ตอน: ปลูกฝังค่านิยม 12 ประการ


ชวนคิดชวนคุย ตอน ปลูกฝังค่านิยม 12 ประการ

ณดา จันทร์สม

24 กันยายน 2557

----------------------------------------------

พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง

โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี

นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์

สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา

(สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส: กฤษณาสอนน้องคำฉันท์)

โคลงบทนี้ดังก้องอยู่ในหัวตลอดเวลาช่วง 2-3 วันนี้ ด้วยที่ว่าลูกชายต้องท่องเพื่อไปสอบ แล้วแม่ก็ท่องตาม เพราะมีความชอบการท่องอาขยานเป็นทุนเดิม และท่องโคลงบทนี้มาตั้งแต่วัยเยาว์จนขึ้นใจ ภาษาของโคลงบทนี้มีความสละสลวย คล้องจอง และมีความหมายลึกซึ้ง 

พฤษภ แปลว่า วัว

กาสร แปลว่า ควาย

กุญชร แปลว่า ช้าง

โท แปลว่า สอง

ทนต์ แปลว่า ฟัน

เสน่ง แปลว่า เขา

นรชาติ แปลว่า มนุษย์

อินทรีย์ แปลว่า ร่างกาย

สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น เมื่อตายไปยังเหลือเขาหนังและงาไว้ใช้ประโยชน์

มนุษย์เมื่อยามสิ้นชีพมอดมลายทั้งเนื้อหนังทิ้งไว้แต่คุณความดีหรือความเลวให้ผู้คนกล่าวขานถึง

พลันหวนไปนึกถึงค่านิยม 12ประการที่กระทรวงศึกษาจะผลักดันให้เป็นบทอาขยาน และให้นักเรียนได้ท่องจำกันจริงๆ ส่วนตัวก็ไม่ได้เห็นแย้งอย่างไร เพราะค่านิยมทั้ง 12 ประการนั้น เป็นค่านิยมที่สะท้อนถึงคุณธรรมจริยธรรมที่ทุกคนควรยึดมั่นไว้เพื่อการดำเนินชีวิตอยู่แล้ว

หนึ่ง รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

สอง ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทนได้

สาม กตัญญู พ่อแม่ สุดหัวใจ

สี่ มุ่งใฝ่ เล่าเรียน เพียรวิชา

ห้า รักษา วัฒนธรรม ประจำชาติ

หก ไม่ขาด ศีลธรรม ศาสนา

เจ็ด เรียนรู้ อธิปไตย ของประชา

แปด รักษา วินัย กฎหมายไทย

เก้า ปฏิบัติ ตามพระ ราชดำรัส

สิบ ไม่ขาด พอเพียง เลี้ยงชีพได้

สิบเอ็ด ต้อง เข้มแข็ง ทั้งกายใจ

สิบสอง ไซร้ คิดอะไร ให้ส่วนรวม

เพียงแต่ยังคิดว่า หากจะปลูกฝังค่านิยมเหล่านี้จริง การท่องจำคงไม่ใช่กลไกเพียงประการเดียว ที่จะทำให้ค่านิยมทั้ง 12 ประการนี้ ได้รับการฝังรากอยู่ในความคิด จึงต้องมาช่วยคิดชวนคุยกันว่า จะต้องทำอย่างไรบ้างจึงจะทำให้ค่านิยม 12 ประการนี้ได้รับการปลูกฝังได้จริง

เมื่อพิจารณาทฤษฎีการเรียนรู้ Bloom'sTaxonomy จะพบว่า กระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสติปัญญา ความสามารถทางความคิด และการคิดเรื่องราวต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ จะมีกระบวนการเรียนรู้ 6 ระดับ ดังนี้

  1. ความรู้ (Knowledge) เป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้มีความรู้ มีความสามารถในการจดจำ ระลึกถึงเรื่องราวนั้น และนำมาออกมาได้อย่างถูกต้อง
  2. ความเข้าใจ (Comprehension) การเรียนรู้เพื่อให้มีความสามารถในการบ่งบอกใจความสำคัญของเรื่องราว การแปลความหลัก ตีความ และสรุปใจความสำคัญด้วยภาษาของตนเองได้
  3. การประยุกต์ใช้ (Application) เป็นการเรียนรู้เพื่อให้มีความสามารถนำหลักการ กฎเกณฑ์และวิธีดำเนินการต่างๆ ของเรื่องที่ได้รู้มา สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหากับสถานการณ์ใหม่ได้
  4. การวิเคราะห์ (Analysis) เป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้มีความสามารถในการแยกแยะเรื่องราวที่สมบูรณ์ที่มีอยู่ให้กระจายออกเป็นส่วนย่อย และทำความเข้าใจได้ดีขึ้นได้
  5. การสังเคราะห์ (Synthesis) การเรียนรู้เพื่อให้มีความสามารถในการผสมผสานส่วนย่อยเข้าเป็นเรื่องราวเดียวกัน โดยปรับปรุงของเก่าให้ดีขึ้นและมีคุณภาพสูงขึ้น
  6. การประเมินค่า (Evaluation) การเรียนรู้ในระดับให้มีความสามารถในการวินิจฉัยหรือตัดสินการกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งการประเมินเกี่ยวข้องกับการใช้เกณฑ์คือ มาตรฐานในการวัดที่กำหนดไว้

กระบวนการเรียนรู้ในแต่ละระดับ จะต้องมีกิจกรรมที่ส่งเสริมผู้เรียนอย่างเป็นระบบ การท่องจำจะเป็นกลไกส่งเสริมการเรียนรู้ในระดับความรู้ ซึ่งทำให้ผู้เรียนได้เข้าใจถึงเรื่องราวและมีความจำต่อเรื่องราวได้ การเรียนรู้ผ่านกลไกการเขียน เรียบเรียง เช่น การเขียนเรียงความ จัดทำรายงาน ฯลฯ จะช่วยพัฒนาการเรียนรู้ในระดับความเข้าใจ และการเรียนรู้ผ่านการกระบวนการแก้ปัญหา เช่น การทำโครงงานเพื่อตอบโจทย์หรือประเด็นปัญหาในเรื่องที่ศึกษา (problem solvingbased project) จะช่วยจัดลำดับความคิดเพื่อให้เกิดการประยุกต์ใช้ความรู้ และการวิเคราะห์ สังเคราะห์ให้ดีขึ้นได้ ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การพัฒนาความสามารถทางการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นไปต้องมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่เหมาะสมในแต่ละวัยของผู้เรียน เพื่อให้เกิดประสิทธิผลจากการเรียนรู้ได้ในระดับที่สูงที่สุด คือ สามารถนำความรู้มาเพื่อใช้ในการวินิจฉัยถึงสิ่งที่ถูกสิ่งที่ผิดได้

การปลูกฝังค่านิยม 12 ประการ จึงไม่ใช่เพียงคิดอย่างฉาบฉวยตามกระแส แต่คงต้องฝากกระทรวงศึกษาพิจารณาบูรณากระบวนการเรียนการสอนให้นำค่านิยมทั้ง 12 ประการสอดแทรกในกิจกรรมการเรียนรู้อย่างรอบด้านและเป็นระบบ นอกจากนั้น หน่วยงานผู้มีหน้าที่ทุกฝ่ายทั้งบ้าน โรงเรียน ชุมชน และสังคม ต้องมีส่วนช่วยกันส่งเสริมให้ค่านิยมเหล่านี้ถูกปลูกฝังและเจริญงอกงามแก่เยาวชนของไทยได้อย่างแท้จริง

เอกสารอ้างอิง ฺ 

Bloom, B.S. (ed.). 1956. Taxonomy of educational objectives: The Classification of educational goals. Handbook I, cognitive domain. New York; Toronto: Longmans, Green. 

หมายเลขบันทึก: 576858เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2014 00:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2014 00:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ข้อ 6 ของ bloom เราอนุญาตให้เด็กก่อนทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งจริงหรือไม่?

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท