จิตตปัญญาเวชศึกษา 202: ความจริงและความตาย


บทเรียนจาก "ลุง"

นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่หก หรือที่เราเรียกว่า Extern จะมีกิจกรรมการเรียนการสอน Palliative Care หรือการบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย เป็นกิจกรรมกลุ่มย่อยสามชั่วโมง (ซึ่งต่อมาไม่ค่อยจะ "ย่อย" เท่าไหร่ เพราะจำนวนนักศึกษาที่มากขึ้น) ในช่วงแรกเป็นการนำเสนอ case ผู้ป่วยในห้องเรียน ปกติจะเตรียมมาสองราย ใช้เวลาประมาณชั่วโมงนึง เราก็จะคุยเพื่อจับประเด็นในการดูแลด้านต่างๆในครบทุกมิติทางสุขภาพ เสร็จแล้วในช่วงที่สองก็จะพากันไปหาผู้ป่วยที่เตียง เพื่อที่อาจารย์จะได้ทำการสื่อสารให่นักเรียนดู เสร็จแล้วก็จะกลับมาเข้าห้องเพื่อที่จะสะท้อนกันอีกรอบนึง

ครั้งนี้นักศึกษาแพทย์ก็เล่าถึง "ลุง" เป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมาปีกว่าๆ ผ่าตัดไปแล้ว ฉายแสงไปแล้ว ให้ยาเคโมไปแล้ว กลับมาอีกทีเพราะมีอาการแน่นๆหน้าอก กินอะไรไม่ค่อยจะลง ส่องกล้องทางเดินอาหารก็พบว่ามะเร็งกลับมาใหม่ที่หลอดอาหาร ทำให้หลอดอาหารตีบ และมีการกระจายไปปอด ไปที่อื่นด้วย ก็กำลังจะวางแผนการรักษาต่อ ประเด็นที่น้องนักศึกษายกขึ้นมาก็คือคุณลุงดูเหมือนจะยังไม่ทราบว่าตนเองเป็นมะเร็ง! ซึ่งก็น่าแปลกใจ เพราะได้รับมาทั้งผ่าตัด ฉายแสง และยาเคโม ทำไมจะยังไม่ทราบว่าตนเองเป็นอะไร น้องก็บอกว่าได้ถามคุณลุงว่าคุณลุงเป็นอะไรมา คุณลุงก็ตอบว่าเป็นซิสต์ในกระเพาะ ไม่ได้บอกว่าเป็นโรคอื่น ยืนยันว่าเป็นซิสต์เท่านั้น

การที่ผู้ป่วยยังไม่ทราบความจริงเป็นประเด็นทางการแพทย์ที่สำคัญ เพราะจะทำให้การวางแผนการรักษาเป็นไปด้วยความยากลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าสาเหตุการไม่ทราบนั้นเนื่องจากมีการปกปิดความจริง เช่นญาติไม่ยอมให้บอก เพราะกลัวคนไข้จะรับไม่ได้ หรือการไม่ยอมรับความจริงที่เรียกว่า denial

เราก็ค่อนข้างแปลกใจพอสมควร เลยวางแผนกันไปประเมินคุณลุงพร้อมๆกัน

===================================================

ไปถึงหอผู้ป่วย คุณลุงนั่งตัวตรงอยู่บนเตียงริมห้อง ข้างๆเตียงมีญาติสตรี คลุมหิญาบนั่งอยู่ อาจารย์ก็ทักทายสวัสดีคุณลุง ถามว่าญาตินี่เป็นใคร ก็ทราบว่าเป็นภรรยา เลยบอกให้นั่งอยู่ด้วยกัน คุยกันพร้อมๆกันไปเลย คุณลุงบอกได้ ไม่มีปัญหา แต่สายตามองไปที่กลุ่มนักศึกษาซึ่งมีถึงเกือบ ๒๐ คน!! (ไม่ค่อยย่อยเท่าไหร่) อาจารย์ถามคุณลุงว่าเป็นยังไงเหรอ คุณลุงตอบว่าวันนี้มากันเยอะ ทุกทีน้อยกว่านี้ แต่เมื่อวานมีนักศึกษามาบอกแล้วว่าอาจารย์จะมาคุยด้วย เพียงแต่ไม่ทราบว่าจะมากันเยอะ

"คุณลุงเป็นอะไรมาโรงพยาบาลคะ?" อาจารย์ถาม

"เป็นซิสต์ในท้อง" คุณลุงตอบ เหมือนอย่างที่นักศึกษาแพทย์รายงาน

"เป็นซิสต์? ซิสต์มันเป็นยังไงล่ะคุณลุง?" อาจารย์ถามต่อ

"หมอต้องบอกผมสิ มาถามผมทำไม?"

"อ๋อ หมออยากทราบว่าคุณลุงคิดยังไง คิดว่าอะไรเป็นอะไรน่ะลุง แล้วหมอรักษาอะไรไปบ้าง"

"ก็ทำหมดแหละ หมอก็ทำหน้าที่ของหมอไป ผมก็ทำหน้าที่ของผม"

"หมอทราบว่าคุณลุงรักษามาแล้วประมาณปีนึง ตอนนั้นก็ว่าหายไปแล้วใช่ไหม?"

"ใช่ อาการหายดีไม่มีอะไร พึ่งมาเป็นใหม่ สองสา่มเดือนนี้"

"เป็นเรื่องเดิมไหมล่ะลุง?"

"หมอบอกว่ามันกลับมาเป็นใหม่ ขึ้นในท้อง ในหลอดอาหาร ไปปอด" คุณลุงสาธยาย

"โรคไรล่ะลุง?"

"ซิสต์ไง"

"มันไปโน้นไปนี่ได้เนาะ แล้วอาการมันมากขึ้นกว่าเดิมหรือลุง?"

"ใช่"

"หมอเค้าวางแผนจะทำไงต่อล่ะ?"

"ก็ตอนนี้ว่าจะฉายแสง หรืออาจจะให้ยาเคโมต่อ"

"ถ้ามันไม่ดีขึ้นล่ะ?"

"ไม่ดีขึ้น ก็แย่ลงสิหมอ"

"แล้วยังไงค่อ"

"ก็อะไรจะเกิด มันก็เกิดไปหมอ"

"ลุงกลัวไหม ถ้ามันเกิดแล้วอาการแย่ลง"

"หมอก็รักษาไป รักษาไม่ได้ก็จบกัน"

"จบกัน? คือเป็นยังไงลุง"

"ก็ตาย ก็มีอยู่แค่นั้น"

"ลุงไม่กลัวเหรอ ความตาย?"

"กลัวทำไมความตาย? ไม่มีใครหนีมันพ้น ทุกคนเกิดมาก็ต้องตาย"

"โห ลุงคิดได้ไงเนี่ย ขนาดนี้"

"ศาสนาสอนไว้" (คุณลุงแกเป็นมุสลิม เคยไปเมกกะมาแล้วสองครั้ง) "แล้วทางพุทธไม่ได้สอนมั่งเหรอ" คุณลุงถามกลับ

"ก็สอนบ้างเหมือนกันน่ะลุง" หมอตอบ

"สอนเหมือนกันแหละ สอนเหมือนกันทุกอย่าง" คุณลุงแย็บตอบ "ผมก็เคยศึกษาคำสอนของศาสนาพุทธ เค้าก็ไม่ได้สอนให้กลัวความตายเหมือนอิสลามเหมือนกัน"

"แล้วภรรยาลุงก็คิดเหมือนกันไหมเนี่ย" หมอหันไปมองทางภรรยา

"เค้าก็เรียนมา ศึกษามาเหมือนกัน" คุณลุงตอบแทนภรรยา 

"มันมีอะไรที่ต่างกัน ระหว่างความจริง กับความตาย" คุณลุงพูดค่อ สายตามองไปในกลุ่มนักเรียน เหมิอนกับจะมองหาใครสักคนหนึ่ง "วันก่อนผมบอกหมอไว้คนนึง ว่าจะเล่านิทานให้ฟัง แต่คนยังน้อยอยู่ ไว้คนเยอะๆจะเล่าให้ฟัง"

"เอ้า วันนี้คนเยอะแล้ว ลุงเล่าได้เลย" หมอชวน

"กาลครั้งหนึ่ง มีพระราชาพระองค์หนึ่ง ปกครองเมืองเมืองหนึ่ง มีอยู่วันหนึ่งพระราชามีพระประสงค์จะสร้างพระราชวังใหม่ พระราชวังนี้จะสร้างให้สวยงามที่สุด สมบูรณ์ที่สุด ไม่มีข้อตำหนิเลย จึงรับสั่งเรียกระดมมหาดเล็กเสนาบดีทั้งหลายทั้งปวงมาเข้าเฝ้า บอกให้ทุกคนช่วยกันออกไประดมคนที่เป็นสถาปนิก ช่างก่อสร้าง วิศวกร ฯลฯ ที่เก่งกาจที่สุด มีความรู้ความชำนาญที่สุด เพื่อมาช้วยกันสร้างพระราชวังหลังใหม่นี้ให้ได้"
"ก็มากันเยอะเลยสิลุง" หมอพูด
"หมออย่าพึ่งขัดสิ ผมก็เล่าไม่จบสักที" คุณลุงเตือน
"เอ้าๆ เล่าต่อแล" หมอยอม
"แล้ว หมอคนเมื่อวานอยู่ไหนนี่ ไปยืนไกลๆจะได้ยินเหรอ" ลุงมองหาในกลุ่มนักศึกษา เจอน้องคนนึงที่มาคุยเมื่อวาน "หมอมายืนใกล้ๆนี่ เดี๋ยวจะไม่ได้ยิน เสียงผมไม่ค่อยดัง" น้อง extern คนนั้นก็เดินออกมาแถวหน้าเตียง
"ในที่สุด พระราชวังนี้ก็สำเร็จลง สวยงามมาก ไม่มีที่จะตำหนิตรงไหนได้เลย แต่พระราชาก็ยังไม่วางพระทัย ให้เสนาบดีทุกคน มุขอำมาตย์ มหาดเล็กทุกคน เดินดูชมพระราชวังใหม่นี้ทุกซอกทุกมุม แล้วถามว่ามีใครเจอข้อบกพร่องอะไรไหม ก็ไม่มีใครพบเห็นอะไรจะตำหนิได้
พระราชายังไม่วางพระทัย ก็เรียกประชาชนทุกคน ให้เข้ามาชมพระราชวังใหม่ ชมดูทุกซอก ทุกมุม ทุกระเบียง ทุกห้อง และถามทุกคนว่ามีใครเห็นตำแหน่งไหนที่บกพร่อง เห็นข้อตำหนิอะไรบ้างไหม ก็ไม่มีใครเจอจุดไหนจะตำหนิได้
พระราชาก็ยังไม่วางพระทัย ให้อำมาตย์ส่งคนไปเชิญประชาชนที่ต่างแคว้น ต่างเมือง ต่างประเทศ เดินทางเข้ามาชมพระราชวังใหม่ เพื่อที่จะค้นหาข้อตำหนิให้ได้ คนแล้วคนเล่าที่ถูกถาม ก็ตอบว่าไม่มี จนในที่สุดมีชายชราคนหนึ่ง พอถูกทหารถามว่าเจอข้อตำหนิอะไรไหม ชายชราคนนี้ตอบว่า "เห็นอยู่สองที่"!!
ทหารก็ตกใจ กระซิบบอกว่า "อย่าพูดอย่างนั้นสิลุง เดี๋ยวพระราชาท่านสั่งประหารชีวิตนะ!!"
ชายชราตอบว่า "ไปบอกพระราชาว่ามีข้อตำหนิสองที่ ท่านไม่ทำอะไรข้าหรอก"
ทหารไม่รู้ทำอย่างไร ก็ส่งเรื่องขึ้นไป พระราชาก็รับสั่งเรียกชายชราเข้าไปพบทันที พอเจอหน้าชายชรา พระราชาก็ตรัสถามว่า "เจ้าหริอที่บอกว่าพระรา่ชวังใหม่ของข้า มีข้อตำหนิถึงสองข้อ?"
ชายชราตอบว่า "พระราชวังพระองค์ มีข้อตำหนิสองข้อพระเจ้าข้า"
"เจ้าจะบอกเราไหมว่าข้อตำหนินั้นคืออะไร?" พระราชาถาม
"ข้อแรก พระราชวังอันสวยงามแห่งนี้นั้น อีกหน่อยก็จะไม่มี อีกหน่อยก็จะพังทลาย และข้อที่สอง..." ชายชรามองพระพักตร์พระราชา" ส่วนเจ้าของพระราชวังอันสวยงามแห่งนี้นั้น อีกหน่อยก็จะไม่มี อีกหน่อยก็จะจากไป"

คุณลุงหยุดเล่า มองพวกเรา ถาม "รู้ไหมว่าเป็นยังไงต่อ?"

หมอถาม "เป็นยังไงล่ะลุง"

"เฉลยดีไหมเนี่ย หรือให้กลับไปคิดกันดี?" คุณลุงเปรยๆ มองไปรอบๆ "สงสัยว่าเฉลยดีกว่า เดี๋ยวจะคิดกันไม่ออก ก็เพราะความจริงกับความตายมันต่างกัน" คุณลุงหยุด มองหน้าพวกเรา

"ต่างกันอย่างไร?" คุณลุงถาม พวกเราก็ยืนรอฟังกันใหญ่

"สงสัยจะไม่มีใครตอบ ความตายนั้นมันก็แค่ตอนนี้ เดี๋ยวนี้ แต่ความจริงนั้นยั่งยืน เป็นอย่างนั้นตลอดไป เพราะฉะนั้นพระราชวังสวยงามก็ต้องพังทลาย พระราชามีอำนาจวาสนาก็ต้องตาย เพราะความจริงเป็นเช่นนั้น"

"แล้วชายชราคนนั้นล่ะลุง?" หมอถาม

"หมอคิดว่าไงล่ะ" คุณลุงถามตอบ"

"หมอคิดว่าพระราชาไม่ทำอะไรชายชราคนนั้น เพราะชายชราคนนั้นพูดความจริง" หมอตอบ

"เออ.. หมอคิดดีนะ เข้าใจเรื่องที่ลุงเล่าด้วย เป็นคำตอบที่ถูกต้อง" คุณลุงชมหมอ

======================================================

ฉากที่คุณลุงนั่งตัวตรง ภรรยานั่งเก้าอี้ข้างเตียง มีนักศึกษา ๒๐ คน อาจารย์แพทย์สองคน แพทย์ประจำบ้านจิตเวชาจาก รพ.จุฬามา elective สังเกตการณ์อีกหนึ่งคน เป็นฉากที่ผมประทับอยู่ในใจ มันมีความเป็น humanity, humility ของคนอยู่ในบรรยากาศ มีศักดิ์ศรีของคนๆหนึ่งที่ถูกคนยอมรับ นับถือ มีคำสั่งสอน สัจธรรมอันเป็นความจริงที่ไม่ยึดติดกับศาสนาใดๆ เล่าออกมาด้วยคำพูดเรียบง่าย จริงใจ และอย่างตั้งใจ

เกิดการเยียวยากับคนทุกคนในที่นั้น

สกล สิงหะ

เขียนที่บ้านพักแพทย์ พ.๓๑ รพ.สงขลานครินทร์

วันอาทิตย์ที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๗ เวลา ๑๙ นาฬิกา ๔๖ นาที

วันขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะเมีย

หมายเลขบันทึก: 577283เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2014 19:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กันยายน 2014 19:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท