"ดีเพราะชั่ว"


  

                                     สส.ชายญี่ปุ่นขอโทษสส.หญิง

              ช่วงหลังๆ มานี้ รู้สึกว่า สนามแห่งการแสดงความคิดเห็น ทัศนะ กิจกรรม ของสมาชิกโกทูโนว์มีสมาชิกใหม่ๆ มากขึ้น และที่รู้สึกว่า เนื้อหาในบทบันทึกของสมาชิกใหม่ๆ ขาดรากฐานความคิดสร้างสรรค์ สาระ ข้อคิดใหม่ๆ ที่ลุ่มลึก เหมือนไม่ได้เน้นสื่อถึงสมาชิกคนอื่นด้านปัญญาที่คมคายนัก จึงรู้สึกว่า การสื่อสารขาดรากเหง้าความคิด ขาดมุมมองที่เสนอแง่คิดไป กลับเน้นไปที่งานกิจกรรม หรืออัตกรรมส่วนตัว เหมือนที่สังคมไอจีและเฟสบุ๊กเล่นกัน บางเรื่อง บางเนื้อหาก็ไม่ชวนให้น่าอ่าน บางคนก็เน้นเสนอแต่ตนเองไป

                การใช้สื่อของคนสมัยใหม่มีเป้าหมายเพียงเพื่อบำบัดความอยากของตนเอง หรือเพียงเพื่อเสนอกิจกรรมที่ตนเองคิดว่า "ใหม่หรือแปลก" เท่านั้นหรือ เมื่อเราสื่อสารมากขึ้นเราก็ไม่ใส่ใจในเนื้อหาเท่าที่ควร จึงสื่อแบบฉาบฉวย อะไรก็ได้ เพื่อให้ตัวเองอยู่หน้าคอมพ์ เท่านั้น โดยเฉพาะเด็กยุคใหม่หรือวัยที่เริ่มทำงาน คิดว่า กิจกรรมเหล่านั้น เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับตน แต่เมื่อเขาเขียนลงสื่อตรงนี้ มันไม่ใช่เป็นเรื่องส่วนตัวเลย

                 ยอมรับว่า เมื่อเปิดหน้าแรกขึ้นมา มีแต่เรื่องไม่น่าอ่านเลย อีกการตั้งหัวข้อเรื่องบันทึกก็ไม่รอบคอบ ไม่ชวนให้อ่าน หรือกระตุ้นให้น่าอ่าน จึงรู้สึกไม่อยากคลิกอ่านเลย บางเรื่องพอคลิกเข้าไปไม่มีเนื้อหาใดๆ บางคนก็สื่อเหมือนระบายความรู้สึกอึดอัดหรือปลดปล่อยอารมณ์ออกมา ให้คนอื่นอ่าน เรื่องอย่างนี้ พื้นที่สาธารณะเราไม่ควรสื่อเอาเนื้อหาตัวเองเป็นเกณฑ์หรือบ่อยๆ จนมากเกินไป เพราะพื้นที่อื่นๆ มีเสนอให้อยู่แล้วเช่น ไอจี เอฟบี ไลน์ ฯ

                 เหตุผลที่ผู้เขียนแสดงเช่นนี้คือ อยากให้วัยทำงานหรือวัยสูงอายุแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ที่ลุ่มลึก กว้าง ชัด วิเคราะห์ สังเคราะห์ หรือเสนอหลักการใหม่ๆ ต่อปรากฏการณ์ต่างๆ ในสังคม เพื่อให้เห็นมุมมองใหม่ๆ เห็นจุดอ่อน จุดแข็ง หรือเสนอคำตอบต่อโจทย์ในสังคมปัจจุบันให้แก่สังคมบ้าง มิใช่หวังเอาสนุกหรือระบายอีท่าเดียว

                ทำอย่างไรจะทำให้พื้นที่นี้เป็นแหล่งวิทยาการ เป็นวิทยาทานแก่กันและกัน หรือเป็นกัลยาณมิตรให้แก่กัน หรือไม่ก็เป็นการแสวงหาแนวร่วมในการแก้ปัญหาสังคม เชื่อว่าม.สงขานครินทร์ คงมีเป้าหมายเพื่อประชาชนได้แสดงความคิดเห็น มิใช่แสดงน้ำเน่าให้คนอื่นอ่าน ควรจะเป็นเรื่องที่มีแก่นสาร ข้อคิด ข้อเตือนใจ หรือข้อเสนอแนะให้เกิดมุมมองต่างๆ ได้

                ผู้เขียนยอมรับว่า ช่วงใหม่ๆ เข้ามามีนักคิด นักเขียนที่มีประสบการณ์มากมาย ที่ได้เสนอความคิด วิพากษ์ วิจารณ์สังคมไทย สังคมเทศ โลก หรือเสนอทฤษฎีใหม่ๆ ให้สมาชิกได้อ่าน ได้คิดเสมอ ผู้เขียนเองก็เกิดไอเดียต่างๆ มากมาย เพราะเหล่าสมาชิกที่นี่ครับ เชื่อว่า เวทีนี้คือ เวทีสาธารณะสำหรับฝึกฝนการเขียนบันทึก การฝึกสร้างไอเดีย และได้รับมุมมองต่างๆ จากหลายสาขาอาชีพด้วย

                แม้บทเริ่มตรงนี้จะแย้งกับเจตนาของตนเองก็ตาม แต่ก็เป็นข้อเสนอหนึ่งเท่านั้น ที่อยากเห็นที่นี่ มีนักเขียนที่มีความรอบรู้จริง และใส่ใจในเนื้อหาที่ตนเองนำเสนอ เพราะมันไม่ใช่จะบันทึกในกระดาษแล้วขยำทิ้งลงขยะได้ทันที เมื่อท่านยืนยันการบันทึกแล้ว บทบันทึกนั้นๆ จะไปปรากฏในกูเกิ้ล ที่ผู้คนอีกหลายล้านค้นหาอ่าน ดังนั้น ควรพิจารณาให้รอบด้านก่อนที่จะปล่อยบันทึกส่วนตัวออกไปครับผม ถ้าหากทำให้ท่านไม่สบายใจ กระผมขออภัยด้วยครับ

                                           เมื่อผิดต้องยอมรับผิด(กฎ)


               ได้ค้างประเด็นต่อเนื่องจากบทบันทึกที่แล้ว เรื่อง "รวยเพราะขี้ ดีเพราะชั่ว" วันนี้ขอสรุปคำหลังว่า ดีเพราะชั่ว เป็นอย่างไร เพื่อเสนอข้อคิดเห็นแปลกใหม่ ที่แย้งคำกัน-

               คำว่า "ดี" นั้น เป็นคำที่ไม่ได้สมบูรณ์ในตัวเอง เป็นคำที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมาในสังคม เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาสนา พฤติกรรม และเป็นเรื่องส่วนตัวด้วย คำว่า "ดี" ที่ไม่ได้สมบูรณ์ในตัวเอง ก็เนื่องจากว่า "ดี" เป็นคำคุณศัพท์ "ความดี" เป็นคุณนาม ที่วัดจากคู่ขนานอื่นหรือสิ่งตรงข้าม เพราะในตัวคำว่า "ดี" เป็นคำกลาง ซึ่งจะต้องอาศัยองค์ประกอบหรือผู้แสดงจึงจะเป็นผลหรือคุณของสิ่งนั้นได้ 

                ความดีนี้มากจากการกำหนดเอาพฤติกรรมของมนุษย์โดยเฉพาะเป็นสื่อสะท้อนกรรม (การกระทำ) ว่า บุคคนั้น มีการกระทำที่ตรงหรือสอดคล้องกับหลักอุดมคติของสังคม คือ ศาสนานั้นๆ อย่างไร ถ้าตรงหรือสอดคล้องกับอุดมคติสังคมก็ถือว่า การกระทำนั้นเป็นที่ยอมรับกันได้ในสังคมหมู่มาก จนการกระทำนั้นกลายเป็นบรรทัดฐานของสังคมที่ควรเอาอย่าง ในที่สุดการกระทำก็กลายเป็นบทตั้งของคำว่า "ทำดี" การทำดี จึงกลายเป็นคุณค่า เป็นคุณสมบัติของบุคลลนั้นไป เรียกว่า "คนดี"

               ทีนี้การกระทำของมนุษย์มิได้มีแต่เฉพาะผลดีเท่านั้น มันยังมีผลอีก ๒ อย่างคือ ไม่ดี = ชั่ว และเป็นกลาง คือ ไม่ดี ไม่ชั่ว เป็นเพียงกิริยาการเท่านั้น ดังนั้น การกระทำของมนุษย์มีผล ๓ อย่าง มนุษย์ปุถุชน มีผล ๒ อย่างคือ ดีและชั่ว ส่วนมนุษยาริยชน มีผลอย่างเดียวคือ กลางๆ (ไม่มีทั้งสองอย่าง) ในความหมายที่สัมพันธ์กันสองคำนี้ (ดีชั่ว) เป็นปัจจัยต่อกัน กล่าวคือ ความดี เป็นผลของข้างหนึ่ง ความชั่วเป็นผลมาจากข้างหนึ่งเช่นกัน เหมือนกับคำว่า สุขและทุกข์

                                                                 

               ถ้าคนหนึ่งถูกมองว่า "ทำดี" แสดงว่าต้องมีอีกคนหนึ่งทำไม่ดี ซึ่งจะเป็นเครื่องชี้วัดคู่ขนานกัน ฉะนั้น ที่เราบอกว่า มีคนดี เพราะมีคนไม่ดีอยู่เป็นเครื่องวัดด้วย เปรียบเหมือนเราสมมติว่า โลกนี้ไม่มีสีเลย แสดงว่า โลกนี้ไม่มีสีใดๆ เลย ถ้าโลกมีสีเขียว นั่นแสดงว่า โลกอย่างน้อยต้องมีสีเหลือง เพราะสีเขียวอยู่ตรงข้ามสีเหลือง ฉะนั้น โลกมีสีเขียว เพราะมีสีเหลืองเป็นคู่ขนานนั่นเอง 

                เช่นเดียวกับความดี ความชั่ว ที่มีความดี เพราะมีความชั่วเทียบเคียง ที่มีความชั่ว ก็เพราะมีความดีเทียบเคียงเช่นกัน จะมีอันใดเพียงอันเดียวไม่ได้ ส่วนที่ไม่มีทั้งสองเทียบเคียงคือ "สูญภาวะ" ที่เป็นกลาง ซึ่งถ้าหมายเอาในโลก เราไม่สามารถหาได้เลย เพราะโลกเต็มไปด้วยสี แสง วัตถุ ชีวิตฯ ในความหมายนี้ พระพุทธศาสนากล่าวยืนยันที่ "อกิริยา" ที่เน้นเรื่องกรรม คือ การกระทำที่ไม่มีผลสองขั้วของพระอรหันต์เท่านั้น แต่นั่นเป็นเรื่องที่หาหลักฐานเชิงประจักษ์ไม่ได้ในเชิงวิทยาศาสตร์ 

                                                 ครูผิดหรือนักเรียนผิด?


              ในพระพุทธศาสนาสอนเรื่องการทำกรรมไว้ที่สุดสายคือ "อภิกรรม" หมายถึง การกระทำที่ยิ่งให้เห็นจริงสูงสุด คือ พระนิพพาน (ตามอุดมคติ) ทางนี้เป็นทางของบุคคลที่เรียกว่า "อริยบุคคล" เพราะบุคคลเหล่านี้ มีเป้าหมายกรรมคือ หลุดพ้นจากทวิกรรมคือ กรรมดี กรรมชั่ว ไม่มีคุณสมบัติดี หรือชั่วเป็นรากเหง้าอีกต่อไป มีแต่สถานะสูญภาวะเท่านั้น อย่างนี้เรียกว่า เหนือดี เหนือชั่ว หรือกล่าวอีกอย่างว่า ไม่มีดี ไม่มีชั่ว แล้วท่านเสวยอะไร? คำตอบคือ "ว่าง" 

               ทีนี่ถ้ากล่าวถึงโลกียวิถีในมนุษย์ คำว่า "ดี ชั่ว" เราไม่อาจเลี่ยงได้ เมื่อเราทำอะไรไว้ ย่อมมีผลสองอย่างที่กล่าวนั้นเสมอ เมื่อตัดสินเจตนาลงไปแล้ว ผลมิอาจว่างเปล่าหรือเป็นกลางได้เลย มองในแง่อีกชั้นหนึ่ง เรื่อง กรรมดี กรรมชั่ว ก็เป็นการบ่มเพาะ เรียนรู้ ศึกษา พัฒนาตัวเองให้ออกว่า การทำผิดย่อมถูกมองว่า "ชั่ว" การทำถูกย่อมได้รับการยอมรับว่า "ดี" ในโลกมนุษย์จึงมีผลสองทางนี้หล่อหลอมอยู่ตลอดเวลา จนกลายเป็นค่านิยม เป็นหลักจริยศาสตร์ด้านพฤติกรรมในสังคมไป

              มองให้ละเอียดลงไปถึงปัจเจกบุคคล ที่แสดงกรรมอยู่ตลอดนั้น มนุษย์มิได้ใยดีเฉพาะเรื่องดีเท่านั้น ยังทำตามอารมณ์ ความคิดของตน ตามกิเลส ตัณหา ราคะ และแรงกระตุ้นด้านสัญชาตญาณเสมอ เมื่อขาดการเรียนรู้ และขาดความเคารพด้านหลักการจากสังคม ค่านิยม (ตามที่คสช.ประกาศด้วย) ศีลธรรม จริยธรรมจากศาสนา ระเบียบ วินัย กฎกติกาอื่นๆ ย่อมมองเห็นแต่อำนาจจิตใจ อารมณ์ของตนเป็นใหญ่เหนือค่านิยมหรืออุดมคติไป ด้วยเหตุนี้ จึงอาจเอนโอนไปสู่การทำผิด ทำชั่วได้

               ฉะนั้น ผู้คนที่ห่างศาสนาหรือห่างการอบรมบ่มเพาะจิตใจ ย่อมมีความกระด้าง กระเดื่องต่อระเบียบวินัย ศีลธรรมอยู่ในใจ จึงไม่ค่อยเชื่อมั่นด้านค่านิยมหรืออุดมคติของศาสนาและสังคม จนกลายเป็นเหตุให้เชื่อมั่นในกรรมของส่วนตัว คือ เชื่อมั่นในการตัดสิน การกระทำ เหตุผล อำนาจ เงินทอง ความสามารถทางกำลังกาย ฯ ของตนอย่างอิสระ จนอาจเป็นเหตุให้ลื่นไหลไปสู่การหลงตน หลงทางกรรมดี กรรมชั่วได้ จนไม่อาจแยกแยะได้ว่า ศีลธรรม จริยธรรม ความดี ความชั่ว อยู่ไหน เมื่อขาดจิตสำนึกส่วนนี้จะเป็นอย่างไร

              นั่นก็เป็นสามัญลักษณ์ทั่วไปของคนยุคใหม่ที่ห่างไกลศาสนา ที่เชื่อมั่นตัวเองเกินร้อย จึงไม่อยากอิงฐานศาสนาที่สอนว่า อะไรดี อะไรชั่ว เลยต้องลงทุนชิมลางเอาเอง พิสูจน์เอาเอง ทดสอบเอง ลักษณะดังกล่าวนี้กำลังเพิ่มดีกรีขึ้น เช่น คนทำชั่ว เพื่อยั่วความดี คนทำผิด เพื่อพิชิตจิตใจตน คนทำผิด เพื่อให้รู้ตระหนักในเรื่อง ความดี และความชั่ว 

              ถ้าเราติดคุกบ้าง เราอาจตระหนักได้ว่า ทุกข์ในคุกเป็นอย่างไร ต่อไปจะได้ไม่ทำผิดอีก หรือสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เที่ยวผู้หญิง จนเสียสุขภาพ เงินทอง แล้วเห็นค่าด้านไม่ดีของมันและของใจตน จึงตระหนักรู้ในความผิดหรือความดีได้ 

              กรณีดังกล่าวพบได้ทั่วไป เช่น ในครอบครัว ถ้าลูกทำผิด พ่อแม่มักจะดุด่า ว่ากล่าว อบรม เพื่อให้ลูกตระหนักในกรรมนั้นว่าไม่ดี ไม่ควร ในโรงเรียนเมื่อนักเรียนทำผิด ครูจะลงโทษ เพื่อให้เด็กไม่กล้าทำผิดอีก ในหน่วยราชการ เมื่อใครทำผิดมักจะถูกลงโทษหรือเตือน 

              เพื่อให้ตระหนักรู้ว่า ที่ทำนั้นผิดหรือไม่ดี ไม่เหมาะ ในวิถีชีวิตของเราแต่ละคนก็เช่นกัน เราจะรู้มากขึ้น ตระหนักใส่ใจมากขึ้น เมื่อเราทำอะไรผิด หรือทำอะไรไม่ดีมาก่อน โดยเฉพาะในยุคโชเชียลมีเดีย มีอะไรก็โพสต์ด่า ประจาน แก้แค้น ระบายใส่สื่อ แล้วเผยแพร่ออกมา ทำให้เกิดผลไม่ดีต่อเราและคนอื่นได้ จนต้องมาขอโทษ แก้ข่าว แก้ต่างตนเองอีกรอบ และสัญญาว่า จะไม่ทำอีก

                         นายกฯญี่ปุ่นแสดงความขอโทษ


            การทำผิดเพื่อให้ถูก หรือการทำชั่ว เพื่อให้ตัวเองได้รับความตระหนักรู้จากคนอื่น หรือสังคมมากขึ้น เหมาะสำหรับคนที่มีรากเหง้าเสาธรรมศีลธรรม เป็นพื้นเพอยู่แล้ว แต่ไม่เหมาะสำหรับคนที่เชื่อมั่นในตัวเองสูง และขาดหลักศีลธรรม มีจิตหยาบกร้านอยู่แล้ว ยิ่งจะสร้างมาตรฐานให้คนนั้นได้ใจ ที่จะทำผิดให้หนักขึ้นอีก เช่น คนที่ทำผิดซ้ำซาก ติดคุกออกมาแล้วทำผิดอีก จนไม่กลัวคุก ไม่กลัวความผิดของตน การติดคุก การฆ่าคน การทำผิดต่างๆ นั้น กลับกลายเป็นการส่งเสริมให้ได้ปริญญาชญากรรม ที่ติดตัวไปจนกว่าจะถูกวิสามัญ 

             การทำผิดดังกล่าว มิใช่กรณีในเรื่องนี้ แต่เป็นการทำชั่ว เพื่อให้ชั่วหนักแน่น เข้มข้นขึ้นอีก ฉะนั้น การทำชั่วเล็กๆ น้อยๆ หรือไม่ได้ตั้งใจเต็มร้อย ย่อมเป็นการฝึกฝนให้ตนรู้ด้านไม่ดีของตน หรือด้านที่สังคมไม่ต้องการ แล้วก็ตั้งใจทำแต่ความดีฝ่ายเดียว ในชั่วชีวิตเรา เราไม่อาจเลี่ยงความชั่วได้ ก็จงเรียนรู้ความชั่วเหล่านั้นเสีย แล้วปล่อยวาง อย่าให้มันฝังจิต เป็นนิมิตหลอกหลอนเราอีก

                                         อันความดี มีฐาน ด้านฝึกหัด

                                     จิตสะอาด ปราศมลทิน อินทรีย์ใส

                                     ความชั่วช้า ราวี จี้จิตใจ

                                     ดี-ชั่วไซร้ ให้ตระหนัก ประจักษ์เอย

-------------------------(๒๙/๙/๕๗)--------------------------

คำสำคัญ (Tags): #ดีเพราะชั่ว
หมายเลขบันทึก: 577633เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2014 23:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กันยายน 2014 23:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นด้วยค่ะ   เวทีนี้ควรเป็นการนำสิ่งดีๆ  เรื่องที่อ่านมาแล้ว  นำมาตกผลึก  นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  เป็นความรู้ใหม่ๆๆ  หรือความรู้เก่าแต่คนมาอ่าน  ได้รับความรู้ใหม่ที่ตนไม่เคยรู้มาก่อน นะคะ   เพราะG2K  คือ  การนำข้อมูล  มาแลกเปลี่ยนกัน นะคะ  ควรมี คุณค่า มีคุณภาพ  มากว่าเชิงปริมาณ หรือเขียนเพื่อจำนวนมากๆๆ  นะคะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท