SWOT วิชา อ 20205 ภาษาอังกฤษสำหรับวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์


ขอแยกเป็น S-W กับ O-T นะครับ

S – Strengths& W - Weaknesses

ส่วนตรงนี้ขอกล่าวถึงในเรื่องครูและนักเรียน

ตัวเองจะบอกนักเรียนระยะหลัง ๆ นี้ว่า “ครูไม่ห่วงเรื่องคำศัพท์ภาษาอังกฤษของพวกเธอเลย เพราะพวกเธอมีเยอะมาก เพียงแต่ยังไม่ถูกนำมาเรียบเรียงก็เท่านั้นเอง” สิ่งที่ยืนยันได้คือ นักเรียนหลาย ๆ คนสามารถทำข้อสอบระดับชาติได้คะแนนเกินครึ่งหลายคน ประกอบกับข้อสอบอัตนัยที่ให้เขียนเหตุผลประกอบคำตอบ มีนักเรียนอยู่น้อยคนที่เขียนได้ในระดับดี ส่วนใหญ่ก็พอเขียนได้ แต่มีเพียงนักเรียนบางส่วนที่ไม่ใส่ใจเท่านั้นที่เขียนไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ตัวเองคิดว่าอยู่ที่การ “เปิดใจเรียนรู้”

สืบเนื่องจากเหตุผลข้างต้น ศักยภาพในการเรียนของนักเรียนมีเยอะมาก มาโรงเรียนไม่เคยขาด เข้าเรียนทุกชั่วโมง จะมีก็แต่เพียงส่วนน้อยที่โดดเรียน (ประมาณ 2 คน จาก 71 คน) แต่ในส่วนที่ไม่ได้ดึงศักยภาพตรงนั้นมาใช้คือ จำนวนชั่วโมงเรียนที่มาจนไม่มีเวลาขยับตัวไปค้นคว้าด้วยตนเอง ซึ่งสำคัญมากกับการเรียนในปัจจุบันที่จะช่วยให้นักเรียนเกิด mastery learning แต่ก็ขาดหายไป

ตัวครูเอง (คิดว่า) มีความพร้อมและความตั้งใจมากที่จะนำการเรียนรู้แบบ PBL เข้ามา และIPA ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนสามารถหัดอ่านคำศัพท์ที่นักเรียนไม่คุ้นเคย หรือในระดับประโยคได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องพึ่งครูอีกต่อไป อันที่จริงแล้ว บ้านเราควรจะปลูกฝังการเรียนเรื่อง IPA นี้ให้นักเรียนระดับอนุบาลกันเลยทีเดียว จะได้ไม่มีปัญหาการอ่านคำในระดับสูงขึ้นไป(เป็นประโยชน์ต่อ presentation ให้ไพเราะน่าฟังมาก ๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ speaking skill)

ด้วยความที่รายวิชาดังกล่าวเป็นวิชาที่ใหม่มาก อาจจะเคว้งคว้างและยังหาที่ลงไม่เจอ นักเรียนก็ชินกับการเรียนแบบเรียนแล้ว test เลยไม่อยากจะทำอย่างอื่น และพาลคิดไปว่าครูให้คะแนนยากและเรื่องมาก แต่ทุกสิ่งทุกอย่างก็ล้วนแล้วแต่เพื่อสร้างทักษะการเรียนให้นักเรียน

อีกอย่าง สิ่งที่เรื้อรังมานานคือ นิสัยความเห็นแก่ตัว ที่เกิดจากการเรียนของบ้านเรา ที่เน้นงานเดี่ยว การทดสอบเดี่ยว ทำอะไรเพื่อตนเอง เพื่อคนคนเดียวมากจนเกินไป ครูผู้สอนเองเกิดความรู้สึกกลัวว่าในอนาคตนักเรียนจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่แบบไหน ทำงานอะไร ทำงานอย่างไร เห็นได้ชัดว่า นักเรียนที่สอบได้คะแนนสูง ๆ จะมีความเห็นแก่ตัวสูงอยู่พอสมควร แต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นเช่นนั้นเสมอไป แต่ถ้านักเรียนแต่ละคน “เปิดใจ” หรือพูดให้เข้าใจง่ายว่า “มีน้ำใจ” ทุกสิ่งทุกอย่างจะราบรื่น การเรียนจะเป็นเรื่องที่สนุกสนาน ทุกคนจะช่วยเหลือกัน การเรียนรู้จะมีประสิทธิภาพมาก ยิ่งตัวครูให้นักเรียนทำ project ยิ่งเห็นได้ชัดเลยว่า กลุ่มที่ช่วยเหลือกันและเรียนดีกันทั้งกลุ่ม (หญิงล้วน) ก็ไม่ใช่ว่างานจะล่ม กลับช่วยเหลือกันให้งานเสร็จลุล่วงไปด้วยดีและทำสำเร็จเป็นกลุ่มแรก แต่บางกลุ่มที่เรียนไม่เก่งแต่มีความขยันก็พอจะสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี (ค่อย ๆ ช่วยกัน) แต่หากเกิดความเห็นแก่ตัวไม่ช่วยเหลือแล้ว งานก็จะขาดตกบกพร่องไปมาก ยิ่งกลุ่มใดที่ไม่คิดหาทางจะให้ความเห็นลงรอยเลยบวกกับความเกียจคร้านเข้าไปแล้ว ก็ไม่เกิดเป็นผลงาน (แม้แต่จุดเริ่มต้น) ได้เลย (เช่น กลุ่มชาย-หญิงกลุ่มหนึ่ง ที่นักเรียนหญิงเป็นที่กล่าวขานกันว่าเรียนภาษาอังกฤษเก่งมาก แต่พอทำงานนี้เธอไม่ให้ความร่วมมือกันเพื่อน ทั้งยังชอบชักสีหน้าไม่พอใจใส่ครูและเพื่อนอย่างเห็นได้ชัด แบบนี้ครูก็ไม่อาจจะเลี้ยงไว้ คนเห็นแก่ตัวไม่ควรจะเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม) ยกตัวอย่างนักเรียนชายอีกคนที่ชอบคุยเสียงดัง ก่อกวน เหมือนจะมี hyper อยู่ไม่น้อย (และทราบว่าเป็นอย่างนั้นจริง ๆ) กำราบได้แป๊บเดียวก็กลับมาเล่นแบบเดิมอีก ก็ไม่อยากจะช่วยเพื่อนทำงาน มาทำงานพอให้ได้ว่ามา และยังพบคนที่เรียนเก่งในรูปแบบนี้อีกมาก ซึ่งควรจะจัดเป็นนโยบายหลักในการปลูกฝังคุณธรรมอย่างเร่งด่วน

สรุป ทั้งครูและนักเรียนต่างมีข้อดีข้อเสียต่างกันไป จากปัจจัยหลาย ๆ อย่าง อย่างไรก็ตาม กระบวนการเรียนรู้ควรจะมีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ตัวเองในฐานะเจ้าของรายวิชาสัญญาว่าจะพัฒนาให้การจัดการเรียนรู้ของตนเองดียิ่ง ๆ ขึ้นไป

O – Opportunities & T – Threats

ประเด็นนี้ขอว่าด้วยเรื่องปัจจัยที่ช่วยให้เกิดและไม่เกิดการเรียนรู้ ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างบอกได้ตรง ๆ เลยว่ามีทั้งข้อดีข้อเสีย (pros & cons) ครั้นครูบอกว่าเป็นข้อดี มันก็สามารถเป็นข้อเสียไปเสียได้ครั้นสิ่งใดเป็นข้อเสียนักเรียนก็กลับกลายให้มันเป็นข้อดีของตัวเอง (อย่าว่าข้อดีเลย พูดว่าข้ออ้างน่าจะใกล้เคียงกว่า) การที่จะทำข้อเสียให้เป็นข้อดีไปได้ง่าย (ไม่รู้เป็นไปได้อย่างไร) นั่นก็คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้ชินไปกับสิ่งนั้น แล้วมันก็จะรู้สึกไปเสียเองว่า “มันเป็นข้อดีนะ” ยกตัวอย่างง่าย ๆ “สอนหนังสือ” หมายถึง (ในความคิดของนักเรียนกลุ่มนี้และรวมไปถึงครูผู้สอน ผู้บริหารบางส่วน) คือ “ครูต้องสอน” จากบรรยากาศการสอนแล้วนั้น ดูภาพรวมแล้วน่าตกใจได้ว่า ครูพูดจนปากเปียกปากแฉะอยู่หน้าห้อง ครูบางคนอาจจะไม่ปากแฉะแต่อาจจะคอแตกได้ หากครูไม่ทำเช่นนั้นแล้ว นักเรียนอาจรายงานขึ้นไปได้ว่า “ครูไม่สอน” แต่สำหรับตัวเองแล้ว ขอมุ่งมั่นไปกับการจัดการเรียนรู้ให้เกิดพฤติกรรมที่ว่า “สอนแบบไม่สอน” จะดีกว่า

ทรัพยากรการเรียนรู้ สำหรับที่โรงเรียนแล้วมีเยอะมาก เช่น ห้องสมุด ศูนย์ ERIC ชุด computer ที่พ่วง visualizer ต่อ projector เชื่อมเข้ากับ internet จนบางครั้งมอง ๆ ดูแล้ว เหมือนถมเทคโนโลยีเข้าไปจนขาด movement เนื่องจากครูจะเน้นบรรยายพร้อมนั่งอยู่กับเครื่อง โดยความเห็นส่วนตัวจะใช้เครื่องทุ่นแรงเหล่านี้ในกรณีอธิบายงานเท่านั้น และจะเน้นให้นักเรียน move และส่งเสียงเพื่อปรึกษาหารือมากกว่า แม้จะดูน่ารำคาญไปหน่อย แต่ตัวเองเห็นพฤติกรรมที่แสดงถึงการคิดของนักเรียนได้อย่างชัดเจนมาก ดีกว่าอธิบายปาว ๆ แล้วพาทำแบบฝึกหัดไปพร้อมครู ซึ่งแบบหลังนี้ง่ายกว่ามาก

วิชาเรียนสำหรับนักเรียนห้องโปรแกรมเหล่านี้มากมาย+พิเศษไปกว่าห้องเรียนปกติมาก (บางทีมากจนผิดปกติ) คล้าย ๆ กับว่าเรียนไม่มีเวลาพักเนื่องจากครูก็จะ lecture ไปเรื่อย ๆ ตัวเองเคยสอบถามนักเรียนเกี่ยวกับจำนวนวิชาเรียนนี้ว่าเป็นอย่างไร นักเรียนตอบว่า “ผมก็ว่าอย่างนั้นแหละ เรียนอะไรก็ไม่รู้ เยอะแยะมากเลย ถ้าผมไม่เรียนพิเศษนะ ผมตามไม่ทันแน่นอน” เพราะฉะนั้นอย่างน้อยนี่ก็เป็นข้อพิสูจน์หนึ่งแล้วว่า โปรแกรมพิเศษยังต้องพัฒนาอีกมาก บางทีผู้บริหาร คนกำหนดหลักสูตรไม่รู้ว่าผู้เรียนเป็นอย่างไร หรือบางที (อันนี้ความเห็นส่วนตัว) โปรแกรมพิเศษเหล่านี้ออกแบบไว้และใช้ได้ผลจริง ๆ กับนักเรียนในโรงเรียนต้นแบบ พอมาถึงโรงเรียนลูกข่าย ด้วยความที่ “อยากให้ได้ อยากให้มี” ก็เลยสั่งการให้โรงเรียนเปิดโปรแกรมเหล่านี้ขึ้นมา โดยใช้หลักสูตรตามแม่ข่ายเลย ถ้าพูดตรง ๆ แล้ว อยากจะถามว่า “เปิดขึ้นมาแล้ว เคยประเมินผลสัมฤทธิ์บ้างรึเปล่าว่าได้อะไรบ้าง” คนที่จะตอบได้คือ ผู้ปกครองที่คาดหวังกับโปรแกรมเหล่านี้ และตัวนักเรียน (บางส่วนที่ไม่หวังแค่เกรด) มีผู้ปกครองคนหนึ่งกรุณาเล่าให้ฟังว่า (เอาคำพูดของผู้ปกครองอีกคนมาพูดต่อ) “ครูรู้ไหมคะว่าทำไมแม่ (ชื่อนักเรียนคนหนึ่ง) ถึงย้ายลูกจากห้องโปรแกรมมาห้องธรรมดา” ตัวเองเลยพลันตอบไปว่า “อ๋อ ก็ทำอะไรไม่เป็นค่ะ ไม่เห็นต่างอะไรกับห้องปกติ” ผู้ปกครองท่านนั้นสวนมาทันทีว่า “ใช่ค่ะ! ใช่เลยค่ะ! พี่ว่าเด็กห้องโปรแกรมนะไม่ได้ต่างอะไรไปจากห้องธรรมดาเลย แค่เรียนมากกว่าแค่นั้นเอง” ไม่มีไรมากกกก...

ตัวครูคนอื่น ๆ เองนี่ก็สำคัญ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ “ความคิด” สิ่งที่น่ากลัวที่สุดอย่างหนึ่งเหนือกว่ามนุษย์คือ “ความคิดของมนุษย์” สิ่งนี้การันตีได้จริงว่า คิดอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ตัวเองรู้ซึ้งถึงสัจธรรมข้อนี้จริง ๆ และนอกจากนั้นนักเรียนคนใดเรียนกับครูคนใด ครูคนนั้นก็จะเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้และอุปนิสัยให้โดยไม่รู้ตัว การที่ครูคิดอย่างไรย่อมส่งผลต่อนักเรียนอย่างแน่นอน ตัวเองได้ประสบกับคำกล่าวที่มันบาดเนื้อเชือดเฉือนหัวใจเหลือเกินว่า การเรียนวิชาพื้นฐานนั้นเอาแค่ basis พอ ไม่ต้องเจาะลึกมาก ต้องมีอะไรที่เหมือนกันหมดทุกห้อง ย้ำ! หมดทุกห้อง ซึ่งมันสวนทางกับหลักการจัดการศึกษาที่ระบุไว้อย่างชัดเจนในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2545) ที่ว่าต้องคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ย้อนกลับมาที่ประเด็นดังกล่าว ตัวเองคิดได้ว่า มันจะไปเหมือนกันได้อย่างไร ในเมื่อห้องแรกเป็นห้องโปรแกรม ห้องสุดท้ายเป็นห้องที่ไม่มีใครอยากจะสอนเพราะนักเรียนไม่เอาไหนเลย การที่จะสอนให้เหมือนกันทั้งสองห้องนั้นผิดถนัด เพราะห้องที่นักเรียนมีพื้นฐานมาดีแล้ว ครูสามารถต่อยอดให้ create งานได้เลย โดยทบทวนความรู้เดิมก่อนก็ได้ แต่ส่วนนักเรียนห้องบ๊วยที่ไม่มีความรู้พื้นฐานเลยยยยยยยยยย... ครูก็ควรที่จะปูพื้นฐานเทลานปูนกันเลยทีเดียว ไม่งั้นก็คงจะเป็นปัญหาเรื้อรั้งต่อไปอีกในระดับมอปลาย นอกจากนั้นแล้ว คำพูดสำหรับรายวิชาเพิ่มเติมที่มันบาดลึกเข้าไปในหัวใจของครูที่ได้สอนวิชานี้ (อ 20205) ซึ่งเป็นวิชาเพิ่มเติมก็คือว่า “วิชาเพิ่มเติมก็ต้องอ่อนลง drop ลง อย่าไปเน้นมาก มันไม่ใช่วิชาพื้นฐาน” ตัวเองได้ฟังในเวลานั้นหัวใจแทบหยุดเต้น เนื่องจากไม่คิดว่าคำพูดเหล่านี้จะออกมาจากครูที่สอนในโรงเรียนชื่อดังพอสมควร (อย่างที่ว่า ครูผู้สอนมีผลต่อนักเรียนโดยตรง ครูคนไหนสอนใครก็ดูเอาเอง) ตรงกันข้าม ตัวเองคิดว่า วิชาเพิ่มเติมก็ควรจะเพิ่มเติมเสริมแต่งในทักษะบางอย่างที่ยังไม่ครบถ้วนในรายวิชาพื้นฐานหรือเพิ่มเติมทักษะเฉพาะอย่างให้แน่นขึ้นต่างหาก ถ้าหากเรายังดำเนินการตามแนวทางที่ครูเขาได้กล่าวไว้นั้นแล้ว แน่นอนว่า...ระบบการศึกษาล่มแน่นอน! นอกจากนั้นแล้ว สิ่งที่บาดเข้าไปลึกกว่าอีกคือ “สอนไม่ได้ดูแผนฯ” แผนฯ ที่มากับหนังสือไม่ใช่ว่าไม่ดี สำหรับตัวเองแล้วคิดว่า “ดี” ถึงขั้น “ดีมาก” แต่เราต้องรู้จักปรับให้เขากับบริบทนักเรียน ไม่มีแผนฯ ใดดีที่สุด แผนฯ ที่ดีที่สุดคือ แผนฯ ที่ใช้แล้วเหมาะสมกับนักเรียนของตัวเองมากที่สุด ยากง่ายไม่สำหรับ สำคัญที่...เหมาะสม

รัชพล มาลาศิลป์

6 ต.ค. 2557

คำสำคัญ (Tags): #English for Mathematics and Science#swot
หมายเลขบันทึก: 578424เขียนเมื่อ 7 ตุลาคม 2014 22:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ตุลาคม 2014 22:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็น SWOT ที่ละเอียดมาก

เยี่ยมจริงๆๆ

ครูต้องเปลี่ยนการสอนให้นักเรียนปฏิบัติครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท