10 ความจริง เรื่องวิตามินและอาหารเสริมในประเทศไทยที่ท่านอาจไม่รู้


10 ความจริง เรื่องวิตามินและอาหารเสริมในประเทศไทยที่ท่านอาจไม่รู้

1. อาหารเสริมส่วนใหญ่มีประโยชน์และได้ผลจริง บางตัวมีงานวิจัยรองรับมากมาย แต่ผลอาจจะช้าหน่อย ไม่ได้รวดเร็วทันใจเหมือนยา แต่ผลข้างเคียงก็แทบไม่พบเหมือนที่พบในยาเช่นกัน

2. อาหารเสริมบางตัวที่ผลิตในไทยมีการแอบใส่ส่วนผสมของยาลงไป โดยเฉพาะกลุ่มลดน้ำหนัก และปึ๋งปั๋งสำหรับผู้ชาย สังเกตง่ายๆ ว่าอาหารเสริมจริงๆ จะไม่สามารถทำให้ถ่ายแบบมีน้ำมันลอยออกมาด้วยได้ ไม่สามารถทำให้ใจสั่นไม่อยากอาหารใน 2-3 เม็ดแรกที่ทาน ไม่ทำให้น้ำหนักลดฮวบฮาบหลายกิโลใน 1 สัปดาห์ได้ถ้าไม่ออกกำลังกายและคุมอาหาร และไม่ทำให้คุณผู้ชายฟิตปั๋งใน 1-2 เม็ดที่ทานเข้าไปได้อย่างแน่นอน

3. อาหารเสริมที่กินแล้วได้ผลเร็วจนเกิดการบอกต่อ หรือเกิด viral แรงๆ เร็วๆ ได้ว่าเห็นผลจริง ลดเร็ว ขาวแรง ให้สงสัยและหาข้อมูลกับสินค้าตัวนั้นมากๆ

4. เวลาเราเห็นอาหารเสริมตัวไหนขายดี อยากผลิตสูตรเดียวกัน บางทีท่านอาจสงสัยว่าผลิตแล้วทำไมเอามากินหรือใช้แล้วไม่ได้ผลเหมือนกัน ตอบว่าบางโรงงานอาจไม่ได้ใส่สารสำคัญเฉกเช่นที่แสดงไว้ข้างขวดหรือกล่องจริงเพราะหวังผลที่ทำให้สินค้าเอาไปกินแล้วได้ผลและขายต่อไปได้

5. อาหารเสริมบางอย่างขายดี ได้ผลจริง อยากผลิตเหมือนเค้า แต่ทำยังไงโรงงานก็ขึ้นทะเบียนไม่ผ่าน ทั้งที่มิลลิกรัมเท่ากัน ถามเจ้าหน้าที่ก็บอกว่าสารบางอย่างใส่ปริมาณมากขนาดนี้ไม่ได้(แต่อีกเจ้าใส่ได้!?!!) ถ้าโทรถามจริงจังบางทีท่านอาจจะได้คำตอบแปลกๆ เช่น เจ้าที่ขายอยู่เค้าน่าจะพิมพ์ฉลากผิด (อาจจะงงหน่อยที่มันผิดทุกล็อตและขายได้มาน๊าน นานแล้ว)

6. น้ำมันลอยที่เห็นเวลาเข้าห้องน้ำในอาหารเสริมกลุ่มลดน้ำหนักที่กล่าวถึงมียาตัวเดียวที่สามารถทำให้เกิดผลนั้นได้ คือ Orlistat ซึ่งเป็นยาจริงๆ! ไม่ใช่อาหารเสริม

7. ถามว่าทำไมมีอาหารเสริมที่ผสมยาออกมาขายได้ ตอบว่า เจ้าของตราสินค้าอาจไม่ทราบว่าโรงงานใส่ยาเป็นส่วนผสมเพียงแต่รู้ว่ามันได้ผลจึงซื้อสูตรมา หรือ เจ้าของตราสินค้าทราบว่าใส่ยาและเห็นว่ามันน่าจะได้ผลกว่า สินค้าไปได้ดีกว่า และคิด(เอาเอง)ว่าสินค้านั้นจะไม่เป็นอันตรายต่อคนกิน หรือ ทั้งเจ้าของตราสินค้าและผู้บริโภคไม่ทราบเลยว่ามันมีส่วนผสมของยา คิดว่ามัน คือ อาหารเสริม แล้วผลของมันก็ดีมากๆ จนลืมกังวลเรื่องความปลอดภัย

8. อาหารเสริมแบบลดน้ำหนักมีความเสี่ยงที่จะเจอสารผสมอื่น เช่น ยาแผนปัจจุบัน มากกว่าอาหารเสริมบำรุงผิวที่ทำให้ขาวหรือลดริ้วรอย

9. อาหารเสริมบำรุงผิว มีความเสี่ยงในการเจอสารแปลกปลอมน้อยกว่าครีมหรือโลชั่น ที่ทาไม่ถึงสัปดาห์ ราคาไม่แพงแล้วขาวเว่อร์ สารที่ทำให้ขาวเว่อร์แบบเร็วและราคาถูก คือ สารปรอทที่อันตรายมากถ้านำมาใช้กับผิวมนุษย์!

10. อาหารเสริม วิตามิน ยังกินได้อยู่ไหม ตอบว่ากินได้ เลือกยี่ห้อที่มั่นใจ อยู่ในตลาดมานานทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ได้ทั้งเจ้าที่เป็นเจ้าของคนไทยหรือแบรนด์เมืองนอกมา มั่นใจขึ้นถ้ามีขายในร้านยาหรือห้างแบบมีสาขา(Chain store)อยู่ด้วย เพราะจัดซื้อร้านพวกนี้เลือกเยอะแล้วเน้นที่ไปที่มาของสินค้า มั่นใจขึ้นไปอีกถ้าผลิตจากโรงงานที่มีมาตราฐานอุตสาหกรรมครบถ้วน มั่นใจสุดท้ายถ้าเจ้าของตราสินค้ามีคุณธรรมและจรรยาบรรณที่เห็นคุณภาพสินค้าและสุขภาพเพื่อนมนุษย์เป็นเรื่องสำคัญกว่าเงินเพียงไม่กี่มากน้อย

ถึงตรงนี้แล้ว อยากบอกว่าเรามีสิทธิเลือกในการใช้ชีวิตและดูแลสุขภาพตัวเองในฐานะผู้บริโภคที่มีข้อมูลความรู้เพียงพอค่ะ

หมายเลขบันทึก: 577476เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2014 11:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กันยายน 2014 11:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท