกลุ่ม และความสำเร็จส่วนบุคคลต้องขึ้นกับความสำเร็จของกลุ่ม คือสมาชิกลุ่มแต่ละคนต้องรู้สึกว่าต่างก็มี ความต้องการซึ่งกันและกัน เพื่อทำงานให้ได้ผลงานที่มีคุณภาพในระดับที่กำหนด เพื่อให้ได้ผลดังกล่าว อาจารย์ต้องทำสิ่งต่อไปนี้

  • กำหนดระดับคุณภาพชิ้นงาน ให้สมาชิกทุกคนลงนามรับรอง และให้เกรดตามผลงานกลุ่ม (อาจให้เกรดส่วนบุคคลเสริมด้วยก็ได้)
  • ให้กลุ่มทำโจทย์ย่อย และให้คะแนนกลุ่ม
  • ให้ข้อมูล หรือวัสดุช่วยเรียน แก่สมาชิกกลุ่มคนใดคนหนึ่ง และมอบหมายให้นำไปแบ่งปัน กับเพื่อนสมาชิกกลุ่ม (ให้มี material interdependence)
  • มอบหมายชิ้นงานแก่สมาชิกกลุ่มแต่ละคน ที่เป็นส่วนหนึ่งของงานทั้งหมด (task interdependence)
  • สุ่มชี้ตัวสมาชิกกลุ่ม ให้พูดหรือรายงานแทนกลุ่ม
  • กำหนดให้สมาชิกกลุ่มแต่ละคน edit ข้อเขียนรายงานของสมาชิกคนอื่นๆ ด้วย Track Changes, wiki, หรือ Google docs
  • มอบหมายให้สมาชิกกลุ่มทำหน้าที่ต่างกัน หมุนเวียนหน้าที่ไปเรื่อยๆ เช่น ผู้บันทึก โฆษก นักวิจัย ผู้สรุป ผู้แก้ไข ผู้ตั้งข้อสงสัย ผู้จัดการ ผู้สืบความลับ (ของกลุ่มอื่น) ผู้สังเกตการณ์ ผู้เขียน ผู้จับเวลา ผู้แก้ความขัดแย้ง ผู้ประสานงาน (กับกลุ่มอื่น หรือกับอาจารย์) เป็นต้น


ความรับผิดรับชอบของนักศึกษาแต่ละคน(Individual Accountability)

นักศึกษาแต่ละคนจะต้องรับผิดรับชอบต่อการเรียนของตน และของเพื่อนร่วมกลุ่ม และสมาชิกกลุ่ม ต้องรับภาระงานเท่าๆ กัน ไม่มีคนเอาเปรียบเพื่อน หรือคนที่รับภาระหนักกว่าคนอื่นมากเกินไป โดยอาจารย์ต้องทำสิ่งต่อไปนี้

  • มีการทดสอบย่อย แบบทดสอบรายบุคคล ข้อสอบหรือคำถามมาจากงานกลุ่ม
  • นับคะแนนกลุ่มเฉพาะคนที่สอบผ่านการทดสอบรายบุคคล
  • สุ่มเรียกนักศึกษาในแต่ละกลุ่มให้ตอบคำถาม หรือรายงานผลงานกลุ่ม
  • หมุนเวียนบทบาทของสมาชิกกลุ่ม
  • มอบหมายความรับผิดชอบในส่วนหนึ่งของงานแก่นักศึกษาแต่ละคน และให้คะแนน
  • จัดเวลาให้กลุ่มทำความตกลงกัน ว่าจะจัดการสมาชิกกลุ่มที่ไม่ทำงานอย่างไร
  • อนุญาตให้กลุ่มขับสมาชิกที่ไม่ทำงานออกจากกลุ่ม หลังจากได้เตือนด้วยวาจาหรือด้วย ใบแจ้งเป็นเอกสารแล้ว
  • อนุญาตให้สมาชิกกลุ่มที่ถูกเพื่อนใช้งานมากเกินไป ลาออกจากกลุ่มได้
  • ให้เกรดสุดท้าย ตามผลการประเมินของเพื่อนร่วมกลุ่ม

การให้นักศึกษาแต่ละคนประเมินให้คะแนนการทำงานของเพื่อนในกลุ่มนี้ ต้องมีการเตรียมการณ์ พอสมควร คืออาจารย์ต้องร่างเกณฑ์ให้ ให้กลุ่มเอาไปช่วยกันปรับ เป็นเกณฑ์ที่สมาชิกกลุ่มทุกคนตกลงร่วมกัน ตัวอย่างของเกณฑ์ได้แก่ การมาร่วมทำงาน การเตรียมตัวมาก่อนล่วงหน้า ความตรงต่อเวลา ภาวะผู้นำ คุณภาพของงาน ปริมาณงาน และทักษะทางสังคม

อาจารย์อาจแจ้งไว้ล่วงหน้า ว่าไม่ยอมรับการประเมิน ที่ให้คะแนนเพื่อนเท่ากันทุกคน หรือให้ A หมด

หนังสือให้คำแนะนำว่า เคล็ดลับในการให้นักศึกษาประเมินเพื่อนร่วมทีม ให้แม่นยำ ทำได้โดย แยกการประเมินเป็น ๓ - ๔ ครั้ง แต่ละครั้งหลังจากทีมส่งงานความก้าวหน้า จะเป็นการประเมินในช่วงที่ ใจนักศึกษายังคุกรุ่นอยู่กับบรรยากาศการทำงานกลุ่ม

อาจารย์ต้องตระหนักในความอ่อนเยาว์ของนักศึกษา และหาทางช่วยให้ทีมงานสร้างข้อตกลง หรือกติกาการทำงานกลุ่มขึ้นมาเอง ให้สมาชิกกลุ่มทุกคนเป็นเจ้าของกติกา และปฏิบัติตามกติกานั้น หากกติกาที่นักศึกษากลุ่มใดร่างยังขาดประเด็นสำคัญ อาจารย์ต้องเข้าไปแนะนำ จะยิ่งดีหากจะเขียนข้อตกลงนี้ ไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เก็บไว้อ้างอิง โดยถือว่ากระบวนการทั้งหมดนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ ของนักศึกษา


องค์ประกอบ ขนาด และระยะเวลา ที่เหมาะสมของกลุ่ม

หลักการคือ ให้เป็นกลุ่มที่มีความแตกต่างหลากหลาย ในด้านความสามารถในการเรียน เชื้อชาติ เพศ พื้นฐานทางเศรษฐสังคม และอื่นๆ เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ทักษะทางสังคมไปพร้อมๆ กัน

ผลงานวิจัยบอกว่า การปล่อยให้นักศึกษาจับกลุ่มกันเอง เพื่อทำงานระยะยาว ไม่ดี ทำให้เกิดกลุ่ม ที่คิดเหมือนๆ กัน ความสนิทสนมกันทำให้การประชุมกลุ่มเฉไฉไปคุยนอกเรื่องบ่อย และการประเมิน เพื่อนร่วมกลุ่มก้ไม่ตรงความจริง แต่กลุ่มแบบนี้มีข้อดีคือมีความขัดแย้งน้อย

จำนวนสมาชิกกลุ่มที่เหมาะสมขึ้นกับว่าชิ้นงานมีความซับซ้อนเพียงใด กิจกรรมกลุ่มสั้นๆ อาจเพียงแค่ จับคู่ ขนาดของกลุ่มโดยทั่วไปอยู่ที่ ๓ - ๕ คน คือไม่มากจนมีคนที่ไม่ทำงาน และไม่น้อยเกินไปจนการ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ไม่เข้มข้น แต่ถ้าต้องการกลุ่มที่มีความแตกต่างกันมากๆ อาจมีขนาดถึง ๗ คน

ระยะเวลาของกลุ่ม ก็ขึ้นอยู่กับธรรมชาติของชิ้นงาน ข้อดีของกลุ่มที่รวมตัวกันนานคือรู้ใจ รู้ฝีมือกัน แต่การเวียนกลุ่มก็มีประโยชน์ในด้านที่ช่วยให้นักศึกษารู้จักสนิทสนมกับเพื่อนจำนวนมาก เป็นธรรมชาติ ของนักศึกษาที่อาจร้องขอให้คงกลุ่มเดิมตลอดปี

กลุ่มที่อาจใช้บ่อยที่สุดคือจับคู่ คุยกันเพียง ๒ นาที ซึ่งให้จับคู่กับคนนั่งติดกันก็ใช้ได้ แต่ถ้านักศึกษาจับคู่เดิมอยู่ตลอด ก็อาจแก้โดยกำหนดที่นั่งให้


ปฏิสัมพันธ์แบบพบหน้า

การเรียนเป็นกลุ่มที่ไม่พึงประสงค์คือ นักศึกษาตกลงแบ่งงานกัน แล้วแยกย้ายกันไปทำ ต่างคนต่างทำ โดยไม่ปรึกษากันเลย เพราะจะไม่ได้พลังของปฏิสัมพันธ์ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

นอกจากแบ่งงานกันแล้ว การเรียนเป็นกลุ่มต้องมีปฏิสัมพันธ์ในกลุ่มสมาชิกด้วย โดยน่าจะมีวิธี ปฏิสัมพันธ์ได้อย่างน้อย ๓ วิธี คือ (๑) อาจารย์จัดเวลาให้ประชุม หรือทำงานร่วมกัน ในชั่วโมงเรียน (๒) นักศึกษานัดประชุมทำงานร่วมกันนอกเวลาเรียน (๓) ประชุมหรือและเปลี่ยนเรียนรู้กันผ่าน cyber space


การเรียนที่แท้

เป้าหมายที่แท้จริงของการเรียนเป็นกลุ่ม ไม่ใช่เพื่อได้ทำกิจกรรมร่วมกันเท่านั้น แต่นักศึกษาแต่ละคน ต้องได้เรียนรู้ตามเป้าหมายผลลัพธ์การเรียนรู้ที่กำหนด ทั้งอาจารย์และนักศึกษาต้องไม่หลงประเด็นในเรื่องนี้

เป้าหมายผลลัพธ์ของการเรียนรู้ ในกิจกรรมเรียนเป็นกลุ่มต้องเป็นผลลัพธ์ขั้นสูง ที่ได้จากกิจกรรมที่ทำ มีได้หลายคำตอบ และหลายวิธีการ ผลลัพธ์การเรียนรู้ชั้นสูงคือ การประยุกต์ วิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมิน เป้าหมายการเรียนรู้และโจทย์แบบนี้แหละที่ทำให้การเรียนรู้แบบปฏิสัมพันธ์กลุ่มมีคุณค่า และสนุกสนาน ท้าทาย


เอาใจใส่ทักษะทางสังคมเพื่อความร่วมมือ

พฤติกรรมของสมาชิกกลุ่มที่ต้องการ ได้แก่ เข้าร่วมประชุมทุกครั้ง มาประชุมด้วยความพร้อมที่จะ แลกเปลี่ยนหรือเป็นผู้แบ่งปัน ฟังอย่างตั้งใจ หมุนเวียนกันให้ความเห็น และไม่พูดแทรก ชื่นชมเพื่อน ร่วมมือ แบ่งปันข้อมูลและสิ่งของ มาด้วยใจที่เปิด ให้ความเห็นป้อนกลับอย่างสร้างสรรค์ ปกป้องความเห็นของตน อย่างสุภาพและมีชั้นเชิง ประนีประนอม และ แสดงความเคารพผู้อื่น

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาพฤติกรรมดังกล่าว อาจารย์พึงปฏิบัติต่อไปนี้ ให้นักศึกษาระดม ความคิดร่วมกันว่า คุณสมบัติของสมาชิกในทีมที่ดีมีอะไรบ้าง บันทึกไว้ และนำมาใช้ในการกำหนด ผลลัพธ์ของผลงานกลุ่ม นำมาใช้ในข้อกำหนดเกณฑ์ที่นักศึกษาประเมินเพื่อนร่วมทีม อาจารย์นำมาใช้ ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ชมนักศึกษาที่แสดงคุณสมบัติดังกล่าว และจัดช่วงเวลาให้นักศึกษาได้สะท้อน ความคิด (Reflection / AAR) การปฏิบัติตามเกณฑ์คุณสมบัติดังกล่าว

ในหนังสือมีรายการคำถาม สำหรับให้นักศึกษาแต่ละคนนำไปทำ self reflection เป็นการสำรวจตัวเอง feedback ตนเอง เพื่อปรับปรุงตนเอง


คำแนะนำด้านการจัดการ

มีผู้ให้คำแนะนำด้านการจัดการเรียนแบบกลุ่มไว้ ๙ ข้อ ดังต่อไปนี้

  • ๑.เริ่มด้วยกิจกรรมเล็กๆ ง่ายๆ ก่อน และเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง สำหรับนำไปจัดการกลุ่มที่ใหญ่และซับซ้อนขึ้น
  • ๒.ใช้ระบบให้เกรดแบบอิงเกณฑ์เท่านั้น
  • ๓.อธิบายคุณค่าของการเรียนแบบนี้ให้นักศึกษาเข้าใจ
  • ๔.มอบงานกลุ่มที่มีโครงชัดเจน ไปสู่ผลงานสุดท้ายที่เป็นเอกสารรายงาน โดยที่รายงานอาจพิมพ์อย่างดี หรือเป็นเพียงรายงานที่เขียนด้วยลายมือก็ได้ (ผมขอเติมตรงนี้ว่า การเขียนด้วยลายมือจะช่วยป้องกันรายงานแบบ cut & paste และช่วยให้อาจารย์เห็นว่าสมาชิกกลุ่มคนไหนบ้างมีส่วนเขียน)
  • ๕.กำหนดเงื่อนเวลาให้ชัดเจน และดูแลให้เป็นไปตามนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการ ฝึกวินัยในการทำงาน และฝึกทำงานภายใต้ข้อจำกัด
  • ๖.มอบหมายบทบาทแก่นักศึกษาแต่ละคนภายในกลุ่ม โดยอาจให้สมาชิกในทีมกำหนดกันเอง
  • ๗.กำหนดกติกา “๓ คนก่อนครู" คือเมื่อมีคำถาม ให้นักศึกษาถามเพื่อนก่อน ๓ คน หากยังไม่ได้คำตอบที่พอใจจึงถามอาจารย์ เป็นกติกาที่กระตุ้นให้นักศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กันเอง
  • ๘.กำหนดกติการะดับเสียง และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องไม่มีการคุยกันนอกกลุ่มใหญ่ระหว่างการประชุม
  • ๙.ในแต่ละช่วงการทำงานกลุ่ม จัดให้มีการประเมินเพื่อตรวจสอบว่าเกิดการเรียนรู้ในระดับ “รู้จริง" (mastery learning) โดยอาจให้แต่ละกลุ่มเสนอรายงานความก้าวหน้า ๑ นาที หรืออาจจัดการทดสอบสั้นๆ ก็ได้


เทคนิคการเรียน

ตัวอย่างเทคนิคการเรียนรู้เป็นกลุ่ม ได้แก่

  • Think-pair-share เป็นเทคนิคที่ใช้กันแพร่หลายมาก และใช้ง่าย ให้คำถาม แล้วให้เวลานักศึกษาแต่ละคนคิด ๑ นาที แล้วให้จับคู่แลกเปลี่ยนความเห็น ๒ นาที แล้วเสนอคำตอบแก่เพื่อนในชั้น อาจเพิ่มเป็นจับ ๔ ให้หาข้อยุติคำตอบร่วมกัน
  • Pair check เหมาะต่อการใช้เป็นกิจกรรมคั่นการบรรยาย ให้นักศึกษาจับคู่ตรวจแก้ไข รายงานหรือบันทึกสั้นๆ
  • T.A.P.P.S. (talking aloud paired problem solving) จับคู่ผลัดกันพูดผลัดกันฟังและถาม หรือ feedback ว่าตนแก้ปัญหาที่ได้รับอย่างไร
  • STAD (student teams-achievement division) หลังการบรรยายรือการเรียนแบบอื่น อาจารย์จัดกลุ่มนักศึกษากลุ่มละ ๓ หรือ ๔ คน ให้โจทย์สำหรับทำงานกลุ่มสั้นๆ เขียนออกมาเป็นรายงานกลุ่ม ตามด้วยการทดสอบแต่ละคน
  • Jigsaw แบ่งกลุ่มนักศึกษาเพื่อเรียนรู้หัวข้อใหญ่ ที่แบ่งเป็นหัวข้อย่อยจำนวนเท่าจำนวน สมาชิกกลุ่ม นักศึกษาของแต่ละหัวข้อย่อยไปประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเป็น expert group เมื่อได้สาระและข้อยุติร่วมกันในแต่ละ expert group ตามเวลาที่กำหนดแล้ว ให้สมาชิกกลับ มาประชุมกลุ่มของตน expert แต่ละคนสอนเพื่อนในกลุ่ม
  • Structured / academic controversy แบ่งนักศึกษาเป็นกลุ่ม ๔ แล้วแบ่งข้างเป็นทีม ๒ คน ให้ค้นคว้าทำหน้าที่เสนอความเห็นที่ขัดแย้งกัน แล้วนำมาอภิปรายโต้แย้งกันให้ได้ประเด็น ครบถ้วน หลังจากนั้นให้เปลี่ยนข้าง และอภิปรายโต้แย้งกันต่อ
  • Group investigation จัดกลุ่มนักศึกษา มอบให้ค้นคว้าเรื่องอะไรก็ได้ในสาขาที่เรียน แล้วจัดนำเสนอต่อชั้นด้วยวิธีใดก็ได้ เช่นหนังสั้น ละคร นิยาย ฯลฯ
  • Numbered heads together จัดนักศึกษาเป็นทีม ๔ คน ให้เบอร์นักศึกษาในทีม เป็นหมายเลข ๑ ถึง ๔ มอบโจทย์ให้ปรึกษากันในกลุ่ม แล้วอาจารย์เรียกให้ตอบทีละกลุ่ม โดยเรียก หมายเลข เป้าหมายคือเพื่อให้นักศึกษาทุกคนตั้งใจทำงานกลุ่ม
  • Talking chips เพื่อให้นักศึกษาทุกคนในกลุ่มมีโอกาสพูดแสดงความคิดเห็นเท่าๆ กัน นักศึกษาทุกคนได้รับชิปจำนวนเท่ากัน เมื่อจะแสดงความเห็นต้องจ่ายชิปเข้ากอง ๑ อัน นักศึกษาคนไหนชิปหมด ไม่มีสิทธิ์พูด พูดกันจนทุกคนหมดชิปก็เริ่มรอบใหม่
  • Send a problem แต่ละกลุ่มเขียนโจทย์หรือคำถามลงบน index card หรือกระดาษ แล้วตกลงคำตอบกันในกลุ่มและเขียนคำตอบที่ด้านหลัง แล้วส่งกระดาษหมุน ไปให้กลุ่มต่อไป กลุ่มยังไม่ดูคำตอบด้านหลัง แต่ร่วมกันกำหนดคำตอบ แล้วจึงดูเฉลย ที่ด้านหลัง ถ้าคำตอบไม่ตรงกัน ให้เขียนคำตอบเพิ่มลงไปที่ด้านหลัง แล้วส่งกระดาษต่อไป เวียนไปเช่นนี้ จนกระดาษกลับมาที่กลุ่มเดิม ก็อ่านคำตอบที่เพิ่มขึ้น และอภิปรายทำความ เข้าใจ
  • Group tests จัดการทดสอบ โดยในช่วงแรก นักศึกษาแต่ละคนตอบ ให้คะแนนส่วนนี้ 50% - 67% ของทั้งหมด แล้วสอบใหม่ด้วยข้อสอบเดิม แต่คราวนี้ให้นักศึกษาตอบเป็นกลุ่ม หลังปรึกษาหารือกัน พบว่านักศึกษาจะเรียนรู้จดจำได้ดีกว่า


เตรียมนักศึกษาสู่ชีวิตจริง

การเรียนเป็นทีม เป็นการฝึกทักษะการทำงานเป็นทีม ซึ่งจำเป็นมากสำหรับการดำรงชีวิต ในศตวรรษที่ ๒๑ เป็นหน้าที่ของอาจารย์ ที่จะต้องโค้ชให้ศิษย์มีทักษะ high-functioning team member ทั้งในฐานะผู้นำ และผู้ตาม

วิจารณ์ พานิช

๓๐ ส.ค. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 579844เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2014 17:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ธันวาคม 2014 09:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท