การอนุรักษ์ธรรมชาติกับความยั่งยืน


คำว่า ยั่งยืน (Sustainability) หมายถึงกิจกรรมที่ทำได้อย่างต่อเนื่องไม่รู้จบ มีวัตถุประสงค์คือความมีชีวิตอยู่ ที่ไม่มุ่งในการหากำไรถ่ายเดียว โดยมีจุดเน้นคือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม

การอนุรักษ์ธรรมชาติกับความยั่งยืน

(Green & Sustainability)

พันเอก มารวย ส่งทานินทร์

[email protected]

25 ตุลาคม 2557

ในการวิเคราะห์ผลการประกอบการขององค์กรในปัจจุบันว่าองค์กรจะมีความยั่งยืนเพียงใด นอกจากจะดูว่าเป็นสีดำ (มีกำไร) หรือสีแดง (ขาดทุน) ยังจะต้องดูสีเขียว (การอนุรักษ์ธรรมชาติ) ด้วย เพราะกระแสสังคมของโลก คำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของโลกไว้ให้ชนรุ่นหลังต่อไป ไม่ว่าจะเป็น ดิน น้ำ ลม ไฟ (ปริมาณขยะของเสีย น้ำเน่าเสีย อากาศเป็นพิษ น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติร่อยหรอ)

จะเห็นได้จากการรณรงค์ลดโลกร้อน ลดปริมาณขยะด้วยการใช้น้อยลงหรือใช้ซ้ำ ลดการใช้ถุงพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดเบอร์ 5 รถยนต์ไฮบริด บริษัทใหญ่ ๆ ประชาสัมพันธ์การส่งเสริมชุมชนและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในสื่อต่าง ๆ การออกกฎหมายว่าด้วยการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงสินค้าที่มีสัญลักษณ์ใบไม้สีเขียว หรือต้นไม้ต้นเล็ก ๆ ติดอยู่ให้เห็นเด่นชัด ว่าในการผลิตคำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย เป็นต้น

นอกจากนี้ในหนังสือเกณฑ์สู่ความเป็นเลิศของอเมริกา (Criteria for Performance Excellence, Baldrige National Quality Program) ได้มีหัวข้อ 1.2 ระบบธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม ที่หมายรวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ความรับผิดชอบต่อการกระทำของผู้ส่งมอบ และการมีบทบาทที่ดีขององค์กร ต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และระบบเศรษฐกิจ คำอธิบายหัวข้อเดียวกัน กล่าวว่า ในหัวข้อนี้ กล่าวถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ที่อาจรวมถึงการใช้เทคโนโลยีสีเขียว (Green Technologies) เช่นการใช้ตัวทำละลายที่เป็นน้ำแทนสารเคมี การประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานสะอาด การนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นต้น

องค์กรทุกขนาดมีโอกาสในการส่งเสริมสิ่งแวดล้อม สังคม และระบบเศรษฐกิจ รวมถึงบทบาทขององค์กรที่มีต่อชุมชนสำคัญ ผลการดำเนินการระบบการนำองค์กร ที่รวมถึงผลลัพธ์ความรับผิดชอบต่อสังคม

ในครั้งนี้ ได้นำหนังสือ 3 เล่มที่มีความเกี่ยวเนื่องกันจาก เป็นเรื่องเกี่ยวกับสีเขียว (การอนุรักษ์ธรรมชาติ) และความยั่งยืนขององค์กรมาแนะนำคือ 1.) Clean, Green and Read All Over: Ten Rules for Corporate Environmental and Sustainability Reporting2.) Cleaner Production for Green Productivity: Asian Perspectives และ 3.) Green Productivity and Green Supply Chain Manual

เล่มแรก คือหนังสือเรื่อง Clean, Green and Read All Over: Ten Rules for Corporate Environmental and Sustainability Reporting ที่ประพันธ์โดย J. Emil Morhardt, สำนักพิมพ์ ASQ Quality Press, Milwaukee, Wisconsin, 2002 ในหนังสือแบ่งเป็น 3 ตอนคือ

ตอนที่ 1 เรื่องการรายงานด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ได้เล่าประวัติความเป็นมาว่าในปี พ.ศ. 2532 มีการพิมพ์เผยแพร่หลักการของ CERES (Coalition for Environmental Responsible Economies) ในปี พ.ศ. 2539 ทาง ISO ได้ออกมาตรฐาน 14001 เป็นแนวทางจัดการที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ต่อมาในปี พ.ศ. 2542 ได้มีการจัดทำร่าง Sustainability Report ที่เรียกว่า Global Reporting Initiative (GRI 1999) ของ UNEP (United Nations Environment Program) ซึ่งในปีถัดมา ได้มีการจัดทำร่างที่สองขึ้น (GRI 2000) ที่มีตัววัด 3ด้าน คือด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม

ตอนที่ 2 บัญญัติ 10 ประการในการเขียนรายงานเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนอย่างมีประสิทธิผล คือ

1.ลักษณะของบริษัท (Company Profile) Rule 1 - Describe your company in a way that sets the stage for a discussion of environmental and social considerations

2.วิสัยทัศน์และความรับผิดชอบ (Vision and Commitment) Rule 2 – Project a sustained visionary, and realistic concern for the Environment and for society

3.ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) Rule 3 – Identify and describe the environmental and social stakeholders that are important to your company

4.นโยบายและระบบบริหาร (Policies and Management Systems) Rule 4 – Describe the policies, systems, and organizational structure you use to manage environmental and social issues

5.มุมมองและผลกระทบ (Aspects and Impacts) Rule 5 - Describe the environmental and social aspects and issues faced by your industry and your company

6.ตัวชี้วัด (Performance Indicators) Rule 6 – Select numerical performance indicators that can be compared within your industry

7.การเริ่มต้นและการบรรเทา (Initiatives and Mitigations) Rule 7 – Describe interesting environmental and social initiatives and mitigations, but don't overdo it

8.ผลการดำเนินการ (Performance) Rule 8 – Present your performance data clearly and graphically

9.ต้นทุนและการลงทุน (Costs and Investment) Rule 9 - Describe your environmental and social costs and investments, voluntary or not

10.เป้าประสงค์และเป้าหมาย (Goals and Targets) Rule 10 – Set concrete numerical, environmental and social goals and commit yourself to improvement

ตอนที่ 3 การประเมินและระบบการให้คะแนนรายงานเรื่องความยั่งยืน ผู้ประพันธ์ได้กล่าวถึงระบบการให้คะแนนที่นิยมใช้กันคือ The GRI 2000 guidelines และ ISO 14031 Annex A list และได้แนะนำระบบการให้คะแนนแบบใหม่ที่เรียกว่า Pacific Sustainability Index ที่แยกสิ่งแวดล้อม และด้านสังคม ให้เห็นเด่นชัดขึ้น และนำบัญญัติ 10 ประการมาประกอบปรับใช้ให้เหมาะสม เพื่อให้เห็นภาพรวมขององค์กร (รายละเอียดอยู่ใน Appendix A)

ที่เห็นประโยชน์มากจากหนังสือเล่มนี้คือ Appendixes นั่นเองเพราะมีการยกตัวอย่างให้เห็นชัด คือ

  • Appendix A เป็นตัวเกณฑ์ The Pacific Sustainability Index Scoring Sheet มีอยู่ 140 คำถาม
  • Appendix B เป็นตัวอย่างจาก 40 บริษัทใหญ่ ๆ ระดับโลกที่รายงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน
  • Appendix C เป็นรายชื่อหนังสือการรายงานของทั้ง 40 บริษัท ที่หนังสือเล่มนี้ใช้ในการวิเคราะห์
  • Appendix D เป็นรายการชื่อตัวชี้วัดที่บริษัทเหล่านี้ใช้ โดยแบ่งเป็นหมวดหมู่ทุกแง่มุม ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และด้านการเงิน รวมถึงความปลอดภัย ชีวอนามัย การกำจัดของเสีย การบำบัดและฟื้นฟูแหล่งน้ำ การนำกลับมาใช้ใหม่ การทำตามกฎหมาย ฯลฯ
  • Appendix E ว่าด้วยเป้าประสงค์และการตั้งเป้าหมาย (ระบุตัวเลข และวันเวลาที่ต้องการบรรลุ) แยกเป็นแต่ละหัวข้อ และ
  • Appendix F ที่เป็นหัวข้อสุดท้าย เป็นการจำแนกรายชื่อบริษัทต่าง ๆ ที่นำมาวิเคราะห์ ตามประเภทของอุตสาหกรรม

เล่มที่ 2 คือหนังสือ Cleaner Production for Green Productivity: Asian Perspectives รวบรวมโดย Kunitoshi Sakurai พิมพ์โดย Asian Productivity Organization, Tokyo, 1995 ที่มีรายงานจากประเทศในเอเชีย 10 ประเทศ คือ สาธารณรัฐจีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี มองโกเลีย เนปาล สิงคโปร์ และ ประเทศไทย

ได้ทำการศึกษารวบรวมในเรื่องผลิตภัณฑ์และสิ่งแวดล้อมเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้ ประเทศในเอเซียจะเป็นจุดศูนย์กลางการเจริญเติบโตของโลกต่อไป ธุรกิจประเภท SME ก่อเกิดการสร้างงานและทำให้เขตเมืองมีการเจริญเติบโต การแก้ปัญหามลพิษมักแก้ที่ปลายเหตุ (End-of-Pipe (EOP) technology) การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมควรใช้ ผลิตภัณฑ์ที่สะอาดกว่า (Cleaner Production: CP) คำว่าสะอาดกว่าเป็นคำเปรียบเทียบ สะอาดในปัจจุบันอาจไม่สะอาดในอนาคตก็ได้ จากการศึกษานี้พอสรุปได้ว่า อุตสาหกรรม SME ก่อเกิดมลภาวะและอยู่นอกกฎเกณฑ์ ดังนั้นควรมีกฎหมายหรือมาตรฐานออกมาควบคุม โดยมีข้อเสนอแนะดังนี้ คือ

1.มาตรการที่ไม่ยุ่งยากและราคาถูก เช่นการดูแลความสะอาด ควรนำมาใช้ก่อน

2.การออกแบบกระบวนการที่สะอาดควรนำมาใช้ก่อนการสร้างโรงงานใหม่ หรือนำมาใช้ถ้ามีการปรับปรุงกระบวนการเดิม

3.ควรจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ

4.การใช้น้ำและพลังงานควรจัดเก็บในอัตราก้าวหน้า

5.ระดับประเทศและระดับนานาชาติควรมีระบบคนไหนทำคนนั้นจ่าย (Polluter pays principle: PPP)

6.ส่งเสริมการตลาดของสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

7.Gross Domestic Product (GDP) ให้ระบุการสร้างงาน และการสร้างมลภาวะด้วย

8.มีผู้จัดการและการบริหารจัดการมลภาวะที่ขึ้นกับของขนาดของโรงงาน

9.มีแหล่งช่วยเหลือจากภายนอกเพื่อส่งเสริมเทคโนโลยีที่สะอาด

10.แนวคิดเรื่องความสะอาดควรเป็นทิศทางการพัฒนาของอุตสาหกรรม

11.การศึกษาเล่าเรียนด้านวิศวกรรมในมหาวิทยาลัยควรบรรจุในเรื่องการอนามัยและรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย

เล่มสุดท้ายคือ หนังสือ Green Productivity and Green Supply Chain Manual โดย Asian Productivity Organization (APO), Tokyo, 2008 กล่าวว่า APO ได้ส่งเสริม ผลิตภัณฑ์สีเขียว Green Productivity (GP) ในย่านเอเชียแปซิฟิคตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 โดยมีการจัดโครงการ การประชุมใหญ่ การประชุมเชิงปฏิบัติการการสัมมนา ระดับนานาชาติ เรื่อยมา จนเป็นที่ยอมรับกันในปัจจุบันว่า GP เป็นการวางแผนแบบองค์รวมที่เพิ่มผลิตภัณฑ์เพื่อการแข่งขันโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วย

มีเครื่องมือหลายประเภทที่ใช้ เช่น การป้องกันมลภาวะ การจัดการสิ่งแวดล้อม การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน ส่วนห่วงโซ่อุปทานสีเขียว Greening Supply Chains (GSC) หมายถึง การที่ผู้ส่งมอบวัตถุดิบต้องผ่านเกณฑ์การรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย เพื่อเป็นการลดต้นทุน และเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้าหรือบริการ

การที่องค์กรมีความยั่งยืน (Sustainability) ได้รับประโยชน์ที่เห็นได้ชัดทั้ง 3 มุมมองคือ

1.ด้านการเงิน คือ มีรายได้เพิ่มขึ้น ลดต้นทุนใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินมากขึ้น และ การบริการลูกค้าดีขึ้น

2.ด้านสิ่งแวดล้อม คือ ลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล ลดการใช้ทรัพยากร เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และลดความสูญเปล่า

3.ด้านสังคม คือ ลดผลกระทบต่อชุมชน เช่น เสียงดัง การจราจรติดขัด สุขภาพและความปลอดภัย เป็นต้น

ทุกธุรกิจต้องพึ่งพาลูกค้าและผู้ส่งมอบเพื่อการอยู่รอด ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย บริษัทหลายแห่งถูกผลักดันจากสื่อมวลชน เอ็นจีโอ และลูกค้า ทำให้ต้องคำนึงถึงห่วงโซ่อุปทานสีเขียว (GSC) เพื่อ 1.) พัฒนาผลการดำเนินการขององค์กร 2.) เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้า/บริการจากผู้ส่งมอบมีความยั่งยืน 3.) ทำงานร่วมกับผู้ส่งมอบเพื่อประสิทธิภาพและเพื่อการแข่งขัน 4.) ทำงานร่วมกับลูกค้าและช่องทางการขายเพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์/บริการที่ยั่งยืน

ตารางที่ 1 ขั้นตอนการทำผลิตภัณฑ์สีเขียว (GP) มี 6 ขั้นตอน

ขั้นตอน ภารกิจ
1. Getting Started •GP Team formation
•Walk-through survey and information collection
2. Planning •Identification of problems and causes
•Setting objectives and targets
3. Generation, Evaluation and Prioritization of GP Options •Generation of GP options•Screening, Evaluation and Prioritization of GP options
4. Implementation of GP Options •Formulation of GP implementation plan
•Implementation of selected options
•Training, awareness building and developing competence
5. Monitoring and Review •Monitoring and Evaluation of results
•Management review
6. Sustaining GP •Incorporate changes into the organization's system of management
•Identify new/additional problem areas for continual improvement

ตารางที่ 2 กฎเกณฑ์และมาตรฐานที่เกี่ยวข้องในการผลิตสินค้าหรือบริการ

มาตรฐาน รายละเอียด
CERES The Coalition for Environmentally Responsible Economies(www.ceres.org)
EuP Energy-using products(www.ec.europa.eu/enterprise/eco_design/index_en.ht...
GRI The Global Reporting Initiative(www.globalreporting.org)
ISO14001 EMS International Organization for Standardization (ISO) 14001 Environmental Management System (EMS) Standards(www.iso.ch)
REACH The Registration, Evaluation, Authorization and Restriction of Chemicals(http://ec.europa.eu/environment/chemicals/reach/re...
RoHS The Restriction of Hazardous Substances Directive(www.rohs.gov.uk)
WEEE The EC Directive on Waste Electrical and Electronic Equipment(www.weeenetwork.com)

สรุป คำว่า ยั่งยืน (Sustainability) หมายถึงกิจกรรมที่ทำได้อย่างต่อเนื่องไม่รู้จบ มีวัตถุประสงค์คือความมีชีวิตอยู่ ที่ไม่มุ่งในการหากำไรถ่ายเดียว โดยมีจุดเน้นคือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม มีทีมรับผิดชอบในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทั้งหมดของระบบงาน ที่มุ่งเน้นลูกค้ารวมถึงผู้ส่งมอบ เป็นการเรียนรู้ในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อประโยชน์สูงสุด ด้วยวิธีการที่ประหยัดที่สุดเพื่ออนุชนรุ่นต่อไปประโยชน์ที่ได้จากการอนุรักษ์ธรรมชาติแบบยั่งยืน (Green) คือ ลดต้นทุน เพิ่มความจงรักภักดีของลูกค้า เพิ่มความผูกพันของบุคลากร มีความสามารถในการเติบโต มีการพัฒนาและเกิดนวัตกรรมของเทคโนโลยี และเพิ่มคุณค่าให้กับผู้ถือหุ้น ข้อคิดสุดท้ายคือผลประกอบการที่ขาดทุนทำให้องค์กรไม่ยั่งยืน การไม่มีระบบธรรมาภิบาล และการไม่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ก็ส่งผลให้องค์กรไม่ยั่งยืนเช่นเดียวกัน

*********************************************

หมายเลขบันทึก: 579254เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2014 14:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2014 14:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ชอบใจมากเลยครับ

อยากเห็นการอนุรักษ์ธรรมชาติในแนวปฏิบัติมากกว่าทฤษฏีอย่างเดียวครับ

เอามาฝากครับ

https://www.gotoknow.org/posts/560530

https://www.gotoknow.org/posts/564952

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท