nui
นาง เสาวลักษณ์ พัวพัฒนกุล

โรงเรียนอะไรกันนี่ _ตอนที่ ๖_ว่ายน้ำแบบไม่สวมอะไรเลย



 ที่โรงเรียนโทโมเอ เช้าวันหนึ่ง ครูใหญ่โคบายาชิ โซซาขุ พูดกับเด็กๆ ว่า

อากาศร้อนแล้ว ครูจะใส่น้ำในสระว่ายน้ำ”

โต๊ะโตะจังไม่ได้เอาชุดว่ายน้ำมา ครูใหญ่ปลอบว่าไม่ต้องห่วง ลองไปดูที่ห้องประชุมสิ ที่ห้องประชุมเด็กๆ กำลังถอดเสื้อผ้า ส่งเสียงกริ๊ดกร๊าดสนุกสนาน แล้ววิ่งออกไปที่สนาม

“เด็กๆ ทุกคนไม่ว่าอ้วนหรือผอม หญิงหรือชายล้วนเปลือยกายล่อนจ้อนเหมือนกันหมด บางคนหัวเราะหลอกล้อ ส่งเสียง บางคนดำน้ำเล่น” (หน้า ๕๔)

การไม่สวมชุดว่ายน้ำลงสระ สำหรับวันแรกของฤดูร้อนปีนั้น โต๊ะโตะจัง (เท็ตสึโกะ-ผู้เขียน) บรรยายไว้ว่า

“ที่ครูใหญ่ให้เด็กๆ ว่ายน้ำโดยไม่สวมอะไรเลยนั้น ไม่ใช่ว่าจะเป็นกฎเกณฑ์ ถ้าใครมีชุดอาบน้ำมาด้วย จะใส่ก็ได้ แต่วันที่คิดว่าจะลงสระว่ายน้ำอย่างกะทันหันเช่นวันนี้ ไม่มีใครเตรียมตัวมาก่อน จึงไม่ต้องสวม และที่ครูไม่ให้สวมอะไรเลยนั้นด้วยเจตนาจะให้เด็กๆ ไม่ต้องสงสัย อยากรู้อยากเห็นว่า เด็กผู้ชายกับเด็กผู้หญิงแตกต่างกันอย่างไร ท่านไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องปิดบังรูปร่างของตัวเอง เพราะรูปร่างของคนเรานั้นเป็นสิ่งสวยงาม ไม่ว่าจะสูงต่ำ ดำขาวอย่างไร”

“เด็กนักเรียนที่โรงเรียนโทโมเอ มีหลายคนที่พิการต่างๆ เช่น เป็นโปลิโอ อย่างยาสึอากิจัง หรือเตี้ยมากๆ การที่เด็กๆ เปลือยกายเล่นน้ำ ทำให้ลืมปมด้อยไปได้ ตอนแรกอาจจะอายกันบ้าง แต่ในที่สุด ความสนุกสนานซึ่งมีมากกว่า จะทำให้รู้สึกเฉยๆ และเห็นเป็นเรื่องธรรมดา” (หน้า ๕๕)

......................

บันทึกเพิ่มเติม(ของฉัน)

          ปัจจุบันถ้าโรงเรียนไหนอนุญาตให้เด็กๆ ประถมไม่ต้องสวมชุดว่ายน้ำลงสระโรงเรียน จะต้องได้ลงข่าวหน้า ๑ และถูกกระหน่ำไม่ยั้งโดยชุมชนคนออนไลน์ที่รู้ดีทุกเรื่อง(ยกเว้นเรื่องตัวเอง) ผอ.อาจถูกย้าย ครูพละอาจถูกไล่ออก โชคดีที่สมัยโรงเรียนโทโมเอ(ก่อนสงครามโลกครั้งที่๒) ยังไม่มีเฟสบุ๊ค ครูใหญ่โคบายาชิ โซซาขุ จึงอยู่รอดปลอดภัย

          สี่สิบปีก่อนโน้น สมัยฉันยังเป็นเด็กประถม เวลาฝนตก เด็กๆ ทั้งหมู่บ้านแก้ผ้าออกมาวิ่งเล่นน้ำฝนอย่างสนุกสนาน เด็กหญิงบางคนมีจับปิ้งสวยๆ แต่ส่วนใหญ่แก้ผ้า ไม่มีพ่อแก่แม่เฒ่าคนไหนออกมาชี้ด่า เพราะผู้ใหญ่ไม่คิดว่าลามก เด็กๆ จึงไม่คิดว่าลามก.

อาทิตย์ที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๗

เขียนที่เชียงใหม่ อากาศร้อนอ้าวบรรเทาแล้วหลังฝนตก

อ้างอิง: คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ. โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง. แปลโดย ผุสดี นาวาวิจิตร. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์กะรัต , ๒๕๒๗. หน้า ๕๒-๕๕ ตอน “สระว่ายน้ำ” 

หมายเลขบันทึก: 576288เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2014 07:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กันยายน 2014 07:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
  • เคยอ่านแล้ว ชอบมากครับ ชอบแนวคิด และความจริงจังจริงใจของครูใหญ่ ชอบความสดใสน่ารัก ความช่างคิดช่างสงสัย(ที่เด็กๆทุกคนพึงมี)ของโต๊ะโตะจัง ชอบการเลี้ยงดูลูกของครอบครัว ซึ่งให้โอกาสคิด ทำ....
  • มักคิดครับว่าปฏิรูปการศึกษาไม่น่ายาก ไม่น่าจะต้องมีนวัตกรรมอะไรมากมาย "ปฏิรูปการศึกษาที่โรงเรียน ที่ห้องเรียน" อย่างจริงจัง ต่อเนื่อง.. ศีลธรรมจรรยาในสังคม หรือสภาพแวดล้อมที่รายรอบเด็กๆอยู่ ก็ค่อยแก้ไปด้วย แต่ต้องจริงจังและต่อเนื่องเช่นกัน 
  • ขอบคุณครับพี่Nui

สนุกทุกตอนค่ะ ทั้งเรื่องของโต๊ะโตะจัง และความคิดเห็นเพิ่มเติม เจ้าตัวโตขึ้นนี่เก่งมาก ๆ ประสบผลสำเร็จสูงทั้งการประพันธ์ ที่ถูกแปลเป็นหลายภาษา และหน้าที่การงานอันมีเกียรติ ครูใหญ่และโรงเรียนบ่มเพาะเธอมาอย่างดีในขั้นต้นนะคะ อายุตอนนี้มากกว่า 75 ปีแล้วนะคะ หาซื้อหนังสือที่สนามบินไม่มี แต่คงหาได้ที่เชียงใหม่นี่ละค่ะ วันนี้จะออกไปหาค่ะ เชียงใหม่วันนี้ไม่ร้อน เมื่อคืนฝนตกหนักพักนึงค่ะ 

ชอบมากค่ะ  เล่มนี้  อ่านตอนมัธยมแล้ว  พี่ Nui  ดีจัง   เอามาให้รำลึกความหลัง  เพราะตอนเด็ก ๆ ก็ชอบคิดอะไรเรื่อยเปื่อยบ่อย ๆ ค่ะ

ขอบคุณค่ะอาจารย์ ธนิตย์ สุวรรณเจริญ พี่คิดเสมอว่า ถ้าย้อนเวลาได้ พี่จะเลือกเรียนครูค่ะ  

เห็นด้วยที่อาจารย์ว่า คือ ปฏิรูปการศึกษา เริ่มที่ห้องเรียน ที่โรงเรียน และทุกบริบทแวดล้อมของเด็ก  พี่ว่า พ่อแม่ต้องเป็นครูที่ดีของลูกด้วยค่ะ  ไม่ใช่รอจนลูกเข้าโรงเรียน ยกให้เป็นหน้าที่ของครูทั้งหมด

พี่เพิ่งอ่าน รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว จบแล้วก็มาอ่านโต๊ะโตะจัง  มีเรื่องให้เขียนบันทึกเยอะค่ะ ขาดแค่เวลา  ชุมชน G2K พี่ได้อ่านบันทึกของครูเยอะซึ่งดีจริงๆ 

อาจารย์ GD ถ้าหาหนังสือไม่ได้บอกนะคะ  จะเดินหาที่กรุงเทพให้ค่ะ  อย่าเกรงใจนะคะ

ตอนนี้อยากเห็นหน้าคุณครูโคบายาชิ โซซาขุ  กับโรงเรียนตู้รถไฟ แต่ยังหาไม่ได้ค่ะ  ถ้าหาได้จะมาอวดนะคะ

ขอบคุณน้อง ธิรัมภา ค่ะ  พี่ละรักจังเด็กที่คิดเรื่อยเปื่อย  เด็กพวกนี้ไม่ธรรมดาหรอกนะ

พี่กำลังย้ายหนังสือจากบ้าน รพ.ออกมาที่บ้าน เจอหนังสือเก่าๆ แล้วตาโตเชียวค่ะน้อง

อ่านแล้วย้อนรำลึกถึงชีวิตอย่างเป็นธรรมชาติในวัยเด็กที่มีความสุขสดใสเบิกบานขอบคุณค่ะ...

เด็กสมัยโน้นได้ใกล้ชิดธรรมชาติ ได้ใช้ชีวิตสบายๆ ไม่เร่งรีบมากกว่าเด็กสมันนี้นะคะพี่ใหญ่ นงนาท สนธิสุวรรณ

ขอบคุณน้องเพชร เพชรน้ำหนึ่ง ที่ตามอ่านเรื่องราวโรงเรียนโทโมเอ ของโต๊ะโตะจังนะคะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท